ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การปฏิรูปพลังงานเป็นได้ยาก เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อน ผู้กำหนดนโยบายและผู้ประกอบการเป็นกลุ่มเดียวกัน แถมกฎหมายที่ออกมาโดยกระทรวงพลังงาน ทำให้ผู้ประกอบการได้ผลประโยชน์มากกว่าประชาชน ส่วนประชาชนต้องแบกภาระจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ชดเชยการนำเข้า LPG ปีละ 3 หมื่นกว่าล้านต่อปี ทำให้ต้องจ่ายราคาน้ำมันสูง ทั้งที่ผู้ประกอบการที่ใช้ LPG ในสัดส่วนมากกว่าภาคต่างๆ แต่กลับจ่ายเข้ากองทุนน้ำมันที่น้อยกว่า! เป็นสาเหตุให้กองทุนน้ำมันติดลบและสร้างภาระให้ผู้ใช้น้ำมันเบนซินที่ต้องรับภาระเพิ่มขึ้น !
นั่นคือเหตุผลทั้งหลายทั้งปวงที่ “รุ่งชัย จันทสิงห์” นักวิชาการด้านพลังงาน กลุ่มเวทีปฏิรูปพลังงานภาคประชาชน, อดีตที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการพัฒนา ส่งเสริมตรวจสอบการพลังงานและเรื่องประชาชน การเมือง เพื่อความเป็นธรรม วุฒิสภา ออกมาเผยข้อเท็จจริงที่คนไทยไม่รู้เกี่ยวกับเรื่องพลังงาน
ข้อเท็จจริงที่คุณจะได้รู้จากชายคนนี้ จะทำให้เข้าใจว่าทำไมประเทศไทยสมควรต้องปฏิรูปพลังงานตั้งแต่ตอนนี้ ก่อนที่จะสายเกินแก้
ทำไมประเทศไทยสมควรต้องปฏิรูปพลังงาน
ที่ผ่านมาเราจะพยายามให้เห็นว่ากว่าจะมาเป็นโครงสร้างที่ขายอยู่ปัจจุบันนี้ มันผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง เริ่มตั้งแต่ ระบบการให้สัมปทาน เรื่องความมั่นคงในด้านพลังงาน เรื่องปริมาณปิโตรเลียมในประเทศมีมากน้อยแค่ไหน แล้วในส่วนการสัมปทาน ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของชาติ ตรงนี้สมควรต้องมาคุยกันใหม่ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนรับรู้ คือ เราต้องมาศึกษาข้อมูลว่า ประเทศไทยมีน้ำมันดิบมากแค่ ไหน เรานำเข้าน้ำมันดิบมากน้อยแค่ไหน อ่าวไทยมีปริมาณน้ำมันเท่าไหร่ เราควร กำหนดราคาอย่างไร และใครเป็นคนกำหนดราคา ตรงนี้ประชาชนไม่ทราบข้อเท็จจริง และไม่มีโอกาสมีส่วนร่วม
แล้วประเด็นที่เกิดขึ้นเวลานี้คือ จะมีการแยกท่อก๊าซออกมา ซึ่งเมื่อมีองค์กรมาบริการจัดการท่อก๊าซเพิ่มขึ้นมา มันจะกลายเป็นอีกบริษัทหนึ่ง แล้วบริษัทที่บริหารจัดการเรื่องท่อก๊าซนี้ก็ต้องแสวงหากำไร ฉะนั้นคำถามที่เกิดขึ้นคือราคาก๊าซจะแพงขึ้นหรือไม่ จะเกิดความเป็นธรรมไหม เราอยากให้มีการแข่งขันใหม่ เพราะปัจจุบันท่อก๊าซดูแลโดยปตท. ทำให้ผู้สำรวจและผู้ผลิตทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเชฟรอน,ปตท.สผ. หรือผู้สำรวจและผลิตรายอื่นๆ ก็ต้องขายก๊าซ ให้ปตท. หมด เพราะจำเป็นใช้ท่อของปตท. ทำให้มีผู้ประกอบการอื่นๆ ไม่คิดจะสร้างโรงแยกก๊าซ ซึ่งหากเกิดการแยกท่อก๊าซ ออกมา ก็จะเกิดผู้ประกอบการรายใหม่ นี่เรียกว่าการปฏิรูปพลังงาน เพื่อความเป็นธรรม ทั้งประชาชน ทั้งผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจพลังงาน เพื่อให้ได้มาซึ่งโครงสร้างราคาที่เป็นธรรมในขั้นปลายน้ำ และขั้นต้นน้ำอย่างเรื่องสัมปทาน ในรูปแบบที่เหมาะสม เพื่อให้รัฐได้รับผลประโยชน์ สูงสุดและเป็นธรรม
