รายงานพิเศษ
การปฏิรูปพลังงานที่ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) กลัดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรกทำให้คสช.ต้องเผชิญหน้ากับความยุ่งยากมากขึ้นเรื่อยๆ ความพยายามก้าวใหม่ที่เริ่มด้วยการเปิดเวทีถาม-ตอบปัญหาพลังงาน เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา สะท้อนชัดถึงปรากฏการณ์เส้นขนานระหว่างภาคประชาชนกับกลุ่มทุนพลังงาน
หลังจากฟังเสียงของภาคประชาชนแล้วคำถามคือ คสช.อยากเห็นการปฏิรูปพลังงาน ที่ยืนอยู่บนผลประโยชน์ของใคร?
อย่าลืมว่า คสช.กลัด กระดุมเม็ดแรกผิด คือการไม่รับฟังเสียงที่ไม่เห็นด้วยในการตั้งดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ขึ้นเป็นประธานบอร์ด ปตท.
กระดุมเม็ดสองที่กลัดผิดตามมา คือการตั้งอดีตผู้บริหาร ปตท.เข้ามาเป็นคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปพลังงาน เป็นการส่งสัญญาณเหมือนจะบอกความนัยว่า ไม่ได้ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเกิดการปฏิรูปในความหมายที่ต้องแบ่งปันผลประโยชน์ไปสู่ประชาชนเจ้าของทรัพยากรปิโตรเลียมตัวจริงแต่อย่างใด
กระดุมเม็ดสามที่กลัดผิด คือการอนุมัติแยกท่อก๊าซฯ ไปตั้งบริษัทใหม่โดยให้ปตท.ถือหุ้น 100% ทั้งที่ยังมีข้อโต้แย้งกันในเรื่องการคืนท่อก๊าซฯ สาธารณสมบัติและอำนาจมหาชนตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ยืดเยื้อมานับสิบปียังไม่สิ้นสุดและยังไม่สิ้นสงสัย
กระดุมเม็ดสี่ที่กลัดผิด คือการรวบตัวกลุ่ม “ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน” ที่ตั้งใจเดินเท้าจากสงขลามายังกรุงเทพฯ เพื่อสร้างกระแสการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปพลังงานของประชาชน ซึ่งแกนคนสำคัญที่ถูกควบคุมตัวด้วยข้อหาฝ่าฝืนกฎอัยการศึก คือ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา รองประธานชมรมแพทย์ชนบท ผู้อุทิศตนเพื่อสังคมเป็นที่ตั้ง รวมกับบุคคลอื่นอีกรวม 11 คน ซึ่งส่งผลให้คสช.เสียคะแนนนิยมไปอักโข
กระดุมเม็ดห้าที่กลัดผิด คือการจับกุมกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงาน ที่รวมตัวกันบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อประชาสัมพันธ์และแจกหนังสือ “พลังงานไทย พลังงานใคร” โดยครั้งนี้นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา และนางบุญยืน ศิริธรรม อดีตสว.สมุทรสาคร ถูกจับกุมคุมขังพร้อมกับนายวีระ สมความคิด แกนนำเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชั่น (คปต.) และบุคคลอื่นอีกรวม 7 คน
การกลัดกระดุมเม็ดแรกผิดและผิดเรื่อยมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้กระแสปฏิรูปพลังงานร้อนฉ่ายั้งไม่หยุดฉุดไม่อยู่ ทั้งๆ ที่แต่ไหนแต่ไรมาเรื่องพลังงานมักถูกมองว่าเข้าใจยาก ซับซ้อน ต้องเชื่อและปล่อยให้คนที่เขารู้เรื่องคือข้าราชการและกลุ่มทุนพลังงานเขากันทำไป แต่นาทีนี้ไม่ใช่เสียแล้ว สังเกตจากเวทีเสวนา 2 เวทีในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2557 และ 27 ส.ค. 2557 มีผู้สนใจเข้าร่วมล้นหลาม
