xs
xsm
sm
md
lg

โยนกฤษฎีกาชี้ขาดคืนท่อ พลังงานปัดเผือกร้อน ซัดปฏิรูปพลังงานเหลว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"พลังงาน"กางปีกป้อง ปตท. คืนท่อก๊าซครบแล้ว ส่วนข้อสงสัยโยน "กฤษฎีกา" ชี้ขาดคืนครบหรือไม่ครบ "รสนา"เดินหน้าหาความชอบธรรม รุก คสช. ยุติให้ ปตท. แยกท่อตั้งบริษัทใหม่ เว้นแต่ให้รัฐถือหุ้น 100% จี้รัฐบาลใหม่ปฏิรูปพลังงานต้องแก้ผลประโยชน์ทับซ้อนของคนรัฐที่เข้าไปนั่งหน้าสลอนใน ปตท. และบริษัทในเครือ จวกทำมาแล้ว 3 เดือนยังไม่ตอบโจทย์ประชาชนเลย ทั้งปรับโครงสร้างน้ำมันลักลั่น แถมปล่อย ปตท. กินนิ่มแอลพีจี

นายคุรุจิต นาครธรรพ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ทำหนังสือถึงพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจให้ทบทวนการแบ่งแยกทรัพย์สินของ บมจ.ปตท. กรณีท่อก๊าซธรรมชาติยังไม่ครบถ้วนว่า เรื่องดังกล่าวทางกระทรวงฯ ยังไม่ได้รับหนังสือ จึงยังไม่เห็นรายละเอียด แต่ที่ผ่านมา ในฐานะที่ปตท.เป็นลูกหนี้ได้ยืนยันว่ามีการคืนท่อก๊าซฯ ให้แก่รัฐครบถ้วนตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด

"ก่อนหน้านี้ มีหนังสือจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถึงหัวหน้าคสช. กระทรวงพลังงานก็ได้มอบหมายให้หารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา คิดว่าเรื่องนี้ต้องรอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความก่อน กระทรวงพลังงานก็พร้อมที่จะให้ข้อมูลสนับสนุน เพราะการทักท้วงที่ผ่านมาไปที่คลัง ซึ่งถือเป็นเจ้าหนี้ว่ารับคืนจากลูกหนี้ครบหรือยัง เราในฐานะลูกหนี้ก็ปฏิรครบแล้ว ก็รายงานต่อศาลปกครองสูงสุดเป็นระยะตั้งแต่ ปี 2551”นายคุรุจิตกล่าว

***"รสนา"หนุนยึดท่อก๊าซคืนรัฐ

น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา และแกนนำกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย (จปพ.) กล่าวในการแถลงข่าวของกลุ่ม จปพ.วานนี้ (11ก.ย.) ว่า การที่ผู้ตรวจการแผ่นดินออกมา นับเป็นความกล้าหาญในเรื่องจริยธรรม และเป็นการเปิดเผยในช่วงจังหวะที่เหมาะสมพอดีที่กระทรวงพลังงานมีความพยายามจะแยกกิจการท่อก๊าซธรรมชาติออกมาตั้งบริษัทใหม่ ซึ่ง คสช. ควรจะรับฟังเรื่องนี้ และให้ยุติการแยกท่อก๊าซฯ ของ ปตท. ออกมาตั้งบริษัทใหม่ ยกเว้นแต่การตั้งใหม่ต้องให้เป็นรัฐถือหุ้น 100% เท่านั้น

"ดิฉันเป็นหนึ่งในผู้ฟ้องร้องเรื่องนี้ และเห็นว่า ปตท. ยังคืนท่อก๊าซฯ ไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะท่อก๊าซในทะเล และที่ผ่านมาภาคประชาชนถูกกันออกมา เพราะว่าไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์สิน เป็นเรื่องของลูกหนี้และเจ้าหนี้ คือ คลังกับปตท. แต่คลังก็ล้วนแต่มีตัวแทนไปนั่งอยู่ในบอร์ด ปตท. คนเหล่านี้ไม่ได้รักษาผลประโยชน์ของชาติ สาระสำคัญที่สุดจะต้องให้ สตง. รับรองความถูกต้องในการแยกท่อก๊าซฯ เสียก่อน แต่กระทรวงพลังงาน คลัง ปตท. ได้กัน สตง. ออกจากสารบบ ทำให้ยืดเยื้อมาตั้งแต่ 2551"น.ส.รสนากล่าว

