xs
xsm
sm
md
lg

“กองทุนน้ำมัน” ผิดกฎหมาย “คสช.” จะจัดการอย่างไร?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
รายงานการเมือง

ในภาวะที่คนไทยมีความหวังว่าแม่น้ำห้าสายที่ถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 กำลังจะทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ตามที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปรียบเทียบ และระบุถึงผลลัพธ์ว่าจะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศ แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับไม่มีสัญญาณที่เด่นชัดมากพอที่จะเป็นหลักประกันได้ว่า

“แม่น้ำห้าสาย” จะไหลได้อย่างอิสระ ตรงกันข้ามกลับมีปรากฏการณ์บ่งชี้ว่า “แม่น้ำห้าสาย” นั้น มีคนที่กำลัง “ชักแม่น้ำทั้งห้า” อยู่

แม่น้ำสายที่หนึ่งซึ่งก่อกำเนิดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. นั้นปรากฏชัดเจนว่า ไม่ได้มีความหลากหลายทางวิชาชีพ แต่เป็นแค่สภาคนกันเองที่ทำให้เวทีของฝ่ายนิติบัญญัติ กลายสภาพเป็นแค่มือไม้ของรัฐบาลและถูกฝ่ายเหนือปฏิบัติเสมือนกับเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา มากกว่าการให้ความเคารพในสถานะของฝ่ายนิติบัญญัติตามระบบถ่วงดุลของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

จึงมิอาจคาดหวังเรื่องการตรวจสอบเพราะการอภิปรายที่ผ่านมาได้ประจาน สนช. ชุดปัจจุบันแล้วว่า เป็นได้แค่ “พวกยอวาที” เท่านั้น

แม่น้ำสายที่สองคือ คณะรัฐมนตรี ก็เต็มไปด้วยการควบตำแหน่งของข้าราชการประจำที่มานั่งแท่นเป็นรัฐมนตรีเพิ่มอีกตำแหน่งหนึ่ง จนเกิดปัญหาถึงขั้นสภามหาวิทยาลัยมหิดล มีมติให้ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต้องตัดสินใจเลือกว่าจะต้องดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งเพียงตำแหน่งเดียวเท่านั้น ขณะเดียวกันทิศทางการปฏิบัติหน้าที่ก็ไม่ได้เป็นไปในลักษณะของการทำงานเป็นทีม แต่มีการยก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นตัวชูโรงส่วนรัฐมนตรีคนอื่นก็มีหน้าที่เป็นแค่เพียงผู้ตามเท่านั้น

แม่น้ำสายที่สาม คือ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่คุยคำโตกันไว้ว่าจะเป็นอิสระก็มีข่าวฉาวเรื่องการล็อคสเปคตั้งแต่เริ่มต้น โดยเฉพาะระดับจังหวัด จนกระทั่งมีการแก้เกมเพิ่มปริมาณผู้สมัครเพื่อสร้างภาพว่าจำนวนที่มากจะทำให้ไม่สามารถล็อกสเปกได้ ทั้งๆ ที่เรื่องของจำนวนไม่สามารถนำมาเป็นผลลัพธ์ได้ว่าการคัดเลือก สปช. จะเป็นไปโดยอิสระ ไม่มีการล็อกสเปกจริงหรือไม่

เนื่องจากคนที่คัดเลือกคือคณะกรรมการสรรหาจะเป็นผู้ใช้ดุลพินิจ และคณะกรรมการสรรหาระดับจังหวัดส่วนใหญ่ก็คือข้าราชการที่ คสช. สามารถควบคุมได้ ไม่แตกต่างจากคณะกรรมการสรรหาระดับประเทศที่แต่งตั้งโดย คสช. เช่นเดียวกัน

ที่ประหลาดไปกว่านั้นคือ ประธานคณะกรรมการสรรหาสองคนคือ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ มีชัย ฤชุพันธุ์ ยังถ่างขาทำหน้าที่เป็น คสช. อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย จึงเท่ากับว่าเป็นคน “ชงเอง กินเอง” อย่างชัดเจน เพราะคณะกรรมการสรรหาส่งให้ คสช. เลือก ในขณะที่คณะกรรมการสรรหานั้นก็เป็น คสช. ด้วย

การวางระบบเช่นนี้ทำให้เห็นถึงทิศทางที่ไม่ชัดเจนจนไม่สามารถมั่นใจได้ว่า การวางกติกาที่ไม่พร่ามัวจะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศได้อย่างไร

แม่น้ำสายที่สี่ คือ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 36 คน ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะมาจาก สปช. ที่ คสช. เลือก 20 คน มาจาก สนช. ที่ คสช. แต่งตั้ง 5 คน มาจาก ครม. ที่ คสช. เลือก 5 คน มาจาก คสช. อีก 5 คน โดย คสช. ยังมีบทบาทในการเสนอบุคคลที่จะเป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯด้วย