การเปิดเวทีเสวนาดังกล่าวปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลการการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่ไม่ยอมหยุด ไม่ว่าจะเผชิญหน้ากับการจับกุมคุมขังหรือการออกคำสั่งให้หยุดก็ตาม หากไม่เปิดช่องให้มีการแสดงความคิดเห็น การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ก็ไม่แน่ว่า รัฐบาลคสช.อาจจะอายุสั้นกว่าที่คาดคิด ทางเลือกจึงมีแต่ต้องถอยหรือหยุดเพื่อตั้งหลักใหม่ ทั้งเรื่องการชะลอการแยกท่อก๊าซฯ ออกไปเป็นบริษัทใหม่ และการเปิดเวทีฟังความรอบด้านให้มากขึ้น
แล้วก็เป็นไปดังคาด เวทีที่เปิดขึ้นนอกจากจะเปลือยตัวตนคน ปตท.อย่างล่อนจ้อนแล้ว ยังทำให้เห็นว่ายังมีอดีตข้าราชการกระทรวงพลังงาน ที่คิดดีทำดีออกมาตอกหน้าข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพลังงานที่ไปนั่งเป็นบอร์ดปตท.มีผลประโยชน์ทับซ้อนกันสลอน
เริ่มจากเวทีแรก ประเด็นสำคัญของเวทีเสวนาที่ชมรมวิศวฯจุฬาร่วมปฏิรูปประเทศไทย จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2557 ก็คือข้อเสนอต่อคสช. และ ปตท.
หนึ่ง คือต้องการให้ปตท.ปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ตามความเห็นของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เกี่ยวกับทรัพย์สินและกรรมสิทธิ์ของท่อก๊าซฯทั้งบนบกและโดยท่อบนบกต้องคืนให้ครบและควรเรียกเก็บค่าเช่าพื้นที่วางท่อตามแนวท่อทั้งหมดส่วนท่อในทะเลต้องส่งมอบคืนรัฐ และควรจัดตั้งองค์กรปิโตรเลียมแห่งชาติใหม่รัฐถือหุ้น 100% รับโอนท่อก๊าซจากปตท.ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ
สอง ขอให้ คสช. สั่งการให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมทั้งหมด พร้อมขอให้ยุติการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ จนกว่าจะแก้ไขระบบสัมปทานให้เป็นระบบแบ่งปันผลประโยชน์ ซึ่งปัจจุบัน พม่า เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และสิงคโปร์ หันมาใช้ระบบการแบ่งปันผลประโยชน์หมดแล้ว ยกเว้นบรูไน แต่ไทยยังคงยืนหยัดกอดระบบสัมปทาน ไม่ยอมปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ ทั้งที่มีการใช้ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียอยู่แล้ว
สาม สำหรับแปลงสัมปทานไทยแลนด์ I กำลังจะหมดอายุในปี 2558 - 2562 คือแหล่งเอราวัณและบงกช ซึ่งมีแหล่งสำรองปิโตรเลียมสูง ต้องให้เปลี่ยนเป็นสัญญาจ้างผลิตเพื่อความมั่นคง และควรที่จะจัดจ้างผู้เชี่ยวชาญอิสระสำรวจปริมาณสำรองปิโตรเลียมของประเทศเพื่อให้รู้ข้อเท็จจริงว่าสำรองปิโตรเลียมของไทยมีเท่าใดจริงกันแน่ ไม่ใช่รอข้อมูลจากผู้รับสัมปทานอย่างที่เคยเป็นมา