***ชี้คนรัฐนั่งบอร์ดปตท.จะปฏิรูปได้ยังไง

น.ส.รสนากล่าวว่า ต้องการฝากรัฐบาลใหม่ว่าการปฏิรูปพลังงานจะต้องดูทั้งระบบ เพราะหากออกแบบดีเพียงใด แต่คนกำกับดูแลยังมีผลประโยชน์ทับซ้อน ก็ไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชน เนื่องจากปัจจุบันข้าราชการกระทรวงพลังงาน ในฐานะกำกับดูแลพลังงานตั้งแต่ระดับปลัดไปจนถึงราชการประจำอื่นๆ ต่างก็ไปนั่งอยู่ในบอร์ด บมจ.ปตท. และบริษัทในเครือ ทำให้กระบวนการกำกับดูแลที่จะให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชน จึงเกิดขึ้นได้ยาก

“เราต้องเริ่มตั้งแต่คิดว่าพลังงานจะปฏิรูปเพื่ออะไร ถ้าเพื่อประชาชน พลังงานก็ควรเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน หรือจะให้เป็นสินค้าที่ต้องการสร้างกำไร แต่หากโครงการการดูแลผลประโยชน์ มีผลประโยชน์ทับซ้อน การรักษาประโยชน์ประชาชนหรือภาษีของรัฐบาล ก็จะกลายเป็นการรักษาผลกำไรให้เอกชนแทน ซึ่งประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน ได้เสนอมาทุกรัฐบาลทุกสมัยเป็นเวลา 10 ปี แต่ก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง”น.ส.รสนากล่าว

อย่างไรก็ตาม กรณีล่าสุด มติคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้ปฏิรูปโครงสร้างราคาพลังงานและทำให้ราคากลุ่มเบนซินลดลงมานั้น เห็นว่าไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมา เคยเสนอพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง หัวหน้าเศรษฐกิจของ คสช. ตั้งแต่เดือนมิ.ย.2557 ว่า ควรปรับปรุงด้วยการปรับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าการตลาดและเนื้อน้ำมัน แต่กลับกลายเป็นมติล่าสุดไปลดภาษีสรรพสามิตและเทศบาลลงด้วย

***จวกไม่แตะแอลพีจีปิโตรเคมีอุ้ม”ปตท.”

นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาเกษตรศาสตร์ และกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย กล่าวว่า ได้จับตาปฏิรูปพลังงานของภาครัฐมาหลายครั้ง ตั้งแต่เดือนมิ.ย.2557 ได้หารือในเวทีร่วมกับ คสช. ฝ่ายเศรษฐกิจ จนวันนี้ก็ยังไม่เห็นความชัดเจนถึงโครงสร้างราคาพลังงานที่จะปฏิรูปเป็นอย่างไร ยกเว้นมติ กบง. ล่าสุดที่ทำให้ราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินลงมา ซึ่งรัฐไม่ควรจะเพิ่มเงินเก็บเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของดีเซล 0.14 บาทต่อลิตร เนื่องจากยิ่งทำให้การบิดเบือนราคายังดำรงอยู่ต่อไป เพื่อให้มีเงินเข้าสู่กองทุนฯ มากขึ้น กลายเป็นภาระที่ต้องไปอุ้มส่วนของก๊าซหุงต้ม

