xs
xsm
sm
md
lg

ภาค ปชช.ยื่น “ประยุทธ์” ปฏิรูปพลังงาน 4 เรื่อง-ตอก “ปิยสวัสดิ์” โมเมเห็นพ้องเสวนา ทบ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลุ่มเวทีปฏิรูปพลังงานฯ ยื่นหนังสือนายกฯ ยืนยัน “ภาคประชาชน” ยังไม่เห็นพ้องข้อสรุปงานเสวนาสโมสร ทบ.ตาม “ปิยสวัสดิ์” อ้าง ชี้สื่อทางเดียวให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน พร้อมเสนอแนวทางปฏิรูป 4 เรื่อง เร่งคืนท่อก๊าซตามความเห็น สตง. ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตแทนสัมปทาน ลดเก็บเงินกองทุนน้ำมัน-ปรับโครงสร้างแอลพีจี เพิ่มธรรมาภิบาลจัดการพลังงานชาติ

วันนี้ (1 ต.ค.) ที่ศูนย์บริการประชาชน ประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล แนวร่วมกลุ่มเวทีปฏิรูปพลังงานภาคประชาชน เดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่าน น.ส.อรนุช ศรีนนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

โดยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ กล่าวว่า กลุ่มเวทีปฏิรูปพลังงานภาคประชาชน เห็นว่านโยบายด้านพลังงานที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ขาดความโปร่งใส ไม่เป็นธรรมต่อประชาชนในฐานะเจ้าของทรัพยากร จึงขอเสนอแนวทางปฏิรูปพลังงานในประเด็นเร่งด่วน เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาพลังงานอย่างยั่งยืน ในหลายประเด็นด้วยกัน อาทิ 1. ให้ ปตท. ส่งคืนท่อก๊าซ โรงแยกก๊าซ และสาธารณสมบัติทั้งหมดก่อนการแปรรูปให้แก่กระทรวงการคลัง และยกเลิกมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการแบ่งแยกท่อก๊าซของ ปตท.มาตั้งบริษัทใหม่ เพราะไม่สามารถทำได้เนื่องจากเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และอาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 2.ขอให้เปิดเผยรายละเอียดการประมูล สัญญาสัมปทานเนื่องจากที่ผ่านมาขาดความโปร่งใส และให้แหล่งปิโตรเลียมใหม่ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตในการจัดการแทนระบบสัมปทาน เช่นเดียวกับมาตรฐานอาเซียน เพื่อคงกรรมสิทธิ์ ปิโตรเลียมที่ขุดได้เป็นของรัฐ และรัฐสามารถกำหนดราคาที่เป็นธรรมต่อประชาชนได้ รวมถึงแหล่งปิโตรเลียมที่ใกล้หมดอายุสัมปทาน ที่ยังมีพลังงานเหลืออยู่ ขอให้ทำการจ้างผลิตเช่นเดียวกับประเทศมาเลเซีย เพื่อให้รัฐได้พลังงานทั้งหมดมาพัฒนาประเทศ เพราะจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าพลังงานได้ดีกว่าการทำสัมปทาน และระบบแบ่งปันผลผลิตให้ใช้การประมูลผลประโยชน์ของรัฐแทนการประกวดที่ใช้ระบบสัมปทานเพื่อความโปร่งในในการคัดเลือกบริษัทเอกชน

นายปานเทพ กล่าวต่อว่า 3. ให้ลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันจากประชาชน เพื่อให้ราคาน้ำมันทุกชนิดลดลงมา และให้มีความชัดเจนในการนำกองทุนไปอุดหนุนและส่งเสริมพลังงานทางเลือกอื่นๆ ให้จัดสรรการใช้ แอลพีจีในประเทศโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ทางตรงต่อประชาชน และควรปรับราคาก๊าซของอุตสาหกรรมทุกประเภทให้เป็นอัดตราเดียวกันกับตลาดโลก เนื่องจากปัจจุบัน ปตท. ซื้อปิโตรเคมีถูกกว่ากลุ่มอื่น

