xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี “ประชาชนไม่เคยถูกตระหนักว่าเป็นเจ้าของพลังงาน และไม่ได้ส่วนแบ่งที่เป็นธรรม“

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เพราะเห็นว่าที่ผ่านมา ประชาชนไม่เคยรับรู้ข้อมูลทรัพยากรที่แท้จริงของชาติ ไม่ว่าจะมีปริมาณเท่าไหร่ ? ใครกันแน่ที่เป็นเจ้าของพลังงาน? ระบบสัมปทานเหมาะกับไทยจริงหรือไม่? กลายเป็นว่าประชาชนไม่ได้ส่วนแบ่งที่เป็นธรรม และผลประโยชน์ของชาติกลับถูกยกให้คนอื่น

เหตุผลทั้งหลายเหล่านี้ทำให้ “ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี” ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อการปฏิรูปพลังงาน

และนี่คือสิ่งที่เขาอยากจะเรียกร้องและอยากบอกแก่สังคม เพื่อหวังให้ผู้มีอำนาจได้เกิดการปฏิรูปเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน ในฐานะที่เป็นเจ้าของทรัพยากรตัวจริง

มีเรื่องไหนที่อยากสร้างความเข้าใจให้ประชาชนและรัฐในเรื่องพลังงานบ้าง

สิ่งที่เราพูดกันส่วนใหญ่บนหน้าหนังสือพิมพ์ ความจริงมันเป็นผล แต่ไม่ใช่เหตุปัญหา เหตุของปัญหาอันดับที่ หนึ่ง คือ “เรื่องทรัพยากรของชาติที่ประชาชนไม่รู้” คือไม่รู้ว่าเรามีน้ำมันดิบหรือเปล่า ก๊าซธรรมชาติมีพอไหม ข้อมูลเหล่านี้ ประชาชนไม่รู้ แม้กระทั่ง ว่ามีหรือเปล่า และถ้ามีแล้ว มีมากแค่ไหน ทุกอย่างเป็นการบอกเล่าของฝ่ายรัฐว่า มันไม่มีนะ มันมีน้อยนะ มันไม่พอนะ แต่เราไม่สามารถตรวจสอบได้

ปัญหาข้อที่สองที่ประชาชนที่ไม่รู้ คือ “ตกลงพลังงานเป็นของใคร” ผมคิดว่ามันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของระบบประชาธิปไตยในเรื่องนี้เลยนะครับ ผมไม่เคยได้ยินฝ่ายรัฐ หรือเอกชนพูดว่าทรัพยากรเหล่านี้เป็นของประชาชน ดังนั้นเมื่อไม่มีคำว่า “ประชาชน” ในทรัพยากรแล้ว เรื่องพลังงานจึงกลายเป็นเรื่องระหว่างรัฐกับเอกชนแค่นั้นเอง

แล้วเมื่อประเทศไทยใช้ระบบสัมปทาน คือ ให้ระบบสัมปทานเป็นของบริษัทนั้นบริษัทนี้ อ้าวแล้วประชาชนอยู่ไหนล่ะ มันก็เลยเหมือนเป็นเรื่องระหว่างรัฐกับเอกชน หรือเป็นอำนาจรัฐที่จะมอบให้เอกชน ดังนั้นทรัพยากรจึงถูกถ่ายกรรมสิทธิ์ไปสู่เอกชน แล้วเอกชนเอาทรัพยากรไปขายกลับมาให้คนไทยในราคาตลาดโลก คนไทยมีหน้าที่เดียวคือเป็นผู้บริโภค แล้วความเป็นเจ้าของล่ะหายไปไหน นี่คือสิ่งที่ผมอยากตั้งคำถาม

