xs
xsm
sm
md
lg

คลัง-พลังงานรับลูกเล่นแร่แปรธาตุ แยกท่อก๊าซปตท.จี้ปล่อยตัวแกนนำปฏิรูปพลังงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระทรวงคลัง-พลังงาน ขานรับนโยบายตั้งบริษัทท่อก๊าซฯ ของ กพช. เบื้องต้นให้ ปตท. ถือหุ้น 100% ก่อนจะให้คลังถือหุ้นผ่านกองทุนวายุภักษ์ในสัดส่วน 25% เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและชุมชมภาคใต้ จี้ทหารปล่อย 11 แกนนำ "ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน" หยุดข่มขู่คุกคาม พร้อมปลุกภาคประชาชนสู้ เฟซบุ๊ก "ชมรมแพทย์ชนบท" ย้ำเดินด้วยใจไม่ได้ต้านคสช. "ตุด นาคอน" ศิลปินเพื่อชีวิตปักษ์ใต้ ตัดสินใจรับหน้าที่เดินต่อคนเดียว ประชาชนแห่ให้กำลังใจ "ศรีสุวรรณ" ให้ถ้อยคำศาลปกครองปมบริษัทจีนเจาะสำรวจน้ำมันที่บุรีรัมย์ผิดกฎหมาย ศาลสั่งคู่กรณีแก้ข้อกล่าวหาใน 15 วัน

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึง กรณีคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)ระบุให้ตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อดูแลกิจการท่อก๊าซธรรมชาติ โดยให้บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ถือหุ้น 100% ว่า ไม่ใช่การผูกขาดธุรกิจแน่นอน เนื่องจากปัจจุบันกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ใน บมจ.ปตท. 51% และมีกองทุนวายุภักษ์ถือหุ้นด้วย 14% รวมเป็น 65% และในระยะต่อไปกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเข้าไปถือหุ้นในบริษัทท่อก๊าซ ฯ แห่งใหม่ในสัดส่วนเพิ่มขึ้นเท่าไรซึ่งเบื้องต้นอาจจะเข้าไปถือหุ้นเพิ่มในบริษัทท่อ ฯ แห่งใหม่ อีก 25% โดยอาจให้กองทุนรวมวายุภักษ์เข้าไปถือเพิ่มเติมและจะต้องพิจารณาความพร้อมทางการเงินด้วย

ส่วนกรณีที่มีกลุ่มบุคคลระบุว่า ปตท.ส่งคืนท่อก๊าซ ฯ ให้แก่กรมธนารักษ์ไม่หมด นั้นเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะจากการที่ได้ตรวจสอบกับกรมธนารักษ์และคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ตั้งแต่สมัยปี 50 พบว่าบมจ.ปตท. ได้ดำเนินการคืนท่อก๊าซตามคำพิพากษาของศาลครบถ้วนแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 51คิดเป็นที่ราชพัสดุ 32 ไร่ โดยทรัพย์สินต่างๆที่บมจ.ปตท.โอนคืนให้เป็นสมบัติของชาติ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 15,000 ล้านบาท โดยส่วนนี้เป็นค่าอุปกรณ์ และค่าท่อ 14,000 ล้านบาทที่เหลือเป็นที่ดินจำนวน 106 แปลง หรือ 32 ไร่ คิดเป็นมูลค่า 1,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามข้อสังสัยเกี่ยวกับท่อก๊าซที่อยู่เหนือทะเลว่าสาเหตุใด ยังไม่ส่งคืนนั้น ยืนยันว่า กระทรวงการคลัง, กรมธนารักษ์และ บมจ.ปตท.ได้ร่วมกับคณะกรรมการกฤษฎีกา ตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อพิจารณาข้อสังเกตในส่วนต่างๆ แล้วพบว่าท่อที่อยู่เหนือทะเลที่ไม่ได้ฝังลงไปในทะเลนั้นถือเป็นส่วนที่ปตท.ได้มาโดยสิทธิอันชอบ จึงไม่ถือเป็นสมบัติของชาติซึ่งภายหลังจากที่ ปตท.ส่งมอบท่อก๊าซ ฯ คืนเป็นที่เรียบร้อยแล้วได้จัดทำรายงานเสนอต่อศาลปกครองให้รับทราบ ซึ่งศาลปกครองก็ไม่ได้มีข้อสงสัยใดๆกลับมา ดังนั้นกรณีนี้จึงถือว่าเป็นข้อยุติแล้ว