นางสิริพร ไศละสูต อดีตอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ยังให้ข้อมูลที่สวนทางกับข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพลังงานที่เข้าไปเป็นบอร์ดปตท.ด้วยว่า ข้อค้นพบเกี่ยวกับปิโตรเลียมไทยปัจจุบันขุดเจาะประมาณ 6,000 หลุม และกว่า 5,000 หลุมอยู่ในทะเล ซึ่งมีการอ้างว่าการขุดเจาะในอ่าวไทยนั้นทำยากและพบน้อย แต่ในเอกสารทางการของประเทศต่าง ๆ ยืนยันว่าไทยมีโอกาสขุดค้นพบปิโตรเลียมได้สูงถึง 70% และมีความเสี่ยงน้อย “บริษัท เชฟรอน (ประเทศไทย) สำรวจและผลิต จำกัด ระบุว่า ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ช่วยสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียมที่มีการลงทุนต่ำ”
ปัจจุบันไทยมีการสำรวจ ขุดเจาะและผลิตปิโตเลียมในไทยแบ่งเป็น Thailand I เป็นระบบสัมปทาน Thailand II เป็นระบบสัมปทาน และแหล่งพัฒนาพื้นที่ไทยมาเลเซียหรือ JDA ซึ่งเป็นสัญญาแบบแบ่งปันผลผลิตหรือ PSC และหากมองประเทศเพื่อนบ้านขณะนี้เปลี่ยนเป็นระบบ PSC หมดแล้วเพราะไดรับประโยชน์มากกว่า
อีกประเด็นที่ชมรมวิศวฯจุฬาฯ ยกขึ้นมาก็คือ เรื่องที่ ดร.นพ สัตยาศัย ประธานชมรมวศ.รปปท. ระบุถึงราคาน้ำมันสำเร็จรูปว่า ปัจจุบันไทยมีโรงกลั่นน้ำมันอยู่ที่มาบตาพุด จ.ระยอง แต่ไทยยังอ้างอิงราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์อยู่ จึงเสนอให้หันมาใช้ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นในประเทศแทนเพื่อราคาจะได้ถูกลง แต่หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็ให้ปิดโรงกลั่นน้ำมันที่มีอยู่ไปเลย
ประเด็นสุดท้าย นายตะวัน คงวัฒนานนท์ วิศวกรจุฬา 2520 กล่าวถึงการใช้แอลพีจีปัจจุบันพบว่าภาคปิโตรเคมีใช้มากขึ้นโดยเครือปตท.ใช้เป็นหลัก ขณะที่เครือปูนซิเมนต์จะต้องใช้แนฟธาซึ่งเป็นราคานำเข้าจึงต่างกันมาก การใช้แอลพีจีที่สูงก่อให้เกิดการนำเข้าคิดเป็น 22% ของการใช้ ส่วนนี้ถูกผลักภาระให้ภาคประชาชนเป็นผู้จ่ายผ่านการอุดหนุนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ผ่านมาคนไทยจ่ายให้ปิโตรเคมีและโรงกลั่นไปแล้วเกือบแสนล้านบาท ดังนั้นจึงขอเสนอให้โรงแยกก๊าซฯและโรงกลั่นที่ผลิตแอลพีจีให้จัดสรรให้กับกลุ่มครัวเรือนและขนส่งก่อน ส่วนการนำเข้าปิโตรเคมีควรจะรับผิดชอบเอง
ชัดเสียยิ่งกว่าชัด และนี่เป็นเวทีเสวนาของ “ผู้รู้” ที่ปตท.และหน่วยงานด้านพลังงานที่เกี่ยวข้องไม่อาจปฏิเสธข้อมูล ความรู้ ข้อคิดเห็นได้ ไม่สามารถเบี่ยงเบนประเด็นและดิสเครดิตว่า “มั่วข้อมูล” อย่างที่ปตท.หรือหน่วยราชการมักตีโต้กลับเมื่อถูกตั้งคำถาม
แต่ที่ร้อนแรงทะลุองศาเดือดก็คือ เวที “ถาม-ตอบปัญหาพลังงานชาติ” วันที่ 27 ส.ค. 2557 จัดโดยสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ สำหรับผู้ที่เกาะติดขอบเวทีคงเห็นบรรยากาศโต้ตอบกันชนิดดุเดือดเลือดพล่าน เพราะ 2 ฟากฝั่งที่เข้ามานั่งถาม-ตอบกันในเวที ภาษาวัยรุ่นก็ต้องบอกว่า “ขาโจ๋” ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ไม่เว้นแม้แต่หลวงปู่พุทธอิสระ ที่เล่นบทมาดเข้มเสียงดังฟังชัดเพื่อเอาให้อยู่ ถือเป็นผู้ดำเนินรายการที่เล่นบทเหมือนกรรมการห้ามมวย แถมบางจังหวะยังยิงหมัดเข้าปลายคางผู้บริหาร ปตท.แบบเนียนๆ อีกต่างหาก
