ต้อนรับรัฐบาลใหม่ "กบง." เคาะปรับโครงสร้างราคาน้ำมันทั้งระบบรับลูก"คสช." จัดระเบียบภาษีสรรพสามิต กองทุนน้ำมันฯ ใหม่ ส่งผลให้ราคาขายปลีกเบนซิน แก๊สโซฮอล์ลดลงถ้วนหน้า เบนซิน 95 จัดหนักลด 3.89 บาทต่อลิตร เว้นอี85 คงเดิม ส่วนดีเซลเพิ่มขึ้นจิ๊บจ๊อย 0.14 บาทต่อลิตร ราคากลับไปที่29.99บาทต่อลิตร มีผล29ส.ค. ระบุภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้น 437 ล้านต่อเดือน แต่เงินกองทุนน้ำมันลด 1,109 ล้านต่อเดือน ขณะที่เรกูเลเตอร์เคาะตรึงค่าไฟงวดใหม่ก.ย.-ธ.ค.57 ด้านทีมงานขาหุ้นปฏิรูปพลังงานเกาะสมุยรับธงเดินต่อรอบเกาะสมุย
นายชวลิต พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง. )ที่มีพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธานว่า กบง.มีมติเห็นชอบปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดใหม่ตามนโยบายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีมติให้ปรับอัตราจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ซึ่งจะมีผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 95 ลดลง 3.89 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 ลดลง 2.13 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 ลดลง 1.70 บาทต่อลิตร อี20 ลดลง 1 บาทต่อลิตร อี 85 คงเดิมและดีเซลปรับขึ้นเล็กน้อย 0.14 บาทต่อลิตร มีผลตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค.57
สำหรับโครงสร้างราคาน้ำมันใหม่เป็นดังนี้ เบนซิน 95 ลดภาษีสรรพสามิตลง 1.40 บาทต่อลิตรเป็นจัดเก็บที่ 5.60 บาทต่อลิตร ลดภาษีเทศบาล 0.14 บาทต่อลิตร เป็นจัดเก็บ 0.56 บาทต่อลิตร ลดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ 2.10 บาทต่อลิตรเป็นจัดเก็บ 9.75 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ราคาลดลง 3.89 บาทต่อลิตรราคาขายปลีกใหม่จะอยู่ที่ 44.86 บาทต่อลิตร
แก๊สโซฮอล์ 95 ลดภาษีสรรพสามิต 0.26 บาทต่อลิตรเป็น 5.04 บาทต่อลิตร ลดภาษีเทศบาล 0.21 บาทต่อลิตร เป็น 0.504 บาทต่อลิตร ลดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ 0.60 บาทต่อลิตรเป็น 4.25 บาทต่อลิตร ทำให้ราคาขายปลีกลด 2.13 บาทต่อลิตร ราคาใหม่อยู่ที่ 37.80 บาทต่อลิตร
แก๊สโซฮอล์ 91 ลดภาษีสรรพสามิตลง 1.26 บาทต่อลิตร เป็น 5.04 บาทต่อลิตร ลดภาษีเทศบาล 0.026 บาทต่อลิตร เป็น 0.504 บาทต่อลิตร ลดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ 0.20 บาทต่อลิตร เป็นจัดเก็บ 2.55 บาทต่อลิตร ทำให้ราคาขายปลีกลด 1.70 บาทต่อลิตร ราคาใหม่อยู่ที่ 35.78 บาทต่อลิตร
แก๊สโซฮอล์อี20 ลดภาษีสรรพสามิตลง 1.12 บาทต่อลิตร เป็น 4.48 บาทต่อลิตร ลดภาษีเทศบาล 0.12 บาทต่อลิตรเป็น 0.448 บาทต่อลิตร เพิ่มอัตราเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ 0.30 บาทต่อลิตรเป็นจัดเก็บ 0.80 บาทต่อลิตร ทำให้ราคาขายปลีกลด 1บาทต่อลิตร ราคาใหม่อยู่ที่ 33.98 บาทต่อลิตร
แก๊สโซฮอล์85 ลดภาษีสรรพสามิตลง 0.21 บาทต่อลิตรเป็น 0.84 บาทต่อลิตร ลดภาษีเทศบาล 0.021 บาทต่อลิตร เป็น 0.084 บาทต่อลิตร ลดการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันฯ 1.52 บาทต่อลิตร เป็นเหลืออุดหนุน 8.23 บาทต่อลิตรทำให้ราคาขายปลีกคงเดิมอยู่ที่ 24.28 บาทต่อลิตร