ถ้าเรามาปรับความเข้าใจของแต่ละคนกันใหม่ มาสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องใหม่ว่า “ประชาชนคือเจ้าของทรัพยากร” ส่วนรัฐไม่ใช่เจ้าของนะครับ แต่รัฐคือผู้จัดการมรดกของแผ่นดิน ผู้จัดการมรดกของเรา ส่วนประชาชนคือผู้รับมรดก และเอกชนคือผู้เอามรดกไปใช้ โดยจะต้องคืนส่วนแบ่งที่เป็นธรรม ให้แก่รัฐและประชาชน ซึ่งถ้าหากมีเข็มทิศแบบนี้ ปัญหาวันนี้ที่คุยกันก็จะไม่เกิด ถ้าถามว่าเรื่องนี้จะติงใคร ก็ต้องติงที่รัฐ และอาจจะต้องติงที่ว่า เรายังไม่ได้คนปกครองที่มองเห็นเรื่องนี้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่เรื่องราคา แต่เป็นเรื่อง “สิทธิของประชาชน” เพราะที่ผ่านมา มักจะมีการพูดเรื่องราคาทุกที โดยโจมตีประชาชนว่าอยากได้ของถูกเกินจริง

ผมไม่ได้เรียกร้องเรื่องราคาถูกเลย แต่ขอราคาเป็นธรรม ราคาถูกต้อง ไม่ใช่ราคาถูกใจ และต้องเริ่มจากสิ่งที่บอกว่า “ประชาชนทั้งประเทศเป็นเจ้าของก๊าซและน้ำมัน” ส่วนรัฐซึ่งเป็นผู้จัดการ ก็ต้องจัดการบนผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน ผมไม่อยากเห็นรัฐบอกว่าสัมปทานดีอยู่แล้ว ประชาชนไม่ต้องยุ่งหรอก ตกลงใครเป็นเจ้าของทรัพยากร ถ้าประชาชนเขาท้วงติง สิ่งที่ท่านควรจะทำคือ ไตร่ตรองใช่ไหมครับ ผมอยากให้รัฐไตร่ตรองให้ดีที่สุด ถามว่าทำไมมาเลเซียและอินโดนีเซีย ทำไมไม่ใช้ระบบสัมปทาน แต่ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต สิ่งที่เราต้องตระหนักก็คือ ประชาชนเป็นเจ้าของพลังงาน แล้วทำอย่างไรประชาชนจะได้ผลประโยชน์สูงสุด หลายประเทศในอาเซียนยังต้องกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนว่า “ปิโตรเลียมเป็นของรัฐเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน” แต่ของเราไม่มี ของไทยเขียนไว้ใน พ.ร.บ.ว่า ปิโตรเลียมเป็นของรัฐ ผู้ใดจะขุดต้องได้สัมปทาน คือไม่ได้พูดถึงผลประโยชน์ของประชาชนเลย บอกใครจะเอา ต้องมาขอฉัน กลายเป็นรัฐเป็นผู้มีอำนาจ ในขณะที่ต่างประเทศในอาเซียนเขาตระหนักแล้วว่า ประชาชนคือผู้มีอำนาจที่แท้จริง

ข้อเสียของระบบสัมปทานคืออะไร

คือเรื่อง “กรรมสิทธิ์ปิโตรเลียม” เพราะกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมที่เคยเป็นของเรา จะกลายเป็นของเจ้าของใหม่ที่ได้กรรมสิทธิ์สัมปทานไป จากที่ปิโตรเลียมเคยเป็นของคนไทย 65 ล้านคนร่วมกัน แต่มันถูกยกไปให้เอกชนหนึ่งรายในแปลงนั้นๆ แล้วระบบนี้มันจะดีอย่างไรครับ เปรียบเหมือนบ้านเรามีสวนมะม่วง ปู่ย่าตายายปลูกมะม่วงไว้ให้ วันหนึ่งคนรับใช้ที่บ้านอาจจะมาช่วยจัดการและยกสวนมะม่วงของเราให้คนอื่น บอกว่าเอาสวนนี้เก็บค่าเช่าแล้วกัน ค่าเช่าก็เอาที่หนูกำหนดนะ ที่หนูพอใจ ไม่ใช่ที่เจ้าของพอใจนะ ซึ่งเหล่านี้เราจะได้ยินรัฐพูดเสมอว่าเป็นค่ารายได้ที่เหมาะสมแล้ว ผมถามว่าท่านเป็นใคร ท่านเป็นเพียงผู้จัดการมรดก แต่เคยถามประชาชนไหมว่าเหมาะสมจริงหรือเปล่า เจ้าของตัวจริงยังไม่เคยพูดเลยนะว่าเหมาะสมหรือเปล่า