สำหรับค่าเช่าพื้นที่ ที่ปตท.จ่ายให้แก่กรมธนารักษ์ได้ใช้วิธีการคำนวณตามรายได้แบบลำดับขั้นโดยหากปตท.มีรายได้จากธุรกิจท่อก๊าซเกินปีละ 5,000 ล้านบาทจะต้องจ่ายค่าเช่าสูงสุด 36% โดยที่ผ่านมาปตท.จ่ายให้กรมธนารักษ์เฉลี่ยปีละ 500-550 ล้านบาท

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่าได้หารือกับกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังเพื่อสร้างความชัดเจนกรณีการเข้าถือหุ้นในธุรกิจท่อก๊าซธรรมชาติ ภายหลังจากที่บมจ.ปตท.ดำเนินการแยกธุรกิจท่อก๊าซฯเสร็จ ตามนโนบายของกพช. คาดว่า จะตั้งบริษัทท่อก๊าซฯแล้วเสร็จประมาณเดือนมิ.ย. 58 โดยเบื้องต้นจะให้ ปตท.ถือหุ้น 100%ไปก่อนจากนั้นจะให้กระทรวงการคลังเข้ามาถือหุ้นร่วมต่อไป โดยเบื้องกระทรวงการคลังจะเข้าถือหุ้นอย่างน้อง 25% พร้อมยืนยันว่าจะไม่มีการแปรรูปธุรกิจท่อก๊าซฯเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)แน่นอนโดยเป็นเพียงแค่การทำให้ทรัพย์สินเกิดความชัดเจนเท่านั้น และในอนาคตอาจจะให้กระทรวงการคลังหรือกองทุนวายุภักดิ์ถือหุ้นทั้ง 100%

ด้านนายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า คำสั่งศาลระบุให้โอนท่อก๊าซที่เป็นสาธารณสมบัติแผ่นดิน ที่ได้จากการใช้อำนาจมหาชนทั้งเวนคืนที่และรอนสิทธิ์ในช่วงก่อนการแปรรูป ปตท. ซึ่งท่อส่งก๊าซในทะเลไม่ได้ใช้อำนาจมหาชนในการรอนสิทธิ์ และไม่มีกฎหมายไทยบังคับใช้ได้เกิน 12 ไมล์ทะเล ดังนั้นท่อส่งก๊าซในทะเลจึงเป็นของปตท. ส่วนกรณีที่มีคนมองว่าส่วนที่อยู่ไม่เกิน 12 ไมล์ทะเลต้องคืนหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องไปตีความกันใหม่ เพราะเคยมีการยื่นฟ้องศาลปกครองกลางมาแล้ว แต่ศาลไม่รับคำร้องที่จะขอให้ปตท.คืนท่อก๊าซในทะเลเมื่อปี 2555

**มทบ.42คุมเข้มเยี่ยม11ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน

ส่วนจากกรณีแกนนำคณะเดินเท้า "ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน" ภายใต้โครงการรณรงค์ "เดินวันละโยชน์ เพื่อประโยชน์คนทั้งชาติ" 11 คน ถูกทหารจากมณฑลทหารบก(มทบ.) 42 ค่ายเสนาณรงค์ ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นำตัวขึ้นรถบัสไปยังค่ายเสนาณรงค์ เมื่อเวลา 13.10 น. วันที่ 20 สิงหาคม ฐานฝ่าฝืนประกาศกฎอัยการศึก หลังจากเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง เข้าเจรจาให้ยุติการเดินรณรงค์ ขณะพักรับประทานอาหารที่ปั๊มน้ำมันทีพี สาขารัตภูมิ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ห่างจากที่ว่าการอำเภอรัตภูมิ ประมาณ 10 กิโลเมตรนั้น