เมื่อถามว่า การที่มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ขึ้นมา และมีหัวข้อเกี่ยวกับพลังงาน ทางกลุ่มจะไปยื่นต่อ สปช. หรือไม่ นายปานเทพ กล่าวว่า ไม่ว่าจะมีสปช. หรือไม่อย่างไร ขณะนี้ก็อยู่ภายใต้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งมีอำนาจในการคัดสรรหา สปช. โดยพล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่มีความจำเป็นต้องไปผ่านกระบวนการส่วนนั้น เพราะเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่ามีความคิดเห็นอย่างไร และหากใน สปช. มีคนของ ปตท.เข้าไป ภาคประชาชนที่ร่วมเรียกร้องก็จะเป็นเพียงไม้ประดับ

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนกลุ่มเวทีปฏิรูปพลังงานภาคประชาชน นำโดยนายวีระ สมความคิด หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี นายปานเทพ นายรุ่งชัย จันทสิงห์ นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา นายบรรยง อัมพรตระกูล พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ได้ร่วมกันลงนามในหนังสือเรื่องข้อเสนอการแก้ไขปัญหาพลังงาน

โดยมีใจความสรุปได้ว่า ตามที่นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท.ได้ให้ข้อมูลต่อสื่อมวลชนว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนในเวทีปฏิรูปพลังงาน ณ สโมสรกองทัพบก ได้ข้อสรุปจากภาคประชาชนแล้ว พร้อมนำเสนอนายกรัฐมนตรีนั้น กลุ่มเวทีปฏิรูปพลังงานภาคประชาชนขอยืนยันว่า ทางกลุ่มมิได้เห็นพ้อง หรือมีข้อตกลงในเรื่องผลสรุปงานเสวนากับนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์แต่อย่างใด เนื่องจากเวลาในการอภิปรายจำกัด และเป็นการสื่อเพียงด้านเดียวภาคประชาชนไม่สามารถโต้แย้ง และแสดงเหตุผลประกอบได้

อีกทั้งข้อมูลของภาครัฐที่สื่อสารสู่สาธารณะไม่ครบถ้วนในหลายประการ เช่น น้ำมัน-ก๊าซจะหมดไปใน 8 ปี ความจริงแล้วกลับกลายเป็นเรื่องสัมปทานจะหมดอายุ และมีพื้นที่ที่ยังไม่ได้ขุดเจาะอีก 84% และกล่าวว่า ปตท.นำเข้าน้ำมันดิบมาก เพราะการใช้ของประชาชน ทั้งที่ความเป็นจริงได้รวมเอาปริมาณน้ำมันดิบที่กลั่นเพื่อการส่งออกขายต่างชาติ มูลค่าเกือบ 4 แสนล้านบาทเข้ามาด้วย

ส่วนเรื่องกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมในระบบสัมปทาน ที่รัฐตอบว่าเป็นของรัฐ โดยการยกข้อกฎหมายก่อนการให้สัมปทานมา แต่ผู้แทนของรัฐกลับละเลยในการให้ข้อมูลว่า หลังจากให้สัมปทานเอกชนสามารถนำปิโตรเลียมที่ขุดได้ทั้งหมดไปขายเป็นรายได้ของบริษัท ด้วยการให้ข้อมูลดังกล่าวอาจจะทำให้รัฐบาลตัดสินใจผิดพลาดในการกำหนดนโยบายพลังงาน และยังผลให้ประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า รวยกระจุก จนกระจาย ทำให้กลับสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยให้มากยิ่งขึ้น

กลุ่มเวทีปฏิรูปพลังงานภาคประชาชนมีความเห็นว่า นโยบายด้านพลังงานที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ขาดความความโปร่งใส และไม่เป็นธรรมต่อประชาชนในฐานะเจ้าของทรัพยากรซึ่งกระทบโดยตรงต่อสิทธิมนุษยชน อีกทั้งยังกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แหล่งท่องเที่ยว และแหล่งอาหาร ซึ่งไม่เป็นแนวทางที่ยั่งยืนต่อการพัฒนาประเทศ

“ทางคณะจึงขอเสนอแนวทางการปฏิรูปพลังงานเฉพาะประเด็นเร่งด่วน ดังต่อไปนี้

เรื่องที่ 1 สาธารณะสมบัติของแผ่นดินและท่อขนส่งปิโตรเลียม

1. ให้ ปตท.ส่งคืนท่อก๊าซ โรงแยกก๊าซ และสาธารณสมบัติทั้งหมดก่อนแปรรูป คืนให้แก่กระทรวงการคลัง ตามความเห็นของ สตง. นอกจากนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีหนังสือระบุว่า กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และปตท.มิได้ปฏิบัติตามมติ ครม.วันที่ 18 ธันวาความ 2550 โดย ปตท.ได้รายงานเท็จต่อศาลว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ดำเนินการตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้ว

2. ยกเลิกมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการแบ่งแยกท่อก๊าซของ ปตท.มาตั้งบริษัทใหม่ เพราะไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามคำพิพากษา เพราะหากดำเนินการอาจเข้าข่ายความผิดอาญามาตรา 157

เรื่องที่ 2 การบริหารทรัพยากรปิโตรเลียมเพื่อการพึ่งตนเอง

1. ระบบสัมปทานที่ดำเนินการอยู่ ขาดความโปร่งใส เพราะไม่สามารถเปิดเผยผลการประมูล อีกทั้งบริษัทผู้รับสัมปทานมีกำไรสูง ต้นทุนน้อย เช่น กรณีบริษัท ปตท.

2. แหล่งปิโตรเลียมใหม่ ให้ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตในการจัดการแทนระบบสัมปทาน เช่นเดียวกับมาตรฐานอาเซียน เพื่อคงกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมที่ขุดได้เป็นของรัฐ ทำให้รัฐได้น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ส่วนใหญ่ได้มาฟรี รัฐจึงสามารถกำหนดราคาและการจัดสรรที่เป็นธรรมต่อประชาชนในฐานะเจ้าของทรัพยากรได้

3. สัมปทานปิโตรเลียมที่ใกล้หมดอายุสัมปทาน แต่ยังมีน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลืออยู่ให้ทำการจ้างผลิต เช่นเดียวกับแนวทางของมาเลเซีย จะทำให้รัฐได้น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติทั้งหมดมาใช้พัฒนาประเทศ แนวทางนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าพลังงานได้มากกว่าสัมปทาน อีกทั้งรัฐสามารถจำหน่ายก๊าซที่ได้ให้แก่การไฟฟ้าได้โดยตรง จะทำให้ลดต้นทุนค่าไฟฟ้าลงได้ทันที

4. สัมปทานปิโตรเลียมที่ดำเนินการอยู่ ให้เอกชนดำเนินการต่อไป (จึงจะไม่กระทบต่อการลงทุนของเอกชนไทย และต่างชาติที่มีอยู่แต่อย่างใด)

5. ให้ใช้ระบบการประมูลผลประโยชน์ของรัฐ แทนการประกวดที่ใช้ในระบบสัมปทานเพื่อสร้างความโปร่งใสในการคัดเลือกบริษัทเอกชน (ภาครัฐเรียกว่าการประมูลสัมปทาน แต่แท้จริงแล้วเป็นการประกวดที่มีกรรมการให้คะแนน ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงต่อการประพฤติมิชอบ)

6. การชะลอสัมปทานรอบใหม่ สามารถกระทำได้โดยไม่เกิดผลกระทบอย่างที่รัฐกล่าวอ้าง เนื่องจากปัจจุบันมีการผลิตปิโตรเลียมประมาณ 1 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบจากพื้นที่สัมปทาน 1.8 หมื่นตารางกิโลเมตร ยังมีสัมปทานที่ให้ไปแล้วอีกกว่า 9.8 หมื่นตารางกิโลเมตร จึงเห็นได้ว่ายังมีพื้นที่รอการผลิตอีกกว่า 5 เท่าตัว

กลุ่มเวทีปฏิรูปพลังงานภาคประชาชนเห็นว่า การเร่งออกสัมปทานใหม่และเร่งต่อสัมปทานเก่าจะยิ่งสร้างความเสียหายต่อประเทศในระยะยาว

เรื่องที่ 3 แนวทางปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน LPG NGV และปลดหนี้กองทุนน้ำมัน เพื่อความเป็นธรรมทั้งภาคประชาชน และผู้ประกอบการ

1. ให้ปรับลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันจากประชาชน เพื่อลดราคาน้ำมันทุกชนิดและให้รัฐบาลมีความชัดเจนในเรื่องการนำกองทุนไปอุดหนุนและส่งเสริมพลังงานทางเลือกอื่นๆ เพื่อลดการใช้น้ำมัน และลดดุลการค้าที่จะต้องนำเข้าน้ำมันดิบ