ทุกวันนี้สัมปทานเป็นของเอกชน หมายถึงว่า ปิโตรเลียมเป็นของเอกชน ส่วนคนไทยเป็นแค่ผู้บริโภค นอกจากนั้น ผมมองว่าการจัดสรรปิโตรเลียมยังไม่เป็นธรรม รัฐกลับจัดสรรก๊าซจำนวนมากไปให้กับธุรกิจปิโตรเคมีเพียงไม่กี่บริษัท แล้วบอกขาดแคลน สุดท้ายคนไทยต้องใช้ก๊าซนำเข้า เพราะก๊าซในประเทศถูกจัดสรรให้ธุรกิจไปแล้ว กลายเป็นว่าระบบกรรมสิทธิ์ก็ตกเป็นของธุรกิจ การจัดสรรก็เป็นเรื่องของธุรกิจ และประชาชนจะได้อะไรครับ เราไม่ได้ใช้ทรัพยากรของเรา แต่ต้องใช้ของนำเข้า

แล้วประชาชนยังต้องเสียภาษี เสียเงินกองทุนน้ำมันอีก ดังนั้น วันนี้เหมือนกับว่า ทรัพยากรหายไป ประโยชน์ไม่กลับมาที่เรา ประโยชน์กลับไปเกาะกับบางกลุ่มไม่กี่บริษัท แล้วเรายังจะขุดอีกเหรอครับ ที่ผมพูดเรื่องแบ่งปันผลผลิต หรือจ้างผลิตก็ตาม ถ้าคิดว่าเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ผมคิดว่าก็ไม่ต้องขุดแล้ว คือ สัมปทานที่มี เขาก็ดำเนินต่อไปได้ แต่รัฐไม่ต้องให้สัมปทานใหม่ได้ไหม เพราะมันไม่ได้เกิดประโยชน์ที่เต็มเม็ดเต็มหน่วยกับประชาชน

ผมมองว่าระบบสัมปทานควรจะเปลี่ยนมาตั้งนานแล้ว ในประเทศอาเซียน สัมปทานที่หมดอายุ หรือการขุดเจาะที่หมดอายุสัญญาไปแล้ว เขาจะใช้เป็นการจ้างผลิต เพราะมันรู้ปริมาณแน่นอน รู้จำนวนเงิน การจ้างผลิตแบบนี้ จะทำให้ปิโตรเลียมเป็นของรัฐ 100% น้ำมันที่ขุดได้ ก๊าซที่ขุดได้ก็จะเป็นของรัฐ 100% ในเมื่อมันเป็นของรัฐ 100% เป็นเรื่องที่ดีไหมครับ ดังนั้น สิ่งที่ควรทำคือ เราต้องตั้งหลักใหม่ เพราะสัมปทานกำลังจะหมดอายุสัญญาใน 7-8 ปีนี้ แต่น้ำมันและก๊าซยังมีอยู่ อันนี้สำคัญ เพราะมันกำลังจะตกเป็นของแผ่นดินแล้ว ทั้งก๊าซและน้ำมันดิบรวมกันประมาณวันละ 6 แสนบาล์เรล (เทียบเท่าน้ำมันดิบ) จะทำให้รัฐสามารถแก้ปัญหาราคาพลังงานและการจัดสรรให้แก่ประชาชนได้ง่ายขึ้น

อย่างที่ผมบอกไปแล้วว่า สวนมะม่วงของเรามีอยู่ แต่คุณกลับไปยกให้คนอื่น เสร็จแล้วลูกเราจะกินมะม่วง ก็ต้องไปซื้อเขาในราคาตลาดโลก ถามว่ามีใครในอาเซียนทำกัน วันนี้เราขาดแคลนพลังงาน ถูกต้องไหมครับ ดังนั้นคำถามคือ แล้วเราจะยกพลังงานให้คนอื่นเขาทำไม เพราะหลักการมันขัดกันไงว่า วันนี้ประเทศไทยทุกคนยอมรับว่าขาดแคลนน้ำมัน ขาดแคลนก๊าซ แต่เรากลับยกกรรมสิทธิ์ก๊าซและน้ำมันไปให้คนอื่น แล้วเราซื้อกลับมาในราคาตลาดโลก ถามว่าเราจะมีก๊าซและน้ำมันในแผ่นดินทำไมครับ ในเมื่อขุดมาแล้ว เราก็ต้องใช้ราคาตลาดโลกอยู่ดี

ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะเดินหน้าสัมปทานต่อไป ถ้าเกิดยังขุดมาแล้วยกให้คนอื่น ในขณะที่ในประเทศอาเซียนเขาใช้ระบบเหมือนเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ คือ รัฐลงทุนด้วยทรัพยากร เอกชนลงทุนด้วยอุปกรณ์ แล้วแบ่งผลประโยชน์กัน แต่ของเราเป็นระบบเหมือนกับว่า เออสวนมะม่วงหรอ ไม่รู้สิ ไม่สนใจ คุณเอาไปแล้วกัน ในขณะที่เรายังขาดแคลนพลังงาน ฉะนั้น ผมมองว่าระบบที่ตอบโจทย์ดีที่สุดคือ ระบบแบ่งปันผลผลิตและการจ้างผลิต

การจ้างผลิตคือ เราเป็นเจ้าของพลังงาน แต่เอกชนเป็นเพียงผู้รับจ้าง โดยรับค่าตอบแทนเป็นเงินไป ส่วนระบบแบ่งปันผลผลิตคือการจ้างผลิตที่จ่ายค่าจ้างด้วยปิโตรเลียม แต่ระบบจ้างผลิตคือการจ่ายด้วยเงิน ดังนั้น สองระบบนี้ บริษัทเอกชนเป็นเหมือนลูกจ้างรัฐ แต่ในระบบสัมปทานไทยทุกวันนี้ เราคอยแบมือขอเงินเขาจากทรัพยากรตัวเอง คือเรายกทรัพยากรให้เขา หลังจากนั้นเราก็แบมือขอสตางค์ค่าภาคหลวง ค่าภาษี ในขณะที่ระบบแบ่งปันผลผลิต ปิโตรเลียมเป็นของเรา ดังนั้น มันต่างกันมากนะครับ

อยากให้อธิบายเพิ่มเติมว่าระบบแบ่งปันผลผลิตนี้มีข้อดีอย่างไรอีก

ระบบแบ่งปันผลผลิต ชื่อมันบอกอยู่แล้วว่า คือ แบ่งปันตัวผลผลิตเหมือนหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ระหว่างรัฐกับเอกชน คือ ขุดปิโตรเลียมมาแล้วแบ่งกัน ถามว่าไม่ดีอย่างไร นอกนั้นยังมีข้อดีอีกข้อหนึ่งนะครับในเรื่องยุทธปัจจัย ซึ่งสำคัญมากนะครับ ระบบแบ่งปันผลผลิตนี้ รัฐจะได้น้ำมันและก๊าซมาฟรีเสมอ ถ้าสมมติวันหนึ่งน้ำมันมาจากตะวันออกกลางไม่ได้ เรายังมีน้ำมันไทยใช้ใช่ไหม แต่ถ้าเกิดเราใช้ระบบสัมปทานอยู่ แล้วเอกชนมีกรรมสิทธิ์ บริษัทต่างชาติมีกรรมสิทธิ์ เขาจะเอาน้ำมันไปขายคนอื่นก็ได้ แล้วถ้าเขาเอามาขายเราแพงขึ้น 5 เท่า ถึงตอนนั้นเราจะทำอย่างไร