วานนี้(21 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แกนนำและเครือข่ายที่ถูกควบคุมตัวรวม 11 คน ประกอบด้วย 1.นายเชภาดร จันทร์หอม 2.นายสุวิทย์ ทองย้อย 3.นายศักดิ์กมล แสงดารา 4.นายประสิทธิชัย หนูนวล 5.นายอนุพล คงเอียด 6.นายสิทธิพงศ์ สังข์เศรษฐ์ 7.น.ส.วิลัยพร โกไสยกานนท์ 8.ว่าที่ร.ต.พร้อมศักดิ์ จิตจำ 9.นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ 10.น.ส.กรรณิกา แพรแก้ว และ 11.นายเอกสิทธิ์ เบญจสุตะณรงค์ โดยคืนที่ผ่านมาทั้ง 11 คนถูกแยกกักให้นอนคนละห้อง เพื่อไม่ให้พูดคุยหรือปรึกษาหารือกัน

และเมื่อเวลา 07.45 น. มีป้ายกระดานเขียนคำสั่งเด็ดขาดจาก พ.01 ให้จนท.สห.จุดตรวจประตูปฏิบัติอย่างเคร่งครัด 1.หากมีนักข่าวมาทำข่าวเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว ให้แจ้งกร.ทราบก่อน แล้วต้องได้รับการอนุญาตจากกร.ก่อนถึงจะทำได้

2.หากมีญาติมาเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวให้รออยู่ที่จุดตรวจก่อน แล้วแจ้งให้ พ.01 ทราบ และฟังคำสั่งจากพ.01 ว่าจะให้เยี่ยมหรือไม่ และเยี่ยมที่ใด 3.ให้จนท.สห.ตรวจบุคคลผ่านเข้า-ออกอย่างเคร่งครัด ห้ามญาติของผู้ถูกควบคุมเข้าไปภายในค่ายฯโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพ.01 อย่างเด็ดขาด

และช่วงเช้าเสธ.มทบ.42 ได้พาแกนนำทั้ง 11 คน ไปชมคุกทหารในค่าย โดยย้ำว่าคุกนี้อาจจะได้รับวีไอพีก็ได้ และได้เจรจาให้ทั้ง 11 คนเซ็นหนังสือรับรอง ว่าจะไม่ออกมาเคลื่อนไหวหรือปฏิบัติการใดๆที่ขัดต่อประกาศกฎอัยการศึกอีก ปรากฏว่าทั้ง 11 คนไม่ยอมเซ็นจึงถูกควบคุมตัวต่อไป

**"ตุด นาคอน"ศิลปินปักษ์ใต้รับไม้เดินต่อคนเดียว

วันเดียวกัน คณะ "ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน" ได้ตัดสินใจหยุดหารือกันบริเวณจุดแวะพักก่อนถึง 4 แยกคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ในที่สุด "ตุด นาคอน" ศิลปินเพื่อชีวิตปักษ์ใต้ ตัดสินใจรับหน้าที่เดินต่อไปเพียงคนเดียว โดยตั้งเป้าจะไปให้ถึงต.ตะโหมด อ.ตะโหมด จ.พัทลุง ระหว่างทางมีตำรวจติดตามสังเกตการณ์ แต่ไม่ได้ควบคุมตัว ขณะเดียวกันประชาชนทั้งสองข้างทางหรือผู้ที่ทราบข่าว อาทิ ชาวสงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช ต่างแวะเวียนมาให้กำลังใจ และบางส่วนจะร่วมขบวนด้วยในบางช่วง ขณะที่เครือข่ายจังหวัดอื่นพร้อมที่จะสานต่อเจตนารมณ์ต่อไป

**เครือข่ายเอ็นจีโอใต้แถลงการณ์จี้ทหารปล่อยตัว

ด้านเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทหารปล่อยตัวแกนนำ 11 คน หยุดข่มขู่คุกคามการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน สรุปว่าการเดินเท้าเข้ากรุงเทพฯมีเป้าหมายอยู่ที่การสื่อสารกับสังคมให้เข้าร่วมปฏิรูประบบพลังงาน สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นธรรม รวมถึงสร้างจิตสำนึกและการรับรู้ของสาธารณชนต่อระบบพลังงาน และการพัฒนาที่ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน บิดเบือนข้อมูลและความจริงมาอย่างยาวนาน จึงไม่ได้เป็นการกระทำที่เข้าข่ายการชุมนุมทางการเมืองตามกฎอัยการศึก ดังนั้นการควบคุมตัวแกนนำ รวมทั้งขัดขวาง ยับยั้งกิจกรรม จึงถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ขัดกับหลักนิติธรรม และหลักสิทธิมนุษยชนสากล ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ในสายตาของนานาอารยะประเทศ

