อดีต รมว.คลังยื่นดีเอสไอตรวจสอบการให้สัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 19 และ 20 ส่อเอื้อประโยชน์ “เพิร์ล ออย” แฉ “ปิยสวัสดิ์” ขณะเป็น รมว.พลังงาน เสนอมอบสัมปทานให้โดยตรง 3 แปลง รวมกว่า 3.5 หมื่น ตร.กม.เกินเพดานกฎหมายกำหนด แถมเปิดให้บริษัทไร้ประสบการณ์มาขอสัมปทานแล้วขายต่อ ก่อนเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ยกเลิกเพดานพื้นที่สัมปทาน กันข้อครหาย้อนหลัง
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ยื่นคำร้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ทำการสอบสวนกรณีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อเอื้อประโยชน์แก่บุคคลหนึ่งในการให้สัมปทานปิโตรเลียม ซึ่งนายธีระชัยได้ทำสำเนาถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ศ.พิเศษ ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติด้วย
หนังสือดังกล่าวระบุว่า การเปิดให้บริษัทต่างๆ เข้ามาทำการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมนั้น มีการบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 กำหนดขอบเขตจำกัดเอาไว้ในมาตรา 28 มิให้สัมปทานแก่ผู้ขอรายใดเกินกว่า 4 แปลง และเมื่อรวมแล้วแปลงสำรวจทั้งหมดต้องมีเนื้อที่ไม่เกิน 50,000 ตารางกิโลเมตร เพื่อมิให้ผู้รับสัมปทานรายใดรายหนึ่งมีอำนาจต่อรองกับรัฐบาลมากเกินไป และเพื่อป้องกันมิให้ผู้ที่ไม่มีความสามารถในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมด้วยตนเองมายื่นขอสัมปทานเพื่อนำไปขายต่ออีกทอดหนึ่งในลักษณะ “จับเสือมือเปล่า”
ในปี 2532 มีการแก้ไขมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ลดเพดานพื้นที่แปลงสำรวจทั้งหมดจากต้องไม่เกิน 50,000 ตารางกิโลเมตร เหลือต้องไม่เกิน 20,000 ตารางกิโลเมตร และเพิ่มเติมว่ากรณีแปลงสำรวจที่ไม่อยู่ในทะเลต้องไม่เกินแปลงละ 4,000 ตารางกิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม ปรากฏในข้อมูลรายงานปี 2549-2550 ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติว่า ในปี 2550 มีบริษัทกลุ่มหนึ่งชื่อ กลุ่มเพิร์ล ออย ถือพื้นที่สำรวจอยู่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่การถือพื้นที่ดังกล่าวได้กระจายในชื่อนิติบุคคลต่างๆ กันภายในกลุ่มบริษัทดังกล่าว จึงมีปัญหาว่าจะตีความกฎหมายว่าการถือพื้นที่สูงสุดที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 พ.ร.บ.ปิโตรเลียมนั้น ใช้บังคับเฉพาะรายนิติบุคคลหรือบังคับเป็นกลุ่มธุรกิจ
ทั้งนี้ โดยตรรกะทางนิติศาสตร์ต้องถือว่าเป็นการใช้บังคับต่อกลุ่มธุรกิจ เพราะหากตีความว่าเป็นการใช้บังคับรายนิติบุคคลแล้ว กลุ่มธุรกิจหนึ่งๆ ย่อมตั้งบริษัทลูกหลายๆ บริษัทขึ้นมายื่นขอสัมปทาน บทบัญญัตินี้ก็ย่อมไม่มีผลบังคับใช้อย่างจริงจัง จึงไม่ตรงกับเจตนาของกฎหมาย
