xs
xsm
sm
md
lg

วิศวจุฬาฯจี้ปตท.ยึดตามคำสั่งศาล คืนท่อในทะเล เปิดทุกสัญญาสัมปทาน-ตั้งองค์กรรับโอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน- ชมรมวิศวฯจุฬาฯร่วมปฏิรูปประเทศไทย ไล่บี้"ปตท."คืนท่อก๊าซในทะเล"ให้รัฐเหตุสัมปทานอยู่ในเขตศก.จำเพาะครอบคลุม200ไมล์ทะเล ชี้ชัดต้องเป็นของคนไทย แนะตั้งองค์กรปิโตรเลียมแห่งชาติใหม่รัฐถือหุ้น 100% รับโอนท่อก๊าซฯจากปตท.มาไว้ จี้คสช.ให้กรมเชื้อเพลิงเปิดสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมทุกสัญญา "มาร์ค"ห่วงปตท.ชงแยกบริษัทท่อก๊าซ หวั่นไม่เกิดความเป็นธรรมในระบบพลังงาน เปิดทางใช้เทคนิคเพิ่มราคาหุ้น ทำก.คลังซื้อในราคาแพง โยนภาระให้ปชช. เสนอ 3 ทางออกแก้ปมขัดแย้ง ทหารปล่อยตัว"วีระ"พร้อมพวกรวม 8 คน เตรียมหิ้วเข้าวงเสวนาปฏิรูปพลังงานวันนี้(27) ด้าน"ดร.เลิศชาย" คณบดีสำนักวิชาศิลปศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ รับไม้"ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน" ใช้สโลแกน "เดินอย่างครู เดินทางวิชาการ ลดเงื่อนไขทุกอย่าง เปิดทางปฏิรูปพลังงาน"

นางสิริพร ไศลสูต วิศวกรจุฬาฯ 2507 และอดีตอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยในงาน เสวนาวิชาการ การปฏิรูปพลังงานเพื่อประชาชนอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ซึ่งจัดโดยชมรมวิศวฯจุฬาฯร่วมปฏิรูปประเทศไทย(วศ.รปปท.) เมื่อวานนี้ ( 26 ส.ค. )ว่า ข้อเสนอของชมรมวิศวจุฬาฯต้องการให้ปตท.ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดและตามความเห็นของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ในการดำเนินงานเกี่ยวกับทรัพย์สินและกรรมสิทธิ์ของท่อก๊าซทั้งบนบกและในทะเล โดยท่อบนบกควรเรียกเก็บค่าเช่าพื้นที่วางท่อตามแนวท่อทั้งหมดและท่อในทะเลต้องส่งมอบคืนรัฐ

"ในเมื่อแปลงสัมปทานอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของราชอาณาจักรไทยตามประกาศเมื่อวันที่ 23 ก.พ.2524 ครอบคลุม 200 ไมล์ทะเล ท่อเป็นอุปกรณ์ที่ต่อจากหลุมควรจะเป็นของใคร เป็นคำถามง่ายๆ มันก็ต้องเป็นของคนไทย ดังนั้น ปตท.ต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดต้องโอนทั้งท่อบนบกและทะเล บนบกต้องจ่ายค่าเช่า เพราะวันนี้ปตท.เป็นบริษัท มหาชน เพราะได้แปรรูปไปแล้ว วันนั้นปตท.ใช้อำนาจรัฐ เพราะปิโตรเลี่ยมที่เรามี เป็นทั้งครื่องมือขับเคลื่อเศรษฐกิจขณะเดียวก็ยังเป็นยุทธปัจจัย"นางสิริพรกล่าว

นางสิริพร กล่าวว่า ควรจัดตั้งองค์กรปิโตรเลียมแห่งชาติใหม่รัฐถือหุ้น 100% รับโอนท่อก๊าซจากปตท.ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐเพื่อให้ทุกคนสามารถร่วมใช้ได้ โดยจ่ายค่าธรรมเนียมให้รัฐ รวมทั้งปตท.เองก็ต้องจ่ายด้วยตามอัตราที่รัฐกำหนด และขอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) สั่งการให้กรมเชื้อเพลิงเปิดเผยสัญญาสัมปทานทั้งหมด พร้อมขอให้ยุติการออกสัมปทานในรอบใหม่จนกว่าจะมีการแก้ไขระบบสัมปทานให้เป็นระบบแบ่งปันผลประโยชน์ ขณะที่สัมปทานไทยแลนด์ I กำลังจะหมดอายุและมีแหล่งสำรองปิโตรเลียมสูงต้องให้เปลี่ยนเป็นสัญญาจ้างผลิตเพื่อความมั่นคง