2. ให้จัดสรรการใช้ LPG ในประเทศของผู้ใช้ ภาคครัวเรือน ขนส่ง อุตสาหกรรมทั่วไป และอุตสาหกรรมปิโตรเคมีใหม่โดยคำนึงถึงประโยชน์ทางตรงต่อภาคประชาชนในฐานะเจ้าของทรัพยากรที่แท้จริงเป็นอันดับแรก

3. เสนอให้เก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพิ่มในส่วนผู้ใช้ LPG ภาคปิโตรเคมี ในอัตราเดียวกับอุตสาหกรรมอื่น เพื่อความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และจะทำให้กองทุนน้ำมันมีสถานะมั่นคง

4. ให้ศึกษาโครงสร้างราคา LPG ใหม่ทั้งระบบ โดยเริ่มจากต้นทุนปากหลุม ค่าผ่านท่อก๊าซ โรงแยกก๊าซ และส่วนที่มาจากโรงกลั่นน้ำมัน และต้นทุนการนำเข้า พร้อมทั้งเปิดเผยผลการศึกษาต่อประชาชน

5. ให้ศึกษาโครงสร้างราคา NGV ภาคขนส่งใหม่ เพราะยังไม่มีข้อสรุปใดๆที่เป็นที่น่าเชื่อถือและยอมรับว่าราคาสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ราคาขายปลีก กก.ละเท่าใด และต้นทุนเกิดจากปัญหาการบริหารจัดการภายในของ ปตท.เองหรือไม่

6. กลุ่มเวทีปฏิรูปพลังงานภาคประชาชน มีข้อเสนอในเรื่องการลดราคาน้ำมัน การแก้ไขปัญหากองทุนน้ำมันติดลบแบบยั่งยืน

7. อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในกลุ่ม ปตท.ได้ประโยชน์อย่างมหาศาลจากทรัพยากรใต้พื้นแผ่นดินไทย เนื่องจากมีสิทธิซื้อก๊าซหุงต้มก่อนกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นในราคาต่ำเพียงกิโลกรัมละ 19 บาท ส่งผลให้ก๊าซหุงต้มขาดแคลนจนเป็นเหตุให้ประชาชนต้องใช้ก๊าซนำเข้าซึ่งสร้างภาระให้กองทุนน้ำมันอย่างมาก โดยราคาที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในกลุ่ม ปตท.ซื้อนี้ถูกกว่าปิโตรเคมีของกลุ่มปูนซิเมนต์ไทยที่ยังสามารถทำกำไรสูงสุด และยังถูกกว่าอุตสาหกรรมอื่นของประชาชน จึงควรปรับราคาก๊าซของอุตสาหกรรมทุกประเภทให้จ่ายในอัตราเดียวกันคือราคาตลาดโลก

เรื่องที่ 4 แนวทางแก้ปัญหาธรรมาภิบาลในการจัดการพลังงานของชาติ

1. มีบทลงโทษแก่ข้าราชการและคณะกรรมการด้านพลังงานชุดต่างๆ ห้ามมีผลประโยชน์ทับซ้อนในธุรกิจพลังงานโดยเด็ดขาด

2. ให้ตรวจสอบการใช้เงินกองทุนด้านพลังงานทุกกองทุนให้มีความเหมาะสม เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน อีกทั้งดำเนินการลงโทษข้าราชการที่เกี่ยวข้องในการนำเงินกองทุนไปใช้ผิดวัตถุประสงค์อย่างเฉียบขาด

3. มีการติดตั้งมิเตอร์ตรวสอบปริมาณน้ำมันดิบทุกหลุม เพื่อความโปร่งใสและป้องกัน การรั่วไหลของปิโตรเลียม รวมทั้งติดมิเตอร์ตามแนวท่อทุกท่อทุกหลุม

จึงขอกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความกรุณา จาก ฯพณฯ จึงขอกราบขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้ เพื่อคืนความสุข ความเป็นธรรม ให้ประชาชน และชาติบ้านเมือง” หนังสือระบุ

อนึ่ง คืนวันที่ 1 และ 2 ตุลาคม 2557 เวลา 21.00 น. - 22.00 น. เชิญพบกับตัวแทนกลุ่มเวทีปฏิรูปพลังงานภาคประชาชน อาทิ นายวีระ สมความคิด หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ร่วมสนทนาในหัวข้อ"ทางออกการปฏิรูปพลังงาน" ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม News1 จาน IPM ช่อง 64







กำลังโหลดความคิดเห็น