ASTVผู้จัดการรายวัน-ฉะกันมันหยด เวทีถามตอบปัญหาพลังงานชาติ เคลียร์ไม่จบซักประเด็น ทั้งคืนท่อก๊าซในทะเล หมกเม็ดใช้แอลพีจีราคาถูก ใครถือหุ้น ปตท. "ปิยสวัสดิ์-ไพรินทร์"อึ้งกิมกี่ ถูกต้อนจนมุม ตอบไม่ตรงคำถาม "หลวงปู่"เตรียมนำผลชง คสช. ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ แย้มเปิดเวทีพลังงานทางเลือกและไฟฟ้าให้ถกกันอีก "ประจิน"มองแง่ดี เป็นจุดเริ่มต้นแก้ปัญหาพลังงาน "ขาหุ้นสมุย" รับช่วงเดินรอบเกาะ 28-30 ส.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (27 ส.ค.) สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จัดเสวนา "ถามตอบ : ปัญหาพลังงานชาติ" ที่สโมสรทหารบก โดยเชิญตัวแทนกระทรวงพลังงานและบมจ.ปตท. และเครือข่ายปฏิรูปพลังงานภาคประชาชน ฝ่ายละ 10 คนขึ้นเวที เพื่อถามและตอบ ซึ่งมีหลวงปู่พุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อมน้อย ทำหน้าที่ดำเนินรายการ ซึ่งได้มีการเปิดถามตอบตั้งแต่ 9.00 น.-15.30 น. หรือรวมเวลากว่า 6 ชั่วโมง โดยไม่มีพักเบรค และเวทีดังกล่าวมีการระดมกำลังตำรวจและทหารกว่า 100 นายมารักษาความปลอดภัยโดยมีผู้มาร่วมรับฟังจำนวนมากกว่า 600 คน
โดยตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน อาทิ นายวีระ สมความคิด, นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา , ม.ล.กรณ์ กสิวัฒน์ , นางบุญยืน ศิริธรรม เป็นต้น ขณะที่ตัวแทนฟากระทรวงพลังงานและบมจ.ปตท.ได้แก่ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานบอร์ดปตท. นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. นายเทวินทร์ วงษ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ. นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นต้น
สำหรับบรรยากาศของการ ถาม ตอบ หลวงปู่กำหนดกติกาให้ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปพลังงานภาคประชาชนเป็นผู้ตั้งคำถามและฝ่ายกระทรวงพลังงานและปตท.เป็นผู้ตอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำถามแรกเป็นของนายวีระ สมความคิด กลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงาน ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปพลังงานภาคประชาชน ซึ่งก็ยังคงมุ่งไปที่ประเด็นการแยกท่อก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะการทวงถามท่อก๊าซในทะเลที่ควรต้องโอนมาด้วย โดยตัวแทนจาก ปตท. ยังคงยืนยันการปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด โดยเน้นที่การใช้อำนาจเวนคืนที่เป็นมหาชนและการใช้เงินลงทุนก่อน ปตท. แปรรูป ซึ่งท่อในทะเลไม่ได้เข้าข่ายดังกล่าวจึงถือเป็นของ ปตท. แต่ขณะที่ตัวแทนภาคประชาชนก็ย้ำว่าท่อในทะเลเป็นของแผ่นดิน
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นว่า ปตท. ไม่เคยนำหนังสือท้วงติงของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไม่เคยส่งแนบให้ศาลได้รับทราบ ปตท. ชี้แจงว่ามีหนังสือจาก สตง. ไปหลายฉบับ ซึ่งไม่มั่นใจว่าได้ทุกฉบับหรือไม่ แต่และศาลเองได้บันทึกส่งไปยังสตง. และที่ผ่านมา สตง. ในฐานะผู้ตรวจสอบบัญชีของ ปตท. ก็ไม่เคยท้วงติงใดๆ ในรายงานประจำปีการตรวจสอบบัญชี ปตท.