"แปลงสัมปทนที่จะหมดสัมปทานปี 2558-2562 คือ แหล่งเอราวัณและบงกชให้เปลี่ยนเป็นสัมปทานรับจ้างผลิต เพราะที่ผ่านมาเขาผลิตมานานมากเรียกว่าคุ้มทุน ที่เหลือคือกำไรแล้วผลประโยชน์ควรตกที่รัฐ และควรที่จะจัดจ้างผู้เชี่ยวชาอิสระสำรวจปริมาณสำรองปิโตรเลียมของประเทศเพื่อให้รู้ข้อเท็อจจริงอีกด้านว่าสำรองปิโตรเลียมของไทยมีเท่าใดจริงกันแน่ไม่ใช่รอข้อมูลจากผู้รับสัมปทานที่อาจไม่ได้แจ้งจริงก็ได้"นางสิริ พรกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีการสำรวจ ขุดเจาะและผลิตปิโตเลียมในไทยแบ่งเป็น Thailand I เป็นระบบสัมปทาน Thailand II เป็นระบบสัมปทาน และแหล่งพัฒนาพื้นที่ไทยมาเลเซียหรือ JDA ซึ่งเป็นสัญญาแบบแบ่งปันผลผลิตหรือ PSC และหากมองประเทศเพื่อนบ้านขณะนี้เปลี่ยนเป็นระบบPSCหมดแล้วเพราะไดรับประโยชน์มากกว่า

นายนพ สัตยาศัย ประธานชมรมวศ.รปปท. กล่าวว่า การจัดสรรผลประโยชน์ชองชาติในการพัฒนาพลังงานนั้น พบว่า ภาคประชาชนและสังคมไม่ได้รับรู้การดำเนินงานใดๆ ผลประโยชน์ส่วนใหญ่จึงตกอยู่ที่นักลงทุน ข้อเสนอของชมรมวิศวฯจุฬาฯจึงต้องการให้รัฐจัดสรรทรัพยารของชาติให้มีความมั่นคงและเป็นธรรมทุกภาคส่วน นายตะวัน คงวัฒนานนท์ วิศวกรจุฬา2520 กล่าวว่า การใช้แอลพีจีปัจจุบันพบว่า ภาคปิโตรเคมีใช้มากขึ้นโดยเครือปตท.ใช้เป็นหลัก ขณะที่เครือซิเมนต์ใช้จะต้องใช้แนฟธาซึ่งเป็นราคานำเข้าจึงต่างกันมาก การใช้แอลพีจีที่สูงก่อให้เกิดการนำเข้าคิดเป็น22% ของการใช้ส่วนนี้ถูกผลักภาระให้ภาคประชาชนเป็นผู้จ่ายผ่านการรออุดหนุนกองทุน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ผ่านมาคนไทยจ่ายให้ปิโตรเคมีและโรงกลั่นไปแล้วเกือบแสนล้านบาท ดังนั้นข้อเสนอโรงแยกก๊าซและโรงกลั่นที่ผลิตแอลพีจีให้จัดสรรให้กับกลุ่มครัวเรือนและขนส่งก่อน การนำเข้าปิโตรเคมีควรจะรับผิดชอบเอง

นายสุทธิพงษ์ เทพพิทักษ์ อดีตผู้บริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.พยายามจะเสนอให้กฟผ.นำโรงไฟฟ้าเก่าที่หมดอายุมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่แทนโรงเดิมได้ เนื่องจากสัดส่วนการผลิตไฟของกฟผ.มีแนวโน้มที่จะลดลงจากการส่งเสริมให้เอกชนทำให้สัดส่วนการผลิตไฟของกฟผ.เหลือต่ำกว่า 50% รัฐควรสนับสนุนเพิ่มสัดส่วนการผลิตให้มากกว่า50%เพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าและค่าไฟจะได้รับการดูแลมากกว่าเอกชน

