"รสนา"แกนนำกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย ขู่กลับมาชุมนุมอีกครั้ง หากรัฐบาลยังดันทุรังเดินหน้าสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 หวังประเคนขุมทรัพย์ให้กลุ่มทุนพลังงาน จวกนโยบายเดินตามก้นระบอบแม้ว หมกเม็ดเปิดแปลงสัมปทานใหม่พื้นที่ใกล้กัมพูชาเสมือนให้ยอมรับเส้นแบ่งเขตแดนพื้นที่พิพาท ด้านมล.กรกสิวัฒน์ เผยรายได้สัมปทานตลอด 32 ปี มูลค่ารวมกว่า 3 ล้านล้านบาท จ่ายให้รัฐแค่ 10% แนะครม. ถ้าไม่ทราบรายละเอียดสัมปทาน ไม่ควรเปิดประมูล "อภิสิทธิ์"เตือนลอยตัวราคาพลังงานอิงตลาดโลกฉุดกำลังซื้อประชาชน ยิ่งทำเศรษฐกิจทรุด
น.ส.รสนา โตสิตระกูล แกนนำกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย และ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เปิดแถลงข่าวถึงกรณีที่รัฐบาลกำลังเร่งเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 หลังคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) รับทราบการดำเนินงานภายใต้กรอบที่กระทรวงพลังงานเสนอว่า การเปิดสัมปทานฯครั้งนี้เป็นการเร่งรีบโดยไม่ยอมรอสภาการปฏิรูปดำเนินการพิจารณาจุดนี้ก่อนซึ่งเห็นว่าระบบสัมปทานเป็นการยกพื้นที่ให้กับกลุ่มทุนพลังงานขนาดใหญ่ทั้งในและต่างชาติดังนั้นจึงควรจะหยุดการเปิดสัมปทานดังกล่าวไว้ก่อน
“ รัฐบาลทหารเวลานี้ที่ทำรัฐประหารมาควรจะแก้ไขเรื่องนี้ให้ถูกก่อน แต่ไม่ควรจะเดินตามแนวทางกลุ่มทุนการเมืองในอดีต เป็นสิ่งที่ทำให้ชาติเสียประโยชน์และอธิปไตยของแผ่นดินเราไม่เห็นด้วยที่จะรีบร้อนให้สัมปทาน ขณะที่ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงและขัดแย้ง รัฐประหารมาแก้ไขปัญหาความสงบไม่ใช่เรื่องตัดสินสัมปทาน”น.ส.รสนากล่าว
นอกจากนี้ การเปิดสัมปทานรอบที่ 21 นี้มีการเพิ่มแปลงสำรวจที่เพิ่มขึ้นมาโดยเฉพาะแปลงใหม่ 1/57 ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่ที่เป็นข้อพิพาทกับไทย- กัมพูชาซึ่งของเดิมไม่มี และแหล่งใหม่ยังใกล้แหล่งนงเยาว์ และจัสมิน ซึ่งเป็นของบริษัทมูบาดาลา ปิโตรเลียม เครือของมูบาดาลาสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือ UAE ซึ่งเป็นแหล่งที่ผลิตน้ำมันดิบ
การให้พื้นที่นี้เกาะติดกับพื้นที่ใกล้เคียงกับมูบาดาลา จึงขอตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นการยอมรับพื้นที่พิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาหรือไม่ เพื่อที่จะได้นำไปเจรจากับกัมพูชา
“เส้นที่เป็นไหล่ทวีปที่กัมพูชาตีมาเลาะเกาะกูด เส้นที่ไทยตีมาปี 2526 เป็นเส้นมัธยฐานระหว่างเกาะกูดกับเกาะกง ว่าเป็นของไทย แต่เป็นประเด็นที่ยังไม่ได้แก้ไขแต่การเปิดสัมปทานตรงนี้เท่ากับการที่เราจะยอมรับพื้นที่พิพาทไม่ใช่เป็นพื้นที่ทับซ้อนเป็นการวางหมากทำให้ไทยยอมรับเส้นแบ่งเขตตรงนี้ใช่หรือไม่ และจงใจให้กับกลุ่มเก่าได้รับประโยชน์ตรงนี้หรือไม่ เราบอกเรามีของน้อย แต่บริษัทระดับใหญ่ๆ ทั้ง มูบาดาลา เชฟรอน เข้ามาสำรวจและผลิตทั้งนั้น “น.ส.รสนากล่าว