ในขณะที่ระบบแบ่งปันผลผลิต คุณไม่ต้องซื้อ เขาต้องแบ่งให้เราตามสัญญา ดังนั้นทำไมเราต้องเอาตัวเองไปนั่งอยู่ความเสี่ยงว่า เออ...ไม่เป็นไรหรอกเดี๋ยวเขาก็ขายเรา หากเกิดภาวะสงครามขึ้นมา เขาขายเราแพงขึ้นเป็น 5 เท่า เราจะทำอย่างไรได้ ก็ต้องซื้อ เหมือนกับว่าเราซื้อมะม่วงตัวเองในราคาตลาดโลกนั่นแหละ ส่วนระบบแบ่งปันผลผลิต ถ้าเราบอกว่ายังไม่อยากใช้น้ำมัน แต่เก็บไว้ยามคับขัน รัฐเป็นเจ้าของ หากเกิดสงคราม รัฐก็สามารถ นำมาใช้ได้ทันที แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ทุกวันนี้เราไม่มีครับ ทุกอย่างเป็นของเอกชนที่ได้สัมปทานไปแล้ว

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้รัฐหรือคนที่มีอำนาจไม่อยากเปลี่ยนแปลงระบบสัมปทาน

อย่าให้ผมคิดเลยครับ คือ ต้องพูดว่ามูลค่าปิโตรเลียมทุกวันนี้มากกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี ถามว่าทำไมถึงไม่อยากเปลี่ยนแปลง คำตอบคือมูลค่าปิโตรเลียม 5 แสนล้านบาทนี่ถือว่าน้อยไหม ก็ต้องคิดตรงนี้ด้วย หลายครั้งก็มีคนมาโต้เถียงว่า เอาคน 65 ล้านคน มาหัก 5 แสนล้าน มันเหลือนิดเดียวต่อคน แต่ต้องเข้าใจว่าพวกผมไม่ได้ให้เอาเงินมาแจกกันนะ

สิ่งที่ผมอยากได้คือ รายได้ที่เต็มเม็ดเต็มหน่วยมาสร้างโรงเรียนให้เด็กๆ มาสร้างมหาวิทยาลัย มาสร้างโรงพยาบาล ให้เด็กได้เรียนฟรี ถามว่าจะเอาเงินมาจากไหน ประเทศไทยมีคนเสียภาษี 2 ล้านกว่าคน คือภาษีบุคคลธรรมดา แล้วจะเอาเงินจากไหนมาดูแลอนาคตของชาติ ไม่มีที่ไหนนอกจากทรัพยากรที่แผ่นดินให้มา แต่เรากลับไปยกทรัพยากรนี้ให้คนอื่น เราซื้อน้ำมันเขาในราคาตลาดโลก ความจริงพูดแค่นี้ เราก็คงอยากเปลี่ยนแปลงกันแล้ว แต่ทำไมผู้ที่มีอำนาจถึงไม่เปลี่ยน โดยอ้างว่าพลังงานมันมีน้อย มันเหมือนว่าเราได้มรดกเป็นบ้านหลังเล็ก ไม่ต้องกวาด ไม่ต้องเช็ด ไม่ต้องถู ถ้าบ้านใหญ่ค่อยกวาด ค่อยเช็ด ค่อยถู เป็นอย่างนั้นหรือเปล่าครับ แต่พวกเราจะไม่ทำอย่างนั้น ไม่ว่าบ้านใหญ่หรือบ้านเล็กเราจะดูแล ไม่ใช่บ้านเล็กก็จะไม่ปิดประตู ไม่ปิดหน้าต่าง ปล่อยให้คนอื่นเขามาฉกฉวยอะไรเอาไป เราจะทำอย่างนั้นกับสมบัติของปู่ย่าตายายไม่ได้

แล้วการอ้างว่าประเทศไทยมีศักยภาพน้อย เหมาะสมกับสัมปทาน ผมคิดว่าระบบแบ่งปันผลประโยชน์เหมาะกับประเทศที่มีศักยภาพน้อยหรือมากก็ได้ เพราะว่าจำนวนปิโตรเลียมจะแปรผันตามการจ่ายเงิน การจ่ายส่วนแบ่ง แปรผันตามปริมาณปิโตรเลียมอยู่แล้ว คือ ระบบแบ่งปันผลผลิตเหมือนกับสวนผลไม้ เก็บมาได้น้อยก็แบ่งน้อย เก็บมาได้มากก็แบ่งมาก เขามีสูตรอยู่แล้ว ดังนั้นสัมปทานของเราซะอีกที่มันไม่แปรผัน คือมันแปรผันเฉพาะค่าภาคหลวงเท่านั้น นิดเดียวประมาณ 5-15% เป็นส่วนที่แปรผัน นอกนั้นไม่แปรผัน

