xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.วอนอย่าดึงการเมืองเอี่ยวสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด ( มหาชน ) กล่าวว่า การจัดเวทีทำความเข้าใจการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ของรัฐบาล ทาง ปตท. ยังไม่ได้รับการติดต่อให้เข้าร่วม แต่เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่จะมีการพูดคุยกันแต่ต้องเป็นการแลกเปลี่ยนข้อสงสัยและฟังข้อมูลทั้ง 2 ฝ่าย เพราะเรื่องของพลังงานมีรายละเอียดมาก และเป็นเรื่องทางเทคนิค ที่ไม่ควรรับรู้ข้อมูลแบบผิวเผิน ซึ่งการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 มีความสำคัญกับประเทศไทย เพราะก๊าชธรรมชาติในอ่าวไทยกำลังจะหมดลงใน 7 ปีข้างหน้า หากไม่สามารถลงทุนสำรวจก๊าชธรรมชาติมาเพิ่มเติม ไทยต้องนำเข้าก๊าชธรรมชาติเหลว หรือ แอลเอ็นจี ซึ่งมีความเสี่ยงด้านราคาในอนาคต
อย่างไรก็ตาม นายไพรินทร์ กล่าวต่อไปว่า การเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบที่ 21 ที่มีการเสนอให้ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ พีเอสซี ยังไม่เหมาะสมกับประเทศไทย เพราะแหล่งก๊าชธรรมชาติมีขนาดเล็กจึงมีความเสี่ยงในการลงทุน และเป็นภาระของรัฐบาลที่ต้องร่วมรับความเสี่ยงหากไม่พบปิโตรเลียม เช่น ประเทศอินโดนีเซียที่เคยใช้ระบบพีเอสซี ยังหันกลับมาใช้ระบบสัมปทานเพื่อลดภาระของภาครัฐ หลังปริมาณปิโตรเลียมที่ขุดพบน้อยลง โดย ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ. จะเข้าร่วมในการประมูลด้วย และย้ำว่าไม่ควรเอาเรื่องพลังงานมาเป็นประเด็นเรื่องการเมือง หรือการรักชาติ เพื่อบิดเบือนข้อมูล เพราะจะทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมและไม่เป็นประโยชน์กับประเทศ รวมถึงมีความเป็นห่วง การรณรงค์ไม่ให้เชื่อข้อมูลของหน่วยงานรัฐ และมีการดิสเครดิต
นอกจากนี้ ปตท. ขอชี้แจงกรณีสื่อสังคมออนไลน์ ระบุว่า ไทยมีแหล่งก๊าชธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าได้อีก 20 ปี ว่า เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน โดยเอาข้อมูลที่ ปตท.ทำสัญญาซื้อขายก๊าชธรรมชาติเหลว หรือ แอลเอ็นจี จากกาตาร์ระยะยาว 20 ปี ปริมาณ 2 ล้านตันมาเชื่อมโยง ซึ่งไม่เกี่ยวกับปริมาณก๊าชธรรมชาติในอ่าวไทย ส่วนกรณีราคาก๊าชธรรมชาติที่ไม่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลกนั้น เพราะราคาก๊าชธรรมชาติอ้างอิงกับราคาน้ำมันเตา ซึ่งจะปรับราคาลดลงช้ากว่าราคาก๊าชธรรมชาติ ประมาณ 6-12 เดือน โดยจะสะท้อนให้เห็นในอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติผันแปร หรือ เอฟทีที่มีแนวโน้มปรับลง 10-20 สตางค์ต่อหน่วย
กำลังโหลดความคิดเห็น