ที่ผ่านมา เรามักจะได้ยินคำว่าราคาพลังงานจะอ้างอิงกับตลาดโลก ถามว่าเราไม่ต้องอิงราคาตลาดโลกได้ไหม เพราะเรามีข้อมูลว่าเรามีแหล่งผลิตน้ำมันใน ประเทศไทยด้วย แล้วคำถามคือเรามีน้ำมันเท่าไหร่ และนำเข้าเท่าไหร่ ก็ต้องมาคุย กัน จะนำเข้าเพื่อกลั่นและใช้ในประเทศร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือนำเข้ามาเพื่อเป็นน้ำมันดิบสำเร็จรูป แล้วทำเพื่อการส่งออกหรือเปล่า แต่เวลาคุณตีเหมารวม คุณตีเหมารวมมาทั้งหมดไหม มันเลยทำให้มองว่าประเทศไทยไม่มีแหล่งพลังงานที่เพียงพอ จึงต้องนำเข้า 85 เปอร์เซ็นต์ แต่นั่นเขารวมเอาน้ำมันดิบ LNG, LPG ที่นำเข้ามาส่วนหนึ่งมาด้วยไหม
กำลังจะบอกว่าอยากให้ขั้นตอนทุกอย่างชัดเจน โปร่งใสใช่ไหม
ถูกต้องครับ ผมอยากให้เปิดเผยข้อมูล นอกจากจะเปิดเผยข้อมูล เพื่อให้ประชาชนมีส่วนรับรู้ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย เพราะเขาเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ในเมื่อคุณไปขุดเจาะน้ำมันในแหล่งที่เขากำลังทำประมงอยู่ เขาก็ทำประมง ไม่ได้แล้ว หรือใกล้แหล่งท่องเที่ยว หากขุดเจาะบนบก ก็จะกระทบต่อที่ทำกินเราควรจะมีวิธีเยียวยาเขาอย่างไร
แล้วที่ผ่านมา เวลาคุณขุดน้ำมันที่ไหน คุณก็อ้างอิงราคาตลาดโลก ก็เลยมีความรู้สึกว่าถ้าอย่างนี้ไม่ต้องขุดก็ได้ เพราะยังไงเขาก็อ้างอิงราคาตลาดโลก ดังนั้นเรานำเข้ามาก็ได้ เก็บแหล่งปิโตรเลียมนี้ไว้ให้ลูกหลานที่ฉลาดกว่ารุ่นนี้มาใช้ดีกว่าไหม ผมคิดว่าการปฏิรูปพลังงานควรจะต้องเริ่มตั้งแต่ระบบการให้สัมปทานในรูปแบบที่เหมาะสม แต่ปัญหาคือสัมปทานรูปแบบไหนที่รัฐจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง นี่คือปัญหาที่กำลังเป็นอยู่ตอนนี้อยู่ เพราะที่ผ่านมาเราใช้ระบบสัมปทาน ทำให้ปิโตรเลียมที่ขุดขึ้นมา เป็นของผู้ได้สัมปทาน ไม่ใช่ของประเทศไทย เราจึงกำหนดราคาซื้อขายเองไม่ได้
ช่วยชี้แจ้งหน่อยว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบสัมปทานตอนนี้มีอะไรบ้าง และเราควรใช้ระบบไหนจึงจะเหมาะสม
ต้องชี้แจงก่อนว่าในอดีตเราไม่มีทางเลือก เพราะเราไม่มีความรู้ ไม่มีทุน เราจึงต้องใช้ระบบสัมปทาน ต่างชาติมาขอสัมปทานปิโตรเลียม เราก็ให้สัมปทานเขาไปแล้วซึ่งมีอายุตามแต่ละสัญญา สัมปทาน แต่วิธีนี้หมายความว่า ปิโตรเลียมที่ขุดขึ้นมาทั้งหมดจะเป็นของผู้รับสัมปทาน ดังนั้นเขาจะขุดมาและขายเท่าไหร่ก็เรื่องของเขา เหมือนเราไปยกผลประโยชน์ให้เขาหมดเลยจึงกลายว่าเราเป็นฝ่ายเสียเปรียบมากกว่าได้ประโยชน์