ดีเซล เพิ่มการเก็บภาษีสรรพสามิต 0.75 บาทต่อลิตร จากเดิมที่เก็บเพียง 0.005 บาทต่อลิตร เป็นจัดเก็บที่ 0.75 บาทต่อลิต เพิ่มภาษีเทศบาล 0.075 บาทต่อลิตร เป็น 0.075 บาทต่อลิตร ลดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ 0.55 บาทต่อลิตร เหลือจัดเก็บ 1 บาทต่อลิตร ทำให้ราคาขายปลีกเพิ่มขึ้น 0.14 บาทต่อลิตรโดยราคาใหม่จะอยู่ที่ 29.99 บาทต่อลิตร
"สำหรับกองทุนน้ำมันฯ จะมีรายรับลดลง 1,109 ล้านบาท/เดือน จากเดิมที่มีรายรับ 3,557 ล้านบาท/เดือน เหลือเป็น 2,448 ล้านบาท/เดือน ขณะที่รายได้ภาษีที่เข้ารัฐปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 370 ล้านบาท/เดือน โดยเป็นรายได้ภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้น 437 ล้านบาท/เดือนเนื่องจากมีผู้ใช้น้ำมันดีเซลถึง 60 ล้านลิตรต่อวันขณะที่ใช้น้ำมันเบนซินอยู่ 20 ล้านลิตรต่อวัน ส่วน ภาษี VAT ลดลง 66 ล้านบาท” นายชวลิต กล่าว
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) กล่าวว่า เรกูเลเตอร์ได้พิจารณาอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติหรือ เอฟที งวดใหม่ที่จะเก็บในบิลค่าไฟประชาชนรอบก.ย.-ธ.ค.57 หากพิจารณาตามต้นทุนที่แท้จริงต้องเพิ่มขึ้น 2.66 สตางค์ต่อหน่วย เป็นจัดเก็บ 71.66 สตางค์ต่อหน่วย แต่เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนจึงมีมติให้ตรึงค่าเอฟทีไว้เดิมที่ 69 สตางค์ต่อหน่วย
"งวดที่แล้วกฟผ.รับภาระไว้ 2,942 ล้านบาท แต่ล่าสุดเหลือภาระเพียง 1,426 ล้านบาท จึงให้กฟผ.แบกรับภาระส่วนนี้ต่อไป ซึ่งเห็นว่าไม่มาก โดยต้นทุนก๊าซไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนักประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้น ทำให้ต้นทุนค่าไฟไม่ได้สูงขึ้นมาก ส่วนค่าไฟงวดใหม่ปีหน้ายังไม่ได้มีการประเมิน"นายวีระพล กล่าว
***”พาณิชย์”ยันขึ้นดีเซลไม่กระทบสินค้า
นางจินตนา ชัยยวรรณาการ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า น้ำมันดีเซลที่ปรับขึ้น 14 สตางค์ จาก 29.85 บาท/ลิตร มาเป็น 29.99 บาท/ลิตร ยืนยันว่าไม่มีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าให้เพิ่มขึ้น เพราะเป็นการปรับเพิ่มขึ้นในสัดส่วนเพียงเล็กน้อย อีกทั้งรถขนส่งปัจจุบันมีการใช้ก๊าซเอ็นจีวีแทนน้ำมันดีเซลเกือบหมดแล้ว และจะไม่กระทบต่ออัตราเงินเฟ้อให้ปรับตัวสูงขึ้นด้วย
ในขณะที่การปรับลดราคาในกลุ่มของน้ำมันเบนซินและโซฮอล์ จะช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชาชน ทำให้ผู้บริโภคมีเงินในกระเป๋าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจไทย
“ราคาน้ำมันดีเซลเคยถูกตรึงไว้ 29.99 บาท/ลิตร และปรับลดลงมา 28.85 บาท/ลิตร ในช่วงที่คสช.เข้ามาบริหารประเทศ ก็ไม่ได้กระทบต่อต้นทุนสินค้า เพราะค่าขนส่งมีสัดส่วนน้อยกว่าต้นทุนที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้ามาก ดังนั้น การปรับขึ้นหรือลดลง 14 สตางค์ จึงไม่มีผลต่อต้นทุนสินค้า”นางจินตนากล่าว
*****เอกชนมองลดน้ำมันเป็นผลดี
นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากต้นทุนราคาพลังงานกับราคาขายสอดคล้องกันก็เป็นเรื่องที่ดี ไม่ว่าราคาน้ำมันจะปรับขึ้นหรือลง ส่วนผลกระทบต่อภาคธุรกิจนั้น ขอยืนยันว่าภาคเอกชนมองระยะยาวหากการปรับลดน้ำมันลงเป็นประโยชน์ต่อประเทศก็รับได้ซึ่งพลังงานมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันหมด
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การปรับลดราคาน้ำมันขายปลีกในกลุ่มน้ำมันเบนซินถึงลิตรละ 1-3.89 บาท และดีเซลปรับเพิ่มขึ้นลิตรละ 14 สต.จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ส่วนหนึ่ง เนื่องจากมีการจับจ่ายใช้สอยในภาคครัวเรือนมากขึ้นจากค่าครองชีพที่ลดลง ส่วนภาคการผลิตไม่ได้รับผลกระทบใดๆจากการปรับขึ้นดีเซลโดยเฉพาะภาคขนส่งที่ส่วนใหญ่หันไปใช้ก๊าซNGV เป็นส่วนใหญ่
**"ขาหุ้นเกาะสมุย"ออกเดินรอบเกาะ3วัน
เช้าวานนี้ (28 ส.ค.) นายอานนท์ วาทยานนท์ ผู้ประสานงานกลุ่มเครือข่ายปกป้องเกาะแห่งชีวิต (เกาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า หมู่เกาะอ่างทองนำทีมเครือข่ายขาหุ้นขาหุ้นปฎิรูปพลังงานเกาะสมุย ออกเดินวันแรก หลังได้รับธงจากขาหุ้นปฏิรูปพลังงานจ.นครศรีธรรมราช โดยได้รวมกลุ่มกันหน้าที่ว่าการอำเภอเกาะสมุย ทำพิธีสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 เพื่อความเป็นศิริมงคล และให้สำเร็จวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ หลังจากนั้นเครือข่ายขาหุ้น 3 คน ออกเดินจากหน้าที่ว่าการอำเภอ ไปตามเส้นทางฝั่งบ้านแม่น้ำ ตรงไปถึง 3 แยกบ่อผุด ซึ่งเป็นจุดแวะพักค้างคืน ซึ่งช่วงที่เดินผ่านชุมชน ชาวเกาะสมุยให้ความสนใจมารับเอกสารรณรงค์ให้ความรู้เรื่องพลังงานด้วย เบื้องต้น กลุ่มขาหุ้นปฎิรูปพลังงานเกาะสมุย ได้ประสานไปยังทหารในพื้นที่ ทราบแล้วว่าจะร่วมกันเดินเพียง 3 คน เพื่อไม่ให้ขัดกับประกาศกฏอัยการศึก ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน
สำหรับการเดินเท้าของขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน เพื่อยื่นหนังสือให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ซึ่งข้อเรียกร้อ งประกอบด้วย 1.เปลี่ยนระบบสัมปทานปิโตรเลียมจากเดิม เป็นระบบแบ่งปันผลผลิต 2.ให้จัดตั้งบริษัทแห่งชาติเพื่อควบคุมปิโตรเลียม ให้ประชาชนใช้ก่อนในราคาที่เป็นธรรม 3.ให้จัดโซนพื้นที่ปิโตรเลียม และพื้นที่ผลิตอาหาร-การท่องเที่ยวฝห้ชัดเจน เพื่อการพัฒนาที่สมดุล 4.ขอให้ปลดโรงไฟฟ้าถ่านหินจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP) ดังที่นานาประเทศกำลังปฏิบัติ และ 5.ขอให้ผลักดันพ.ร.บ.พลังงานหมุนเวียนโดยเร็ว
**กฟผ.ลุยโรงไฟฟ้าถ่านหิน2โรงที่อ.เทพา
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน กำลังรณรงค์ขอให้ปลดโรงไฟฟ้าถ่านหินจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปรากฏว่าที่โรงแรมวี.แอล. อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ได้เชิญตัวแทนองค์กรภาคประชาชนในจ.สงขลา มารับฟังข้อมูลแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ 2 โรง ใน อ.เทพา จ.สงขลา และรอยต่อจ.สงขลา กับจ.ปัตตานี การก่อสร้างท่าเรือชายฝั่งทะเลอ.เทพา จ.สงขลา เพื่อใช้เป็นท่าเรือสำหรับขนถ่ายถ่านหิน ไปใช้ในโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่ง ซึ่งต้องถมชายฝั่งเป็นท่าเรือยื่นออกไปในทะเลระยะทางกว่า 5 กิโลเมตร โดยสร้างในบริเวณร่องน้ำลึกกว่า 10 เมตร รองรับเรือบรรทุกถ่านหินขนาด 7,000-12,000 ตัน
นายชัยพร พิมมะรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญระดับ 12 ฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ กฟผ. กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการจ้างบริษัทที่ปรึกษา เพื่อศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรือ(อีเอชไอเอ) ภายใต้ชื่อโครงการโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด และโครงการท่าเทียบเรือ อ.เทพา จ.สงขลา ซึ่งเตรียมการมากว่า 1 ปีแล้ว โดยก่อนหน้านี้ได้พาตัวแทนชาวบ้าน ไปศึกษาดูงานต่างประเทศมาแล้ว
