เวทีสัมปทานปิโตรเลียม ฝ่ายหนุนมี “ศิริพงษ์-มนูญ-บรรยง-คุรุจิต” ฝ่ายค้าน “รสนา-ณพ-กรกสิวัฒน์-ธีระชัย” ขึ้นสวน “มาร์ค” พูดเปิด “ปานเทพ-อลงกรณ์” ฟังด้วย รองโฆษกรัฐบาลเผยประเด็นเน้นคุยข้อกฎหมายมีช่องโหว่หรือไม่ รับนายกฯ เรียก “ณรงค์ชัย” ตอบข้อสงสัยพลังงานหมดใน 7 ปีจริงหรือไม่ ก่อนนั่งดูทีวีหลังเสร็จภารกิจ แถมสั่งให้ขยายเวลาคุยเต็มที่ “ม.ล.ปนัดดา” ยันรัฐจริงใจแก้ปัญหา
วันนี้ (20 ก.พ.) ที่ตึกสันติไมตรี หลังนอก ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. มอบหมายให้ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเวทีกลางรับฟังความคิดเห็นในเวทีวิชาการ “เดินหน้าประเทศไทย เพื่อความมั่นคงทางพลังงานที่ยั่งยืน” การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 โดยบนเวทีตัวแทนจากฝ่ายรัฐบาลประกอบด้วย นายศิริพงษ์ ศุภกิจจานุสรณ์ นักวิชาการอิสระด้านกฎหมาย, นายมนูญ ศิริวรรณ สมาชิก สปช., นายบรรยง พงษ์พานิช ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการนโยบายกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ และนายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ขณะที่ฝั่งคัดค้านประกอบด้วย น.ส.รสนา โตสิตระกูล สปช.ด้านพลังงาน, นายณพ สัตยาศัย มูลนิธินโยบายสุขภาวะ, ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน และนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง โดยมีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆและประชาชนเข้าฟังการแสดงความคิดเห็นกว่า 300 คน รวมถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะตัวแทนฝ่ายผู้ยื่นแสดงเจตจำนงต่อรัฐบาล, นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.), นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิก สปช. และพ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ สมาชิก สปช.เป็นต้น มีกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร 150 นาย และตำรวจ 380 นายรักษาความปลอดภัยทั้งที่ทำเนียบรัฐบาล และศูนย์บริการประชาชน สำนักงาน ก.พ.ที่จัดให้มีการถ่ายทอดสดผ่านกล้องวงจรปิด และถ่ายทอดสดผ่านทางช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์
ทั้งนี้ ก่อนการหารือ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า ประเด็นพูดคุย คือ 1. ถ้าวันนี้จะเดินระบบสัมปทาน ข้อกฎหมายเราครบถ้วนหรือไม่ มีช่องโหว่ที่เป็นจุดรั่วไหลของชาติหรือไม่ หรือถ้าเดินหน้าด้วยระบบแบ่งปันผลประโยชน์ มีกฎหมายรองรับแล้วหรือยัง แล้วถ้าต้องทำกฎหมายใหม่จะมีผลกระทบต่อระยะเวลาความมั่นคงทางพลังงาน 7 ปี หรือ 10 ปี อย่างไร และ2.หากต้องเดินหน้าหรือชะลอ จะมีผลกระทบต่อการบริหารอย่างไร ใครรับผิดชอบ โดยข้อมูลที่ได้ทั้งหมดจะรวบรวมและประเมินว่าจะทำอย่างไรกันต่อไปเร็วที่สุด โดยก่อนการหารือนายกฯ เรียกนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงานเข้าพบ กำชับให้ตอบประชาชนถึงข้อสงสัยให้ได้ว่าอีก 7 ปีข้างหน้า พลังงานจะหมดจริงหรือไม่
โดยการหารือ ม.ล.ปนัดดากล่าวเปิดว่า ความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าประเทศในความมั่นคงพลังงานที่ยั่งยืน เป็นเรื่องที่นายกฯ มีความปรารถนาอยากให้เวทีนี้แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในเชิงวิชาการและเชิงเทคนิคต่างๆ หาใช่ว่าเอาชนะกันในลักษณะของการดีเบต หรือการโต้วาที ทั้งคำถามและข้อมูลที่ทั้งสองฝ่ายมีการพูดคุยกันไว้แล้วว่า คำถามที่จะเกิดขึ้นจะนำพาคุณูปการต่อการไปรวบรวมเป็นข้อมูลนำเสนอต่อผู้บริหารระดับสูงและนายกฯ ต่อไป และนำพามาซึ่งประโยชน์ประเทศไทยและความสุขประชาชน ขอเรียนว่ารัฐบาลปัจจุบันมีความจริงใจเป็นอย่างมาก ที่จะมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ภายใต้ความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน เราไม่ได้หวังหาคะแนนนิยมใดๆ ทั้งสิ้น เป็นเรื่องของการทำงานเพื่อหวังให้เกิดผลต่อประเทศชาติ จากนั้น นายอภิสิทธิ์เป็นตัวแทนฝ่ายผู้ยื่นแสดงเจตจำนงต่อรัฐบาลกล่าวเปิดเวที
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อเวลา 09.00 น.เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) ที่ห้องเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า และทันทีที่เสร็จสิ้นการประชุมเวลา 10.00 น. นายกฯ ขึ้นห้องทำงานชั้น 2 ติดตามการหารือเวทีกลางสัมปทานปิโตรเลียมทางช่อง 11 ทันที เป็นช่วงหลังจากนายอภิสิทธิ์กล่าวจบ ขณะเดียวกัน นายกฯ ยังไลน์มายัง พล.ต.สรรเสริญให้แจ้งผู้ดำเนินรายการผ่อนคลายเวลาไม่ต้องเข้มงวดเกินไป เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ และแสดงความเป็นห่วงข้อความตัววิ่งหน้าจอทีวีผ่านสายด่วน 1111 ที่เป็นความคิดของประชาชนว่าตัวเล็กเกินไป และยังได้มอบหมายให้ พ.อ.ณัฐวุฒิ ภาสุวณิชยพงศ์ นายทหารฝ่ายเสธ. ติดตามการแสดงความคิดเห็นในเวทีกลางที่ตึกสันติไมตรี และให้สรุปผลและรายงานผลการหารือต่อนายกฯ