xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เวทีเสวนาพลังงานล่ม ใครได้ประโยชน์ที่แท้จริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การจัดเสวนา “การปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนในอนาคต” ที่สโมสรทหารบก เมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา อาจเรียกว่าเป็นประวัติศาสตร์ของการปฏิรูปพลังงานอีกครั้ง เพราะงานนี้มีทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน กระทรวงพลังงาน และภาคเอกชน ตบเท้าเข้าร่วมคับคั่ง ดูๆ ไปแล้วน่าจะเป็นสัญญาณการปฏิรูปพลังงานที่ดี แต่หลังเสวนาไปได้แค่ครึ่งวัน ก็ต้องบอกว่างานนี้ล้มแทบไม่เป็นท่า !

สาเหตุที่บอกว่าการเสวนาล่ม ไม่ประสบความสำเร็จ เกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน

ประการที่หนึ่ง ผู้ที่ร่วมเสวนาครั้งนี้ ไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจน มีการเบี่ยงเบนไปมา สร้างความสับสนให้แก่คนฟัง ทั้งยังมีการใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสมบนเวที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” ประธานคณะกรรมการ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)

ความวุ่นวายเกิดขึ้นเมื่อนายวีระ สมความคิด ได้นำรายงานของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในการตรวจสอบประเมินผลการใช้เงินกองทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ที่นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่น นำเงินไปจ่ายค่าล่วงเวลาให้กับลูกจ้างประจำ ซื้อรถยนต์ราคาแพง จึงเห็นว่าควรยกเลิกกองทุนอนุรักษ์พลังงานเพื่อทำให้ราคาน้ำมันลดลง ส่งผลให้นายปิยสวัสดิ์ ไม่พอใจ โดยกล่าวว่าถ้าคิดว่าใครทำผิดก็ควรไปฟ้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ดำเนินการได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นใคร ไม่ควรมาเห่าหอนข้างนอก ทำให้ผู้ฟังการเสวนาไม่พอใจที่นายปิยสวัสดิ์ใช้คำพูดบนเวทีที่ไม่เหมาะสม หลวงปู่พุทธะอิสระจึงขอให้ถอนคำพูด แต่นายปิยสวัสดิ์ก็ยังเฉไฉ ย้อนถามว่า “ผมหมายถึงใคร” จนหลวงปู่พุทธะอิสระ กล่าวย้ำให้ถอนคำพูด นายปิยสวัสดิ์ จึงถอนคำพูดอย่างเสียไม่ได้

เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นวุฒิภาวะของนายปิยสวัสดิ์ว่ามีมากน้อยเพียงใด จนถึงกับกล้าใช้คำแดกดันคนอื่นว่า “เห่าหอน” ดีแค่ไหนแล้วที่ภาคประชาชนหรือนายวีระ ไม่ได้ตอกกลับว่า “จำเป็นเห่าหอนเพราะรู้ว่าพูดอยู่กับใคร !”

นอกจากนั้น เมื่อฝ่ายภาคประชาชนพยายามถามว่ามีการคืนท่อก๊าซฯ ครบจริงหรือไม่ มีการสร้างท่อก๊าซฯ เพิ่มจริงหรือเปล่า โดยขอให้เปิดเผยข้อมูลว่าสร้างท่อก๊าซฯ เพิ่มจำนวนเท่าไหร่กันแน่ นายปิยสวัสดิ์ กลับพยายามเบี่ยงเบนไม่ยอมตอบคำถามนี้ โดยบอกว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลสาธารณะ หากใครอยากทราบก็ให้ไปหาข้อมูลเอาเอง ลีลาการตอบแบบแดกดันและไล่ให้อีกฝ่ายไปหาข้อมูลเอาเองแบบนี้ มีให้เห็นตลอดการเสวนา

อีกคำถามที่เห็นได้ชัดว่านายปิยสวัสดิ์และพวกพ้องไม่สามารถตอบคำถามได้คือ เมื่อหลวงปู่พุทธะอิสระ ตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดต้องมีการให้สัมปทาน ในเมื่อประเทศไทยทรัพยากรมีน้อย ทำไมเราถึงไม่เก็บพลังงานเหล่านี้ไว้ให้ลูกหลาน เหตุใดจึงต้องไปแคร์ผู้รับสัมปทาน ทำไมต้องกลัวเขาไม่มาลงทุนด้วย