วันดังกล่าว ตัวแทนกระทรวงพลังงานและ บมจ.ปตท. และเครือข่ายปฏิรูปพลังงานภาคประชาชน ฝ่ายละ 10 คน ขึ้นเวทีเพื่อถามและตอบ โดย หลวงปู่พุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ดำเนินรายการ เริ่มตั้งแต่เวลา 9.00 น.-15.30 น. รวมเวลากว่า 6 ชั่วโมงโดยไม่มีพักเบรก มีการระดมกำลังตำรวจและทหารกว่า 100 นายมารักษาความปลอดภัย
สำหรับตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน ซึ่งเป็นฝ่ายถาม อาทิ นายวีระ สมความคิด, นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา ,ม.ล.กรณ์กสิวัฒน์ เกษมศรี , นางบุญยืน ศิริธรรม เป็นต้น ขณะที่ตัวแทนฟากกระทรวงพลังงานและกลุ่มธุรกิจพลังงาน ซึ่งเป็นฝ่ายตอบ ได้แก่ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานบอร์ดปตท. นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท., นายเทวินทร์ วงษ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.), นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเชฟรอน ประเทศไทย นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน และนายมนูญ ศิริวรรณ อดีตผู้บริหารบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
ประเด็นหลักๆ ของการถาม-ตอบในวันดังกล่าวมีอยู่ 3 - 4 ประเด็น คือ หนึ่ง การคืนท่อก๊าซฯ ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดและการแยกท่อก๊าซฯออกไปตั้งบริษัทใหม่ สอง การใช้ก๊าซฯแอลพีจีของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในเครือปตท.และการจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมัน สาม สูตรราคาน้ำมันอิงสิงคโปร์ สี่ การถือหุ้น บมจ.ปตท.ของผู้บริหารและบอร์ด ปตท.
ตัวอย่างบางตอนจากคำถามและคำตอบในเวที เปิดคำถามแรกจาก นายวีระ สมความคิด ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปพลังงานภาคประชาชน ลุกขึ้นทวงถามท่อก๊าซฯในทะเลที่ต้องคืนให้แก่รัฐด้วย
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. ตอบโดยยืนยันเช่นเคยว่าการคืนท่อก๊าซฯ ปตท.ปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดแล้ว ในส่วนของท่อที่ใช้อำนาจเวนคืนที่เป็นมหาชนและการใช้เงินลงทุนก่อน ปตท. แปรรูป ซึ่งท่อในทะเลไม่ได้เข้าข่ายดังกล่าวจึงถือเป็นของ ปตท. และอ้างว่าที่ผ่านมาสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในฐานะผู้สอบบัญชีของปตท.ก็ไม่เคยท้วงติงใดๆ ในรายงานการตรวจสอบบัญชี
ประเด็นเรื่องท่อก๊าซฯ มีการโต้แย้งกันอย่างหนักจนกระทั่งหลวงปู่พุทธอิสระ ระบุว่า ถ้าใครโกหกเดี๋ยวจะนำเรื่องฟ้องศาลทวงคืนเอง "กรณีที่จะมีการฟ้องร้องเรื่องโอนท่อก๊าซธรรมชาติในทะเลหรือไม่ ขอให้เป็นเอกสารลายลักษณ์อักษรก่อนแล้วจะให้ฝ่ายกฎหมายและนิติกรมาดูว่าข้อมูลใดชัดเจน เป็นเท็จ ซึ่งหากเห็นว่าทำได้ก็จะต้องดำเนินการ....” (อ่านรายละเอียดใน ศึกลากท่อก๊าซจากปาก ปตท. ประกอบ)