ผมมองว่าเวลานี้ประเทศไทยมีทั้งความรู้ มีทั้งบริษัทที่เกิดในประเทศไทย สามารถที่จะสำรวจผลิตปิโตรเลียมเองได้แต่เราก็ไม่ได้ปิดกั้นบริษัทข้ามชาตินะครับ เพียงเราอยากให้มีการแข่งขันในรูปแบบอื่น เช่น ระบบแบ่งปันผลผลิตหรือระบบจ้างผลิต ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านเรา ต่างใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตกันแล้ว
ระบบการแบ่งปันผลผลิตนี้ ไม่ได้หมายความว่าแบ่งผลประโยชน์ 50-50 แต่เป็นการแบ่งตามข้อตกลง เช่น อาจจะแบ่ง 50, 70 แล้วแต่การพิจารณาลงทุนในแหล่งผลิต แต่อย่างน้อยๆ ปิโตรเลียมที่ขุดขึ้นมาได้ ส่วนหนึ่งมันเป็นของรัฐ ดังนั้นรัฐจะนำไปจัดสรรขายให้คนภายในประเทศเท่าไหร่ก็ได้ โดยไม่ต้องไปอิงราคาตลาดโลก ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าจะทำให้ราคาถูกลง ส่วนปิโตรเลียมของผู้รับสัมปทานหรือผู้รับจ้าง เขาจะส่งออกหรือจะเอาไปทำอะไรก็เรื่องของเขา แต่อย่างน้อยๆ เรามีปิโตรเลียมของเราล่ะ ดังนั้นระบบแบ่งปันผลผลิตน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด
ส่วนระบบจ้างผลิต คือ เรามีข้อมูลอยู่แล้ว แล้วเราจ้างเขาผลิต โดยเขาอาจจะรับผลตอบแทนเป็นปิโตรเลียม อย่างนี้เรียกว่าจ้างผลิต คือ ผมมองว่าเราจะไปยึดเอาประวัติศาสตร์ว่าเราเคยทำสัมปทานมาอย่างนี้ๆ มาก่อนไม่ได้ เราควรจะมีการปรับเปลี่ยน เพื่อให้ประเทศชาติได้ผลประโยชน์สูงสุด
อะไรคือปัญหาของการปฏิรูปพลังงานในตอนนี้ ที่ทำให้การปฏิรูปไม่เดินหน้าไปไหนเสียที
ผมมองว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะทุกระบบเช่น คณะกรรมการที่ศึกษาโครงสร้างราคาตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทั้งหมดเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนพลังงาน กลุ่มข้าราชการทั้งการเมืองและข้าราชการประจำ บางส่วน ล้วนมีผลประโยชน์ร่วมกันในระบบ ทำให้การปฏิรูปพลังงานเป็นไปได้ยาก ถามว่าผิดไหม เขาก็ไม่ผิด เพราะกฎหมายเอื้อให้เขา กฎหมายเอื้อให้ข้าราชการที่อยู่กระทรวงพลังงานไปนั่งเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ เป็นบอร์ดบริษัทเอกชนซึ่งเป็นบริษัทพลังงาน ที่ ปตท.ถือหุ้นอยู่ได้ ดังนั้นทำให้ไม่มีองค์กรที่จะตรวจสอบ หรือกำกับนโยบายพลังงาน เพราะคนกลุ่มนี้กลายเป็นกลุ่มเดียวกันหมด ประชาชนเกิดความสงสัยในเรื่องธรรมาภิบาลในระบบพลังงาน
ถ้าอย่างนั้นเราควรแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร
เราควรแก้กฎหมายเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของคณะกรรมการหรือตัวบุคคลก่อน กล่าวคือ ใครที่มีหน้าที่กำกับนโยบายพลังงานก็ควรจะนั่งในส่วนกำกับ ไม่ควรไปนั่งในบอร์ดของบริษัทพลังงาน นี่คือประเด็นที่หนึ่ง
ส่วนประเด็นที่สองคือ ต้องแก้ระบบสัมปทาน คือ จะเป็นระบบสัมปทานแบบไหน ซึ่งประเทศชาติและประชาชนได้ประโยชน์ รวมถึงให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการด้วย ดังนั้นในแต่ละแหล่งปิโตรเลียม ควรเลือกใช้ระบบที่เหมาะสม
แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันแพง
ราคาน้ำมันแพงเกิดจากโครงสร้างพลังงานที่เกิดการบิดเบือนเรื่อง โครงสร้าง ราคา หมายความว่าสาเหตุที่ราคาน้ำมันแพง ไม่ได้หมายความว่าแพงเพราะอิงราคาตลาดโลกแพงนะครับ เช่น น้ำมันเบนซิน 95 ความจริงราคาแค่ 23.33บาท แต่เราต้องจ่ายเงินซื้อน้ำมันที่ ลิตรละ 44.86บาท เพราะรัฐต้องเก็บเงินค่าภาษีสรรพสามิต ต้องเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันแพงกว่าราคาจริง (ข้อมูลตาม ตารางแสดงโครงสร้างราคาน้ำมันและ LPG ณ วันที่ 9 กันยายน 2557)
ประเด็นในการเก็บภาษีสรรพสามิต คือ เก็บเงินในรูปแบบภาษีเพื่อไปบำรุงประเทศโดยตรง แต่เรื่องที่มีปัญหาและเราต้องการปฏิรูปคือ “เงินกองทุนน้ำมัน” เพราะการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันในแต่ละชนิดนั้น ไม่ได้เอาไว้เพื่อรักษา เสถียรภาพของราคาน้ำมันเวลา ราคาน้ำมันตลาดโลกผันผวนเลย แต่กลับใช้เพื่อ ต้องการนำไปอุ้มการนำเข้าLPG แล้วการนำเข้าLPG นั้น เกิดจากมีการใช้LPG เพิ่มมากขึ้น ปริมาณการผลิตในประเทศไม่พอ ก็เลยจำเป็นต้องนำเข้า ซึ่งการนำเข้านั้น เราต้องชดเชยเงินประมาณสามหมื่นกว่าล้านบาท ทำให้รัฐต้องเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน แต่ไม่ใช่เก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันอย่างเดียวนะครับ แต่เก็บเงินจากผู้ใช้ LPG ด้วย ไม่ว่าจะใช้ในครัวเรือนหรือขนส่ง กิโลละ 4-12 บาท ทุกคนถูกเก็บหมดเลย เพื่อจะเอามาชดเชยกองทุนน้ำมัน แต่กองทุนก็ยังติดลบอยู่(ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในตารางแสดงโครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซ LPG)
ดังนั้นเราต้องมาศึกษาว่าใครกันแน่ที่เป็นผู้ใช้ LPG และทำให้มันขาด ใครสมควรจะรับผิดชอบ ผมมีข้อมูลการใช้ LPG ครึ่งปีแรกของปี 57 จากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน จากข้อมูลที่ผมได้มาจะเห็นว่าภาคครัวเรือนใช้แอลพีจีที่ 29 เปอร์เซ็นต์ ภาคปิโตรเคมีใช้ 37 เปอร์เซ็นต์ ภาคขนส่งหรือ ยานยนต์ใช้ 26 เปอร์เซ็นต์ และภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เป็นพลังงานในการเผาไหม้ใช้ 8 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าผู้ที่ใช้ LPG มากที่สุดคือ “ภาคปิโตรเคมี” ซึ่งปัญหาของเขาคือใช้เยอะขึ้นทุกวัน และราคาที่เขาซื้อก็ถูกกว่า คือ ถ้าเป็นบริษัทในเครือปตท. สามารถซื้อได้ราคากิโลกรัมละ 19 บาท ส่วนบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในเครือเขา ต้องซื้อกิโลกรัมละ 30 บาท ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันที่เสรี และเป็นการส่งเสริมเฉพาะบริษัทที่อยู่ในเครือของเขา
