xs
xsm
sm
md
lg

"กองทุนน้ำมัน"ผิดกฎหมาย "คสช." จะจัดการอย่างไร ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**ในภาวะที่คนไทยมีความหวังว่า แม่น้ำห้าสายที่ถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 กำลังจะทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ตามที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปรียบเทียบ และระบุถึงผลลัพธ์ว่าจะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศ แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับไม่มีสัญญาณที่เด่นชัดมากพอที่จะเป็นหลักประกันได้ว่า
**“แม่น้ำห้าสาย”จะไหลได้อย่างอิสระ ตรงกันข้ามกลับมีปรากฏการณ์บ่งชี้ว่า “แม่น้ำห้าสาย”นั้น มีคนที่กำลัง “ชักแม่น้ำทั้งห้า” อยู่
แม่น้ำสายที่หนึ่งซึ่งก่อกำเนิดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้นปรากฏชัดเจนว่า ไม่ได้มีความหลากหลายทางวิชาชีพ แต่เป็นแค่สภาคนกันเองที่ทำให้เวทีของฝ่ายนิติบัญญัติ กลายสภาพเป็นแค่มือไม้ของรัฐบาล และถูกฝ่ายเหนือปฏิบัติเสมือนกับเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา มากกว่าการให้ความเคารพในสถานะของฝ่ายนิติบัญญัติ ตามระบบถ่วงดุลย์ของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
จึงมิอาจคาดหวังเรื่องการตรวจสอบ เพราะการอภิปรายที่ผ่านมาได้ประจาน สนช. ชุดปัจจุบันแล้วว่า เป็นได้แค่“พวกยอวาที” เท่านั้น
แม่น้ำสายที่สองคือ คณะรัฐมนตรี ก็เต็มไปด้วยการควบตำแหน่งของข้าราชการประจำ ที่มานั่งแท่นเป็นรัฐมนตรีเพิ่มอีกตำแหน่งหนึ่ง จนเกิดปัญหาถึงขั้นสภามหาวิทยาลัยมหิดล มีมติให้ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ควบตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต้องตัดสินใจเลือก ว่าจะต้องดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งเพียงตำแหน่งเดียวเท่านั้น ขณะเดียวกันทิศทางการปฏิบัติหน้าที่ ก็ไม่ได้เป็นไปในลักษณะของการทำงานเป็นทีม แต่มีการยกพล.อ.ประยุทธ์ เป็นตัวชูโรง ส่วนรัฐมนตรีคนอื่นก็มีหน้าที่เป็นแค่เพียงผู้ตามเท่านั้น
**แม่น้ำสายที่สาม คือ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่คุยคำโตกันไว้ว่าจะเป็นอิสระ ก็มีข่าวฉาวเรื่องการล็อกสเปกตั้งแต่เริ่มต้น โดยเฉพาะระดับจังหวัด จนกระทั่งมีการแก้เกม เพิ่มปริมาณผู้สมัครเพื่อสร้างภาพว่าจำนวนที่มาก จะทำให้ไม่สามารถล็อกสเปกได้ ทั้งๆ ที่เรื่องของจำนวนไม่สามารถนำมาเป็นผลลัพธ์ได้ว่า การคัดเลือก สปช. จะเป็นไปโดยอิสระ ไม่มีการล็อกสเปก จริงหรือไม่
เนื่องจากคนที่คัดเลือก คือคณะกรรมการสรรหาจะเป็นผู้ใช้ดุลพินิจ และคณะกรรมการสรรหาระดับจังหวัด ส่วนใหญ่ก็คือข้าราชการที่ คสช. สามารถควบคุมได้ ไม่แตกต่างจากคณะกรรมการสรรหาระดับประเทศ ที่แต่งตั้งโดย คสช. เช่นเดียวกัน
ที่ประหลาดไปกว่านั้นคือ ประธานคณะกรรมการสรรหาสองคน คือ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ มีชัย ฤชุพันธุ์ ยังถ่างขาทำหน้าที่เป็น คสช. อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย จึงเท่ากับว่าเป็นคน“ชงเอง กินเอง”อย่างชัดเจน เพราะคณะกรรมการสรรหาส่งให้ คสช.เลือก ในขณะที่คณะกรรมการสรรหานั้น ก็เป็นคสช.ด้วย
**การวางระบบเช่นนี้ ทำให้เห็นถึงทิศทางที่ไม่ชัดเจน จนไม่สามารถมั่นใจได้ว่า การวางกติกาที่พร่ามัว จะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศได้อย่างไร
แม่น้ำสายที่สี่ คือ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 36 คน ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะมาจาก สปช. ที่ คสช. เลือก 20 คน มาจาก สนช. ที่คสช.แต่งตั้ง 5 คน มาจากครม. ที่คสช.เลือก 5 คน มาจาก คสช. อีก 5 คน โดยคสช.ยังมีบทบาทในการเสนอบุคคลที่จะเป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ด้วย
แม่น้ำสายที่ห้า คือ การคงอยู่ของคสช. ที่มีอำนาจจาก มาตรา 44 อยู่เหนืออำนาจอธิปไตยสามฝ่าย ทั้งบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ
**จะเห็นได้ว่า คสช. คือผู้ที่ “ชักแม่น้ำทั้งห้า”ซึ่งเป็นเส้นทางไปสู่การปฏิรูปประเทศ แต่หากพิเคราะห์ถึงหลักคิดจากการบริหารประเทศที่ผ่านมา ยังไม่พบว่า คสช.ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทิศทางใด เพราะในขณะที่กำหนดว่า คนที่ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง ต้องไม่เข้ารับตำแหน่งทางการเมือง แต่คสช.ตั้งคนที่ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองมาช่วยงาน ทั้ง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ วิเศษ จูภิบาล อดีตผีบ้านเลขที่ 111 ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองจากคดีทุจริตเลือกตั้ง จนมีการยุบพรรคไทยรักไทย
ในขณะที่ คสช.บอกว่า จะปฏิรูปพลังงาน กลับออกนโยบายแยกกิจการท่อก๊าซให้ ปตท.ถือหุ้น 100 % โดยไม่รอผลสรุปจากการพิจารณาของสภาปฏิรูปฯ ว่าจะมีการกำหนดทิศทางการปฏิรูปพลังงานอย่างไร อีกทั้งยังเดินหน้าที่จะขยับราคาก๊าซ และไม่มีการยกเลิกกองทุนน้ำมันที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติว่า ขัดกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นบทพิสูจน์สำคัญที่จะชี้ให้เห็นว่า คสช. มีกึ๋นมากพอที่จะเข้ามาปฏิรูปพลังงาน หรือ ว่าจะกลายเป็นแค่หุ่นเชิดจากข้าราชการระดับสูง และกลุ่มทุนพลังงานใช้อำนาจรัฐปกป้องทุนเท่านั้น
ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ ให้ดำเนินการตามมติผู้ตรวจการแผ่นดิน ด้วยการยกเลิกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2547 เรื่องกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ลงวันที่ 23 ธ.ค. 2547 หรือ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะขัดกฎหมายและทำให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคเสียประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ไม่เป็นธรรม ลงวันที่ 28 พ.ค. 2557 มาถึงวันนี้ก็เกือบสี่เดือนแล้ว แต่ คสช.ไม่ขยับทำอะไรเลย
นอกจากไม่ดำเนินการให้สถานะกองทุนน้ำมันถูกกฎหมายแล้ว ยังมีการใช้กองทุนน้ำมันที่ขัดกฎหมาย เอาเปรียบผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ผ่านการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง. 6 ครั้ง โดยล่าสุดในวันที่ 21 สิงหาคม 2557 มีมติเห็นชอบให้ปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันทั้งเบนซิน และดีเซล
**จะเห็นได้ว่าหลังจาก คสช. รับทราบมติผู้ตรวจการแผ่นดินที่ระบุว่า กองทุนน้ำมันไม่มีกฎหมายรองรับ และไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้บริโภคต้องซื้อน้ำมันในราคาที่ไม่เป็นธรรมไปแล้ว ก็ไม่ได้มีการแก้ไขปรับปรุงเพื่อดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่เคยชี้แจงต่อสาธารณะว่า หลักคิดของ คสช.ในเรื่องนี้คืออะไร
เมื่อ คสช.ไม่ขยับ ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ต้องเดินหน้าด้วยการส่งเรื่องฟ้องต่อศาลปกครอง ตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ใน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 มาตรา 14 (1) บัญญัติไว้ว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อ ศาลปกครองได้ เมื่อเห็นว่ามีกรณี กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดของบุคคลตาม มาตรา 13(1) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครองโดยไม่ชักช้า เพื่อให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัย
กรณีกองทุนน้ำมัน ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติว่าขัดกฎหมายและเสนอความเห็นให้ คสช. ดำเนินการแก้ไข แต่ผ่านมาเกือบสี่เดือน ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ต้องส่งให้ศาลปกครองพิจารณายกเลิกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2547 เรื่องกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ในขณะเดียวกันต้องร้องป.ป.ช. ให้ไต่สวนเอาผิดกับ ผู้มีอำนาจเกี่ยวข้อง ฐานละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่จนก่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนควบคู่ไปด้วย
**แต่ถ้าผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ทำ ประชาชนก็คงต้องไปยื่น ป.ป.ช. เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นการเมืองที่จ้องเอาผิดใคร แต่เป็นบทพิสูจน์การทำหน้าที่ของแต่ละฝ่าย คือ ผู้ตรวจการแผ่นดิน กับ คสช.
กำลังโหลดความคิดเห็น