**หวั่นก่อมลพิษทำลายแหล่งผลิตอาหาร
ด้านนายกิติภพ สุทธิสว่าง กรรมการยกร่างยุทธศาสตร์ระบบความมั่นคงทางอาหาร จ.สงขลา เปิดเผย "ASTVผู้จัดการภาคใต้"ว่า ตัวแทนภาคประชาชนวันนี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้ทำนากุ้งทั้งในจ.สงขลา และจ.สตูล โดยกฟผ.ให้เหตุผลว่าเนื่องจากการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยเกือบร้อยละ 70 เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติ อ้างว่าการใช้ก๊าซและน้ำมันเชื้อเพลิงมีต้นทุนสูง และก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยกำลังจะหมดลง จึงต้องใช้ถ่านหินซึ่งมีราคาถูกกว่ามาเป็นพลังงานหลัก เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า
"กฟผ.จะอ้างเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน หรือตัวเลขการเติบทางเศรษฐกิจอย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องสอบถามความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ก่อน ว่าต้องการให้ภาครัฐพัฒนาไปในทิศทางไหน เพราะชายฝั่งทะเลทั้งอ่าวไทยและอันดามัน เป็นแหล่งรายได้ของชุมชนและประเทศ ทั้งการท่องเที่ยว เกษตร และประมง ขณะเดียวกันอ.จะนะ และอ.เทพา ได้รับการประกาศให้เป็นแหล่งผลิตอาหารของภูมิภาคอาเซียน จากคณะกรรมการยกร่างยุทธศาสตร์ระบบความมั่นคงทางอาหาร จ.สงขลา ที่แต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งจะไม่สอดคล้องกันหากกฟผ.สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทับซ้อนแหล่งผลิตอาหาร"
นายกิติภพ กล่าวว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่มีความกังวลผลกระทบจากมลพิษของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งกฟผ.อ้างว่าจัดการได้ด้วยเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด แต่เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดไม่สามารถทำได้จริง เนื่องจากต้นทุนสูง และต้องล้มเลิกมาแล้วในหลายประเทศ ขณะที่ในประเทศไทยกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง ทุกวันนี้สารพิษที่ปนเปื้อนในอากาศ แหล่งน้ำ และดินยังคงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ยังไม่มีวิธีแก้ไขและป้องกันได้ ขณะที่โรงไฟฟ้าจะนะ 2 โรง ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ก็มีการลักลอบปล่อยน้ำเสียลงคลองนาทับ ซึ่งชาวบ้านตรวจสอบพบด้วยตัวเองเมื่อไม่กี่วันก่อน"
เมื่อเร็วๆนี้มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่าการเข้ามาตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในอ.จะนะ ปัจจุบันมี 167 โรง รวมโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย และโรงไฟฟ้าจะนะทั้ง 2 โรง พบว่าทั้ง 167 โรไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องการสร้างความเป็นอยู่ที่ดี ไม่ได้สร้างความสุขให้คนในพื้นที่ การจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอีก 2 โรง จึงตอบโจทย์อุตสาหกรรมมากกว่าจะสร้างความสุขให้คนในชุมชน
"ชายฝั่งทะเลอ.เทพา ปัจจุบันเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนภาคใต้ตอนล่าง มีเกาะขามเป็นแหล่งดำน้ำที่มีชื่อเสียงอีกแห่งของภาคใต้ สิ่งเหล่านี้คือความสุขของคนในพื้นที่ ไม่ใช่โรงไฟฟ้าหรือโรงงานอุตสาหกรรม"