ASTVผู้จัดการรายวัน -กรมเชื้อเพลิงขู่ยุติสำรวจปิโตรเลียมรอบ21 ไม่มีกำหนด อีก 7ปีก๊าซฯวิกฤต แถมอุตฯต่อเนื่องมากมายจากปิโตรเคมีจะระส่ำหนัก เหตุLNG ผลิตปิโตรฯไม่ได้ ย้ำเลื่อนปิดรับขอสิทธิ์สำรวจสิ้นสุด 16 มี.ค.นี้เงื่อนไขต่างๆไม่เปลี่ยนหลังเอกชนเริ่มไม่มั่นใจ ขณะที่เวที 20 ก.พ.หากไม่จบโยนให้รัฐบาลต้องตอบคำถาม ลั่นข้อมูลแจงได้หมด พร้อมเทียบเชิญ "มาร์ค-ประสงค์” ร่วมถกสัมปทาน “รสนา”เชื่อเป็นเพียงการลดแรงกดดัน ไม่อาจเปลี่ยนแนวทางรัฐฯได้ ด้าน “สังคมออนไลน์”เผย “ประยุทธ์”เคยนั่งเป็น ปธ.คณะกรรมการกำกับดูแล (อิสระ)ไทยออยล์ ระบุเอกสารลงนามเมื่อ 19 ก.พ. 53 ก่อนนั่ง “ผบ.ทบ.” 1 ต.ค.53
นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิง เปิดเผยว่า เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาลและสอดคล้องกับการปฏิรูปด้านพลังงานและการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่รัฐจะจัดขึ้นวันที่ 20 ก.พ.58 กระทรวงพลังงานได้ประกาศขยายกำหนดเวลาในการยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงบนบกและในทะเลอ่าวไทยจากภายในวันที่ 18 ก.พ. 2558 เป็นสิ้นสุดภายใน 16 มีนาคม2558 โดยยืนยันว่าเงื่อนไขต่างๆที่เชิญชวนเอกชนยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งสิ้น
“เราเอาลงเว็บไซต์แล้วการประกาศเงื่อนไขต่างๆยังเหมือนเดิมโดยเฉพาะการที่รัฐจะขอสิทธิ์เจรจาในพื้นที่ 3 แปลงในทะเลจาก 29 แปลงคือแปลง G3/57 G5/57 และ G6/57 ที่จะเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตหรือ PSC เป็นต้น โดยเอกชนมายื่นได้ตลอดจนถึง 16 มี.ค.58 อย่างไรก็ตามนักลงทุนเองก็ห่วงใยบรรยากาศการลงทุนว่าถ้าเลื่อนไปแล้วเงื่อนไขต่างๆจะเปลี่ยนไหมก็ชี้แจงว่าไม่เปลี่ยนแค่เลื่อนเวลาออกไปซึ่งเบื้องต้นมายื่น 1 รายแล้ว ”
นางพวงทิพย์กล่าวว่า หากเวที 20 ก.พ.นี้ไม่สามารถหาข้อยุติได้และไม่จบก็คงต้องถามรัฐบาลคืออะไร เนื่องจากที่ผ่านมาก็มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นแล้วและที่สำคัญข้อมูลที่เป็นคำถามที่คาใจก็มีการตอบคำถามทั้งด้วยวาจาและหนังสือยืนยันไปยังทุกส่วนโดยเฉพาะสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)ไปแล้ว และเวที 20 ก.พ.นี้ก็มั่นใจว่าทุกคำถามที่เกิดขึ้นจะชี้แจงได้หมด