ประเด็นถัดมาเรื่องการใช้ก๊าซหุงต้มหรือก๊าซแอลพีจี นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ถามถึงการใช้แอลพีจีที่มติคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) จัดสรรให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีใช้ก่อน และปิโตรเคมีซึ่งอยู่ในเครือปตท.ซื้อในราคาต่ำกว่า รายอื่นๆ
ทางปตท.ตอบว่า ราคาแอลพีจีเฉลี่ยเมื่อปี 2556 เมื่อรวมที่ซื้อจากโรงแยกก๊าซและโรงกลั่นอยู่ที่ 22.85 บาทต่อกก. ไม่รวมภาษีและเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งไม่ได้ถูกกว่าแอลพีจีภาคอื่นๆ และการจัดสรรนั้นไม่ได้ระบุให้ปิโตรเคมีก่อนเพราะให้จัดสรรแก่ภาคครัวเรือนด้วย ต้องเข้าใจถึงที่มาอุตสาหกรรมนี้ว่ารัฐบาลวางเป้าหมายพัฒนาประเทศจากการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก
นายปานเทพ ถามอีกว่า อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ทำไมจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิงแค่ 1 บาท ทั้งที่ซื้อแอลพีจีเป็นวัตถุดิบแค่ราคา 11 บาทกว่า แต่ภาคขนส่งและครัวเรือนจ่ายเข้ากองทุนมากกว่าทั้งที่ซื้อในราคาที่แพงกว่า นายปิยสวัสดิ์ บอกว่า ราคาเฉลี่ยที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีซื้อแอลพีจี คือ 22 บาทต่อกิโลกรัม และไม่ได้รับการชดเชยจากกองทุนน้ำมันในช่วงแรกเหมือนภาคครัวเรือนและขนส่ง จึงเก็บเงินเข้ากองทุนฯ แค่ 1 บาท
ม.ล.กรณ์กสิวัฒน์ ขอให้ชี้แจงว่า ปิโตรเคมีของปตท.และบริษัทในเครือใครบ้างซื้อแอลพีจีในราคาดังกล่าว ซึ่งทางปตท. ขอทำเป็นเอกสารชี้แจงเพราะมีรายละเอียดสัญญาต่างกัน ทางฟากประชาชนย้อนถามอีกว่าทำไมเครือซิเมนต์ไทย จึงใช้ราคาแอลพีจีแพงกว่า ทางนายปิยสวัสดิ์ ชี้แจงว่าในอดีตมีการทำสัญญาระยะยาวของ ปตท. และก็ต่างวาระกัน ขณะนั้นแอลพีจีราคาต่ำกว่า แต่ใครที่ซื้อภายหลังก็จะแพงกว่าเป็นเรื่องปกติ
ม.ล.กรณ์กสิวัฒน์ เฉลยปริศนาราคาแอลพีจีผ่านทางเฟซบุ๊กเพิ่มเติมว่า ประเด็นสำคัญคือภาคประชาชนสงสัยแผ่นพับที่แจ้งว่าปิโตรเคมีซื้อก๊าซหุงต้มราคา 22 บาทต่อกิโลกรัม แต่กลับพบหนังสือปตท.ถึงประธานกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบทุจริตฯ วุฒิสภา ว่า โรงแยกก๊าซฯขายก๊าซแอลพีจีให้ปิโตรเคมี ราคา 16-18 บาทเท่านั้น วันนี้จึงได้คำตอบว่าปัจจุบัน ปิโตรเคมีซื้อก๊าซหุงต้ม 2 ราคา คือ 1) ราคา 19 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับบริษัท PTTGC และ HMC ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. 2) ราคา 30 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับบริษัทอื่นๆ เช่น ปิโตรเคมีในกลุ่มปูนซิเมนต์ไทย กลุ่มทุนบอกว่า อย่าพูดราคา 19 บาทได้มั้ย มันไม่ถูกต้อง แต่ขอให้มองราคาเฉลี่ย จะเห็นว่า ปิโตรเคมีซื้อที่ราคา 22 บาทจริง!!!