ปรากฏว่าคำถามนี้เล่นเอานายปิยสวัสดิ์ ถึงกับออกอาการตอบไม่ถูก ตอบสับสนวกวนไปมา จนหลวงปู่ต้องถามซ้ำในคำถามเดิมหลายครั้ง สร้างความขบขันให้แก่ผู้ร่วมฟังเสวนา เมื่อเห็นว่านายปิยสวัสดิ์พยายามตอบแบบ “แถ” ไปมา ชนิดที่ฟังแล้วก็ยังไม่เข้าใจว่าต้องการสื่ออะไรกันแน่ กระทั่งตอนหลังนายปิยสวัสดิ์จึงอ้างว่าถ้าเก็บไว้นานจะไม่มีค่าเพราะมีพลังงานอื่นมาแทน เมื่อหลวงปู่พุทธะอิสระตั้งคำถามต่อว่าในเมื่อก๊าซมีค่าอย่างนี้ ทำไมเราไม่เก็บไว้ให้ลูกหลาน ก่อนจะโยนคำถามต่อไปให้แก่ผู้เข้าร่วมฟังเสวนาทั้งหมดว่า “อยากเก็บพลังงานไว้ หรือจะซื้อนำเข้า” ซึ่งปรากฎว่าผู้เข้าฟังร่วมเสวนาส่วนใหญ่ตอบกลับมาว่าต้องการเก็บไว้

เมื่อเห็นทิศทางเสวนาแสดงว่าคนเริ่มเห็นต่าง “นายคุรุจิต นาครทรรพ” อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จึงรีบชี้แจงทันทีว่าการเก็บพลังงานเอาไว้โดยไม่ใช้ จะทำให้ต้องจ่ายเงินซื้อน้ำมันแพงขึ้น ราคาไฟแพงขึ้น ประชาชนพร้อมจะจ่ายค่าไฟแพงขึ้นหรือไม่ คำถามนี้ดูเหมือนจะทั้งบอกและ “ขู่” แบบกลายๆ ว่าการเก็บพลังงานไว้ จะทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้น แต่ดูเหมือนว่าประชาชนหรือผู้เข้าร่วมฟังเสวนาจะยินยอมพร้อมใจจ่ายค่าไฟราคาแพงขึ้น เพราะเสียงส่วนใหญ่ตอบกลับหลวงปู่ว่า “ยอมจ่าย”

ส่วนคำถามที่เรียกว่าเป็นหมัดเด็ดที่ภาคประชาชนทำให้นายปิยสวัสดิ์ ถึงกับหมดท่าและเผยธาตุแท้ตัวเองแบบล่อนจ้อน เมื่อ “ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี “ ได้ตั้งคำถามกับนายปิยสวัสดิ์ ในช่วงบ่ายของการเสวนาว่า

“มีการบอกว่ามาตรา 23 บอกว่าปิโตรเลียมเป็นของรัฐ แต่ไม่ได้พูดถึงมาตรา 56 ที่บอกว่า “ผู้รับสัมปทานมีสิทธิ์ขายปิโตรเลียม ดังนั้นแสดงว่าปิโตรเลียมเป็นของเอกชนใช่หรือไม่”

คำถามนี้สร้างความฮือฮาถูกใจผู้ฟัง และเล่นเอานายปิยสวัสดิ์ เสียรังวัด ตอบไม่ตรงคำถาม โดยไม่ยอมตอบแบบชี้ชัดว่าปิโตรเลียมเป็นของเอกชนหรือไม่ ครั้นพอถูก ม.ล.กรกสิวัฒน์ ซักหนักเข้าอีกว่า “ ปิโตรเลียมเป็นของเอกชนใช่ไหม” นายปิยสวัสดิ์ จึงตอบแบบเลี่ยงๆ ทำนองว่ากฎหมายว่าอย่างไรก็หมายถึงอย่างนั้นแหละ ม.ล.กรกสิวัฒน์ จึงได้ทีสรุปว่า “แสดงว่ากรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมเป็นของเอกชน ไม่ใช่ของชาติ” นับว่าเป็นคำถามที่ปล่อยหมัดฮุก จนนายปิยสวัสดิ์ถึงกับจุกไปไม่น้อยทีเดียว