อย่างไรก็ตาม ประเด็นท่อมีข้อโต้แย้งอย่างหนักจนกระทั่งหลวงปู่ต้องออกมาระบุว่า ถ้าใครโกหก เดี๋ยวจะนำเรื่องฟ้องศาลทวงคืนเอง
จากนั้นประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงรองลงมา เป็นประเด็นการถามถึงการใช้แอลพีจีของปิโตรเคมีของ ปตท. ที่ใช้ราคาต่ำกว่ารายอื่นๆ และมีมติคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) ให้จัดสรรปิโตรเคมีก่อน ซึ่งเป็นคำถามจากนายปานเทพ พัวพงษ์พัน โดยปตท.ชี้แจงว่า ราคาแอลพีจีเฉลี่ยปี 2556 เมื่อรวมที่ซื้อจากโรงแยกก๊าซและโรงกลั่นอยู่ที่ 22.85 บาทต่อกก. ไม่รวมภาษีและเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยไม่ได้ถูกกว่าแอลพีจีภาคอื่นๆ และการจัดสรรนั้น ก็ไม่ได้ถูกระบุว่าให้เป็นปิโตรเคมีก่อน เพราะให้จัดสรรภาคครัวเรือนด้วย และต้องเข้าใจถึงที่มาอุตสสาหกรรมนี้ ที่รัฐบาลวางเป้าหมายพัฒนาประเทศจากการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกหรืออีสเทิร์นซีบอร์ด
ขณะเดียวกัน ได้มีการตั้งคำถามจาก ม.ล.กรณ์ ถึงปตท.ให้ชี้แจงว่า มีปิโตรเคมีของ ปตท. และบริษัทในเครือใครบ้างซื้อแอลพีจีในราคาดังกล่าว โดย ปตท. ระบุแต่เพียงขอทำเป็นเอกสารชี้แจง เพราะมีรายละเอียดและแต่ละสัญญาต่างกัน ทำให้ฟากประชาชนต้องย้อนถามว่าทำไมเครือซิเมนต์ไทยจึงใช้ราคาแอลพีจีแพงกว่า ทางนายปิยสวัสดิ์ ได้ชี้แจงว่าในอดีตมีการทำสัญญาระยะยาวของ ปตท. และก็ต่างวาระกัน ขณะนั้นแอลพีจีราคาต่ำกว่า แต่ใครที่ซื้อภายหลัง ก็จะแพงกว่าเป็นเรื่องปกติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นรองจากนั้น ส่วนใหญ่จะว่าด้วยคำถามเรื่องทำไมราคาน้ำมันถึงแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำไมต้องส่งน้ำมันออกไปในราคาที่ต่ำกว่า ซึ่งทางกระทรวงพลังงานและ ปตท. ได้ยืนยันว่า ราคาใกล้เคียงกัน หากพิจารณาเฉพาะเนื้อน้ำมัน แต่ที่ราคาไทยแพง เพราะโครงสร้างราคาน้ำมันของไทยมีการเก็บภาษีและกองทุนน้ำมันฯ หากจะทำให้ราคาน้ำมันต่ำ ก็ทำได้ โดยรัฐกำหนดนโยบายเลิกเก็บภาษีฯ และกองทุนน้ำมันฯ
นอกจากนี้ นายวีระยังตั้งคำถามต่อฝ่ายกระทรวงพลังงานและ ปตท.ว่า ในที่นี้ตัวแทนคนใดถือหุ้นบริษัท ปตท. บ้าง ซึ่งนายปิยสวัสดิ์ กล่าวยอมรับว่ามีหุ้นอยู่ใน ปตท. จำนวน4,400 หุ้น ซึ่งการถือหุ้นดังกล่าวตามกฎหมายสามารถดำเนินการได้ เพราะไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ทั้งนี้ ในประเด็นดังกล่าว ผู้เข้าร่วมสัมมนาฝ่ายเครือข่ายภาคประชาชนเริ่มส่งเสียงโห่ร้อง จนหลวงปู่พุทธอิสระต้องห้ามปราม จากนั้นนายไพรินทร์ได้ชี้แจงว่า หากต้องการทราบข้อมูล ควรเข้าไปตรวจสอบในเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ หรือรายงานประจำปีของ ปตท. เพราะเป็นข้อมูลที่ตรวจสอบได้ตามกฎหมาย ส่วนข้อมูลการถือหุ้นของตนเองจะส่งให้หลวงปู่พุทธอิสระอีกครั้ง
ซึ่งประเด็นดังกล่าว หลวงปู่พุทธอิสระ มีความเห็นว่า หากจะคาดคั้นคำตอบคงไม่จบ อยากให้ข้อมูลการถือหุ้นมีการส่งเอกสารตามทีหลัง