ทั้งนี้หากที่สุดไทยต้องยุติการดำเนินการสำรวจฯปิโตรเลียมรอบนี้ออกไปอย่างไม่มีกำหนดจะกระทบต่อความมั่นคงพลังงานของไทยอย่างแน่นอนเนื่องจากปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์แล้ว (Proved Reserve )คือมั่นใจ90% ว่าผลิตได้ที่มีอยู่ประมาณ 8.42 ล้านลูกบาศก์ฟุตหากไม่มีการลงทุนและสำรวจเพิ่มเมื่อหารด้วยอัตราการผลิตปัจจุบันที่ระดับ 1.312 ล้านลบ.ฟุตจะทำให้ไทยมีก๊าซใช้ได้อีกประมาณ 7 ปีวิกฤตพลังงานก็จะเริ่มเกิดขึ้นทันทีเพราะไทยพึ่งพิงก๊าซฯมากสุด ส่วนน้ำมันดิบ P1 มี 253 ล้านบาร์เรลหากไม่ผลิตเพิ่มจะใช้ได้อีก 4.6 ปีซึ่งปัจจุบันไทยจึงต้องพึ่งพิงนำเข้าน้ำมันอย่างมากเพราะผลิตได้น้อยกว่าความต้องการ
“ ถ้าเอาสำรองก๊าซฯที่พิสูจน์แล้วหรือ P1 กับสำรองก๊าซที่คาดว่าจะพบหรือProbable Reserves (P2) คาดว่าไทยจะมีก๊าซใช้ไปได้อีก 13 ปีแต่อย่าลืมว่าถ้าเราไม่ทำให้ P 2 เป็น P 1 คือ เก็บเอาไว้ให้ลูกหลานเราก็จะต้องนำเข้าเพิ่มขึ้นและมีราคาแพงแต่มากกว่านั้นคืออุตสาหกรรมต่อเนื่องในจ.ระยองโดยเฉพาะปิโตรเคมีและพลาสติกที่ไม่สามารถใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)ได้เพราะไม่มีคุณสมบัติในการทำปิโตรเคมีอะไรจะเกิดขึ้นนั่นหมายถึงโรงงานส่วนใหญ่ในจ.ระยองอาจต้องปิดลงเพราะปิโตรเคมีคืออุตสาหกรรมพื้นฐานของอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากมาย”นางพวงทพย์กล่าว
สำหรับกรณีที่มีบางฝ่ายมองว่าพ.ร.บ.ปิโตรเลียมที่ใช้อยู่ล้าสมัยนั้นขอยืนยันว่ามีการปรับแก้ไขมาแล้วถึง 5 ครั้งและครั้งล่าสุดปี 2550 แต่เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นล่าสุดก็มีการร่วมหารือกับทุกฝ่ายโดยเฉพาะ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)กำลังรวบรวมมาตราที่จะมีการปรับปรุงตามคำท้วงติงมาซึ่งกำลังร่างในการแก้ไขปรับปรุงอยู่ในขณะนี้ ส่วนกรณีที่มีผู้ระบุว่ารัฐทำไมไม่ลงทุนสำรวจฯปิโตรเลียมเองทั้งที่การลงทุนภายในประเทศของผู้รับสัมปทานนำมาลดหย่อนภาษีฯได้ก็ต้องถามว่ารัฐบาลไทยมีเงินงบประมาณมากเพียงพอหรือ
“ รอบที่ผ่านๆมาการลงทุนแต่ละหลุมสูงมากบางหลุมเป็นพันล้านบาทก็ยังมีแต่กลับไม่พบจึงเป็นความเสี่ยงของเอกชนที่จะไปลงทุนนี่จึงเป็นเหตุผลที่ออกเป็นระบบสัมปทานคือให้เอกชนเสี่ยงที่จะลงทุนเองและยืนยันว่าระบบนี้ที่ผ่านมาก็ไม่ได้ทำให้รัฐเสียเปรียบแต่อย่างใด “นางพวงทิพย์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีบริษัทเอกชนจากต่างประเทศ คือ บริษัท มิยซุย ออยส์ ได้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเป็นรายแรก.