ในขณะที่ระบบแบ่งปันผลผลิต จะเอาทุกจำนวนมาแปรผันว่าได้มากก็แบ่งกันเยอะหน่อย ได้น้อยก็แบ่งกันน้อยหน่อย บางคนบอกการแบ่งปันผลผลิตไม่ตอบโจทย์เรื่องแหล่งปิโตรเลียมเล็ก ทั้งที่จริงๆมันตอบโจทย์ อย่างเอกสารของอินโดนีเซียบอกชัดเลยว่าแหล่งปิโตรเลียมเล็กจะทำอย่างไร แบ่งปันอย่างไร ดังนั้น ในอาเซียนทั้งหมดเขารู้แล้วว่าระบบนี้ใช้ได้ผล

ผมเคยไปประเทศมาเลเซีย เจออดีตประธานปิโตรนาส ผมถามว่าทำไมท่านไม่ใช้ระบบสัมปทานแบบเก่า คำตอบจากเขาคือ “เราเคยใช้สัมปทานแล้ว และเราคิดว่าระบบแบ่งปันผลผลิตให้ผลประโยชน์ต่อประเทศมากกว่า ทั้งการควบคุม การถ่ายทอดเทคโนโลยี และด้านการเงิน”

ต้องเท้าความประวัติศาสตร์ด้วยครับว่า ประเทศในอาเซียนสัมปทานกันอย่างไร ประเทศอินโดนีเซียใช้สัมปทานมา 70 ปี ยิ่งขุดก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ผลก็คือเลิกสัมปทาน พออินโดนีเซียเลิก มาเลเซียก็เลิกตาม ทุกคนหันไปใช้วิธีแบ่งปันผลผลิต แต่วันนี้ประเทศไทยมาทีหลังเขาแล้ว เพราะยังติดอยู่กับระบบสัมปทาน สัมปทานอาจจะดีตรงที่หลวงไม่ต้องไปยุ่ง ภาครัฐยกให้เขาไปเลย มันเหมาะกับประเทศที่มีพลังงานน้อยมาก หรือไม่มีเลย ถามว่าตั้งแต่ 40 ปีก่อนเป็นอย่างนั้นไหม มันอาจจะเป็นอย่างนั้น แต่วันนี้ถามว่า 5 แสนล้านมันน้อยไหม มันสร้างโรงเรียนได้กี่โรง สร้างโรงพยาบาลได้กี่โรง มันไม่น้อยเลย ถ้าหากผู้มีอำนาจยังพูดว่าน้อยและไม่ต้องสนใจ ผมว่าเราจะพัฒนาประเทศได้อย่างไรครับ จะมัวแต่เก็บแต่ภาษีมาม่ายำยำทุกห่อมาพัฒนาชาติ มันไม่พอหรอกครับ

แล้วมีเรื่องไหนที่คุณคิดว่าไม่เป็นธรรมบ้างในเรื่องพลังงาน

ที่ผ่านมา ประชาชนไม่เคยถูกตระหนักว่าเป็นเจ้าของพลังงาน และไม่ได้ส่วนแบ่งที่เป็นธรรม อันนี้สำคัญมาก เราอาจจะเคยได้ยินว่าระบบสัมปทานมีการแบ่งค่าภาคหลวงให้กับ อบต. อบจ. ด้วย ซึ่งผมเคยคำนวณนะครับ อย่างในอีสานบางที่ อบต. 9 แห่ง สมมติเงิน 100 บาท เขาจะให้ อบต.ในท้องที่ประมาณ 2 บาท หักแล้วก็ได้ประมาณคนละเท่าไร อบต.ได้เงินประมาณ 1 สลึง จากการขุดน้ำมัน 100 บาท ถามว่ามันเพียงพอไหม 1 สลึงสำหรับคนทั้งตำบล มันไม่พอหรอกครับ เพราะฉะนั้นส่วนแบ่งนี้มันไม่เป็นธรรมกับภาคประชาชน ที่เป็นเจ้าของทรัพยากร ผมคิดว่าตรงนี้ยังไม่เป็นธรรม และยังไม่โปร่งใสพอ