ทั้งนี้ ช่วงท้ายการเสวนา หลวงปู่พุทธอิสระ ได้เปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายเสนอแนะเรื่องที่ต้องการให้ปฏิรูปพลังงาน โดยเครือข่ายภาคประชาชน ได้เสนอหลายประเด็น ได้แก่ การเสนอให้สะสางปัญหากฏหมายเรื่องท่อให้ชัดเจน ก่อนที่จะดำเนินการตั้งบริษัทท่อใหม่ บริษัทใหม่รัฐต้องถือหุ้น 100% ให้รัฐเรียกค่าเสียหายจาก ปตท. ที่ใช้ท่อทางทะเลตั้งแต่ปี 2550 โดยไม่จ่ายค่าเช่าคืน ให้ยกจัดสรรแอลพีจีกับภาคประชาชนก่อน หากนำเข้าให้ปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมรับผิดชอบ ยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่ให้ราชการเป็นกรรมการบริษัท ปตท. และในเครือ เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศระหว่าง ถาม ตอบ บ่อยครั้ง มีการส่งเสียงโหร้องจากฟากประชาชน ทำให้หลวงปู่ต้องขอร้องให้ทุกฝ่ายอยู่ในความสงบและให้เกียรติซึ่งกันและกัน ขณะเดียวกันช่วงประเด็นแอลพีจี ระหว่างที่นายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการตอบคำถาม แต่อีกฝ่ายพยายามไล่บี้คำถามย้ำว่าใครกันแน่ที่ใช้ปิโตรเคมีเยอะสุด ทำให้นายมนูญถึงกับเกิดอารมณ์ ระบุว่า ตนไม่ใช่จำเลยที่ถูกสอบสวนในชั้นศาล ทำให้หลวงปู่ถึงกับต้องห้ามปรามและตักเตือนว่าทุกฝ่ายไม่มีใครเป็นจำเลยต้องให้เกียรติกัน และคำถามก็ควรให้เกียรติผู้ถูกถามด้วย
นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่นางบุญยืน ศิริธรรม กล่าวพาดพิง ปตท. ว่าเป็นเสื้อนอนกิน ทำให้นายปิยสวัสดิ์ต้องขอชี้แจงและตอบโต้กันไปมาในที่สุด นางบุญยืนต้องขอถอนคำพูด แต่นายปิยสวัสดิ์อยากให้ขอโทษ ทำให้หลวงปู่ต้องปรามและให้จบๆ กันไป
หลวงปู่พุทธะอิสระ กล่าวหลังการจัดเสวนาเสร็จสิ้นแล้วว่า จะรวบรวมประเด็นถามตอบเป็นเอกสารอย่างเป็นทางการของทุกฝ่ายเพื่อสรุปเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายในสัปดาห์นี้หรือสัปดาห์หน้า ซึ่งพลังงานส่วนที่เป็นฟอสซิลน่าจะมีข้อยุติได้แล้ว ส่วนพลังงานทางเลือก รวมถึงไฟฟ้า ที่มีการเสนอให้จัดเวทีอีกรอบนั้น จะกลับไปพิจารณาที่อาจจัดเวทีลักษณะนี้ขึ้นอีกรอบ และจากนี้ไป ก็หวังว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้กับ คสช. ได้ปฏิรูปพลังงานให้เดินไปข้างหน้าได้ เพราะที่ผ่านมา ทำอะไรได้ยาก เพราะต่างฝ่ายต่างก็เถียงกัน
"กรณีที่จะมีการฟ้องร้องเรื่องโอนท่อก๊าซธรรมชาติในทะเลหรือไม่อะไรพวกนี้ ขอให้เป็นเอกสารลายลักษณ์อักษรก่อนแล้วจะให้ฝ่ายกฏหมายและนิติกรมาดูว่าข้อมูลใดชัดเจน เป็นเท็จ ซึ่งหากเห็นว่าทำได้ก็จะต้องดำเนินการ วิวาทะปัญหาพลังงานหลังจากเวทีนี้แล้ว เชื่อว่าในฐานะที่ทำหน้าที่เป็นคนกลางน่าจะยุติได้ในส่วนของพลังงานฟอสซิล ดังนั้น ผู้ที่จะไปเคลื่อนไหว เที่ยวได้พูดข้างนอก ทั้งที่เราได้จัดเวทีนี้ให้แล้ว กลับไม่มา ก็เท่ากับไม่จริงใจที่จะร่วมปฏิรูป เพราะการจัดครั้งนี้ เราได้แจ้งทุกฝ่ายครบถ้วน”หลวงปู่พุทธะอิสระกล่าว