***ภาคปชช.วอน"ประยุทธ์"นั่งหัวโต๊ะเสวนาศุกร์นี้
เมื่อเวลา11.00 น. วานนี้ (17ก.พ.) ที่ศูนย์บริการประชาชนชั่วคราว สำนักงานก.พ. นายสมนึก คำผ่อง ตัวแทนกลุ่มคัดค้านสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 เข้าร้องเรียนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ถึงกรณี การจัดประชุมเสวนาฟังความคิดเห็นประชาชน เกี่ยวกับสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 ก.พ.นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยขอเสนอแนะรูปแบบการจัดเสวนาคือ 1. ขอให้พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็น ประธานการประชุมด้วยตนเอง เพื่อให้ท่านได้รับฟังข้อมูลด้วยตัวเอง และนำไปพิจารณา 2. ขอให้รัฐบาลชี้แจงการเปิดสัมปทาน 3. อนุญาตให้ประชาชนทุกกลุ่มที่สนใจเข้าร่วมรับฟัง 4. เปิดโอากาสให้ประชาชนซักถามในประเด็นที่สนใจ และมีข้อสงสัย 5. จัดให้มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ทั่วประเทศตลอดการเสวนา และ 6. จัดระยะเวลาในการพูดของทั้งสองฝ่ายเท่าเทียมกัน
***พลังงาน เทียบเชิญ "มาร์ค-ประสงค์” ร่วมถก
วานนี้(17 ก.พ.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน เปิดเผยว่า จากการที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเลื่อนการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ออกไป เพียงแค่ 1 เดือน ทำให้มีความรู้สึกว่า การเปิดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 20 ก.พ. นี้ เป็นเพียงการลดแรงกดดันเพื่อซื้อเวลาเท่านั้น คงไม่อาจเปลี่ยนแนวทางของกระทรวงพลังงานได้ จึงอยากเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจและภาวะผู้นำในการตัดสินเรื่องดังกล่าวให้เด็ดขาด
ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มีการะบุถึงการปฏิรูปอย่างชัดเจน ดังนั้น นายกรัฐมนตรี ควรที่จะตัดสินใจดำเนินการปฏิรูปในเรื่องพลังงานให้เรียบร้อยก่อนที่จะเปิดสัมปทานตามเจตนารมณ์เดิม ด้วยการใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน ในการแก้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ที่ใช้มาตั้งแต่ ปี 2014 ซึ่งมีจุดอ่อนและช่องโหว่ให้เรียบร้อย เพื่อประโยชน์ของประเทศ และประชาชน โดยจะเข้าร่วมเวทีแสดงความเห็น แต่เบื้องต้นยังไม่ได้รับหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด
มีรายงานจาก กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ แจ้งว่า ภายหลังได้ ชี้แจงถึงความคืบหน้าการขยายเวลายื่นขอรับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 ไปเป็นเดือนมีนาคม 2558 แล้วนั้น
ในช่วงบ่ายของวันนี้(17 ก.พ.) อธิบดีกรมเชื้อเพลิงฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เดินทางไปหารือกับม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถึงการจัดงานแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องการผลิตและสำรวจปิโตรเลียมกับภาคประชาชน ในวันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ นี้
ซึ่งเบื้องต้น คาดว่า ม.ล.ปนัดดา จะเป็นประธานจัดงาน และมอบให้รองปลัดสำนักนายกรัฐตรี หนึ่งท่าน เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยตั้งคำถามให้ตอบฝั่งละ 15 นาที โดยภาครัฐ นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน จะเป็นแกนนำ พร้อมเชิญตัวแทนจากภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าไทย นักวิชาการ นักกฎหมาย รวมถึง นายบรรยง พงษ์พานิช คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเข้าร่วม ฝั่งความเห็นต่าง จะมี ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี เป็นแกนนำ
อีกทั้งจะเชิญ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ที่ร่วมลงนามคัดค้านการเปิดสำรวจ ขึ้นเวทีด้วย พร้อมจะเชิญตัวแทนจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตัวแทนนักลงทุน เข้าร่วมรับฟัง
***โซเชียลแฉ!’บิ๊กตู่’เคยนั่งปธ.กำกับไทยออยส์
รายงานข่าวแจ้งว่า วันเดียวกัน สังคมออนไลน์ มีการเผยแพร่เอกสารรายงานประจำปี 2551 ของ บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ระบุตำแหน่งประธานคณะกรรมการกำกับดูแล (อิสระ) บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เป็นชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยดำรงตำแหน่งผู้บัญชากาทหารบก ลงนามรายงานประจำปีเป็น ประธานคณะกรรมการกำกับดูแล (อิสระ) เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 รวมกับกรรมการอีก 3 คน โดยเป็นที่สังเกตว่า ได้รับแต่งตั้ง วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 ก่อนดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารบก ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553.