อย่างไรก็ดี แทนที่กระทรวงพลังงานจะตีความให้มีผลบังคับต่อกลุ่มธุรกิจ หรือถ้าหากเห็นว่าไม่สามารถตีความดังนั้นได้ ก็ควรจะเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีนิยามที่ชัดเจนขึ้น ผู้เกี่ยวข้องกลับเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายยกเลิกการกำหนดเพดานพื้นที่และจำนวนแปลง ดังปรากฏใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ฉบับที่ 6 พ.ศ.2550 มาตรา 9 ที่ยกเลิกข้อกำหนดห้ามให้สัมปทานเกิน 4 แปลง ยกเลิกเพดานแปลงสำรวจของผู้รับสัมปทานไม่เกิน 20,000 ตารางกิโลเมตร ยกเลิกเพดานสำหรับกรณีอ่าวไทย จากเดิมมีเพดาน 20,000 ตารางกิโลเมตร เปลี่ยนเป็นไม่มีเพดาน
หนังสือคำร้องของนายธีระชัยได้ระบุถึงขบวนการแก้ไขกฎหมายเพื่อยกเลิกเพดานพื้นที่สัมปทานว่า เริ่มต้นที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)ครั้งที่ 107 เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2549 โดยมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ ทำหน้าที่ประธาน นายเมตตา บันเทิงสุข ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ทำหน้าที่กรรมการและเลขาณุการ โดย กพช.มีมติยกเลิกเพดานทั้งเรื่องจำนวนแปลงและพื้นที่รวม อันเป็นการยกเลิกหลักป้องกันมิให้ผู้รับสัมปทานรายใดรายหนึ่งมีอำนาจต่อรองกับรัฐบาลสูงเกินไป และยกเลิกมาตรการป้องกันผู้ที่ไม่มีความสามารถในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมด้วยตัวเองมายื่นขอสัมปทานเพื่อนำไปขายต่อ
นายธีระชัยได้ระบุถึงข้อพิรุธของการให้สัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 19 ว่า นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เข้าดำรงตำแหน่ง รมว.พลังงานในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ระหว่างวันที่ 9 ต.ค.2549 ถึง 6 ก.พ. 2551 ภายหลังจากดำรงตำแหน่งเพียง 16 วัน ได้ทำหนุังสือที่ พน.0304/3390 ลงวันที่ 25 ต.ค. 49 เสนอคณะรัฐมนตรีมอบสัมปทานรอบที่ 19 เลขที่ G10/48 ให้แก่บริษัทเพิร์ล ออย จำกัด ร่วมกับบริษัท ฮอไรสัน ออย(ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ธนา ออย แอนด์ แก๊ซ (ประเทศไทย) จำกัด พื้นที่สัมปทานขนาด 9,390 ตารางกิโลเมตร
ต่อมา วันที่ 6 พ.ย. 49 นายเมตตา บันเทิงสุข เสนอต่อที่ประชุม กพช.ให้ยกเลิกเพดานพื้นที่สำรวจ เมื่อ กพช.อนุมัติให้แก้ไขกฎหมายแล้ว หลังจากนั้นนายปิยะสวัสดิ์มีหนังสือเลขที่ พน.0304/3690 ลงวันที่ 21 พ.ย. 49 เสนอคณะรัฐมนตรีมอบสัมปทานรอบที่ 19 เลขที่ G2/48 ให้แก่บริษัท เพิร์ล ออย ออฟชอร์ จำกัด พื้นที่ 19,040 ตารางกิโลเมตร