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ จึงขอเรียกร้องให้ยกเลิกการควบคุมตัวแกนนำและผู้เข้าร่วมกิจกรรม ยุติการกระทำที่เป็นการข่มขู่ คุกคามประชาชน ที่แสดงเจตนาอันบริสุทธิ์ เรียกร้องการแก้ปัญหา หากได้รับการปฏิเสธ และ/หรือเพิกเฉย ขอเรียกร้องให้ประชาชน และกลุ่มพลังทางสังคม ออกมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในรูปแบบต่างๆ โดยไม่หวาดหวั่นต่ออำนาจอันไม่ชอบธรรมนี้

ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊กว่า "ชมรมแพทย์ชนบท" โพสต์ภาพและข้อความสรุปว่า "นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ แกนนำขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน หนึ่งในแกนนำแพทย์ชนบท รองประธานชมรมแพทย์ชนบทภาคใต้ ผู้ที่ทำงานคร่ำหวอด คลุกคลีกับประชาชนใน 5 จังหวัดภาคใต้มาอย่างยาวนาน เป็นนักคิด นักเขียน เป็นหมอชนบทนักสู้ ผู้ไม่เคยยอมแพ้ก้มหัวให้กับอธรรมและความไม่ถูกต้อง เคารพสิทธิเสรีภาพของพลังประชาชน" และ "การเดินๆด้วยใจ ไม่ได้ต้านคสช.ที่ต้องการให้บ้านเมืองสงบ เพราะเดินไปอย่างสงบ ในช่วงต่อสู้ที่ผ่านมา และต่อจากนี้ไปคงจะได้จุดประกายให้ผู้คนในสังคมพิทักษ์สิทธิของตนเองมากขึ้น..."

**นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนออกโรงจี้ยุติคุกคาม

ด้านสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ยุติการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออก กรณีทหารได้ควบคุมตัวเครือข่ายประชาชน 11 คน สมาคมเห็นว่าพฤติกรรมของทหารมีลักษณะละเมิดต่อพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน และอาจก่อให้เกิดผลกระทบดังต่อไปนี้

1. บุคคลย่อมมีสิทธิในการแสดงความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง มีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และความคิดทุกประเภท ตามข้อ 19 กติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีในการปฏิบัติตาม

ดังนั้นการที่เจ้าหน้าที่ทหารห้ามการเดินเท้าของขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน ย่อมเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนดังกล่าว

2.การห้ามกิจกรรมต่างๆของเจ้าหน้าที่ทหาร นอกจากจะเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก อันเป็นสิทธิเสรีภาพสำคัญในระบอบประชาธิปไตยแล้ว อีกนัยหนึ่ง คือ การจำกัดสิทธิของประชานในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนด้วยเช่นกัน

3. การห้ามกิจกรรมดังกล่าวเป็นการสร้างความหวาดกลัวต่อประชาชนกลุ่มอื่น ที่ต้องการแสดงออก หรือต้องการนำข้อเสนอของตนสู่สาธารณะ อันเป็นผลให้ข้อเสนอไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียง แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในสังคม แต่กลับถูกจำกัดไว้เฉพาะกลุ่ม หรืออาจทำได้เพียงยื่นข้อเสนอต่อผู้มีอำนาจหน้าที่เท่านั้น

สมาคมเห็นว่า เสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในการรับรู้ข่าวสาร และสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นสิทธิเสรีภาพซึ่งได้รับรองในรัฐธรรมนูญ ในระบอบประชาธิปไตยมาตลอด และเป็นเสรีภาพที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในภาวะที่ประชาชนไม่มีตัวแทน ในการนำเสนอปัญหาไปยังรัฐสภาโดยตรง การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อนำข้อเสนอไปสู่การถกเถียง หรือนำไปสู่การปฏิรูปประเทศ จึงจำเป็นอย่างยิ่ง และไม่อาจละเลยได้ หากผู้มีอำนาจต้องการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขอเรียกร้องให้คสช. และทหารในสังกัดยุติการคุกคามประชาชนในการจัดกิจกรรม การแสดงออก อันเป็นการยืนยันว่าคสช.เคารพพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน

**รีดดีเซล-เบนซิน0.25บ.ต่อลิตรโปะหนี้กองทุน

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. เปิดเผยภายหลังหลังประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันเบนซิน , น้ำมันแก๊สโซฮอล 95 ,แก๊สโซฮอล 91 , E20 , E85 และน้ำมันดีเซล ขึ้น 0.25 บาทต่อลิตร มีผลตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม หลังจากค่าการตลาดปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันตลาดโลกลดลง ซึ่งจะทำให้อัตราการจัดเก็บน้ำมันชื้อเพลิงเป็น ดังนี้ น้ำมันเบนซินเดิมเก็บ 11.60 บาทต่อลิตร ปรับเป็น 11.85 บาท แก๊สโซฮอล 95 เดิม 4.60 บาท เป็น 4.85 บาท แก๊สโซฮอล 91 เดิม 2.50 บาท เป็น 2.75 บาท E20 เดิม 0.25 บาท เป็น 0.50 บาท E85 เดิมอุดหนุน10 บาท เหลือ 9.75 บาท ดีเซลเดิมเก็บ 1.30 บาท เป็น 1.55 บาท

การปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนครั้งนี้ ส่งผลให้กองทุนมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นประมาณ 583 ล้านบาทต่อเดือน จากเดิม 3,120 ล้านบาท เป็น 3,703 ล้านบาท ฐานะกองทุน ณ วันที่ 17 สิงหาคม 2557 ติดลบประมาณ 7,646 ล้านบาท

สำหรับราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงปรับตัวลดลง โดยราคาปิดตลาด ณ วันที่ 20 สิงหาคม น้ำมันดิบดูไบ อยู่ที่ 100.09 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล น้ำมันเบนซิน 95 อยู่ที่ 110.52 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล 115.83 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากกบง.เก็บเงินเพิ่มเข้ากองทุน ผู้ค้าน้ำมันไม่สามารถปรับลดราคาขาปลีกกลุ่มเบนซินลงได้ เนื่องจากเหลือค่าการตลาดเฉลี่ยเพียง 1.70 บาทต่อลิตรเท่านั้น

**ชาวบ้านโวยบ.สัมปทานปิโตรเลียมทำบ้านพัง

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานจากจ.บุรีรัมย์ ว่ากรณีบริษัท ซ่านซีเหยียนฉาง ปิโตรเลียม กรุ๊ป จำกัด ได้รับสัมปทานขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมครอบคลุม 4 จังหวัดทุ่งกุลาร้องไห้ ใช้วิธีสำรวจด้วยคลื่นไหวแบบสะเทือน 3 มิติ แต่ถูกชาวบ้านชาวบ้านคัดค้าน เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต สุขภาพของประชาชนในพื้นที่ สร้างความเสียหายแก่พื้นที่การเกษตร ระบบน้ำใต้ดินที่ชาวบ้านใช้อุปโภคบริโภค และทำการเกษตรนั้น

นางคูณ แซ่อึง อายุ 75 ปี และนางกาญจนา เส็งดี อายุ 44 ปี สองแม่ลูกชาวบ้านราษฎร์พัฒนา หมู่ 2 ต.ดอนมนต์ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ร้องขอความเป็นธรรมว่า หลังจากวันที่ 14-15 สิงหาคมที่ผ่านมา บริษัทสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียมได้จุดระเบิดคลื่นไหวแบบสะเทือน 3 มิติ บริเวณนาข้าวห่างจากตัวบ้าน 186 เมตร ทำให้ผนังห้องน้ำ ห้องครัว ห้องนอนมีรอยแตกร้าว พื้นทรุด ฝ้าเพดานเสียหายเกือบ จนไม่มีใครกล้านอนในบ้าน เพราะกลัวจะพังถล่ม ต้องไปขออาศัยบ้านญาติชั่วคราว จึงร้องไปยังเทศบาลตำบลดอนมนต์ให้มาตรวจสอบความเสียหาย พร้อมแจ้งความที่สภ.สตึก ซึ่งอยากเรียกร้องให้บริษัทและกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ที่อนุญาตให้ขุดเจาะสำรวจ แสดงความรับผิดชอบด้วย

นางกาญจนา กล่าวว่า ตัวแทนกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและบริษัทมาตรวจสอบ บอกว่าจะชดเชยให้แค่ 10,000 บาท แต่ตนและแม่ไม่รับ เพราะบ้านหลังนี้ใช้เงินสร้างเกือบล้านบาท จึงอยากให้ประเมินความเสียหายตามจริง

