เปิดหนังสือที่ “เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ” ยื่นถึง “พล.อ.ประยุทธ์” ด้าน “ยะใส” หวังอย่าเป็นแค่พิธีกรรม รัฐบาลเปิดเวทีกลางสัมปทานฯรอบที่ 21 สุดสัปดาห์นี้ เชื่อ “บิ๊กตู่” จะได้ฟังข้อมูลสัมปทานฯ รอบ 21 อย่างรอบด้าน เชื่อท่าทีจะไม่เป็นอย่างที่เห็น
วันนี้ (16 ก.พ.) มีรายงานว่า สังคมออนไลน์มีการเผยแพร่หนังสือที่ “เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ” ยื่นถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเรียกร้องต่อแนวทางขยายเวลาการยื่นแสดงจำนงสำรวจและผลิตปิโตรเลียมและข้อเรียกร้องต่อแนวทางการจัดเวทีกลางถกสัมปทานรอบที่ 21 ที่ศูนย์บริการประชาชน เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ประกอบด้วยหนังสือเรื่อง “ข้อเรียกร้องต่อแนวทางขยายเวลาการยื่นแสดงจำนงสำรวจและผลิตปิโตรเลียมและข้อเรียกร้องต่อแนวทางการจัดเวทีกลางถกสัมปทานรอบที่ 21” และ “ขอทราบผลการพิจารณาข้อเรียกร้อง และขอยื่นรายชื่อประชาชนให้ยกเลิกการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 เพิ่มเติม”
ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความเห็นต่อการเปิดเวทีกลางสัมปทานฯรอบที่ 21 ของรัฐบาล โดยมีใจความว่า
“ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ตัดสินใจเปิดเวทีกลางหาทางออกกรณีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ในวันที่ 20 ก.พ.ที่ทำเนียบรัฐบาล ถูกแล้วที่ไม่ต้องเร่งรีบ หรือด่วนตัดสินใจจากขัอมูลภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงพลังงานและ ปตท.ฝ่ายเดียว ยิ่งอ้างประเด็นความมั่นคงด้านพลังงาน ยิ่งต้องฟังความรอบข้าง จากนักวิชาการและภาคประชาชนด้วย เพื่อให้งานด้านความมั่นคงยืนอยู่บนข้อมูลความจริงชุดเดียว ไม่ใช่ท่องคาถาความมั่นคงจนไม่รู้ว่าความจริง ข้อเท็จจริงคืออะไรกันแน่ อย่าลืมว่าปัญหาด้านพลังงานที่ไต่ระดับเข้าใกล้วิกฤติการณ์มากขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเพราะการจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพของหน่วยงานที่ผูกขาดรับผิดชอบ ถ้ายังจะให้หน่วยงานเดิม คนเดิม ตรรกะเดิมๆ รับผิดชอบตามลำพัง ก็ไม่รู้ว่าความมั่นคงที่อ้างจะเป็นความมั่นคงของใคร ผมอยากเห็นเวทีนี้เปิดอก แชร์ข้อมูล โชว์ตัวเลขและข้อเท็จจริงกันให้มากที่สุด เลิกอ้างกันเสียทีความลับราชการ เปิดเผยไม่ได้ ที่สำคัญควรมีการถ่ายทอดสดทางทีวีเพื่อให้ประชาชนได้ติดตามความจริงกัน
ผมไม่อยากให้ท่านนายกฯ ทำเรื่องนี้เป็นแค่พิธีกรรม หวังลดกระแสต้าน เหมือนที่ท่านไปสวนมติ สปช.ก่อนหน้านี้ เสียรังวัดไม่ใช่น้อยในครานั้น ที่สำคัญอย่าไปบีบและรวบรัดให้จบในเวทีเดียว ถ้าจำเป็น มีข้อโต้แย้งที่ยังไม่ได้ข้อสรุป ก็ควรตั้งเป็นประเด็นถกกันต่อ สร้างกลไกค้นหาความจริง (Fact Finding) ร่วมกัน ผมยังเชื่อลึกๆ ว่าถ้าท่านนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ได้ฟังข้อมูลอย่างรอบด้าน ท่าทีท่านจะไม่เป็นอย่างที่เราเห็นครับ”