ดังนั้น เมื่อนับรวมพื้นที่สัมปทาน G2/48 และ G10/48 ก็รวมเป็นพื้นที่ 28,430 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแล้ว นายปิยะสวัสดิ์จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ตนเองไม่รู้ว่าการให้สัมปทานสองครั้งติดๆ กันดังกล่าวทำให้การถือพื้นที่สัมปทานของกลุ่มเพิร์ล ออย เกินกว่าเพดาน 20,000 ตารางกิโลเมตรที่กฎหมายกำหนดไว้ การดำเนินการของนายปิยสวัสดิ์จึงน่าจะมีเจตนาเพื่อสอดรับการที่นายเมตตาเสนอต่อที่ประชุม กพช.ครั้งที่ 107 วันที่ 6 พ.ย. 49 ให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อยกเลิกเพดานพื้นที่สัมปทาน
การที่นายเมตตาให้ความร่วมมือกับนายปิยสวัสดิ์นั้น นอกจากมีพิรุธเนื่องจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานสังกัดต่อกระทรวงพลังงานที่มีนายปิยะสวัสดิ์เป็นรัฐมนตรีแล้ว ยังปรากฏว่านายปิยสวัสดิ์ในฐานะผู้จัดตั้งและในระหว่างที่เป็นประธานกรรมการมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมได้เคยอำนวยประโยชน์ให้แก่นายเมตตาด้วย โดยให้มีการแต่งตั้งนายเมตตาเป็นกรรมการในมูลนิธิดังกล่าวในปี 2545
นอกจากนี้ ในรายงานปี 2550 ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยังปรากฏว่ามีบริษัท เพิร์ล ออย กรุงเทพ (Pearl Oil Bangkok Ltd.) ถือสัมปทานเลขที่ G11/48 สัญญาสัมปทานเลขที่ 5/2550/4 ลงวันที่ 13 ก.พ. 2550 ช่วงเวลาที่นายปิยสวัสดิ์เป็นรัฐมนตรีว่าการกรทรวงพลังงาน ดังนั้นในรอบที่ 29 นายปิยสวัสดิ์จึงได้ให้สัมปทานแก่กลุ่มเพิร์ล ออย ทั้งหมด 3 แปลง รวมพื้นที่ 35,230 ตารางกิโลเมตร อันเป็นการส่อเจตนาไม่ใส่ใจต่อเจตนารมณ์ของมาตรา 28 พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 อย่างชัดแจ้ง
นอกจากการให้สัมปทานโดยตรงดังกล่าวแล้ว ยังมีการเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มเพิร์ล ออย ทางอ้อม 3 กรณี ได้แก่ ในการทำหนุังสือที่ พน.0304/3390 ลงวันที่ 25 ต.ค.49 เสนอคณะรัฐมนตรีนั้น นายปิยสวัสดิ์ได้เสนอให้สัมปทานรอบที่ 19 เลขที่ G1/48 แก่ Syracat Barcos Shipping Sdn. Bhd.ร่วมกับ Occidental Exploration Pte. Ltd. พื้นที่ 10,620 ตารางกิโลเมตร ซึ่งต่อมาวันที่ 3 ก.ค. 2550 กระทรวงพลังงานได้เสนอ ครม.อนุญาตโอนแปลงสัมปทานนี้ให้แก่บริษัท เพิร์ล ออย (อมตะ)
ในหนังสือเลขที่ พน.0304/3690 ลงวันที่ 21 พ.ย.49 นายปิยสวัสดิ์ได้เสนอ ครม.ให้สัมปทานรอบที่ 19 เลขที่ G3/48 ให้แก่ บริษัท นอร์ธเทิร์น กัลฟ์ ออย (ประเทศไทย) พื้นที่ 7,080 ตารางกิโลเมตร ซึ่งต่อมาวันที่ 3 ก.ค.2550 กระทรวงพลังงานได้เสนอ ครม.อนุญาตโอนแปลงสัมปทานนี้ให้แก่บริษัท เพิร์ล ออย (อ่าวไทย)
ในหนังสือเลขที่ พน.0304/3690 ลงวันที่ 21 พ.ย.49 นายปิยสวัสดิ์ได้เสนอ ครม.ให้สัมปทานรอบที่ 19 เลขที่ G6/48 ให้แก่ Occidental Exploration Pte. Ltd. พื้นที่ 1,368 ตารางกิโลเมตร ซึ่งต่อมาวันที่ 3 ก.ค.2550 กระทรวงพลังงานได้เสนอ ครม.อนุญาตให้ Occidental Exploration Pte. Ltd.ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น Northern Gulf Petroleum Pte. โอนแปลงสัมปทานนี้ให้แก่บริษัท เพิร์ล ออย (อมตะ)