จากข้อมูลตรงนี้ ผมมองว่าถ้าครม. มีมติให้ก๊าซที่ผลิตในประเทศไทยหรืออ่าวไทยให้ใช้เฉพาะครัวเรือนกับขนส่ง คือ ภาคประชาชนเท่านั้น มันจะเกือบพอเพียง ส่วนที่จะต้องนำเข้า และจากโรงกลั่น ควรจะให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคปิโตรเคมี ใช้ หากไม่พอ ต้องนำเข้ ก็ให้รับภาระไป เพราะเขาเป็นภาคธุรกิจ มีผลกำไร สามารถบริหารจัดการด้านต้นทุนการผลิตได้หรือ ให้ภาคปิโตรเคมีใช้โครงสร้างเดียวกับภาคอุตสาหกรรม เพราะจะสามารถนำเงินเข้ากองทุนได้ กก.ล่ะประมาณ 12 บาท จะทำให้กองทุนมีเงินเข้าไปเพิ่มขึ้นกว่า 3 หมื่นกว่าล้านบาทต่อปี
ข้อดีของวิธีนี้คือ จะได้ไม่ต้องแบกรับภาระนำเงินเข้ากองทุนน้ำมันจำนวนมาก เพื่อไปแบกรับภาระการนำเข้า LPG เพราะภาคปิโตรเคมีเขานำเงินเข้ากองทุนแค่ 1 บาทต่อ กก. ในขณะที่ภาคอื่นๆ นำเงินเข้ากองทุนมากกว่า แถมภาคปิโตรเคมีไม่ได้จ่ายภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล เพราะได้รับการยกเว้น อ้างใช้เพื่อเป็นวัตถุดิบ เขาจ่ายแค่ภาษีมูลค่าเพิ่มกับเงินกองทุนแค่บาทเดียว จึงทำให้กองทุนติดลบ นี่คือปัญหาเงินกองทุนน้ำมันติดลบ ตามข้อมูลตารางที่นำเสนอข้างต้น ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ต้องนำเงินเข้ากองทุนสูงกว่า 11 บาทกว่าต่อ กก. ที่ซ้ำร้าย คือครัวเรือนต้องเก็บเงินเข้ากองทุน 4.80 บาท ต่อกิโลกรัม ภาคขนส่ง 3.64 บาทต่อ กก.
แต่ถ้าเราแก้ปัญหาว่าให้ภาคปิโตรเคมีซื้อในราคาเดียวกับภาคอุตสาหกรรม จะมีเงินเข้ากองทุนมากถึงสามหมื่นกว่าล้านบาทต่อปี แล้วเงินกองทุนจะเป็นบวกทันที ไม่ติดลบ เลยไม่จำเป็นต้องเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน จากผู้ใช้น้ำมันทั่วไปเลย หรือ อาจจะเก็บเข้ากองทุนน้อยลง เป็นการแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และทำให้ประชาชนซื้อน้ำมันในราคาที่ถูกลงด้วย เพราะไม่ต้องแบกรับภาระอีกต่อไป
มีข้อมูลอื่นๆที่ประชาชนยังไม่ทราบอีกไหม
ในสมัยนายกฯ สมชาย ได้มีมติ กพช. ให้ “แอลพีจีที่มาจากโรงแยกก๊าซ ให้ภาคครัวเรือนและภาคปิโตรเคมีใช้ก่อน” นั่นหมายความว่า ทำให้ภาคปิโตรเคมีมีสิทธิ์ใช้ LPG จากโรงแยกก๊าซ เขาเลยอ้างเหตุผลตรงนี้ในการซื้อ LPG ในราคาถูกกว่า โดยเอาราคาโรงแยกก๊าซเป็นราคาอ้างอิง และอ้างว่าเอกชนได้สัญญาซื้อขายที่ทำเอาไว้ล่วงหน้าเมื่อ พ.ค.2549 โดยมีกำนหด 15 ปี โดยใช้ราคาอิงตามราคาอิงผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกโลกในขณะนั้น โดยไม่ยอมใช้โครงสร้างราคาเดียวกับภาคอุตสาหกรรมและเมื่อ LPG จากโรงแยกก๊าซไม่พอ สำหรับภาคครัวเรือน และขนส่ง ก็ต้องไปใช้ในส่วนโรงกลั่นที่ราคาสูงกว่า และต้องชดเชย ที่สูงขึ้น นั่นคือปัญหาที่ทำให้กองทุน ต้องใช้มากขึ้น เมื่อการเติมโตของการใช้ LPG ภาคต่างๆสูงขึ้น เนื่องจากมีการใช้ LPG เพิ่มขึ้นทุกๆวันและจำเป็นต้องนำเข้าLPG มา พอนำเข้ามา ก็ต้องชดเชยในราคา CP หรือ ราคานำเข้า ทำให้กองทุนติดลบ รัฐจึงต้องปรับราคาพลังงานทั้งระบบทั้งน้ำมันและ LPG สูงขึ้นเพื่อเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันมากขึ้น เพื่อไปอุดหนุนการนำเข้า LPG ที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ครับ