การเปิดสัมปทานรัฐได้อ้างถึงแหล่งปิโตรเลียมจะหมดภายใน 8 ปีหากไม่สำรวจเพิ่ม เป็นการจงใจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดทั้งที่จริงเป็นเรื่องของแหล่งสัมปทานเดิมคือแหล่งเอราวัณ ของเชฟรอน และแหล่งบงกช ของบมจ.ปตท.สผ.จะหมดอายุลงในปี 2565-2566 ซึ่งทั้ง 2แหล่งนี้เป็นแหล่งผลิตก๊าซของไทยแหล่งใหญ่ต้องกลับมาเป็นของไทย แต่การเปิดสัมปทานรอบที่ 21 มีการให้แปลงพื้นที่ต่างๆอยู่รอบพื้นที่เอราวัณและบงกช จึงตั้งงข้อสังเกตว่าเป็นการเอื้อให้รายเดิมเข้ามาหรือการวางหมากเพื่อแก้ไขกฏหมายเพื่อต่ออายุสัญญาให้แหล่งเดิมหรือไม่
นอกจากนี้ แปลงที่เปิดให้เอกชนมายื่นสำรวจ 29 แปลงส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน ซึ่งสหรัฐอเมริกาตรวจสอบพบว่าส่วนใหญ่เป็นก๊าซธรรมชาติจากหินดินดานหรือ เชลล์แก๊ส (Shale Gas) ซึ่งกระบวนการผลิตจะมีการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ออกมา จะกระทบต่อชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรม
นายประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน กล่าวว่า จุดยืนของกลุ่มฯชัดเจนว่าจะเคลื่อนไหวหากรัฐบาลยังไม่ยอมหยุด หรือชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เพื่อนำมาแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียมปี 2514 เพื่อให้ประชาชนคนไทยเข้าถึงแหล่งทรัพยากรของชาติอย่างแท้จริง ไม่ใช่ไปตกอยู่กับกลุ่มทุนพลังงาน ดังนั้นแม้ว่าจะมีกฏอัยการศึก แต่จงอย่านำมาใช้กับประชาชนแบบผิดๆ เพราะหลักการควรนำไปใช้กับคนที่ทำลายความมั่นคงของชาติแต่กลุ่มฯเคลื่อนไหวกำลังทวงเอาอธิปไตยด้านพลังงานของชาติกลับมา
“ระบบสัมปทานเราไม่มีกรรมสิทธิ์ในการจัดการปัญหาหลายอย่างจะตามมาเช่น อธิปไตย กลุ่มขาหุ้นได้ตามเรื่งอนี้สัมปทานปิโตรเลียมรอบนี้เป็นการยกอธิบปไตยให้กับกลุ่มทุนพลังงาน เราเห็นตรงกันว่าการเปิดสัมปทานรอบนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นจนกว่าจะแก้ไขกฏหมายสาระสำคัญคือการจัดสรรพลังงานให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน”นายประสิทธิชัยกล่าว
น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคและกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทยกล่าวว่า ที่ผ่านมามีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเก่าซึ่งประเด็นหนึ่งว่าด้วยการปฏิรูปพลังงาน แต่เมื่อรัฐบาลทหารเข้ามาอะไรที่เคยสัญญากันไว้ ทำไมไม่ทำ การเร่งเปิดสัมปทานฯเป็นการคืนความสุขให้ใคร เวลานี้คุณด่ารัฐบาลเก่าไว้อย่างไรไม่ว่าจะเป็นการขึ้นราคาแอลพีจี
การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 วันนี้คุณเดินตามก้นของรัฐบาลเก่าจนหมดสิ้น ถ้ายังดื้อดึงไม่รอการปฏิรูปพลังงานก่อนจะเห็นการชุมนุมกลับมาอีกซึ่งครั้งนี้เป็นระหว่างทหารกับคนที่รักชาติ
“ คุณประยุทธ์พูดว่าจะไม่เดินตามทุนนิยมหรือประชานิยม แต่ตอนนี้คุณเดินตามราชการนิยมและนายทุนนิยม ไม่มีหูฟังชาวบ้านเลยนั่งทับอะไรอยู่ พลังงานมีการคอร์ปรัหชั่นทำไมไม่จัดการ เราจะว่าทหารว่าดีแต่พูดไหนว่าจะจัดการคอร์รัปชั่นนอกจากจัดการแม่ค้าแล้วคืออะไร”น.ส.บุญยืนกล่าว
นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า อีกประเด็นสำคัญที่ต้องการทวงถามจากรัฐบาลคือ การส่งสัญญาณในการปรับขึ้นราคาแอลพีจี(ก๊าซหุงต้ม)เป็นแบบขั้นบันได ซึ่งขณะนี้ราคาแอลพีจีขนส่งและครัวเรือนได้ปรับขึ้นมาให้เท่ากันที่ 22.63 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) ขณะที่อุตสาหกรรมอยู่ที่ ประมาณ 29 บาทต่อ กก.
