xs
xsm
sm
md
lg

เปิด 29 แปลงให้เอกชนยื่นสำรวจฯ ปิโตรเลียมรอบ 21 ถึง 18 ก.พ. 58

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กพช.” รับทราบแนวทางการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมครั้งที่ 21 กระทรวงพลังงานเตรียมเปิดเอกชนให้ยื่นถึง 18 ก.พ. 58 กาง 29 แปลงทั้งบนบกและทะเล ลั่นไม่แตะพื้นที่ลุ่มน้ำ 1A เขตอนุมัติ อุทยานแห่งชาติ และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ มั่นใจผลประโยชน์ตกถึงรัฐดีที่สุดกว่าที่ผ่านมา ย้ำหากเอกชนให้ข้อเสนอผลประโยชน์ไม่ดีพอ “ครม.” ก็สามารถไม่อนุมัติได้
 



นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน วันนี้ (22 ต.ค.) ว่า กพช.ได้รับทราบแนวทางการการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ครั้งที่ 21 ของกระทรวงพลังงานซึ่งจะมีส่วนสำคัญต่อการจัดหาแหล่งพลังงานในประเทศเพิ่มขึ้นในอนาคตเพื่อความมั่นคง

นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากการที่ประเทศไทยต้องนำเข้าพลังงานมูลค่าปีละกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยนำเข้าน้ำมันดิบประมาณ 85% และก๊าซธรรมชาติประมาณ 15% ของความต้องการใช้ภายในประเทศ และการใช้ยังคงเติบโตต่อเนื่องดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเปิดให้เอกชนเข้ามาสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในรอบที่ 21 นี้ซึ่งมีทั้งหมด 29 แปลง ประกอบด้วย แปลงบนบก 23 แปลง ภาคเหนือและภาคกลาง 6 แปลง พื้นที่ 5,458.91 ตารางกิโลเมตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17 แปลง พื้นที่ 49,196.40 ตารางกิโลเมตร ส่วนแปลงในทะเลอ่าวไทย จำนวน 6 แปลง พื้นที่ 11,808.20 ตารางกิโลเมตร

“ขณะนี้กรมฯ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้รมว.ลงนามอนุมัติแนวทางการเปิดให้ยื่นสัมปทานแล้ว ผู้สนใจต้องมีคุณสมบัติตามข้อกำหนดของกฎหมาย คือ เป็นบริษัทมีทุน เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และผู้เชี่ยวชาญเพียงพอที่จะสำรวจ ผลิต ขาย และจำหน่ายปิโตรเลียม สามารถยื่นเอกสารหลักฐานตามประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง การยื่นคำขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจบนบกและในทะเลอ่าวไทย ต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติที่ทำการภายในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 รวมระยะเวลา 120 วัน นับจากวันลงนามในประกาศ หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง และการอนุมัติเมื่อมีการยื่นขอจะต้องนำเสนอ ครม.หากเอกชนเสนอผลประโยชน์ของเอกชนไม่เป็นที่พอใจ ครม.ก็อาจไม่อนุมัติก็ได้” นายคุรุจิตกล่าว

สำหรับความแตกต่างของการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมครั้งนี้ กับการเปิดสัมปทานรอบที่ผ่านมา คือ การหลีกเลี่ยงพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A เขตอนุรักษ์และรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติ และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ โดยใช้ระบบไทยแลนด์ทรีพลัส (Thailand (III) Plus) ซึ่งเพิ่มผลประโยชน์จากระบบไทยแลนด์ทรีเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2532 ประกอบด้วย การเก็บค่าภาคหลวงในอัตรา 5-15% จากรายได้การขายปิโตรเลียม, เก็บเงินภาษีเงินได้ 50% จากกำไร, การเรียกเก็บเงินผลตอบแทนพิเศษ เมื่อมีกำไรหลังคืนทุนแล้ว หรือเมี่อราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับสูงตามหลักเกณฑ์ที่รัฐกำหนด

การสนับสนุนเงินเพื่อการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่น (ช่วงสำรวจได้ไม่น้อยกว่าปีละ 1 ล้านบาท และช่วงผลิตจะได้ไม่น้อยกว่าปีละ 2 ล้านบาท), เสนอให้บริษัทไทยเข้าร่วมประกอบกิจการในอัตราไม่น้อยกว่า 5% และที่สำคัญต้องใช้สินค้าและบริการในประเทศของเราเป็นอันดับแรกนอกจากนี้ ภายใต้ระบบสัมปทานไทยแลนด์ทรีพลัสจะจัดเก็บผลประโยชน์เพิ่มถึง 2 ส่วนสำคัญ คือ การเรียกเก็บค่าธรรมเนียม หรือ Signature Bonus เมื่อมีการลงนามกับเอกชนที่ได้รับสัมปทาน แม้จะสำรวจพบปิโตรเลียมหรือไม่ และการเรียกเก็บผลประโยชน์เพิ่มเติม เมื่อเอกชนสามารถผลิตได้ตามเกณฑ์ที่รัฐกำหนด หรือ Production Bonusซึ่ง หากมีผู้มายื่นขอทุกแปลงที่เปิดให้มีการยื่นขอครั้งนี้จะก่อให้เกิดการลงทุนประเทศไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น