ดังนั้นผมมองว่าวิธีแก้ปัญหาคือ ให้ครม.ที่มีอำนาจเต็มในเวลานี้ยกเลิกมติกพช. นี้เสีย คือ มติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่ 3/2551 ครั้งที่ 122 ปี 2551 โดยให้ ออก เป็นมติ ครม.ใหม่ โดยกำหนดให้แอลพีจีที่ผลิตจากโรงแยกก๊าซให้ครัวเรือนใช้ก่อน แล้วตามด้วยขนส่ง จากนั้นเหลือค่อยจัดสรรให้ภาคอุตสาหกรรม และภาคปิโตรเลียม ถ้าไม่พอ ก็ให้ภาคธุรกิจรับภาระการนำเข้านี้ไป เพราะมติข้างต้น เป็นที่การออกมาในลักษณะ เหมือน ให้สนับสนุนและทำให้เกิดเป็นประโยชน์ต่อสัญญาของเอกชนที่ทำไว้ล่วงหน้า
แต่ปัญหาคือ วิธีนี้จะทำให้ภาคปิโตรเคมีต้องซื้อLPG ในราคาเดียวกับภาคอุตสหกรรม จะส่งผลให้ต้นทุนเขาสูงขึ้น ผลกำไรน้อยลง นี่คือเหตุผลที่ทำให้บริษัทพลังงานต้องกังวลใจกับผลกระทบข้างต้น และเป็นอุปสรรคในด้านการปฏิรูปพลังงาน สำหรับการนำเสนอข้อมูลเหตุผลประเด็นนี้ ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลที่เข้าข้างตัวเอง เพื่อรักษาผลประโยชน์ฝ่ายตน ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ยากและละเอียดอ่อนมาก ต้องอาศัยนักวิชาการที่เข้าใจ นำเสนอข้อมูล อธิบายความเป็นมา เอาข้อกฎหมายที่เขาทำมาเปรียบเทียบให้ดู นี่คืองานที่พวกผมต้องการให้ประชาชน ครม.และคสช. เข้าใจ และขอความเห็นใจไปยังผู้ประกอบการทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นปตท,บริษัทลูกของปตท.และผู้ประกอบการเกี่ยวกับพลังงานทั้งหลายได้เข้าใจและเห็นใจว่าถ้าคุณยอมเสียสละตรงนี้ คุณจะช่วยเหลือประชาชนทั้งประเทศ ลดภาระค่าครองชีพได้หมดเลยประชาชนต้องแบกรับภาระปีละ หลายหมื่นล้านบาทเพื่อนำเงินเข้ากองทุนน้ำมัน และถ้าแก้ไขตรงนี้ได้ ราคาน้ำมัน ราคา แก๊ส จะถูกลง และสร้างความสมดุลและเป็นธรรม และยั่งยืน
ผมมองว่าเวลานี้เรากำลังปกครองโดยรัฐธรรมนูญแบบพิเศษ มีคณะรัฐมนตรีแบบพิเศษ และเรายังมีคสช. อีก ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงที่เหมาะในการแก้กฎหมาย
การปฏิรูปพลังงานจะสำเร็จได้ จำเป็นต้องมีกฎหมายพิเศษ ซึ่งสิ่งแรกที่ควรต้องแก้คือ แก้กฎหมายเรื่องผลประโยชน์ซับซ้อนของบุคลากรในกระทรวงพลังงาน ที่มีผลประโยชน์คาบเกี่ยวกับบริษัทพลังงาน ซึ่งรัฐบาลควรจะแก้ไขตรงนี้ให้ได้ก่อน จึงจะนำไปสู่การปฏิรูปพลังงานที่แท้จริงในที่สุดครับ
สำหรับการใช้พลังงานในการผลิตกระแสไฟฟ้านั้น ตอนนี้เราพึ่งก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก เราควรจะกระจายการใช้เชื้อเพลิงอื่นๆให้เหมาะสม เพิ่มปริมาณการใช้พลังงานทดแทนพลังงานหมุนเวียน ส่งเสริมการใช้ พืชพลังงาน เพื่อลดการนำเข้าและลดความเสียงในการพึ่งพาพลังงานประเภทใดประเภทหนึ่งมากจนเกินไป รัฐควรเข้ามาศึกษาและส่งเสริม อย่างจริงจัง สร้างความเข้าใจและให้ประชาชนในพื้นที่ มีส่วนร่วมในการผลิตและกำหนดราคาซื้อขาย