บิ๊ก ปตท.ป้อง “บิ๊กตู่” หลังโซเชียลมีเดียวิพากษ์วิจารณ์นโยบายพลังงานของรัฐ อ้างห่วงคนเข้าใจผิด หลงประเด็น และไม่ควรหยิบเรื่องพลังงานมาใช้เป็นประเด็นการเมือง หวั่นทำให้การปฏิรูปพลังงานเป๋ แย้มเห็นด้วยการจัดเวทีทำความเข้าใจเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ในวันศุกร์ (20 ก.พ.) นี้
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับนโยบายพลังงานของรัฐที่นายกรัฐมนตรีพูดในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยมีการนำมาวิพากษ์วิจารณ์ โดยนำข้อมูลมาปะติดปะต่อทำให้เกิดความสับสนในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งตนมีความเป็นห่วง เนื่องจากราคาพลังงานเป็นเรื่องเทคนิคและมีรายละเอียดเยอะ หากมีการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปคนละเรื่องจะส่งผลให้การปฏิรูปพลังงานเป๋ไปหมด และไม่ควรนำพลังงานมาเป็นประเด็นเรื่องรักชาติหรือการเมือง
ดังนั้น ปตท.จึงอยากชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง อาทิ ประเด็นที่ระบุว่าข้อมูลภาครัฐบอกว่าก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะหมดใน 7 ปีหากไม่มีการเจาะสำรวจใหม่เพิ่มเติมทำให้รัฐต้องเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ขัดกับข้อมูลที่ ปตท.ระบุมีก๊าซฯ ใช้ 20 ปีนั้น ขอยืนยันว่าข้อมูลจากภาครัฐเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง โดยที่ ปตท.ไม่เคยระบุว่ามีก๊าซฯ ใช้นาน 20 ปี เชื่อว่าเป็นการหยิบข้อมูลที่ระบุว่า ปตท.ได้มีการทำสัญญาซื้อก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากประเทศกาตาร์ ในรูปสัญญาระยะยาว 20 ปี ในปริมาณ 2 ล้านตัน/ปี ซึ่งเป็นคนละประเด็นกัน
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความต้องการใช้ก๊าซฯ ปีละ 40 ล้านตัน มาจากก๊าซฯ ในอ่าวไทย 30 ล้านตัน ที่เหลือเป็นการนำเข้าจากพม่า และพื้นที่คาบเกี่ยวไทย-มาเลเซีย (JDA) 10 ล้านตัน ซึ่งปริมาณก๊าซ LNG ที่นำเข้าจากกาตาร์เพียง 2 ล้านตันคิดเป็นสัดส่วนเพียง 5-6% ของความต้องการใช้ทั้งหมด ซึ่งก๊าซฯ ที่นำเข้าจากต่างประเทศจะมีราคาสูงกว่าราคาก๊าซฯ ในอ่าวไทย ดังนั้นการเปิดสัมปทานรอบ 21 จะเป็นการเปิดให้มีการสำรวจเพื่อเพิ่มการผลิตก๊าซฯ ได้เองภายในประเทศ แต่ก็ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะพบแหล่งก๊าซฯ ได้จริงหรือไม่
นอกจากนี้ ตามที่นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “ราคาน้ำมันลง ไม่ใช่ว่าก๊าซฯ จะต้องลงไป คงไม่ใช่แบบนั้น เพราะคนละส่วน คนละต้นทุนและวิธีการ” นั้นถูกต้องแล้ว เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ที่อ้างอิงราคาน้ำมันเตาย้อนหลัง 6-12 เดือน จึงทำให้ราคาก๊าซฯ ไม่สามารถปรับลดได้ทันทีตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง และจะสะท้อนให้เห็นในอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติผันแปร หรือเอฟทีที่มีแนวโน้มปรับลง 10 กว่าสตางค์ต่อหน่วย
“สิ่งที่เกิดขึ้นในโซเชียลออนไลน์นั้นพยายามทำให้สังคมลดความเชื่อถือในข้อมูลของรัฐ ซึ่งหากไม่เชื่อมั่นข้อมูลรัฐแล้วจะเชื่อข้อมูลจากไหน ผมอยู่ในธุรกิจพลังงานมานานหลายปีก็ยังไม่กล้ากล่าวว่าตนเองรู้เรื่องพลังงานดีที่สุด ยังต้องเรียนอยู่เลย จึงอยากจะเตือนสติกัน โดยยืนยันว่าข้อมูล ปตท.กับข้อมูลรัฐไม่ได้ขัดแย้งกัน” นายไพรินทร์กล่าว
ส่วนการจัดเวทีทำความเข้าใจการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ในวันศุกร์นี้ (20 ก.พ.) ของรัฐบาลเป็นเรื่องที่ดีที่จะได้มีการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจ แม้ว่าขณะนี้ทาง ปตท.ยังไม่ได้รับการติดต่อให้เข้าร่วม แต่ต้องรับฟังข้อมูลทั้ง 2 ฝ่ายแล้วตัดสินใจจากข้อมูล ไม่ใช่ตัดสินใจจากโวหาร และไม่ต้องการให้นำประเด็นเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 เป็นประเด็นการเมืองเพราะจะไม่จบ เพราะถ้าไทยไม่สามารถเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ได้ก็จะต้องนำเข้า LNG มากขึ้นขณะที่ราคาอิงตามตลาดโลก
นายไพรินทร์กล่าวว่า การเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 ที่มีการเสนอให้ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) นั้นยังไม่เหมาะสมกับประเทศไทย เพราะแหล่งก๊าชธรรมชาติมีขนาดเล็กจึงมีความเสี่ยงในการลงทุนและระบบแบ่งปันผลผลิต ยังเป็นภาระของรัฐบาลที่ต้องร่วมลงทุนในการเจาะสำรวจด้วย หากไม่พบปิโตรเลียมก็จะเสี่ยง ขณะนี้อินโดนีเซียที่เคยใช้ระบบ PSC ยังหันกลับมาใช้ระบบสัมปทาน เพื่อต้องการกระตุ้นให้เกิดการเจาะสำรวจมากขึ้น หลังจากปริมาณการผลิตก๊าซฯ ลดลงอย่างต่อเนื่องในรอบ 10 ปี
อย่างไรก็ตาม ทางบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ. จะเข้าร่วมยื่นขอสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ในแหล่งปิโตรเลียมที่เกี่ยวข้อง เพื่อรักษาอัตราการผลิตปิโตรเลียม