แม่น้ำสายที่ห้า คือ การคงอยู่ของ คสช. ที่มีอำนาจจากมาตรา 44 อยู่เหนืออำนาจอธิปไตยสามฝ่ายทั้งบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ

จะเห็นได้ว่า คสช. คือ ผู้ที่ “ชักแม่น้ำทั้งห้า” ซึ่งเป็นเส้นทางไปสู่การปฏิรูปประเทศ แต่หากพิเคราะห์ถึงหลักคิดจากการบริหารประเทศที่ผ่านมายังไม่พบว่า คสช. ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทิศทางใด เพราะในขณะที่กำหนดว่าคนที่ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองต้องไม่เข้ารับตำแหน่งทางการเมือง แต่ คสช. ตั้งคนที่ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองมาช่วยงาน ทั้งสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และวิเศษ จูภิบาล อดีตผีบ้านเลขที่ 111 ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองจากคดีทุจริตเลือกตั้งจนมีการยุบพรรคไทยรักไทย

ในขณะที่ คสช. บอกว่าจะปฏิรูปพลังงาน กลับออกนโยบายแยกกิจการท่อก๊าซให้ ปตท. ถือหุ้น 100% โดยไม่รอผลสรุปจากการพิจารณาของสภาปฏิรูปฯว่าจะมีการกำหนดทิศทางการปฏิรูปพลังงานอย่างไร อีกทั้งยังเดินหน้าที่จะขยับราคาก๊าซ และไม่มีการยกเลิกกองทุนน้ำมันที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติว่าขัดกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นบทพิสูจน์สำคัญที่จะชี้ให้เห็นว่า คสช. มีกึ๋นมากพอที่จะเข้ามาปฏิรูปพลังงาน หรือว่าจะกลายเป็นแค่หุ่นเชิดจากข้าราชการระดับสูงและกลุ่มทุนพลังงานใช้อำนาจรัฐปกป้องทุนเท่านั้น

ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ ให้ดำเนินการตามมติผู้ตรวจการแผ่นดินด้วยการยกเลิกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ลงวันที่ 23 ธ.ค. 2547 หรือ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะขัดกฎหมายและทำให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคเสียประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ไม่เป็นธรรม ลงวันที่ 28 พ.ค. 2557 มาถึงวันนี้ก็เกือบสี่เดือนแล้ว แต่ คสช. ไม่ขยับทำอะไรเลย

นอกจากไม่ดำเนินการให้สถานะกองทุนน้ำมันถูกกฎหมายแล้ว ยังมีการใช้กองทุนน้ำมันที่ขัดกฎหมายเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องผ่านการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง. 6 ครั้ง โดยล่าสุดในวันที่ 21 สิงหาคม 2557 มีมติเห็นชอบให้ปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันทั้งเบนซินและดีเซล

จะเห็นได้ว่าหลังจาก คสช. รับทราบมติผู้ตรวจการแผ่นดินที่ระบุว่ากองทุนน้ำมันไม่มีกฎหมายรองรับและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้บริโภคต้องซื้อน้ำมันในราคาที่ไม่เป็นธรรมไปแล้ว ก็ไม่ได้มีการแก้ไขปรับปรุงเพื่อดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่เคยชี้แจงต่อสาธารณะว่าหลักคิดของ คสช. ในเรื่องนี้คืออะไร

เมื่อ คสช. ไม่ขยับ ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ต้องเดินหน้าด้วยการส่งเรื่องฟ้องต่อศาลปกครองตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ใน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 มาตรา 14(1) บัญญัติไว้ว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อ ศาลปกครองได้ เมื่อเห็นว่ามีกรณี กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดของบุคคลตามมาตรา 13(1) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครองโดยไม่ชักช้า เพื่อให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัย

กรณีกองทุนน้ำมันผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติว่าขัดกฎหมายและเสนอความเห็นให้ คสช. ดำเนินการแก้ไขแต่ผ่านมาเกือบสี่เดือนก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ต้องส่งให้ศาลปกครองพิจารณายกเลิกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 เรื่องกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ในขณะเดียวกัน ต้องร้อง ป.ป.ช. ให้ไต่สวนเอาผิดกับ ผู้มีอำนาจเกี่ยวข้อง ฐานละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่จนก่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนควบคู่ไปด้วย

แต่ถ้าผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ทำ ประชาชนก็คงต้องไปยื่น ป.ป.ช. เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นการเมืองที่จ้องเอาผิดใคร แต่เป็นบทพิสูจน์การทำหน้าที่ของแต่ละฝ่าย คือ ผู้ตรวจการแผ่นดิน กับ คสช.
กำลังโหลดความคิดเห็น