ขณะที่รัฐมีการเปิดตัวเลขว่าอาจจะมีการขึ้นไปสู่ราคาเดียวกันที่ 27-28 บาทต่อกก. โดยแอลพีจีขนส่งและครัวเรือนคงจะขึ้นแต่อุตสาหกรรมอาจลดลงมา แต่ภาคที่รัฐไม่เคยพูดถึงเลยคือ ปิโตรเคมีทั้งที่เป็นรายใหญ่สุดที่ใช้แอลพีจี
** จี้รัฐเปิดเผยโปร่งใสก่อนเปิดสัปมทาน 21
ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระด้านนโยบายพลังงาน กล่าวกับ ASTVผู้จัดการ ว่า การเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ควรจะต้องมีการเปิดเผยให้โปร่งใสก่อน ขณะเดียวกันสิ่งที่ประชาชนเจ้าของทรัพยากรควรจะต้องได้รู้ ก็คือ การให้สัมปทานปิโตรเลียมไทยว่าสัญญาสัมปทานเป็นอย่างไร ใครจ่ายเท่าไร หรือรายได้รายจ่ายแต่ละแปลงสัมปทานที่จะตกถึงมือรัฐเท่าไร ถ้าคณะรัฐมนตรียังไม่ทราบรายละเอียดตรงนี้ก็ไม่ควรอนุมัติให้เปิดสัมปทานรอบ 21
ที่ผ่านมา ฝ่ายรัฐหรือผู้มีอำนาจไม่เคยได้นำข้อมูลมาบอกกล่าวประชาชน การเปิดสัมปทาน 20 รอบก็อยู่ในลักษณะนี้มาตลอด ตัวเลขที่นำมากล่าวอ้างว่า รัฐได้ร้อยละ 70 ไม่มีใครรู้นอกจากผู้รับสัมปทานและเจ้าหน้าที่รัฐบางคนเท่านั้น โดยความเป็นจริงแล้ว ต้องมีการเปิดเผยแบบกรณีการประมูลคลื่นความถี่ 3จี ดังนั้น การจัดการรายได้จากทรัพยากรจึงต้องเปิดเผย โปร่งใส และการจัดสรรทรัพยากรต้องตั้งอยู่บนหลักที่เป็นธรรม
ส่วนกรณีที่ระบุว่าเชฟรอนช่วยสนับสนุนการจ้างงานในประเทศไทยกว่า 2 แสนตำแหน่ง และก่อให้เกิดรายได้แก่รัฐบาลไทยรวมแล้วกว่า 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ราว 3 แสนล้านบาท ในช่วง 32 ปีที่ผ่านมานั้น ในความเป็นจริงแล้ว ค่าภาคหลวง ค่าภาษีของรายได้ปิโตรเลียมไทยที่ผู้รับสัมปทานควรได้รับคือ 3 ล้านล้านบาท เพราะแค่สัมปทานแหล่งปลาทองแหล่งเดียวก็มีมูลค่าถึง 4 หมื่นล้านบาทต่อปี เข้าไปแล้ว
ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวต่อว่า การที่ได้เห็นนางคริตตี้ เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯและคณะทูต ลงสำรวจพื้นแท่นผลิตปิโตรเลียมของเชฟรอนฯ ณ ฐานผลิตปลาทอง ชายฝั่งทะเลจ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่่ผ่านมานั้น หากพลังงานไทยมีน้อยจนไม่คุ้มค่าลงทุน ถ้าไม่ได้รายได้ที่มากพอ ก็คงจะไม่ลงทุนมาเดินสำรวจพื้นที่ขนาดนี้ เท่าที่จำได้ยังไม่มีทูตท่านไหนไปแท่นขุดเจาะพลังงานในอ่าวไทยสักคนเดียว ขณะที่มีข้อมูลออกมาบ่อยครั้งว่า น้ำมันจะหมดจากประเทศไทยในอีก 7-8 ปี แต่ทำไมถึงอยากมาลงทุนกับแหล่งน้ำมันในประเทศไทยกันมากขนาดนั้น ซึ่งมันสวนทางกัน
ทั้งนี้ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจ และผลิต จำกัด เป็นผู้รับสัมปทานแหล่งเอราวัณ, ปลาทอง และแหล่งสตูล