รวมพื้นที่ 3 รายการซึ่งมีการใช้ชื่อบุคคลต่างๆ ยื่นขอสัมปทานโดยส่อเจตนาเพื่อนำไปขายต่อให้กลุ่มเพิร์ล ออย 19,068 ตารางกิโลเมตร
ทั้งนี้ บริษัท Syracat Barcos Shipping Sdn. Bhd.ไม่มีประสบการณ์ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแต่อย่างใด เป็นบริษัทที่ตั้งอยู่ในมาเลเซียประกอบธุรกิจเดินเรือบริการขนส่งบุคลากรและวัสดุอุปกรณ์ไปยังแท่นขุดเจาะ ส่วนบริษัท Occidental Exploration Pte. Ltd. ก็เพิ่งจัดตั้งขึ้นในสิงคโปร์ เมื่อ ค.ศ. 2004 หรือ พ.ศ. 2547 ก่อนยื่นขอสัมปทานไม่นาน โดยตั้งชื่อให้คล้ายคลึงกับ Occidental Petroleum บริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ทั้งที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลย และภายหลังจากได้สัมปทานก็เปลี่ยนชื่อเป็น Northern Gulf Petroleum Pte. ซึ่งสามารถสืบค้นได้ว่าเป็นบริษัทลูกของ Northern Gulf Petroleum Holdings Ltd. จัดตั้งที่เกาะเบอร์มิวด้า และเป็นของนาย Chatchai Yenbamroong และภรรยา ซึ่งไม่เคยมีประวัติและความสามารถในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเลย
การที่นายปิยสวัสดิ์เสนอ ครม.ให้สัมปทาน G1/48 แก่ บริษัท Syracat Barcos Shipping Sdn. Bhd. และ บริษัท Occidental Exploration Pte. Ltd. เป็นพื้นที่ถึง 10,620 ตารางกิโลเมตร ทั้งที่สองบริษัทนี้ไม่เคยมีประวัติและความสามารถในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเลย จึงส่อเจตนาเปิดให้ใช้ชื่อบริษัทนี้เป็นฉากบังหน้าเพื่อขอสัมปทานไปขายต่อให้กลุ่มเพิร์ล ออย
ขณะที่ บริษัท นอร์ธเทิร์น กัลฟ์ ออย(ประเทศไทย) ก็เป็นบริษัทในกลุ่มเดียวกับ Northern Gulf Petroleum Pte. และไม่ปรากฏหลักฐานว่า มีประวัติหรือความสามารถในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมาก่อนที่จะอ้างเหตุให้สัมปทานถึง 7,080 ตารางกิโลเมตร และเพิ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 48 ก่อนยื่นขอสัมปทานไม่นาน จึงส่อเจตนาว่ามีการใช้บริษัทนี้เป็นหน้าฉากเพื่อขอสัมปทานแปลง G3/48 ไปขายต่อให้กลุ่มเพิร์ล ออย
นอกจากนี้ การที่กระทรวงพลังงานเสนอ ครม.ให้สัมปทานแก่บริษัทเหล่านี้โดยอ้างเหตุผลว่าได้มีการพิจารณาความเหมาะสมต่างๆ อย่างถี่ถ้วนแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไปเพียง 7 เดือน กระทรวงพลังงานก็เสนอให้โอนสัมปทานจากบุคคลเดิมไปให้บุคคลอื่น เป็นการส่อเจตนาที่จะเอื้ออำนวยให่มีการแสวงหาประโยชน์จากการให้สัมปทานดังกล่าว
“ปิยสวัสดิ์” เร่งเปิดสัมปทานรอบที่ 20