****“มาร์ค”ห่วงปตท.ชงแยกบ.ท่อก๊าซ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงทางออกความขัดแย้งในสังคม กรณีท่อก๊าซว่า การที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศว่าจะทำงานด้วยความมุ่งมั่น ซื่อสัตย์ เพื่อทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าสู่การปฏิรูปด้วยความมั่นคงนั้น ขณะนี้เริ่มมีปัญหาบางเรื่องที่น่าเป็นห่วง หากละเลยไปจะเกิดความขัดแย้งที่อาจขยายตัวเป็นวงกว้างได้ เช่น เรื่องพลังงาน เรื่ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเรื่องราคาพืชผลทางการเกษตร โดยประเด็นร้อนที่สุดหนีไม่พ้นเรื่องพลังงาน โดยเฉพาะการดำเนินการเกี่ยวกับท่อก๊าซ ซึ่งตนเห็นด้วยที่จะชะลอการแยกบริษัทท่อก๊าซตามข้อเสนอของปตท. เพราะศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำพิพากษา ในปี พ.ศ.2550 ให้แยกระบบท่อก๊าซที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้กลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลัง แต่จนถึงบัดนี้ปตท.กลับยังคงถือกรรมสิทธิ์อยู่

“การที่ปตท.เสนอให้แยกบริษัทท่อออกมาก่อน ดูผิวเผินแล้วเหมือนจะทำให้ระบบท่อก๊าซกลับมาเป็นของรัฐ แต่ความจริงแล้วอาจไม่เกิดความเป็นธรรมในระบบพลังงาน เพราะปตท. เป็นผู้ประกอบการที่ใช้ท่อเป็นรายหลัก หากให้ ปตท.เป็นผู้กำหนดกติกาการใช้ ก็จะสามารถอาศัยอำนาจเหนือตลาดที่ตนเองมีอยู่เก็บค่าบริการสูง และสามารถใช้เทคนิคการโอนราคา เพื่อลดต้นทุนในส่วนอื่นได้ ซึ่งจะเป็นการทำให้มูลค่าของบริษัทท่อ สูงจากการอาศัยอำนาจการผูกขาด ในที่สุดกระทรวงการคลังต้องเข้ามาซื้อหุ้นในราคาแพง ซึ่งเป็นภาระของประชาชนทั้งประเทศ แต่เป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นปตท.” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

สำหรับ ขั้นตอนที่น่าจะดำเนินการควรจะเป็นดังนี้ 1. หาข้อยุติในข้อกฎหมายเกี่ยวกับสถานะของระบบท่อทั้งหมด โดยเฉพาะในกรณีที่ยังมีการโต้แย้งอยู่ว่า มีระบบท่อส่วนใดที่เป็นสาธารณสมบัติแต่ยังไม่ได้มีการโอนกลับคืนมา 2. เมื่อโอนทรัพย์สินถูกต้องครบถ้วนตามคำพิพากษาแล้ว ให้รัฐดำเนินการซื้อทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณูปโภคผูกขาดที่เหลือออกมาจากปตท. โดยควรซื้อตามมูลค่าทรัพย์สิน มิใช่การซื้อหุ้นโดยประเมินราคาจากความสามารถในการทำรายได้ของท่อที่มีการผูกขาด เพราะปตท. มีสิทธิเฉพาะในทรัพย์สิน แต่ไม่มีสิทธิใช้อำนาจการผูกขาดในการหารายได้ 3. เมื่อท่อกลับคืนมาเป็นของรัฐแล้ว ให้องค์การของรัฐเป็นผู้บริหาร กำหนดกติกาเกี่ยวกับการใช้ท่อสำหรับทุกรายอย่างเสมอภาค รวมทั้งเป็นธรรมกับประชาชนในฐานะผู้ใช้ก๊าซด้วย เชื่อว่าหากทุกฝ่ายพิจารณาตามหลักการนี้ น่าจะลดช่องว่างหรือความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้รัฐบาลควรระงับการดำเนินการใดๆ ที่จะทำให้การดำเนินการไปตามหลักการนี้เป็นไปได้ยากขึ้น