ส่วนกรณีมีการระบุว่าตนจัดเวทีนี้มาเพื่อฟอกตัวให้ ปตท. นั้น ยืนยันว่าไม่เคยกินข้าว หรือแม้แต่น้ำเพียงแก้วเดียวของปตท. หลวงปู่ไม่ได้สู้เพื่อให้ใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในแผ่นดินนี้ชนะ สู้เพื่อต้องการให้คนไทยชนะ บ้านเมืองชนะ นั่นคืออุดมการณ์ของหลวงปู่
วันเดียวกันนี้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. ในฐานะรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการจัดเสวนาปฏิรูปพลังงานเพื่อรับฟังความคิดเห็นของทุกกลุ่มว่า เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และคิดว่าคงจะมีการสื่อสารให้ทราบถึงข้อเท็จจริง หรือโครงสร้างที่เกี่ยวกับเรื่องพลังงานจะเป็นอย่างไร และในอนาคตจะทำอย่างไรกันต่อไป ซึ่งตนอยากให้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เข้าใจและช่วยกันในการแก้ปัญหาเรื่องพลังงาน
"มั่นใจว่าเมื่อทุกฝ่ายได้รับทราบข้อเท็จจริงด้านพลังงานอย่างรอบด้านแล้ว ก็จะเห็นภาพว่าเรื่องของพลังงานจำเป็นต้องได้รับการดูแล ทั้งในส่วนของการเตรียมจัดหาพลังงานมารองรับความต้องการ และจะต้องทำให้พลังงานเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด สิ่งสำคัญ คือ พลังงานฟอสซิลที่มีน้อยลงเรื่อยๆ จำเป็นต้องมีพลังงานทางเลือกออกมาทดแทน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ หรือพลังชีวมวลให้รูปแบบอื่นๆ จึงอยากให้ทุกคนได้ช่วยกันคิดค้นนวัตกรรมในเรื่องของพลังงานทดแทนขึ้นมาเพื่อใช้ในประเทศของเรา"พล.อ.อ.ประจินกล่าว
สำหรับความเคลื่อนไหวของ คณะขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน ที่นำโดย ดร.เลิศชาย ศิริชัย คณบดีสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ รศ.อุดม หนูทอง อาจารย์ประจำสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และนายเอกชัย อิสระธะ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ และกรรมการประสานงานองค์กรเอกชน (กป.อพช.) ภาคใต้ ที่พักค้างคืนที่บริเวณเขาพลายดำ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ได้ออกเดินเท้ามุ่งหน้าสู่ อ.ขนอม
ต่อมา นายอมรพันธ์ แตงอ่อน แกนนำเยาวชน อ.สิชล รับธงเพื่อทำหน้าที่ต่อ โดยมุ่งหน้าสู่ อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี ท่ามกลางฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช พักกลางวันที่บ้านพักผู้นำท้องที่คนหนึ่ง ย่านตลาดเสาร์ บ้านเขาฝ้าย อ.สิชล พล.ต.พีรพล วิริยากุล ผบ.มทบ.41 พร้อมตำรวจและทหารหลายสิบนาย ได้เดินทางมาที่บ้านหลังดังกล่าว ทำให้บรรยากาศเริ่มตึงเครียด จนกระทั่งมีการพูดคุยทำความเข้าใจกัน ทำให้บรรยากาศคลี่คลายลง
นายทรงวุฒิ พัฒแก้ว ผู้ประสานงาน กล่าวว่า ได้มีการอธิบายให้ผบ.มทบ.41 ทราบถึงกระบวนการทั้งหมด ที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า เราเดินกันอย่างสงบ ไม่ละเมิดกฎหมาย ไม่เกิน 5 คน และเดินไปเรื่อยๆ รวมทั้งรวบรวมข้อมูลจากประชาชน 2 ข้างทาง แล้วสังเคราะห์เป็นรูปเล่มเพื่อเสนแนวคิดการปฏิรูปพลังงาน และเกิดมิตรภาพที่ดี ระหว่างเจ้าหน้าที่ กับผู้ที่ออกเดิน เป็นเหมือนดอกไม้ที่บานไปตลอดเส้นทาง