“การปฏิรูปพลังงาน ไม่ใช่การยุติการขุดก๊าซขุดน้ำมัน ไม่ใช่การยึดกิจการที่ต่างชาติเข้ามาลงทุน แต่เป็นการปฏิรูปให้เกิดความโปร่งใสเป็นธรรมต่อประชาชนเจ้าของประเทศ โดยหาจุดสมดุลที่จะได้ประโยชน์ร่วมกันของชาติ ประชาชน และเอกชน” ม.ล.กรกสิวัฒน์ระบุ
*** มาร์ค"ค้านมาตรการลอยตัวก๊าซ
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความไม่สบายใจต่อการแก้ปัญหาราคาก๊าซของรัฐบาล ที่ให้มีการลอยตัวตามกลไก เพราะ มาตรการดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพสูงสุดนั้น คือ ต้องมีการแข่งขัน แต่การจะดูแลผลประโยชน์ของประชาชนในบางเรื่อง ไม่ใช่เป็นการเรียกร้องให้รัฐบาลเอาเงินมาอุ้ม เช่น กรณี LPG ต้องยอมรับว่า ก๊าซที่เรามีอยู่ในประเทศมีพอสำหรับคนที่ใช้ในการหุงต้ม เป็นการใช้เพื่อความจำเป็นในการดำรงชีวิต ไม่มีใครใช้ฟุ่มเฟือย
ส่วนที่ใช้ก๊าซในภาคอุตสาหกรรม หรือปิโตรเคมี ควรใช้ในราคาตลาด แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐยังไม่สามารถที่จะให้ตัวเลขชัดเจนว่า ต้นทุนคืออะไร กลับเอาไปเทียบกับราคาตลาด ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับต้นทุน
“ฉะนั้นผมไม่ค่อยสบายใจที่ประกาศว่า ก๊าซยังจำเป็นต้องขึ้นเป็นขั้นบันได โดยใช้คำว่า ราคา ไม่ใช่ ต้นทุน เพื่อปรับให้ราคาตรงกับราคาตลาด ผมไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้”
นายอภิสิทธิ์ ยังได้แสดงความเป็นห่วงต่อปัญหาเศรษฐกิจเนื่องจากดัชนีความเชื่อมั่นลดลงติดต่อมาเป็นเดือนที่ 2 สะท้อนให้ความอ่อนแอในกำลังซื้อของประชาชน ซึ่งเป็นผลมาจากหลายปัจจัย จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับมาตรการจะทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อ สิ่งที่รัฐบาลกำลังขณะนี้ยังมีจุดอ่อน เช่น กรณีข้าว มาตรการที่ออกมาติดปัญหาเกษตรกรจำนวนมากไม่ได้ประโยชน์ เพราะไม่ใช่เจ้าของที่ดิน หรือกรณียาง ที่ผลตอบแทนที่ได้ยังค่อนข้างต่ำ
“เมื่อสถานการณ์กำลังซื้อค่อนข้างอ่อนแอ ส่งออกยังไม่สามารถเป็นตัวขับเคลื่อนได้ การลงทุนยังมีการรีรออยู่ สิ่งที่สำคัญคืออย่าทำลายกำลังซื้อประชาชน และผมคิดว่ามาตรการเรื่องพลังงาน ถ้าเดินหน้าต่อ คือขึ้นแก๊สทุกเดือน รวมทั้งขึ้นดีเซล หรืออะไรด้วย จะทำให้เศรษฐกิจเกิดปัญหารุนแรงมาก ถือว่าไม่คุ้มค่า หากเศรษฐกิจทรุด รัฐบาลเองจะเดือดร้อนจากการเก็บภาษีไม่เข้าเป้าตามมา”นายอภิสิทธ์ กล่าว
