กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติย้ำยกเลิกประกาศเดินหน้าสัมปทานฯ รอบ 21 แล้ว และไม่จำเป็นต้องตั้งคณะทำงานร่วม 2 ฝ่ายระหว่างรัฐกับภาคประชาชน เหตุการแก้ไขกฎหมายเป็นเรื่องของ “สนช.” สามารถส่งเรื่องตรงไปได้ทันที พร้อมร่อนหนังสือถึงบริษัทที่ยื่นสิทธิฯ สำรวจรายเดียวให้มารับซองคืน
นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานยืนยันว่าคงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหารือในคณะทำงานร่วม 2 ฝ่ายระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน เนื่องจากการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับปิโตรเลียมมองว่าเป็นเรื่องของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะดำเนินการพิจารณาในรายละเอียดต่างๆ และที่ผ่านมากรมฯ ได้ให้ข้อมูลและชี้แจงประเด็นต่างๆ ไปหมดแล้ว โดยเห็นว่าภาคประชาชนต้องการให้กฎหมายมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็สามารถเสนอ สนช.ได้
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ที่กระทรวงพลังงานได้ออกประกาศ เรื่องการยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจบนบกและในทะเลอ่าวไทย ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2557 สิ้นสุด 18 ก.พ. 58 ปรากฏว่ามีผู้มายื่นสิทธิสำรวจฯ 1 ราย ดังนั้นกรมฯ คงจะทำหนังสือถึงบริษัทดังกล่าวให้มารับซองคืน และระหว่างที่ยังไม่มีการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมเพิ่มกรมฯ ก็ได้กำชับให้ทุกแหล่งผลิตที่มีอยู่ปัจจุบันพยายามรักษาระดับการผลิตเดิมเอาไว้ให้มากที่สุด
“ก่อนหน้าเราประกาศให้ยื่นถึง 18 ก.พ. แล้วต่อมาก็ออกประกาศเพิ่มเติม ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558 และประกาศขยายกำหนดเวลาการยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจบนบก และในทะเลอ่าวไทย จนถึงวันที่ 16 มีนาคม แต่ล่าสุดเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ลงนามในประกาศยกเลิก เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558 แล้วเพื่อให้มีการแก้ไขกฎหมายก่อนภายใน 3 เดือน” นางพวงทิพย์กล่าว
ทั้งนี้ กรมฯ ยังเห็นว่าไทยควรจะเปิดโอกาสให้แก่ประเทศในการสำรวจฯ ปิโตรเลียม เนื่องจากปัจจุบันไทยมีการผลิตก๊าซธรรมชาติได้ 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะที่การผลิตอยู่ที่ระดับ 3,000 ล้าน ลบ.ฟ.ต่อวัน ที่เหลือเป็นการนำเข้าทั้งจากแหล่งพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) จากพม่า นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) โดยการสำรวจเพื่อผลิตในประเทศก็หวังจะรักษาระดับการผลิตให้อยู่ในระดับ 3,000 ล้าน ลบ.ฟ.ต่อวันไม่ให้ลดลงมากเพื่อไม่ให้ไทยต้องนำเข้าในจำนวนมากเพราะราคาจะแพง ประกอบกับสิ่งสำคัญคือ LNG ที่นำเข้าจะไม่สามารถนำมาผลิตปิโตรเคมีที่เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องซึ่งมีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวันและต่อระบบเศรษฐกิจไทยมหาศาล
“กรณที่มีผู้เสนอให้รัฐสำรวจหรือจ้างสำรวจปิโตรเลียมเองแล้วนำผลนั้นมาเปิดสัมปทานต่อ ก็ต้องมองว่าการเปิดในรอบ 20 ซึ่งมี 28 แปลงล่าสุดพบศักยภาพเพียงแปลงเดียวในเชิงพาณิชย์ มีค่าสำรวจรวม 1.6 หมื่นล้านบาท ถามว่าถ้าวันนี้รัฐสำรวจเงินที่สูญไปนี้จะมาจากไหน และตามหลักแล้วเอกชนเขาสำรวจก็ต้องการจะผลิตเองอยู่แล้ว การที่รัฐสำรวจและเปิดให้เอกชนมายื่นผลิตจะไม่จูงใจให้เอกชนเข้ามาแน่นอน” นางพวงทิพย์กล่าว