นอกจากนั้น มันไม่โปร่งใสตั้งแต่ต้นเลยว่าการประมูลเป็นอย่างไร ใครประมูลด้วยราคาเท่าไร ผลประโยชน์เท่าไหร่ เราไม่เคยรู้ในการประมูล ในขณะที่การประมูล 3G เขายังเปิดเผยหมดนะว่าคนนี้จ่ายเท่านี้ ๆเรายังบ่นกันเลย แต่การประมูลระบบสัมปทานพลังงานไม่เปิดเผยเลย มาบอกว่าดี แต่ทำไมถึงเปิดเผยไม่ได้ นั่นคือสิ่งที่ผมอยากจะถาม ไหนว่าโปร่งใสไง แต่ก็ไม่เคยเปิดเผยผลให้ทราบเลยว่าใครกรอกตัวเลขมาเท่าไร

อยากฝากบอกอะไรถึงประชาชนและรัฐอีกไหม

สิงคโปร์ไม่มีน้ำมันสักหยด ไม่มีก๊าซ แต่ทำไมเขาเจริญได้ ดังนั้น วันนี้เรามีปิโตรเลียม ถามว่าเราสามารถเจริญได้กว่าสิงคโปร์ไหม คำตอบคือได้ แต่คุณต้องเอาเงินจากทรัพยากรกลับมาพัฒนาคนเสียก่อน ผมถึงพูดเสมอว่าเงินที่ผมต้องการคือการศึกษา เอาเงินจากน้ำมัน เงินจากก๊าซใต้ดินมาใช้ ไม่ใช่ว่าเอามาให้ใช้กันถูกๆ แบบไม่มีเหตุผลนะ แต่เอาเงินนั้นกลับมาเพื่อการศึกษา เพื่อรักษาพยาบาล ตรงนี้จะทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น แต่วันนี้เหมือนกับว่ายังไม่เห็นใครมาทำเรื่องนี้เลย ยกเว้นประชาชนที่ต้องทำด้วยสองมือของตัวเอง

ผมอยากฝากถึงผู้มีอำนาจว่า การที่หลายคนพูดว่าต้องให้สัมปทานเป็นความมั่นคงพลังงาน มันไม่จริงหรอกครับ เพราะกรรมสิทธิ์คุณยกให้เขาไปแล้ว มันจึงคือความมั่นคงของบริษัทพลังงานต่างหาก ดังนั้นคำพูดที่ว่าให้สัมปทานเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน เป็นคำพูดที่สวยหรูแต่ไม่เป็นความจริง เพราะกรรมสิทธิ์ไม่ใช่ของเรา แต่ระบบแบ่งปันผลผลิตหรือการจ้างผลิตต่างหาก ที่จะทำให้ปิโตรเลียมจะเป็นของเรา เมื่อปิโตรเลียมเป็นของเรา ความมั่นคงก็ย่อมเป็นของเรา

ดังนั้นวันนี้เราควรกลับมาสู่ความจริง ผมคิดว่าท่านสามารถหาข้อมูลได้ง่าย ไม่ต้องหาในประเทศ แต่ไปหาในอาเซียนแล้วท่านจะได้คำตอบ นั่นคือวิธีการที่ควรทำมากกว่าจะมาหาข้อมูลจากบริษัทพลังงาน ซึ่งไม่ใช่คำตอบอยู่แล้ว เพราะมันไปขัดกับประโยชน์ที่เขาได้รับในปัจจุบัน

หากผู้มีอำนาจคิดจะเปลี่ยนแปลงจริงๆ เราสามารถศึกษาขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงนี้จากประเทศในอาเซียนได้ ฉะนั้นผมคิดว่าไม่ยากที่เราจะเริ่มปฏิรูปพลังงานตั้งแต่ตอนนี้ครับ

ภาพโดย ปวริศร์ แพงราช


พรบ.ปิโตรเลียม 2514 ที่ระบุว่ากรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมเป็นของใคร
ตารางแสดงระบบการจัดเก็บรายได้ เปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยและประเทศอาเซียน
กำลังโหลดความคิดเห็น