คำถามนี้อาจเป็นหนึ่งในหลายคำถามที่ไม่ได้รับคำตอบชัดเจน เช่นเดียวกับที่หลวงปู่พุทธะอิสระได้พยายามตั้งคำถามไว้ในช่วงหนึ่งของการเสวนาครั้งนี้ว่า เหตุใดเราต้องไปดูผลประโยชน์พลอยได้อื่นๆ จากระบบสัมปทาน เช่น เรื่องการสร้างงาน หรือเรื่องอื่นๆ แต่ทำไมไม่มาดูผลประโยชน์ตรงๆ ที่จะได้รับจากการไม่ใช้ระบบสัมปทาน และระบบแบ่งปันผลผลิตจะทำให้ประเทศได้ผลประโยชน์มากกว่าหรือเปล่า ทำไมจึงไม่มีการบริหารทรัพย์สินของรัฐให้ได้ผลประโยชน์เพิ่มขึ้น และเป็นไปได้ไหมที่จะมีการเปลี่ยนจากระบบสัมปทานมาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต

ในขณะที่นายปิยสวัสดิ์ ได้พยายามตอบแบบข้างๆ คูๆ ว่า หลวงปู่พูดแบบนี้ ต้องการให้ฉีกสัญญาสัมปทานทิ้งใช่ไหม ทำให้หลวงปู่อิสระ ตั้งข้อสงสัยตามมาอีกว่า ทำไมจึงต้องไปแคร์ผู้ให้สัมปทานด้วย เราน่าจะเป็นฝ่ายตั้งกติกาว่าจะแบ่งผลประโยชน์อย่างไรก็ได้ไม่เหรอ แต่นายปิยสวัสดิ์ ได้พยายามตอบว่า อยู่ดีๆ เราจะไปเพิ่มกติกาไมได้ ไม่งั้นก็คงจะไม่มีใครมาสำรวจปิโตรเลียม

เรื่องนี้จึงกลายเป็นประเด็นขึ้นมาว่า เหตุใดนายปิยสวัสดิ์ จึงต้องไปห่วงใย “ผู้ได้รับสัมปทาน” มากกว่าห่วงใย “ชาติ” หรือ “ประชาชน” ที่เป็นเจ้าของทรัพยากรที่แท้จริง เพราะเห็นชัดๆ กันอยู่ว่าผลประโยชน์ปิโตรเลียมตกเป็นของเอกชนที่ได้รับสัมปทาน ไม่ใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของประเทศชาติ

ในเมื่อนายปิยสวัสดิ์ ยังไม่ชัดเจนและจริงใจในการตอบคำถาม ทำให้ประชาชนยังกังขาสงสัย การเสวนาครั้งนี้จึงเรียกได้ว่าล่มปิ๋วแบบไม่เป็นท่า หากจะมีข้อดีอยู่บ้าง ก็คือเรื่องที่เราได้เห็นว่า “ธาตุแท้ของคน” ว่าเป็นอย่างไรกันแน่ โดยเฉพาะนายปิยสวัสดิ์ที่อ้าปากเมื่อไหร่ก็เห็นลิ้นไก่เมื่อนั้น!

ประการที่สอง สาเหตุที่ทำให้การเสวนาครั้งนี้ล้มเหลว คือ ภาคประชาชนไม่ได้มีโอกาสชี้แจ้งเท่าที่ควร เพราะเมื่อมีโอกาสชี้แจง ก็มักจะถูกหลวงปู่พุทธะอิสระ เบรกว่าถ้าไม่ได้เป็นเรื่องที่ทำให้ค่าน้ำมันถูกลง ก็อย่าพูดดีกว่า ทำให้ภาคประชาชนซึ่งนำโดย นายวีระ สมความคิด ,นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, น.ส.รสนา โตสิตระกูล , นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษ์ษา,พ.ต.รัฐเขต แจ้งจำรัส,นายรุ่งชัย จันทสิงห์ ,ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี และพ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ออกอาการไม่พอใจ จนท้ายที่สุดต้องออกมาแถลงข่าวนอกห้องเสวนา โดยบอกว่ารู้สึกผิดหวังที่การเสวนาครั้งนี้ไม่ใช่เวทีที่จะให้ข้อมูลต่อประชาชนอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ นายวีระได้ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว “ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์” ว่า