*** เครือข่ายท้องถิ่นตรังหนุน “ขาหุ้น”
ด้านนายชัยพร จันทร์หอม พร้อมด้วย นายปรีดิ์ปราโมทย์ เลิศวรพัฒน์ ตัวแทนพร้อมสมาชิกเครือข่ายประชาคมท้องถิ่นตรังกว่า 10 คน เดินทางมายื่นหนังสือต่อ นายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เกี่ยวกับเรื่องขอให้หยุดการสัมปทานรอบที่ 21 แต่นายสมศักดิ์ ติดภารกิจ ทางเครือข่ายฯ จึงเดินทางไปมอบหนังสือผ่าน พ.อ.อัษฎา แสงฤทธิ์ รอง ผอ.กอ.รมน.ตรัง (ฝ่ายทหาร) และนายพรชัย ช่วยรัตน์ หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตรัง เพื่อผ่านขั้นตอนให้ทางจังหวัดตรัง เสนอเรื่องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
นายชัยพร กล่าวว่า ทางเครือข่ายประชาคมคนท้องถิ่นตรัง เล็งเห็นแล้วว่าการสัมปทานตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 ก่อให้เกิดการสูญเสียอธิปไตยด้านปิโตรเลียม 3 ประการสำคัญ คือ กรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียม กรรมสิทธิ์ในข้อมูลปิโตรเลียม กรรมสิทธิ์ในอุปกรณ์การผลิต ซึ่งดำเนินการมากว่า 40 ปี ส่งผลให้ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากปิโตรเลียมของประเทศนั้นน้อยลง รัฐได้ประโยชน์จากการสัมปทานน้อยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งประชาชนต้องใช้ปิโตรเลียมในราคาสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นทั่วโลก การจัดสรรการขุดเจาะปิโตรเลียมรอบใหม่จึงควรสร้างระบบ กติกาเพื่อให้รัฐมีอำนาจอธิปไตยในปิโตรเลียม และจัดสรรเพื่อประโยชน์สูงสุดเพื่อประชาชนเสียก่อน
ทางเครือข่ายฯ เห็นพ้องต่อข้อเสนอปฏิรูปพลังงานของเครือขาย “ขาหุ้น” ปฏิรูปพลังงานจังหวัดตรัง และพี่น้องประชาชนขาหุ้นปฏิรูปพลังงานทั่วประเทศ และขอให้ท่านพิจารณาระงับการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 เอาไว้ก่อนจนกว่าจะมีการแก้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมที่ทำให้รัฐมีอำนาจอธิปไตยในปิโตรเลียม และจัดสรรเพื่อประโยชน์สูงสุดเพื่อประชาชน เช่น การเปลี่ยน “ระบบสัมปทาน” เป็น “ระบบแบ่งปันผลผลิต” เพื่อให้รัฐได้อธิปไตยด้านปิโตรเลียมคืนมา
นายชัยพร กล่าวอีกว่า ประชาคมท้องถิ่นตรัง และกลุ่มองค์กรภาคีเครือข่ายฯ ขอยืนแนวทางพัฒนาอย่างยั่งยืนลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมอย่างสมดุลทางสังคมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งสร้างสังคมอยู่ดีมีสุขร่วมกัน ยุทธศาสตร์ตรังเมืองแห่งความสุข และจังหวัดกลุ่มอันดามันแห่งความสุขอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนแนวทางการส่งเสียงพลเมืองในการปฏิรูปพลังงานของภาคีขาหุ้นฯ ทุกรูปแบบ ขณะที่ นายพรชัย ช่วยรัตน์ กล่าวว่า ตนรับหนังสือตามขึ้นตอน หลังจากนั้น จะนำเสนอผ่านไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง และจะนำเรื่องเสนอไปยังนายกรัฐมนตรี รับทราบต่อไป