xs
xsm
sm
md
lg

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติสำรวจแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ จ.สงขลา เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ นำคณะหัวหน้าส่วนราชการ และพลังงานจังหวัด ตรวจชมแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบที่ จ.สงขลา เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และนำข้อเท็จจริงไปเผยแพร่ให้แก่ประชาชนในแต่ละพื้นที่ที่มีการคัดค้านการสำรวจปิโตรเลียม เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง

วันนี้ (20 เม.ย.) นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เผยว่า ในระหว่างเดือน มี.ค.-เม.ย. ทางกรมเชื่อเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้จัดโครงการตรวจเยี่ยมแหล่งน้ำมันดิบของบริษัท ซี อี ซี อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด (สาขาประเทศไทย) ซึ่งเป็นโครงการอบรม และศึกษาดูงาน เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน ให้แก่หัวหน้าส่วนราชการ พลังงานจังหวัดจากหลายพื้นที่ จำนวน 5 คณะ

เนื่องมาจากที่ผ่านมาพบว่า มีปัญหาเกี่ยวกับการคัดค้าน และต่อต้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่งบางครั้งเกิดจากการสร้างข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงด้านพลังงาน ซึ่งนับเป็นปัญหาสำคัญ และกำลังขยายกว้าง ทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จึงต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องปิโตรเลียมให้แก่กลุ่มเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนในแต่ละพื้นที่

โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มีนโยบาย และมาตรการในการป้องกันปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้นจากการสำรวจ และผลิตปิโตรเลียม โดยกำหนดว่าผู้รับสัมปทานจะต้องดำเนินการในด้านการป้องกัน และบำบัดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมตามมาตรการสากล และตามมาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 อย่างเคร่งครัด โดยไม่ให้พื้นที่ใดโสโครกด้วยน้ำมัน โคลน หรือสิ่งอื่นใด และหากมีผู้รับสัมปทานจะต้องรับผิดชอบ

รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เผยอีกว่า ในการผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งที่อยู่ในเขต 12 ไมล์ทะเล นับจากชายฝั่งผู้รับสัมปทานจะต้องไม่ปล่อยเศษหินจากการเจาะ และน้ำจากกระบวนการผลิตลงทะเลโดยตรง ต้องอัดกลับน้ำทั้งหมดจากกระบวนการผลิตลงชั้นกักเก็บใต้ดิน มีการลดปริมาณก๊าซเผาทิ้งจากโครงการผลิต ติดตามเฝ้าระวังผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกระบวนการผลิต และกิจกรรมการสำรวจการผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ต้องดำเนินการโดยมีมาตรการ และแผนงานทุกขั้นตอน เพื่อให้มีความปลอดภัยสูงสุด โดยมีแผนรองรับเพื่อแก้ไข และเผชิญเหตุ

สำหรับก้อนสีดำที่ลอยติดชายหาด จ.นครศรีธรรมราช และ จ.สงขลา ในบางฤดูกาลนั้น ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านซึ่งเป็นอดีตชาวประมงอวนลาก ทราบว่า มีขึ้นมาทุกปีในช่วงมรสุมที่มีคลื่นแรงระหว่างเดือน ก.พ.-เม.ย. ซึ่งเกิดจากน้ำมันที่มีความหนืดสูง เช่น น้ำมันเครื่อง และน้ำมันเตาที่รั่วไหล ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมทางเรือเป็นหลัก นอกจากนี้ นายวีระศักดิ์ ยังกล่าวด้วยว่า การชะลอสัมปทานการสำรวจปิโตรเลียมส่งผลให้ไม่มีปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์แล้วเข้ามาเสริม และที่มีอยู่สามารถมีใช้ไปได้เพียง 7-8 ปีเท่านั้น

โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าก็จะลดลงทุกปี จากข้อมูลกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ พบว่า ในปี 2556 สามารถผลิตก๊าซได้วันละ 3,600 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ความต้องการใช้วันละ 5 พันล้านลูกบาศก์ฟุต ต้องนำเข้าก๊าซจากพม่าวันละ 1.1 ลูกบาศก์ฟุต ยังไม่พอต้องนำเข้าในรูปแอลเอ็นจีมาเสริมอีกวันละ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุต และแนวโน้มจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ด้าน นายอนุชิต ตระกูลมุทิตา รองผู้ว่าฯ สงขลา ซึ่งเดินทางพร้อมกับหัวหน้าส่วนราชการ และตัวแทนปกครองส่วนท้องถิ่นประมาณ 60 คน เข้าตรวจเยี่ยมแท่นผลิตปิโตรเลียมสงขลา ของบริษัท ซี อี ซี อินเตอร์เนชั่นแนลฯ เกี่ยวกับกระบวนการผลิตน้ำมัน และสภาพแวดล้อม โดยมี นางภาวิณี ทับเป็นไทย ผู้จัดการฝ่ายรัฐกิจ และชุมชนสัมพันธ์ของบริษัทฯ ให้การต้อนรับ และบรรยายสรุปเปิดเผยว่า แท่นขุดเจาะปิโตรเลียมสงขลา มีระบบที่ทันสมัย ทำให้การป้องกันการรั่วไหลจากกระบวนการขุดเจาะมีประสิทธิภาพสูง จึงให้ความมั่นใจแก่ประชาชนได้คลายความวิตกกังวล ส่วนการดูแลรักษาสภาพแวดล้อมที่บริเวณฐานการผลิต บริษัทฯ ได้มีมาตรการดูแลรักษาได้ดีเยี่ยม ไม่ส่งผลต่อน้ำ และสัตว์น้ำ และบริเวณแท่นขุดเจาะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำที่ใช้หลบภัย อนุบาลตัวอ่อน และวางไข่อีกด้วย

นอกจากนี้ ทางบริษัทฯ ยังคืนกำไรแก่สังคม มีโครงการปล่อยสัตว์น้ำลงทะเลอ่าวไทย รวมทั้งกิจกรรมฟื้นฟูชายหาดด้วยโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ์ การให้ทุนการศึกษานักเรียนชายฝั่ง 4 อำเภอ ส่งเสริม และสนับสนุนประเพณีวัฒนธรรม และศาสนา และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งทั้งหมดเป็นสิ่งที่ส่วนรวมได้รับ นอกจากค่าภาคหลวงขณะที่ นายสิทธิชัย สุขสีแสน พลังงาน จ.สงขลา กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ และควบคุมแท่นผลิตปิโตรเลียมสงขลาประจำ ตนจึงมั่นใจถึงมาตรการในการรักษาความปลอดภัยจากการขุดเจาะ และสภาพแวดล้อมบริเวณแท่นผลิต ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของกฎกระทรวงฯ โดยมีการควบคุมการผลิตปิโตรเลียมแท่นขุดเจาะสงขลาทุกขั้นตอน




 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น