***"อรรถวิชช์"ชี้้ตั้งบริษัทท่อก๊าซ ไม่ตอบโจทย์

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส. กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงแนวคิดการแยกธุรกิจท่อก๊าซของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ออกมาตั้งบริษัทใหม่ว่า การตั้งบริษัทท่อก๊าซ แยกออกจากปตท. ไม่ได้ตอบโจทย์ วิธีการทำให้ท่อก๊าซเป็นของรัฐทั้งระบบ ซึ่งที่ผ่านมาศาลได้วางแนวให้ปตท.หลังถูกแปรรูปเป็นบริษัทมหาชนว่า จะต้องคืนทรัพย์ที่ใช้อำนาจมหาชนที่ได้มา คืนแก่รัฐ แต่ผู้ตีความและปฏิบัติตามคำสั่งศาลคือรัฐบาลและข้าราชการ กลับตีความและแจ้งศาลว่าท่อในทะเลไม่ใช่ของรัฐ ทั้งที่ขณะนั้นปตท.ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจที่มีอำนาจมหาชน จะวางท่อในทะเลไม่ได้ ถ้าเป็นเอกชนปกติ ต้องประมูลและผ่านกระบวนการอีกมาก

สำหรับการนำท่อคืนทั้งระบบต้องวางแผนข้อกฎหมายให้ดี และต้องเตรียมข้อต่อรองกับปตท. เช่น ตอนซื้อหุ้นปตท.ครั้งแรกในตลาดหลักทรัพย์ หนังสือชี้ชวนก็ระบุแจ้งถึงความเสี่ยงเรื่องนี้ไว้แล้ว, เพิ่มเงื่อนไขการอนุญาตต่อท่อเพิ่มในอนาคต และเปิดทบทวนสัญญาเช่าท่อบางส่วนกับรัฐว่า ปตท.ปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ หากจะเดินไปข้างหน้าต้องถอยคนละก้าว คือ ปตท.ควรขายท่อก๊าซคืนรัฐในราคาแท้จริงของท่อก๊าซ หักค่าเสื่อมเฉพาะท่อเท่านั้น ไม่ใช่ขายแบบประเมินโดยใช้เกณฑ์รายได้ หรือไปตั้งบริษัทก่อน แล้วขายเป็นหุ้นเพราะราคาจะแพงมาก การตั้งบริษัทท่อก๊าซไม่ควรเป็นหน้าที่ของปตท. เพราะจะทำให้การคืนท่อก๊าซทำได้ยาก และแพง แต่ควรเป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่จะจัดการหลังรับซื้อท่อก๊าซมาแล้วต่างหาก เหตุที่ ปตท.ควรยอมขายท่อก๊าซในราคาต่ำ เพราะรัฐสามารถยกข้อกฎหมายและข้อต่อรองที่ได้กล่าวข้างต้นบีบปตท.ได้ ดังนั้นการหาจุดราคาที่ดีร่วมกันจะเป็นทางออกของประเทศ

ส่วนเรื่องนโยบายที่จะตั้งบริษัทท่อก๊าซโดยให้กองทุนวายุภักษ์ถือหุ้นนั้น นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า กองวายุภักษ์เดิมเป็นกองทุนปิดมีอายุจำกัด เปิดขายประชาชนทั่วไป หมดอายุแล้วก็ต้องเอาเงินไปคืนผู้ลงทุน เงินที่คืนคือกำไรกองทุน และเงินลงทุนใหม่จากรัฐวิสาหกิจต่างๆ แต่กองทุนใหม่นี้ เป็นกองทุนเปิดไม่จำกัดอายุ ซึ่งมีรัฐวิสาหกิจถือ100 เปอร์เซนต์ ยังไม่ขายให้ประชาชนทั่วไป ซึ่งช่องทางกฎหมายเปิดให้ขายประชาชนได้ ทั้งนี้แล้วแต่นโยบาย จะทำเมื่อไร

" หากจะตั้งบริษัทท่อแล้วให้กองทุนวายุภักษ์ถือหุ้น ต้องระวัง เพราะพร้อมขายประชาชนทั่วไปได้ทุกเมื่อ ขณะที่คสช.จะอยู่อีกแค่ 1 ปี หากเรื่องนี้ทำคาไว้ จะเข้าทางพวกขายชาติแน่ เพราะถึงเวลานั้นเค้าจะโยนว่าเป็นความคิดของคสช." นายอรรถวิชช์ กล่าว

