xs
xsm
sm
md
lg

กรมเชื้อเพลิงเร่งศึกษารูปแบบจัดการก๊าซฯเอราวัณ-บงกชใน1ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมเชื้อเพลิงมั่นใจการศึกษาแนวทางบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ2 แหล่งใหญ่เอราวัณ-บงกชที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานปี65-66 จะได้ข้อยุติแนวทางภายใน1ปีตามที่กพช.มอบหมายย้ำต่ออายุไม่ได้ทุกอย่างตกเป็นของรัฐก่อนและหาแนวทางให้การผลิตก๊าซฯต่อเนื่องและเปิดทางให้รัฐเจรจากับเอกชนในการให้รัฐถือหุ้นเพิ่ม ชี้ก๊าซฯยังมีพออีก10ปี

นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า จากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ได้วางกรอบแนวทางศึกษารูปแบบการพิจารณาแปลงสัมปทานปิโตรเลียมที่รัฐบาลไทยออกให้แก่ผู้รับสัมปทานภายใต้พระราชบัญญัติปิโตรเลียมเมื่อปีพ.ศ. 2514 จำนวน 2 บริษัท กำลังจะสิ้นสุดอายุสัมปทานลงช่วงต้นปี56และ66 นั้นไม่สามารถต่ออายุสัมปทานได้อีกโดยทรัพย์สินจะตกเป็นของรัฐทั้งหมด

โดยสัมปทานปิโตรเลียม(จำนวน 4 สัมปทานใน 7 แปลงสำรวจ) ที่กำลังจะสิ้นสุดอายุสัมปทาน ประกอบด้วย 1. แปลงสำรวจหมายเลข B10, B11, B12 และ B13 (สัมปทานหมายเลข 1/2515/5 และ 2/2515/6) ของแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณและใกล้เคียง ปัจจุบันมีอัตราการผลิต1,240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ดำเนินการโดย บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด

2. แปลงสำรวจหมายเลข B15, B16 และ B17 (สัมปทานหมายเลข 3/2515/7 และ 5/2515/9) ของแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช ปัจจุบันมีอัตราการผลิต 870 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ดำเนินการโดยบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)ปัจจุบันแหล่งดังกล่าว เป็นแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติหลักของประเทศไทย (ประมาณ 2,214
ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือคิดเป็น 76%ของปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยในปี 2557) และเชื่อว่าจะสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ได้ต่อไปอีกประมาณ 10 ปี

หากมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง แต่เพื่อรักษาระดับการผลิตและเพื่อความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซธรรมชาติในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศซึ่งมีความจำเป็นต้องมีความชัดเจนอย่างช้าภายในปี 2560 กระพลังงานจึงได้เสนอกรอบแนวทางการบริหารจัดการในพื้นที่สัมปทานดังกล่าวข้างคือ

1. พิจารณาหาผู้ดำเนินงานในพื้นที่ที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานซึ่งต้องคำนึงถึงความต่อเนื่องในการพัฒนาแหล่งก๊าซรักษาเสถียรภาพการผลิตก๊าซธรรมชาติของประเทศรวมถึงนำทรัพยากรก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด

2. พิจารณาระบบการบริหารจัดการฯ จัดเก็บผลประโยชน์เข้ารัฐซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งระบบสัมปทานตามกฎหมายปิโตรเลียมหรือระบบสัญญาอื่นๆ ได้แก่ ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production SharingContract : PSC) ซึ่งในทุกแนวทางจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน

3. การเพิ่มสัดส่วนของรัฐ (**Government Participation)ในการถือครองแหล่งก๊าซให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเป็นธรรมโดยนำศักยภาพปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่เหลืออยู่ในพื้นที่ผลิตรวมทั้งสิ่งก่อสร้างและอุปกรณ์การผลิตที่จะตกเป็นของรัฐตามกฎหมายเมื่อสิ้นสุดสัมปทานมาประกอบการพิจารณาด้วยซึ่งอาจต้องเจรจาเพื่อลดสัดส่วนการถือสิทธิของผู้รับสัมปทานและเพิ่มสิทธิการถือสิทธิของรัฐ( Government Participation) ในพื้นที่ผลิตหรือการเรียกเก็บโบนัสการลงนามหรือโบนัสการผลิตต่างๆ เพิ่มขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบันคณะกรรมการปิโตรเลียมได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาพิจารณาเสนอแนะแนวทางในการดำเนินการคัดเลือกผู้ดำเนินงานและระบบบริหารจัดการที่เหมาะสมรวมถึงแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอต่อกระทรวงพลังงานและคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามกรอบแนวทางที่กระทรวงพลังงานเสนอเพื่อพิจารณาในครั้งนี้ต่อไปพร้อมกันนี้ กรมฯได้ดำเนินการว่าจ้างบริษัทผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาเพื่อทำการประเมินปริมาณสำรองและปริมาณทรัพยากรของกลุ่มแหล่งก๊าซเอราวัณ และแหล่งก๊าซบงกช

"ทั้งหมดจะเร่งดำเนินการศึกษาให้ได้ข้อยุติที่เป็นรูปธรรมภายใน 1 ปี
(นับจากวันที่ได้รับความเห็นชอบ 14 พฤษภาคม 2558)โดยจะยึดผลประโยชน์ชาติและประชาชนสูงสุด" นางพวงทิพย์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น