“ผมบอกว่า ใช้ราคาเฉลี่ย คงไม่ได้ครับ เพราะผู้ซื้อเป็นคนละบริษัทกัน คนละกระเป๋ากันครับ วันนี้จึงรู้ความจริงในการนำเสนอข้อมูลของกลุ่มทุนพลังงานแล้วว่าเป็นอย่างไร??? เราๆท่านๆ คงเห็นแล้วว่า บางกลุ่มบริษัทได้สิทธิพิเศษ ในการซื้อก๊าซหุงต้ม หรือไม่???”
ประเด็นต่อมา ทำไมราคาน้ำมันของไทยถึงแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำไมต้องส่งน้ำมันออกไปในราคาที่ต่ำกว่า ซึ่งทางกระทรวงพลังงาน และ ปตท. ยืนยันว่า ราคาใกล้เคียงกัน หากพิจารณาเฉพาะเนื้อน้ำมัน แต่ที่ราคาไทยแพง เพราะโครงสร้างราคาน้ำมันของไทยมีการเก็บภาษีและกองทุนน้ำมัน หากจะทำให้ราคาน้ำมันต่ำ ก็ทำได้โดยรัฐกำหนดนโยบายเลิกเก็บภาษีและกองทุนน้ำมัน
อย่างไรก็ตาม แม้แต่หลวงปู่พุทธอิสระ ยังโพสต์เฟซบุ๊กว่าคำถามเรื่องราคาน้ำมันตอบไม่เคลียร์ “... มีบางคำตอบที่ยังให้ความกระจ่างไม่ได้ เป็นประเด็นคาใจอยู่ เช่น ทำไมราคาพลังงานต้องไปอิงราคาสิงคโปร์อีก ทำไมไม่รับรองความเสี่ยงให้แก่ประชาชนบ้าง อันนี้เขาก็ตอบไม่ได้ และยังมีบางคำถามที่ฉันถาม เช่น เป็นไปได้ไหมหากพลังงานภายในประเทศจะสงวนเอาไว้ให้เฉพาะภาคประชาชนได้ใช้ ส่วนอุตสาหกรรมให้ไปสั่งจากต่างประเทศมาใช้ เขาก็จะตอบแบบรักษาผลประโยชน์ของผู้ประกอบการ ไม่รักษาผลประโยชน์ของภาคประชาชน”
อีกคำถามที่เรียกเสียงฮือฮาจากภาคประชาชนก็คือ นายวีระตั้งคำถามต่อฝ่ายกระทรวงพลังงาน และ ปตท.ว่า ในที่นี้ตัวแทนคนใดถือหุ้นบริษัท ปตท. บ้าง ซึ่งนายปิยสวัสดิ์ กล่าวยอมรับว่ามีหุ้นอยู่ใน ปตท. จำนวน 4,400 หุ้น ซึ่งการถือหุ้นดังกล่าวตามกฎหมายสามารถดำเนินการได้ เพราะไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เท่านั้นแหละ ผู้เข้าร่วมสัมมนาฝ่ายเครือข่ายภาคประชาชนเริ่มส่งเสียงโห่ร้อง จนหลวงปู่พุทธอิสระต้องห้ามปราม
จากนั้น นายไพรินทร์ ชี้แจงว่า หากต้องการทราบข้อมูล ควรเข้าไปตรวจสอบในเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ หรือรายงานประจำปีของ ปตท. เพราะเป็นข้อมูลที่ตรวจสอบได้ตามกฎหมาย ส่วนข้อมูลการถือหุ้นของตนเองจะส่งให้หลวงปู่พุทธอิสระอีกครั้ง ซึ่งเรื่องนี้ หลวงปู่พุทธอิสระ เห็นว่า หากจะคาดคั้นคำตอบคงไม่จบ อยากให้ส่งเอกสารการถือหุ้นตามมาทีหลัง