***ปล่อยตัว'วีระพร้อมพวก'วันนี้ หลังถูกจับกุม

วานนี้ (26 ส.ค.) ที่ กองปราบปราม เมื่อเวลา 16.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ พล.ม.2 รอ.พร้อมเจ้าหน้าที่สารวัตรทหาร เดินทางเข้าพบพ.ต.ท.นทธีฤทธิ์ หาญเสน่ห์ลักษณ์ พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ กก.1 บก.ป.เพื่อเบิกตัว นายวีระ สมความคิด แกนนำเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชั่น น.ส.บุญยืน ศิริธรรม อดีต สว.สมุทรสงคราม นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา แกนนำกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย พร้อมพวก รวม 8 คน ซึ่งถูกกักตัวไว้ที่ห้องขัง บก.ป.ตามอำนาจ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก เพื่อซักถามและปรับทัศนคติ

มีรายงานข่าวว่า ทางทหารได้พิจารณาปล่อยตัวนายวีระ กับพวก รวม 8 คน ในวันที่ 27 สิงหาคมนี้ เวลา 08.00 น.โดยจะมีการลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ก่อนจะส่งตัวไปยังสโมสรทหารบก อย่างไรก็ดีสำหรับกรณีที่ทางทหารไม่ได้พิจารณาแจ้งข้อกล่าวหา เนื่องจากมีการพูดคุยปรับทัศนคติกันจนเป็นที่เข้าใจแล้ว

โดยนายวีระ กับพวก ทั้งหมดต่างรับปากว่าจะไม่เคลื่อนไหวด้วยวิธีการเดินเท้าไปตามท้องถนนเช่นนี้อีก แม้ว่าบางรายจะไม่ยอมตกปากรับคำด้วยความเต็มใจ แต่ก็ถูกนายวีระและพวกที่เหลือห้ามปรามไว้

อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีที่มีกระแสข่าวออกมาก่อนหน้านี้ว่า ทหารจะทำหนังสือถึงพนักงานสอบสวน บก.ป.เพื่อปล่อยตัวนายวีระ กับพวก ที่ถูกกักตัวทั้งหมด ในเวลา 14.00 น.วันเดียวกันนี้ ซึ่งไม่ได้กักตัวไว้จนครบกำหนดเวลา 7 วัน นั้น เป็นเพียงการประสานข้อมูลกันในเบื้องต้น แต่ขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ ยังไม่เสร็จสิ้น จึงมีการเลื่อนกำหนดการปล่อยตัวไปเป็นวันที่ 27 สิงหาคมนี้ แทน

**คสช.เตรียมหิ้ว"วีระ"ร่วมฟังเสวนา

พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ในวันที่ 27 ส.ค.กระทรวงพลังงานจะจัดเสวนาเรื่อง " การปฎิรูปพลังงานเพื่อความปรองดองของชาติ " ที่สโมสรทหารบก วิภาวดีรังสิต ในเวลา 09.00 น.-14.00 น.โดยมีนายเสมอใจ ศุขสุเมฆ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นเจ้าภาพในการจัดเสวนา โดยการจัดเสวนาครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะควบคุมตัวนายวีระ สมความคิด อดีตแกนนำคนไทยหัวใจรักชาติ และกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงาน ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 ควบคุมตัวจับกุม เนื่องจากออกมาชุมนุมเคลื่อนไหว เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา เข้าร่วมรับฟังการเสวนาในครั้งนี้ด้วย

***"ดร.เลิศชาย"รับไม้ต่อปฏิรูปพลังงาน

วานนี้(26 ส.ค.)ดร.เลิศชาย ศิริชัย คณบดีสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นายวิชาญ เชาวลิต อดีตผู้อำนวยการสถานศึกษา และเครือข่ายนักวิชาการภาคใต้หลายคน เช่น นายมานะ ช่วยชู นายเอกชัย อิสระธะ ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน จ.สงขลา รับช่วง"เดินวันละโยชน์ เพื่อประโยชน์คนทั้งชาติ" แทนนายเอกชัย ซึ่งแวะพักแรมที่บ้านสาขา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรม

โดยครั้งนี้ได้ออกเดินโดยทิ้งระยะกันเป็นช่วง เพื่อไม่ให้เกินกลุ่มละ 5 คน ซึ่งขัดกับประกาศกฏอับการศึก ภายใต้สโลแกน "เดินอย่างครู เดินทางวิชาการ ลดเงื่อนไขทุกอย่าง เปิดทางปฏิรูปพลังงาน" ซึ่งโจทย์ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และรัฐบาลต้องปฏิรูปพลังงานทั้งระบบให้เกิดเป็นรูปธรรม

