xs
xsm
sm
md
lg

กรมเชื้อเพลิงฯ โยนรัฐบาลตอบ หากจัดเวทีถกสัมปทานฯ แล้วยังไม่จบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยืนยันเลื่อนเปิดสิทธิสำรวจปิโตรเลียมภายใน 16 มี.ค. 58 นี้เพื่อให้สอดรับกับแนวทางปฏิรูปพลังงานภาครัฐ เงื่อนไขรายละเอียดต่างๆ ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่กรณีจัดเวที 20 ก.พ.นี้แล้วยังไม่จบคงต้องถามภาครัฐบาล ลั่นหากที่สุดไทยต้องยุติการเปิดสำรวจปิโตรเลียมจากสำรองที่มีอยู่ไม่มีการผลิตเพิ่มอีก 7 ปีวิกฤตแน่

นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาลและสอดคล้องกับการปฏิรูปด้านพลังงาน กระทรวงพลังงานจึงได้ประกาศขยายกำหนดเวลาในการยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงบนบกและในทะเลอ่าวไทยจากภายในวันที่ 18 ก.พ. 2558 เป็นภายใน 16 มีนาคม 2558 โดยยืนยันว่าเงื่อนไขต่างๆ ที่เชิญชวนเอกชนยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งเอกชนสามารถยื่นขอสิทธิสำรวจฯ ได้ที่กรมฯ ตามกำหนดเวลาดังกล่าว

“การประกาศดังกล่าวก็ให้สอดรับกับการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกรณีเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 วันที่ 20 ก.พ.นี้ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้มีข้อมูลที่ถูกต้องตรงกันเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจของรัฐบาลโดยคำนึงถึงความมั่นคงด้านพลังงาน โดยระหว่างนี้เอกชนก็สามารถมายื่นได้ภายใน 16 มี.ค. 58 นี้ โดยล่าสุดเช้าวันนี้ (17 ก.พ.) มีเอกชนมายื่นแล้ว 1 ราย อย่างไรก็ตาม กรณีที่เมื่อจัดเวทีแล้วไม่จบก็คงต้องถามรัฐบาลว่าคืออะไร เนื่องจากที่ผ่านมาการจัดเวทีรับฟังความเห็นก็ดำเนินไปแล้ว และทุกประเด็นที่มีคำถามก็ตอบไปหมด และยังมีเอกสารที่ชี้แจงผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช.ด้วย” นางพวงทิพย์กล่าว

ทั้งนี้ หากที่สุดไทยไม่สามารถเดินหน้าการเปิดให้มีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 ได้ เมื่อพิจารณาปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติคือที่พิสูจน์แล้ว (Proved Reserve) คือมั่นใจ 90% ว่าผลิตได้ที่มีอยู่ประมาณ 8.42 ล้านลูกบาศก์ฟุต หากไม่มีการหาเพิ่มเมื่อหารด้วยอัตราการผลิตปัจจุบันที่ระดับ 1.312 ล้าน ลบ.ฟ. จะทำให้ไทยมีก๊าซใช้ได้อีกประมาณ 6.4-7 ปี ดังนั้น ช่วง 7 ปีนี้ไทยก็จะเกิดวิกฤตขาดแคลนก๊าซฯ หากไม่หาเพิ่ม และที่สำคัญจะกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องในมาบตาพุด

“ถ้าเอาสำรองก๊าซฯ ที่พิสูจน์แล้ว หรือ P1 กับสำรองก๊าซที่คาดว่าจะพบ หรือ Probable Reserves (P2) คาดว่าไทยจะมีก๊าซใช้ไปได้อีก 13 ปี แต่อย่าลืมว่าถ้าเราไม่ทำให้ P2 เป็น P1 คือเก็บเอาไว้ให้ลูกหลานเราก็จะต้องนำเข้าเพิ่มขึ้นและมีราคาแพง แต่มากกว่านั้นคืออุตสาหกรรมต่อเนื่องใน จ.ระยอง โดยเฉพาะปิโตรเคมีและพลาสติกที่ไม่สามารถใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ได้เพราะไม่มีคุณสมบัติในการทำปิโตรเคมีอะไรจะเกิดขึ้น นั่นหมายถึงโรงงานส่วนใหญ่ใน จ.ระยองอาจต้องปิดลงเพราะปิโตรเคมีคืออุตสาหกรรมพื้นฐานของอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากมาย” นางพวงทิพย์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น