ผ่าประเด็นร้อน
ประเด็นเรื่อง “พลังงาน” เริ่มมีความร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะความตื่นตัวของภาคประชาชนที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐปรับโครงสร้างและปฏิรูปการให้ประชาชนได้บริโภคในราคาที่เป็นธรรม และเป็นประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง
ที่สำคัญมีการเรียกร้องให้ภาครัฐ ทั้งรัฐบาล กระทรวงพลังงาน รวมทั้งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างเปิดกว้างและเปิดเผย รวมทั้งรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายเพื่อสร้างความเป็นธรรมและเป็นประโยชน์มากที่สุดก่อนตัดสินใจเปิดให้ยื่นสิทธิ์ให้บรษัทเอกชนขอสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21
ตามกำหนดกระทรวงพลังงานโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกำหนดให้ยื่นภายในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ แต่เมื่อมีเสียงคัดค้านที่ดังขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นกระแสตื่นตัวออกมาอย่างรวดเร็วเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดฟังข้อมูลจากทุกฝ่ายให้รอบด้าน เพื่อให้รัฐและประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด ทำให้ต้องมีการชะลอการยื่นสิทธิ์ดังกล่าวออกไปเป็นวันที่ 16 มีนาคมนี้แทน แล้วตั้งเวทีเพื่อรับฟังข้อมูลจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและภาคประชาชนเพื่อนำมาเปิดเผยและพิจารณากันบนเวทีที่รัฐบาลสนับสนุนให้มีขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาลในวันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ และให้สถานีโทรทัศน์ ช่อง 11 ถ่ายทอดสดจนถึงเวลา 12.00 น.
ก่อนหน้านั้น นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ระบุว่าการเปิดเวทีดังกล่าวจะเป็นการรับฟังข้อมูล เพื่อให้ได้ข้อสรุปเป็นครั้งสุดท้ายจากนั้นก็จะเดินหน้ากันต่อไป และว่าคนที่ทำให้เกิดวิกฤติพลังงานขาดแคลนในภายหน้าก็ต้องรับผิดชอบ
ขณะเดียวกัน เมื่อได้ยินคำพูดของฝ่ายกระทรวงพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ณรงค์ชัย อัครเศรณี ลงมาต่างยืนยันสอดคล้องกันว่า จะชะลอการเปิดสัมปทานรอบ 21 ไปจนถึงวันที่ 16 มีนาคมเท่านั้น จากนั้นก็จะดำเนินการต่อไป โดยอ้างว่าหากไม่รีบดำเนินการจะทำให้ไทยต้องเจอกับวิกฤติพลังงานโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่มีใช้เพียงแค่อีก 7 ปีเท่านั้น หากไม่มีการสำรวจและผลิตใหม่โดยเร็ว และที่สำคัญต้องใช้วิธีเปิดสัมปทานเท่านั้นถึงจะคุ้มค่ากว่าวิธีแบ่งปันผลผลิต ซึ่งมีความเสี่ยงและรัฐต้องร่วมลงทุนโดยที่ไม่รู้ว่าจะมีแหล่งก๊าซหรือไม่
สอดคล้องกับคำพูดล่าสุดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ของประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ที่ระบุว่าการเปิดให้สัมปทานจะมีความเหมาะสมและคุ้มค่ากว่าการใช้ระบบการแบ่งปันผลผลิต โดยอ้างว่าปัจจุบันประเทศอินโดนีเซียที่เคยใช้ระบบแบ่งปันฯ ก็ได้หันกลับมาใช้ระบบการให้สัมปทานแล้วเพื่อป้องกันความเสี่ยงและความคุ้มค่า
ขณะเดียวกัน เขาเห็นว่าเรื่องพลังงานกำลังมีการทำให้เบี่ยงเบนจนเกิดความสับสน และทำให้เป็นเรื่องการเมือง
ดังนั้นเมื่อประเมินจากคำพูดและท่าทีจากฝ่ายรัฐ ที่มีนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ลงมา จนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ย้ำว่าการเปิดเวทีในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ เพื่อหาข้อสรุปครั้งสุดท้ายก่อนที่จะเดินหน้าเปิดสัมปทานในวันที่ 16 มีนาคม เพราะรอไม่ได้ เนื่องจากประเทศเรากำลังอยู่ในความเสี่ยงวิกฤตด้านพลังงานโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยกำลังจะหมดลงภายใน 7 ปี หากไม่มีการสำรวจและผลิตใหม่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากผู้บริหาร ปตท.ที่ต้องใช้ระบบสัมปทานเท่านั้น พร้อมทั้งยืนยันว่าทาง ปตท.จะร่วมยื่นขอสัมปทานสำรวจด้วย
ความหมายก็คือ การเปิดเวทีครั้งนี้ก็เพียงแค่ “ชะลอ” การเปิดสัมปทานออกไปชั่วคราวเพียงแค่หนึ่งเดือนเท่านั้น เพื่อลดกระแสการต่อต้านและควาไม่พอใจจากภาคประชาชนที่เริ่มร้อนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น จากนั้นหลังจากวันที่ 16 มีนาคมก็จะเดินหน้าต่อไป หากเป็นแบบนี้มันจะมีความหมายอะไรเพราะทุกอย่างมัน “ตั้งธง” เอาไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว มันก็ไม่ต่างจาก “ปาหี่” เท่านั้น
ที่ผ่านมาหากจำกันได้เรื่องปฏิรูปพลังงานทั้งระบบ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยย้ำว่าให้รอฟังมติหรือข้อสรุปจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แต่กลายเป็นว่าเมื่อมติ สปช.ออกมาให้ชะลอเรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เอาไว้ก่อน เพื่อรอผลการศึกษาข้อมูลอย่างเปิดกว้างและรอบคอบ ทางฝ่ายรัฐบาลก็ไม่ฟัง อ้างว่า สปช.ไม่มีอำนาจสั่งรัฐบาลไม่ได้ ว่าไปนั่นอีก
อย่างไรก็ดี การเปิดเวทีครั้งนี้อาจมีข้อดีอยู่เพียงเรื่องเดียวหากมีการถ่ายทอดสดก็คือประชาชนจะได้รับฟังข้อมูลจากภาครัฐและภาคประชาชนว่าแต่ละฝ่ายสามารถนำเสนอได้น่าเชื่อถือกว่ากัน แต่คงไม่สามารถยับยั้งการเปิดสัมปทานรอบใหม่ ที่มีอายุไม่น้อยว่า 39 ปีได้เลย เนื่องจากมีการเตรียมการเอาไว้พร้อมแล้ว หรืออย่างมากก็อาจมีการปรับเปลี่ยนให้มีการใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตบางหลุมเพื่อลดกระแสตามที่อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ พวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ ได้ออกมาเปิดเผยก่อนหน้านี้
ดังนั้น หากพิจารณาจากคำพูดของ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่ระบุว่ากำลังมีการทำให้เรื่องพลังงานกลายเป็นเรื่องการเมือง ก็ไม่น่าจะจริง เพราะแท้จริงแล้วเรื่องพลังงานเป็นเรื่องของ “ผลประโยชน์” ต่างหาก เพียงแต่ว่าใครจะได้ ประชาชนส่วนใหญ่หรือใครกันแน่!!