เวลา 14.00 น. คณะของดร.เลิศชาย ได้เข้าสู่อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ท่ามกลางฝนที่ตกตลอดทาง โดยมีประชาชนออกมาให้กำลังใจเป็นระยะ ขณะที่สมาชิกที่ร่วมกันเดิน ได้แจกเอกสารให้ความรู้เรื่องการปฏิรูปพลังงาน และเหตุผลที่ต้องปฏิรูป ซึ่งมีตำรวจสันติบาลติดตามบันทึกภาพตลอดเวลา ซึ่งการเดินช่วงนี้จะใช้เวลาราว 3 วัน จะเข้าสู่เขตจ.สุราษฎร์ธานี หลังจากนั้นขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน จ.สุราษฎร์ธานี จะรับช่วงที่อ.ดอนสัก มุ่งหน้าต่อไปยังจ.ชุมพร

ทั้งนี้ วันที่ 26 สิงหาคม มีผู้เข้ามาแสดงความเห็นในเฟซบุ๊ค ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน สนับสนุนกิจกรรมดังกล่าวจำนวนมาก โดยเฉพาะขาหุ้นคนหนึ่ง(ขอสงวนนาม)ได้แชร์ความเห็นครูบาอาจารย์มาเป็นขาหุ้น ขาอื่นอย่ามาจุ้นนะจ๊ะ เดินอย่างครู ว่า"ระดับคณบดีดร.เลิศชาย ศิริชัยดร.โอภาส และอดีตผอ.โรงเรียนจุฬาภรณ์ รวมทั้งอดีตผอ.โรงเรียนท่าศาลา รวมขาหุ้นปฏิรูปพลังงานเช้าวันที่ 26 สิงหาคม

ห้ามป่วนครูบาอาจารย์ นะครับ ลูกศิษย์ลูกหาเต็มบ้านเต็มเมือง เดี๋ยวสองข้างจะไม่มีถนนให้รถวิ่ง ดังนั้นปล่อยให้เดินอย่างสงบนะครับ หนูเขาเตือนมาแว้ว

ถ้าสงขลาหอน นครก็หมา และเป็นหมาที่ดุมากด้วย ถิ่นนี้คนคอนเขาเอาจริงครับพี่น้อง เพื่อร่วมกันปกป้องอ่าวทองคำ จากกลุ่มทุนน้ำมันยักษ์ใหญ่อย่างเชฟร่อนหรืออื่นใด ที่ใครจะแหลมเข้ามา ถ้าไม่ผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชนก็ต้องสู้ ให้มันรู้กัน"
ต้านไม่ไหวโอนท่อก๊าซ สั่งกฤษฎีกาถกสตง.
ASTVผู้จัดการรายวัน - “อารีพงศ์”โยนเรื่องให้กฤษฎีกาหารือร่วมสตง.หลัง”บิ๊กตู่”ใบสั่งให้เคลียร์เหตุ”สตง.”ร่อนหนังสือทวงถามความชัดเจนแยกท่อและการโอนท่อก๊าซฯปตท. บอกให้กลุ่มต้านใจเย็นตั้งบ.ท่อก๊าซฯใหม่ยังมีเวลาไม่เร่งรีบกรอบเดิมมิ.ย.58ทุกอย่างต้องเคลียร์ก่อนพร้อมเปิดเวทีรับฟังความเห็น 27 ส.ค.ในข้อสงสัยปฏิรูปพลังงาน ส่วน 29 ส.ค.เปิดเวทีแจงแผนพีดีพีใหม่ “หม่อมโจ้”ระบุการโอนท่อก๊าซปตท.ควรยึดตามคำสั่งศาล ระบุใครยักยอก คือการปล้นอธิปไตยทางเศรษฐศาสตร์ อดีต ส.ส.ปชป. ท้ารัฐบาลใหม่ ประกาศให้ชัดไม่นำกองทุนวายุภักษ์เข้าตลาดหลักทรัพย์ แนะตราเป็นกฎหมายป้องกันถูกรัฐบาลต่อไปฮุบสมบัติชาติ ด้านนายทหารพระธรรมนูญเบิกตัววีระ พร้อมพวก สอบปากคำ ตุด นาคอนไม่สนทหารสั่งห้ามเดิน ลุยต่อถึงจ.นครศรีธรรมราช ก่อนส่งไม้ต่อให้เอกชัย อิสระทะเครือข่ายจากจ.สงขลา มุ่งหน้าต่อ
กำลังโหลดความคิดเห็น