"ผมประทับใจที่ผบ.มทบ. 41 ได้เห็นถึงความตั้งใจ ท่านมานั่งกับพื้นปูนบนศาลาที่ไม่ได้เก็บกวาด และระบุชัดเจนว่าได้เห็นความตั้งใจ มุ่งมั่น ศรัทธา และฝากให้พวกเราทำให้สำเร็จ การทำลายศรัทธา และทำลายความหวัง เป็นการทำลายความสุข เมื่อประชาชนมุ่งมั่น ก็ขอให้เดินต่อไป ผมหวังว่าดอกไม้แห่งมิตรภาพเช่นนี้จะเบ่งบานไปตลอดเส้นทาง"
นายทรงวุฒิกล่าวว่า ผบ.มทบ.41 ยังฝากอีกว่า ถ้ามีโอกาสและว่างเว้นจากภาระหน้าที่ จะร่วมเดินด้วย ซึ่งสิ่งที่ทำให้เรามีความเชื่อมั่น คือ บอกว่าเรื่องที่ทำนี้ดีมาก เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ เอกสารที่จัดทำและแจกจ่ายตลอดทาง ไม่มีทัศนคติที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคง หรือเป็นปฏิปักษ์กับคสช.หรือรัฐบาล
"ที่ลืมไม่ได้ คือ ต้องขอบคุณผกก.สภ.สิชล ที่ส่งเจ้าหน้าที่มาดูแลทุกกิโลเมตรที่เราเดินผ่าน ตำรวจที่เข้ามาบันทึกภาพมีอัธยาศัย มีน้ำใจ มีมิตรภาพมาก แม้แต่การบันทึกภาพก็จะเข้ามาขออนุญาต ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ผมว่านี่คือดอกไม้ที่สวยงาม"
นายอานนท์ วาทยานนท์ เครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงานเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ขาหุ้นเกาะสมุยได้รับธงสัญลักษณ์จากขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน อ.ดอนสัก ที่ท่าเทียบเรือหน้าทอน อ.เกาะสมุย โดยจะเดินรอบเกาะสมุย ระยะทาง 52 กิโลเมตร เป็นเวลา 3 วัน คือ วันที่ 28-30 ส.ค. โดยเริ่มวันที่ 28 ส.ค. เวลา 07.30 น. จากหน้าที่ว่าการอำเภอเกาะสมุย ซึ่งแต่ละจุดจะหยุดสักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิบนเกาะสมุย เพื่อความเป็นสิริมงคล และเพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์
ทั้งนี้ จะมีข้อเรียกร้องยื่นให้กับ คสช. คือ จัดโซนนิ่งพื้นที่ท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเกาะพะงัน เกาะสมุย และเกาะเต่า เพราะทั้ง 3 เกาะอยู่ได้เพราะการท่องเที่ยว ซึ่งทำรายได้ให้ประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท หากไม่ทำโซนนิ่งจะมีการสัมปทานขุดเจาะปิโตรเลียมรอบเกาะอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้
"การโซนนิ่ต้องแยกพื้นที่ออกจากกันให้ชัดเจน ไม่ให้ทับซ้อนอย่างปัจจุบัน ทั้งพื้นที่อาหาร การท่องเที่ยว ต้องไม่ปะปนกับพื้นที่ปิโตรเลียม"
นอกจากนี้ จะขอให้ถอนถ่านหินออกจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) เพราะถ่านหินยังมีปัญหาทั้งเรื่องสุขภาพ มลพิษ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวด้วย
สำหรับวันที่ 30 ส.ค. จะส่งต่อไปที่เกาะพะงัน ซึ่งสมาคมโรงแรม และสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยว ร่วมกันเป็นเจ้าภาพเดินต่อวันที่ 31 ส.ค. จากนั้นจะส่งต่อให้เครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน จ.สุราษฎร์ธานี