xs
xsm
sm
md
lg

กระแสปฏิรูปพลังงานเริ่มกดดันจน คสช.ไม่กล้าเสี่ยงปิดกั้น!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

แน่นอนว่าการเสวนา “ถาม-ตอบ ปัญหาพลังงาน” ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต จัดโดยสถาบัน ปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ย่อมต้องอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์และสนับสนุนจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ยอมเปิดทางให้มีการแบข้อมูลอีกด้าน นอกเหนือจากที่เคยรับฟังและนำเสนอจากฝ่ายกลุ่มทุนพลังงานที่นำโดยกลุ่มบริษัท ปตท.

แน่นอนว่า การเปิดให้มีรายการเสวนาแบบนี้ ส่วนสำคัญย่อมเกิดจากแรงกดดันจากสังคมภายนอกที่ต้องการให้มีการปฏิรูปพลังงานภายในประเทศอย่างเป็นธรรม เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มทุน และผู้ถือหุ้นเพียงหยิบมือเดียวที่ใช้ช่องทางจากรัฐวิสาหกิจที่รัฐเคยเป็นผู้ลงทุนมาต่อยอดหาประโยชน์แสวงหากำไร

ที่ผ่านมาถือว่า ปตท.เป็นจำเลยสังคมสำหรับคนที่ตื่นตัว รับรู้ถึงความเดือดร้อนไม่เป็นธรรม ขณะเดียวกันก็มีอีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการนำเสนอข้อมูลแบบโฆษณาชวนเชื่อเพียงฝ่ายเดียว โดยเป็นการทุ่มทุนโฆษณาผ่านสื่อในทุกรูปแบบ อีกทั้งบุคลากรด้านพลังงานในประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัด ทั้งภาครัฐและเอกชนก็ล้วนแล้วอยู่ในกลุ่มเดียวกัน มีผลประโยชน์ร่วมกันเสียอีก ทำให้การเปลี่ยนแปลงในลักษณะการปฏิรูปพลังงานทำได้ยาก ทั้งที่กิจการพลังงานถือว่าเป็นกิจการทางด้านความมั่นคงของประเทศในระดับยิ่งยวดทีเดียว

อย่างไรก็ดี ด้วยปัญหาความเดือดร้อนจากการบริโภคพลังงานในราคาแพงขึ้นของชาวบ้าน มีผลต่อการดำรงชีวิตประจำวัน เพราะพลังงานเป็นต้นทางของต้นทุนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ ความเดือดร้อนดังกล่าวทำให้สังคมเริ่มตื่นตัวกันมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีบางกลุ่มเริ่มเคลื่อนไหวเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลของกลุ่มทุนพลังงาน ทั้งที่เป็นกลุ่ม ปตท.และข้าราชการที่มีบทบาทสำคัญในกระทรวงพลังงาน สมคบกัน

หากสังเกตให้ดี ความเคลื่อนไหวต้องการให้ผลักดันการปฏิรูปพลังงานเริ่มก่อตัวในช่วงการชุมนุมของ กปปส.และแม้ว่าในช่วงแรกบรรดาแกนนำต่างพยามเบรกเอาไว้จะด้วยเหตุผลเป็นกลุ่มเดียวกับกลุ่มทุนพลังงานหรือเปล่า แต่ถึงอย่างไรก็ยังต้านความต้องการของมวลมหาประชาชนไม่ไหวก็ต้องยอมผ่อนคลาย มีการเปิดให้พูดถึงบ้าง แต่ก็ยังมีข้อจำกัดมากมาย แต่ถึงอย่างไรก็ยังไม่สามารถ “กด” กดกระแสความต้องการของชาวบ้านที่ตื่นตัวดังกล่าวได้

แม้ว่าการชุมนุมและแกนนำ กปปส.ต้องยุติลงหลังจากมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกิดขึ้นมาเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมเป็นต้นมา แต่ถึงอย่างไรกระแสความต้องการในเรื่องการปฏิรูปพลังงานยิ่งเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่อยู่ในช่วงบังคับใช้กฎหมายพิเศษ

ด้วยกระแสดังกล่าวที่ขึ้นสูงขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันว่าต้องมีการปฏิรูปพลังงานให้เกิดความเป็นธรรมและยั่งยืน แต่ก็ยังไม่มีรายละเอียดอะไรที่เป็นรูปธรรม ในทางตรงกันข้ามกลับถูกมองว่า “ไม่น่าไว้ใจ” เพราะหลังจากนั้นก็มีการแต่งตั้งบุคคลที่เชื่อมโยงกับกลุ่มทุนพลังงานยักษ์ใหญ่ อย่าง ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เข้ามาเป็นประธานบอร์ด ปตท.ซึ่งมีหลักการในการเน้นเรื่องผลกำไรสูงสุดรวมไปถึงต้องการแปรรูปให้ ปตท.เป็นของเอกชนร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยอ้างว่าเพื่อลดข้อครหาเรื่องการใช้ฐานะของรัฐวิสาหกิจหาประโยชน์