**"ศรีสุวรรณ"ขึ้นศาลปกครองแจงบริษัททำผิดกม.

ขณะเดียวกันตัวแทนชาวบ้านจากอ.สตึก อ.แคนดง อ.บ้านด่าน และ อ.คูเมือง เดินทางมายังศาลปกครองกลาง กรุงเทพมหานคร เพื่อให้ถ้อยคำตามที่ศาลนัดไต่สวนนัดแรก หลังชาวบ้านร้องต่อศาลปกครองให้คุ้มครองชั่วคราว กรณีโครงการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมดังกล่าว

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยภายหลังให้ถ้อยคำต่อตุลาการศาลปกครอง กรณีสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ฟ้องอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการปิโตรเลียม ที่ให้บริษัทเอกชนจากประเทศจีน สำรวจขุดเจาะปิโตรเลียมในหลายพื้นที่ของจ.บุรีรัมย์ โดยไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด ว่าศาลปกครองนัดคู่กรณีมาไต่ สวนเนื่องจากในคำร้องขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยฝ่ายผู้ถูกร้องมีแต่ตัวแทนจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ซึ่งตนได้แถลงข้อเท็จจริงว่า เอกชนผู้รับสัมปทานบุกรุกเข้าพื้นที่ชาวบ้าน ระเบิดหลุมขุดเจาะน้ำมันกว่า 500 หลุม โดยไม่ได้รับการยินยอมจากชาวบ้านในพื้นที่ จึงถือว่าบริษัทละเมิดสิทธิและไม่ดำเนินขั้นตอนตามกฎหมาย ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเสียหาย

**ยื่นหลักฐานเพิ่มทั้งใบแจ้งความ-น้ำในหลุมเจาะ

ทั้งนี้ หลังจากที่ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้แถลงเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ว่ามีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่และบริษัทยุติการระเบิดหลุมน้ำมัน แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ยังมีการดำเนินการดังกล่าวอยู่ เท่ากับว่าอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติแถลงไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ชาวบ้านจึงได้ไปแจ้งความ ซึ่งได้นำใบแจ้งความมายื่นเป็นหลักฐานเพิ่มเติม และได้เก็บตัวอย่างน้ำที่ขังอยู่ในหลุมเจาะน้ำมันมายื่นต่อศาลเป็นพยานวัตถุ เพราะเชื่อว่ามีสารพิษที่อาจเป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อมเจือปน รวมทั้งยื่นรายชื่อชาวบ้านที่ได้รับความเสียหายเพิ่มอีก 62 ราย จากเดิม 98 ราย

อย่างไรก็ตามฝ่ายผู้ถูกร้องยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามกฎหมายทุกขั้นตอน ศาลจึงเปิดโอกาสให้ยื่นเอกสารชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน นับจากวันที่ 21 สิงหาคม เพื่อประกอบสำนวนการพิจารณาจนกว่าจะมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่ง

**ชาวสวนยางสุราษฎร์ให้เวลา7วันแก้ราคายาง

บ่ายวันเดียวกัน ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายไพโรจน์ ฤกษ์ดี ทนายความ และตัวแทนแนวร่วมเกษตรกรชาวสวนยางพาราบ้านส้องและพันธมิตรจ.สุราษฎร์ธานี ยื่นหนังสือเปิดผนึกต่อ นายพิชิต ตู้บันเทิง หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรม ผ่านไปยังประธานคสช. และว่าที่นายกรัฐมนตรี เร่งแก้ปัญหาราคายางตกต่ำเป็นวาระเร่งด่วน โดยให้เวลา 7 วัน หากยังไม่แก้ไข จะนำมวลชนเคลื่อนไหวใหญ่ โดยนายไพโรจน์ กล่าวว่า ตนเป็นลูกหลานชาวสวนยางที่ได้รับความเดือดร้อน และที่ออกมาเรียกร้องครั้งนี้ไม่ได้อยู่สีใดหรือเข้าข้างฝ่ายไหน แต่เดือดร้อนจริงๆ จึงต้องการให้เป็นวาระเร่งด่วน
กำลังโหลดความคิดเห็น