xs
xsm
sm
md
lg

รบ.หวังถกสัมปทานปิโตรเลียม เป็นเวทีสุดท้าย ชี้จริงใจจึงเลื่อนสมัครการสำรวจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(แฟ้มภาพ)
“นายพลไก่อู” แจงเวทีกลางถกเปิดสัมปทานปิโตรเลียม แนวคิด “ประยุทธ์” จริงใจฟังความเห็นที่เป็นประโยชน์ จึงขยายรับสมัครการสำรวจปิโตรฯ กันข้อครหา หวังเป็นเวทีสุดท้าย 20 ก.พ.มีข้อสรุป ขออย่าเถียงเอาตาย ต้องเปิดใจฟัง มอบ “ปนัดดา” ส่งเทียบเชิญ พร้อมส่งคำถามให้ทำการบ้านก่อน ยังไม่ทราบ นายกฯ ร่วมด้วยหรือไม่

วันนี้ (16 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเปิดเวทีกลางรับฟังความคิดเห็นการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ในวันที่ 20 ก.พ.ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้ดำริให้จัดเวทีดังกล่าวขึ้นมา โดยรัฐบาลเป็นเจ้าภาพใหญ่ เพราะรัฐบาลตั้งใจจะรับฟังความคิดเห็นเพื่อให้การเดินหน้าสำรวจและผลิตปิโตรเลียมไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์และเหมาะสมต่อประเทศชาติและประชาชน เราจึงแสดงความจริงใจด้วยการเลื่อนกำหนดวันปิดรับสมัครการสำรวจปิโตรเลียมจากวันที่ 18 ก.พ.ออกไปก่อน เพราะนายกฯ ไม่อยากให้ใครมาพูดว่าตัดสินใจเดินหน้าเรื่องพลังงานโดยไม่ฟังข้อมูลจากฝ่ายต่างๆ ที่ผ่านมาข้อมูลมี 2 ด้านตลอดมา ดังนั้น เวทีนี้จะเป็นเวทีกลางที่ทำให้ประชาชน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นักวิชาการ และรัฐบาล ได้ฟังข้อมูลในช่วงเวลาเดียวกัน รัฐบาลคาดหวังว่าหลังจากวันที่ 20 ก.พ.จะมีข้อสรุปเกี่ยวกับการเดินหน้าเรื่องพลังงานว่าจะเป็นแนวทางใด อยากให้เป็นเวทีสุดท้าย ผู้ที่เข้าร่วมเวทีต้องเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ไม่ใช่เถียงกันเอาเป็นเอาตาย ต้องเปิดใจรับฟังคนอื่น

รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า นายกฯ มอบหมายให้ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหนังสือเชิญตัวแทนทุกฝ่ายมาเข้าร่วม เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง และคนอื่นๆ รูปแบบเวทีจะมีการส่งคำถามให้กับทั้งสองฝ่ายก่อน คือ กระทรวงพลังงานและผู้ที่มีความเห็นต่างภายในวันที่ 19 ก.พ. เพื่อให้มีการเตรียมการบ้านมาตอบ คำถามจะมาจากข้อห่วงใยจากสังคม เช่น พลังงานที่มีอยู่จะใช้ได้อีกกี่ปีและข้อมูลมาจากที่ใด วิธีการแบบไหนเป็นวิธีการที่เหมาะสมที่สุดระหว่างระบบสัมปทานกับระบบแบ่งปันผลผลิต หากใช้วิธีการแบ่งปันผลผลิตต้องใช้ระยะจัดเตรียมข้อกฎหมายนานเท่าไร หากตกลงใจว่าจะใช้วิธีการใดต้องมีคำตอบให้ประชาชนว่าเมื่อทำไปแล้วราคาพลังงานจะถูกลงหรือไม่ ไม่ใช่ในลักษณะตั้งคำถามแล้วให้โต้กันไปมา ซึ่งในเวทีจะมีการกำหนดเวลาให้แต่ละฝ่ายตอบคำถาม ส่วนนายกฯ จะร่วมเวทีดังกล่าวหรือไม่นั้นยังไม่มีความชัดเจน


กำลังโหลดความคิดเห็น