ขณะเดียวกัน สิ่งที่สร้างความหวาดระแวงและไม่สบายใจแก่สังคมอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ เมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาด้านการปฏิรูปพลังงานในสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่ล้วนมาจากกลุ่มทุนพลังงานที่มีปลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมกับ ปตท. เช่น พละ สุขเวช, วิเศษ จูภิบาล และประเสริฐ บุญสัมพันธ์ เป็นต้น อีกทั้งในเวลาต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน ก็อนุมัติให้ ปตท.แยกกิจการท่อก๊าซมาตั้งเป็นบริษัทใหม่โดย ปตท.ถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ไปก่อน โดยให้ดำเนินการให้เสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2558 จากนั้นบอกว่าจะให้กระทรวงการคลังเข้าไปถือหุ้นในภายหลังจำนวนร้อยละ 25 ซึ่งถือว่สผิดไปจากความต้องการของภาคประชาชน ยิ่งทำให้กระแสต่อต้านเพิ่มขึ้นอีก และคราวนี้ทำท่าจะขยายวงไปถึง คสช.อีกด้วย

อีกด้านหนึ่งกระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปพลังงานที่มีเป้าหมายในการกำหนดราคาพลังงานทั้งก๊าซและน้ำมันในราคาที่ “เป็นธรรม” ยังเดินหน้าต่อไปอย่างเข้มข้น และนับวันจะได่รับการสนับสนุนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์มีการแชร์ข้อมูลกันอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งมีการเคลื่อนไหวของ “กลุ่มขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน” ที่กำลังเดินรณรงค์จากภาคใต้ขึ้นมากรุงเทพฯแต่ถูกขัดขวางจากฝ่ายรัฐโดยเฉพาะ คสช.โดยอ้างประกาศกฎอัยการศึก มีการควบคุมตัวแกนนำ แต่ในที่สุดก็ต้องปล่อยตัวออกมา และการเดินรณรงค์ก็ยังไม่หยุดยังเดินต่อ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนักวิชาการ ศิลปินชื่อดังมากมาย กลายเป็นกระแสร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ประกอบกับการจับกุม วีระ สมความคิด และคณะเมื่อวันก่อน ขณะรณรงค์ปฏิรูปพลังงานก็ยิ่งได้รับความสนใจ จนทำให้การเสวนาถาม-ตอบปัญหาพลังงานจึงต้องมีบุคคลกลุ่มที่มาจากภาคประชาชนที่เรียกร้องปฏิรูปด้านพลังอย่าง เช่น หลวงปู่พุทธะอิสระ แห่งวัดอ้อน้อย จังหวัดนครปฐม, วีระ สมความคิด, ม.ล.กรณ์กสิวัฒน์ เกษมศรี อดีตอนุกรรมการเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา, ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, บุญยืน ศิริธรรม อดีต ส.ว.สมุทรสงคราม เป็นต้น ไปร่วมซักถามและให้ข้อมูลในวงเสวนาร่วมกับ ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานบอร์ด ปตท. และไพรินทร์ ชูโชติถาวร กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. และแม้ว่าการเสวนาครั้งนี้จะไม่ได้รับความสนใจจากสื่อหลักเช่นเคย แต่ถึงอย่างไรก็ถือเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดกว้างให้มีการนำเสนอข้อมูลถกเถียงกันจากทั้งสองฝ่าย จากเดิมที่มีแต่ฝ่าย ปตท.ที่ใช้สื่อของรัฐให้ข้อมูลเพียงฝ่ายเดียว

ดังนั้น ด้วยกระแสสังคมที่เริ่มตื่นตัวอย่างกว้างขวางมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มกดดันจนไม่อาจปิดกั้นรวบรัดเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอีกต่อไปแล้ว และเชื่อว่าทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคสช.เริ่มตระหนักถึงความจริงข้อนี้ และแม้ว่าการเสวนาดังกล่าวอาจไม่ได้ข้อสรุปมากนัก แต่อย่างน้อยก็สามารถนำข้อมูลของแต่ละฝ่ายไปขยายผลถกเถียงกันต่อไป ที่สำคัญเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปพลังงานอย่างเป็นธรรมจะต้องเดินหน้าอย่างเปิดเผยมากขึ้น!!
กำลังโหลดความคิดเห็น