xs
xsm
sm
md
lg

“หม่อมกร” เผยผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม 32 ปี อิ่มหนำ 3 ล้านล้านบาท โยนเศษเงินกลับมาแค่ 10%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการ - “ม.ล.กรกสิวัฒน์” เผยรายได้สัมปทานปิโตรเลียมตลอด 32 ปี มีค่า 3 ล้านล้านบาท ระบุ 3 แสนล้าน เหมือนทวงบุญคุณ เผยสัมปทานแหล่งปลาทองต่อปีแหล่งเดียวมีมูลค่าถึง 40,000 ล้าน ชี้เป็นแหล่งน้ำมันคุณภาพสูง เหน็บน้ำมันประเทศไทยจะหมด แต่มาขอเจาะสำรวจสัมปทานทำไม แนะ ครม.ถ้าไม่ทราบรายละเอียดสัมปทานไม่ควรเปิดประมูล

จากกรณีสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอการไปเยือนแท่นผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยของบริษัท เชฟรอน ณ ฐานผลิตปลาทอง ชายฝั่งทะเล จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยคณะดังกล่าวนำโดยนางคริสตี้ เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เป็นผู้รับสัมปทานแหล่งเอราวัณ, ปลาทอง และแหล่งสตูล ทั้งยังถือผู้ลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับต้นในประเทศไทย

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระด้านนโยบายพลังงาน เปิดเผยกับ ASTVผู้จัดการ ว่าการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ควรจะต้องมีการเปิดเผยให้โปร่งใสก่อน ขณะเดียวกันสิ่งที่ประชาชนเจ้าของทรัพยากรควรจะต้องได้รู้ก็คือ การให้สัมปทานปิโตรเลียมไทย กลับมีลักษณะปกปิด ซ่อนเร้น ผลการประมูลว่าใครจ่ายเท่าไรสัญญาสัมปทานเป็นอย่างไร หรือรายได้รายจ่ายแต่ละแปลงสัมปทาน ทั้งนี้ การที่เอกชนได้ชนะการประมูลไปต้องสามารถตอบได้ว่าชนะไปด้วยเงื่อนไขอะไร ซึ่งฝ่ายรัฐหรือผู้มีอำนาจไม่เคยได้นำข้อมูลมาบอกกล่าวประชาชน ที่ผ่านมาการเปิดสัมปทาน 20 รอบก็อยู่ในลักษณะนี้มาตลอด ตัวเลขที่นำมากล่าวอ้างว่า รัฐได้ร้อยละ 70 ไม่มีใครรู้นอกจากผู้รับสัมปทานและเจ้าหน้าที่รัฐบางคนเท่านั้น โดยความเป็นจริงแล้ว ต้องมีการเปิดเผยแบบกรณีการประมูลคลื่นความถี่ 3จี ดังนั้น การจัดการรายได้จากทรัพยากรจึงต้องเปิดเผย โปร่งใส และการจัดสรรทรัพยากรต้องตั้งอยู่บนหลักที่เป็นธรรม

ม.ล.กรกสิวัฒน์กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ระบุว่าเชฟรอนช่วยสนับสนุนการจ้างงานในประเทศไทยกว่า 2 แสนตำแหน่ง และก่อให้เกิดรายได้แก่รัฐบาลไทยรวมแล้วกว่า 9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 300,000 ล้านบาทในช่วง 32 ปีที่ผ่านมานั้น ในความเป็นจริงแล้ว ค่าภาคหลวง ค่าภาษีของรายได้ปิโตรเลียมไทยที่ผู้รับสัมปทานควรได้รับ คือ 3 ล้านล้านบาท เพราะแค่สัมปทานแหล่งปลาทองแหล่งเดียวก็มีมูลค่าถึง 40,000 ล้านบาทต่อปีเข้าไปแล้ว

“บ่อขุดเจาะน้ำมันแหล่งปลาทอง เป็นพื้นที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ มีคอนเดนเสตอยู่เยอะ ซึ่งก็คือม้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซลที่พวกเราใช้กันอยู่ ดีกว่าน้ำมันเตา โดยแหล่งปลาทองสามารถสูบน้ำมันได้กว่า 9,000 บาร์เรลต่อวัน และก๊าซ 336 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมมูลค่า 40,000 ล้านบาทต่อปี จากทั้งหมด” ม.ล.กรกสิวัฒน์ระบุ

ม.ล.กรกสิวัฒน์กล่าวต่อว่า ผู้ที่มีอำนาจหรือคณะรัฐมนตรีในการให้เปิดสัมปทานรอบที่ 21 เคยเห็นรายละเอียดของผลการประมูลบ้างหรือไม่ อาทิ ผลการประมูลว่าใครจ่ายเท่าไรสัญญาสัมปทานเป็นอย่างไร หรือรายได้รายจ่ายแต่ละแปลงสัมปทานที่จะตกถึงรัฐเท่าไหร่ ถ้าไม่ทราบรายละเอียดตรงนี้ก็ไม่ควรอนุมัติให้การเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ให้เกิดขึ้น

นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่า การที่ได้เห็นนางคริสตี้ เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ และคณะทูต ลงสำรวจพื้นที่เหมือนเป็นการลงพื้นที่เพื่อการลงทุนลงหลักปักฐาน จึงอยากตั้งคำถามว่า ถ้าพลังงานไทยมีน้อยจนไม่คุ้มค่าลงทุนถ้าไม่ได้รายได้ที่มากพอคงจะไม่ลงทุนมาเดินสำรวจพื้นที่ขนาดนี้ เท่าที่จำได้ยังไม่มีทูตท่านไหนไปแท่นขุดเจาะพลังงานในอ่าวไทยสักคนเดียว ขณะที่มีข้อมูลออกมาบ่อยครั้งว่าน้ำมันจะหมดจากประเทศไทยในอีก 7-8 ปี แต่ทำไมถึงอยากมาลงทุนกับแหล่งน้ำมันในประเทศไทยกันมากขนาดนั้น ซึ่งมันสวนทางกัน

“การปฏิรูปพลังงาน ไม่ใช่การยุติการขุดก๊าซขุดน้ำมัน ไม่ใช่การยึดกิจการที่ต่างชาติเข้ามาลงทุน แต่เป็นการปฏิรูปให้เกิดความโปร่งใสเป็นธรรมต่อประชาชนเจ้าของประเทศ โดยหาจุดสมดุลที่จะได้ประโยชน์ร่วมกันของชาติ ประชาชน และเอกชน” ม.ล.กรกสิวัฒน์ระบุ
ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระด้านนโยบายพลังงาน (แฟ้มภาพ)



กำลังโหลดความคิดเห็น