วันที่ 23 พฤษภาคม 2550 นายปิยสวัสดิ์ได้ดำเนินการประกาศเชิญชวนให้ผู้ประกอบการยื่นขอสัมปทานรอบที่ 20 ทั้งที่นายปิยสวัสดิ์ได้เป็นผู้เสนอคณะรัฐมนตรีมอบสัมปทานในรอบที่ 19 ให้แก่ผู้ประกอบการไปแล้วจำนวนมาก และทั้งที่ผู้ประกอบการที่ได้รับสัมปทานรอบที่ 19 ยังจะต้องใช้เวลาอีกสองหรือสามปีในการเตรียมตัวจึงจะสามารถเริ่มขบวนการสำรวจได้จริงก็ตาม แต่นายปิยสวัสดิ์ก็ได้เร่งรีบเสนอให้มีการมอบสัมปทานรอบที่ 20 เพิ่มอีกโดยเร็ว
ต่อมาการดำเนินการแก้ไขกฎหมายเพื่อยกเลิกเพดานพื้นที่สัมปทานก็สัมฤทธิผล โดยมีการตราพระราชบัญญัติปิโตเลียม ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2550 ลงราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 17 ตุลาคม 2550 ทั้งนี้ ถึงแม้การให้สัมปทานแก่ กลุ่มบริษัท เพิร์ล ออย และการอนุญาตให้กลุ่มบริษัทดังกล่าวรับโอนสัมปทานจากผู้อื่น ที่ทำให้พื้นที่รวมเกินกว่า 20,000 ตารางกิโลเมตร จะเกิดขึ้นก่อนหน้าการแก้ไขกฎหมายมีผลบังคับก็ตาม แต่การแก้ไขกฎหมายยกเลิกเพดานทั้งเรื่องจำนวนพื้นที่และจำนวนแปลง น่าจะมุ่งเพื่อทำให้ไม่เกิดการโต้แย้งขึ้นในอนาคตเป็นสำคัญ
ภายหลังจากการดำเนินการแก้ไขกฎหมายเพื่อยกเลิกเพดานพื้นที่สัมปทานได้ลุล่วง ต่อมาในวันที่ 11 ธันวาคม 2550 ก่อนรัฐบาลของ พล.v.สุรยุทธ์มีกำหนดจะต้องพ้นตำแหน่งเพียงประมาณสองเดือน นายปิยสวัสดิ์ก็ได้ทำหนังบสือที่ พน 0306/497 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2550 จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอให้มอบสัมปทานในรอบที่ 20 เลขที่ G2/50 ได้แก่ บริษัท เพิร์ล ออย (ปิโตรเลียม) จำกัด และเลขที่ L21/50 ได้แก่ บริษัท เพิร์ล ออย (รีซอสเซส) จำกัด เป็นพื้นที่จากการให้สัมปทานเลขที่ G2/50 ขนาด 1,123 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่จากการให้สัมปทานเลขที่ L21/50 ขนาด 3,947 ตารางกิโลเมตร รวมให้พื้นที่เพิ่มเฉพาะในวันดังกล่าวอีก 5,070 ตารางกิโลเมตร
การดำเนินการต่อเนื่องดังกล่าวได้เอื้ออำนวยให้มีการมอบสัมปทานให้แก่กลุ่มบริษัทเพิร์ล ออย ต่อเนื่องถึงแม้นายปิยสวัสดิ์ได้พ้นตำแหน่งไปแล้ว โดยเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2552 นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เสนอคณะรัฐมนตรีมอบสัมปทานในรอบที่ 20 เลขที่ L50/50 ให้แก่ บริษัท เพิร์ล ออย (รีซอสเซส) จำกัด พื้นที่ 2,837 ตารางกิโลเมตร และเลขที่ L52/50 และ L53/50 ให้แก่ บริษัท เพิร์ล ออย (ปิโตเลียม) จำกัด ร่วมกัน Carnarvon Petroleum พื้นที่ 1,534 ตารางกิโลเมตร และ 1,928 ตารางกิโลเมตร ตามลำดับ
“ข้าพเจ้าเห็นว่ามีข้อสงสัยว่าการดำเนินการเหล่านี้น่าจะส่อเจตนาเพื่อหวังผลให้ กลุ่มบริษัท เพิร์ล ออย สามารถมีพื้นที่สัมปทานเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และเนื่องจากผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนเงินสูงมาก ข้าพเจ้าจึงขอร้องเรียนมาเพื่อโปรดรับไว้เป็นคดีพิเศษ และโปรดทำการสอบสวนอย่างเร่งด่วนต่อไป” นายธีระชัยระบุท้ายคำร้อง