“การเสวนาครั้งนี้ ผมยังไม่พอใจ เพราะยังไม่ได้อย่างที่ภาคประชาชนหวัง เราหวังว่าเวทีนี้จะเกิดประโยชน์อย่างแท้จริงให้แก่ภาคประชาชน มีข้อเท็จจริงจำนวนมากที่ยังไม่ถูกนำเสนอ เราก็อยากพูดให้ประชาชนตัดสินใจ แต่เราก็ไม่สามารถจะทำได้ เพราะทางหลวงปู่ฯ ผู้ดำเนินรายการ ท่านจะเป็นคนตัดสินใจเองว่าเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้อง ถ้าท่านจะมาพูดแต่ว่า สิ่งคุณถามมาเนี่ยน้ำมันจะลดลงเหรอ? ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร? ฟังยังไม่ทันจบเลย

“ฟังเราพูดให้จบก่อนสิครับ มันจะได้หรือไม่ได้ ขอแค่ฟังให้จบก่อน แล้วอย่างที่เห็นคุณปานเทพ ยังไม่ทันถาม แกจะโยนคำถามมาให้ผม ทางคุณปิยะสวัสดิ์ ก็ชิงตอบแล้ว และพยายามจะบิด พยายามวางแนวคำตอบที่จะทำให้ประชาชนเกิดความสับสน” นายวีระกล่าว

เชื่อว่าตอนนี้ คงถึงเวลาที่สังคมไทยควรจะตั้งคำถามว่าพลังงานนี้เป็นของใครกันแน่ ถึงเวลาหรือยังที่หน่วยงานรัฐต่างๆ จะลุกขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ของชาติและประชาชน เหมือนดังที่นายวีระ สมความคิด ได้กล่าวกับทีมข่าว “ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์” ว่า “เราคงไม่ยอมที่จะให้ใครมาฉกฉวยผลประโยชน์เอาไปใช้แต่เพียงกลุ่มเดียว และเรื่องนี้เป็นเรื่องผลประโยชน์ ซึ่งคงต้องต่อสู้กันในระดับชาติ เชื่อว่าสุดท้ายแล้วก็ไม่มีใครยอมกันหรอกครับ”

ในขณะที่ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ได้กล่าวกับทีมข่าว “ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์” ว่า อยากให้ประชาชนตื่นตัวในเรื่องของการปฏิรูปพลังงานมากขึ้น

“ถ้าคุณตื่นแล้ว คุณจะไม่หลับอีกต่อไป แล้วคุณจะไปปลุกคนอื่นต่ออีก ดังนั้นปริมาณคนที่ตื่นจะเพิ่มมากขึ้นๆ ผมหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงโดยสงบ แต่การเปลี่ยนแปลงโดยสงบนั้นใครเป็นคนเลือก กลุ่มทุนและรัฐเป็นคนเลือก ประชาชนเลือกอะไรไม่ได้ เพราะประชาชนเป็นเหมือนถูกบีบบังคับ

“ผมอยากให้ประเทศเรามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นเข็มทิศในการกำหนดทิศทางใดๆ ซึ่งสิ่งที่ผมอยากเห็น คือคำว่าประชาชนคือเจ้าของปิโตรเลียม เจ้าของทรัพยากรในประเทศไทย ประชาชนมีส่วนร่วมทั้งร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแบ่งผลประโยชน์ นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่ามันควรจะถูกตระหนักในกฎหมาย มากกว่าให้ประชาชนมาเรียกร้อง” ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าว

นี่คือสิ่งที่ผู้นำภาคประชาชนต้องการบอกและต้องการแก้ไข น่าเสียดายว่าเวทีเสวนาครั้งนี้ไม่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้พูดอย่างที่คิด ไม่มีโอกาสอธิบายข้อเท็จจริงให้แก่ประชาชนฟัง

เชื่อว่าหากประชาชนได้รับทราบ “ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง” ก็คงจะ “ตื่นรู้” และ “ไม่หลับใหล” อีกต่อไป โดยเฉพาะคำถามที่ว่าใครกันแน่ที่เป็นเจ้าของทรัพยากรที่แท้จริง และถึงเวลาหรือยังที่เราจะลุกขึ้นมาปฏิรูปพลังงาน โดยทำให้ประชาชนได้เป็นเจ้าของทรัพยากรที่แท้จริง ไม่ใช่เป็นของเอกชนเหมือนดังเช่นที่เป็นอยู่!



กำลังโหลดความคิดเห็น