ส่วนคำถามคำตอบที่สร้างบรรยากาศตึงเครียดปนเสียงโห่ฮาจากภาคประชาชนอีกครั้ง เป็นการรุกไล่ของ พ.ท.แพทย์หญิง กมลพันธุ์ ชีวะพันธุ์ศรี ที่ไล่บี้ให้นายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน และอดีตผู้บริหารบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ให้ตอบคำถามใครกันแน่ที่ใช้แอลพีจีมากสุด ทำให้นายมนูญ ถึงกับเกิดมีอารมณ์โต้กลับว่าตนไม่ใช่จำเลยที่สอบสอบสวนในชั้นศาล จนหลวงปู่พุทธอิสระต้องห้ามศึกและเตือนว่าทุกฝ่ายไม่มีใครเป็นจำเลยต้องให้เกียรติกันด้วย
เช่นเดียวกับคู่ของนางบุญยืน ศิริธรรม กล่าวพาดพิง ปตท. ว่าเป็นเสือนอนกิน ทำให้นายปิยสวัสดิ์ ขอชี้แจงและตอบโต้กันไปมา ในที่สุดนางบุญยืน ต้องขอถอนคำพูด แต่นายปิยสวัสดิ์ ต้องการให้ขอโทษ ทำให้หลวงปู่พุทธอิสระ ต้องปรามและให้จบกันไป
ข้อสรุปจากเวทีถาม-ตอบฯ คราวนี้ อย่างน้อยก็ได้รู้กันว่า ปตท.ขายแอลพีจีจากโรงแยกให้บริษัทปิโตรเคมีในเครือปตท.ในราคา 19 บาท ถูกกว่าขายให้ภาคครัวเรือนและขนส่งใช้จริง กลุ่มปิโตรเคมีจ่ายเข้ากองทุนน้ำมันแค่ กก.ละ 1 บาทจริง และกลุ่มปิโตรเคมีของ ปตท.แย่งใช้ก๊าซแอลพีจีจากภาคประชาชนจริงโดยไม่นำเข้าเองในราคาตลาดโลก
คล้อยหลังเวทีเสวนาและเวทีถาม-ตอบฯ ผ่านไป ทาง กบง.ได้ปรับลดราคาน้ำมันลงจากการลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาลและกองทุนน้ำมัน โดยเบนซิน 95 ลดมากสุด 3.89 บาท/ลิตร แก๊สโซฮอลล์ 95 ลด 2.13 บาท/ลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 ลด1.70 บาท/ลิตร อี 20 ลด 1 บาท/ลิตร ขณะที่ดีเซล ปรับขึ้น 0.14 บาท/ลิตร
การปรับลดราคาลงคราวนี้ อาจเป็นแค่การคืนความสุขให้แก่ประชาชนคนไทยชั่วครั้งชั่วคราวอย่างที่หลายรัฐบาลเลือกปฏิบัติเมื่อต้องการหาคะแนนเสียงเท่านั้น เพราะเป็นการปรับลดจากการเก็บภาษีและกองทุนน้ำมัน หาใช่การปรับลดจากการถอด “ต้นทุนเทียม” ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงทิ้งไป ซึ่งต้นทุนเทียมจากการกำหนดราคาน้ำมันอิงตลาดสิงคโปร์ที่เอามาบวกๆ ไว้ให้คนไทยจ่าย เช่น ค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ฯลฯ ยังอยู่เช่นเดิม วันดีคืนดีเมื่อจัดเก็บภาษีสรรพสามิตได้น้อยลง และกองทุนน้ำมันหร่อยหรอ ราคาน้ำมันก็ต้องปรับสูงขึ้นเหมือนเดิม
ไหนๆ ก็จะปฏิรูปพลังงานกันยกใหญ่ เมื่อก้าวแรกพลาดไป ก้าวใหม่ก็ขออย่าพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีกด้วยการถูกลวงให้รักษาผลประโยชน์กลุ่มทุนพลังงานไม่เปลี่ยนแปลงอีกเลย