ขณะเดียวกันรัฐควรกำกับดูแลค่าการตลาดน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจาก 1.45 บาทต่อลิตร ในวันที่ 29ส.ค.ที่ผ่านมา แต่วันนี้ค่าการตลาดดีเซลสูงไปแตะ 2 บาทต่อลิตร ซึ่งจะเห็นว่าหากไม่เพิ่มการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ก็ยังได้ แถมยังลดราคาลงมาได้อีกด้วยดังนั้น ควรจะกำหนดเรื่องค่าการตลาดน้ำมันของผู้ค้าและปั๊มน้ำมันที่ได้รับให้ชัดเจน

นอกจากนี้ รัฐควรเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันจากกลุ่มปิโตรเคมี 3 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อให้เท่ากับราคาแอลพีภาคครัวเรือน ก็จะได้เงิน 7,800 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ภาระหนี้ของกองทุนน้ำมันหมดภายในเวลาน้อยกว่า 1 ปี และที่สำคัญต้องฝากให้รัฐบาลกำกับดูแลราคาก๊าซหุงต้มหน้าโรงแยกก๊าซ โรงกลั่น และนำเข้าด้วย ซึ่งจะเห็นว่าราคาแอลพีจีภาคปิโตรเคมี ไม่มีการเปิดเผยในเว็บต์ไซต์ของกระทรวงพลังงานเป็นรายวันเหมือนกับราคาแอลพีจีภาคอื่นๆ

***ปฏิรูปพลังงาน3เดือนไม่ตอบโจทย์

นางบุญยืน ศิริธรรม กลุ่มจับตาปฏิรูปพลังานไทย กล่าวว่า ไม่ต้องการให้รัฐปรับโครงสร้างราคาพลังงานเหมือนเล่นผีถ้วยแก้วปรับลดน้ำมันเบนซินแต่ไปขึ้นดีเซล หลอกล่อเสมือนว่าลดราคาให้ประชาชน แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยพูดถึง คือ การปรับราคาแอลพีจีภาคปิโตรเคมี และไม่เคยชี้แจงต้นทุนที่แท้จริงได้ ซึ่งที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีขอให้เชื่อมั่นและการปฏิรูปพลังงานเป็นเรื่องแรกๆ ที่ขอให้ดูความชัดเจน แต่ 3 เดือนที่ผ่านมา วันนี้การปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ก็ยังไม่ชัดเจน แล้วเราจะเชื่อมั่นเรื่องอื่นๆ ได้อย่างไรว่าจะโปร่งใสได้

"กระทรวงพลังงานได้แต่บอกว่าจะต้องปรับขึ้นราคาแอลพีจีและเอ็นจีวี แต่กลับไม่ได้ระบุเลยว่าโครงสร้างจริงๆ จะเป็นอย่างไร การขึ้นแอลพีจีให้เท่ากัน เราก็เห็นด้วยว่าควรเป็นราคาเดียว แต่นั่นหมายถึงราคาของปิโตรเคมีด้วยหรือไม่ ทำไมราคาแอลพีจีที่ขายปิโตรเคมีให้กับเครือซิเมนต์ไทยแพงกว่าปตท."นางบุญยืนกล่าว

***ฝากพลังงานเปิดเผยราคาแอลพีจี

นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์ สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย กล่าวว่า ราคาแอลพีจีภาคปิโตรเคมีไม่มีการเปิดเผยเป็นรายวันเหมือนกับภาคอื่นๆ สิ่งนี้ต้องฝากไปยังกระทรวงพลังงาน และการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของแอลพีจีปิโตรเคมีก็มีเพียง 1 บาทต่อลิตร ต่ำกว่าภาคอื่นๆ อย่างมาก และเวทีถามตอบพลังงานล่าสุด ก็ย้ำให้เห็นว่าเครือ ปตท. ซื้อแอลพีจีในราคาเพียง 19 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งถูกกว่าภาคประชาชน และยังฝากไปยังกระทรวงพลังงานให้ชี้แจงต้นทุนเฉลี่ยของแลพีจีที่ระบุวันที่ 10 ก.ย.ว่าราคาอยู่ที่ 19.99 บาทต่อกก.นั้น คิดและคำนวณมาจากส่วนไหน
กำลังโหลดความคิดเห็น