xs
xsm
sm
md
lg

รัฐลดแรงต้านสัมปทานปิโตรฯ21ปรับเกณฑ์นำPSCใช้3แปลง ชี้ยกร่างกม.-เจรจาไม่ยุติยกเลิกเงื่อนไข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระทรวงพลังงานลดแรงต้านเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ยอมปรับเงื่อนไขนำระบบแบ่งปันผลผลิตหรือPSC มาใช้กับ 3 แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยได้แก่ G3/57 G5/57 และG6/57 จากที่จะเปิดให้เอกชนยื่นขอสำรวจภายใน 18 ก.พ.นี้ 29 แปลง โดยรัฐจะใช้สิทธิ์เจรจาภายใน 4 ปีเพื่อรอให้การยกร่างกฏหมายมารองรับแล้วเสร็จด้วย แต่หากกม.ไม่เสร็จ4 ปี-เจรจาไม่ยุติเงื่อนไขนี้จะต้องเป็นอันตกไป พร้อมกำหนดทุกรายต้องเปิดเผยคำขอ ข้อผูกพันปริมาณเงินและปริมาณงาน

นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมานายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงานได้ลงนามประกาศเชิญชวนให้มีการยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม(เพิ่มเติม)จากที่ประกาศเชิญชวนให้เอกชนยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 ตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค. 57 สิ้นสุดการยื่น 18 ก.พ.58 ภายใต้ระบบสัมปทานไทยแลนด์ทรีพลัสโดยประกาศเพิ่มเติมได้กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขใหม่ 2 ข้อเพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) และนโยบายรัฐบาล

สำหรับเงื่อนไขที่เพิ่มเติมในประกาศมีดังนี้ ข้อ 2.4 (2) วรรคสอง “ผู้ยื่นขอทุกรายจะยินยอมให้กระทรวงพลังงานเปิดเผยคำขอ พร้อมทั้งโครงการและข้อผูกพันด้านปริมาณเงินและปริมาณงานที่ยื่นประกอบคำขอเมื่อสิ้นสุดการพิจารณา” ข้อ4.8 “ในกรณีที่รัฐมีนโยบายให้นำระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต(PSC) หรือระบบบริหารจัดการอื่นใดมาใช้สำหรับแปลงสำรวจในอ่าวไทยหมายเลข G3/57 G5/57 และ G6/57 ซึ่งเป็นแปลงในทะเลรัฐบาลอาจใช้สิทธิแจ้งให้ผู้ได้รับสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมดังกล่าวมาเจรจรจาเพื่อตกลงยินยอมเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์โดยการใช้สิทธิ์แจ้งของรัฐบาลจะดำเนินการภายใน 4 ปีแรกของระยะเวลาสำรวจ“

"เรายังคงให้เอกชนมายื่นฯสำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21 สิ้นสุด 18 ก.พ.เหมือนเดิมแต่ปรับเงื่อนไขให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาล โดยนำแปลงสำรวจ 3 แปลงจาก 29 แปลงที่เปิดมาเป็นระบบ PSC สาเหตุที่เราไม่ปรับทั้ง 29 แปลงเป็นระบบ PSC เพราะระบบสัมปทานนั้นมีความเหมาะสมกับศักยภาพแหล่งปิโตรเลียมของไทยที่เป็นแหล่งเล็กๆและที่สำคัญระบบ PSC ยังไม่มีกฏหมายรองรับ การหยุดเพื่อรอกฏหมายทำให้เราเสียโอกาสในการเพิ่มสำรองปิโตรเลียมที่เริ่มลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ระบบ PSC ที่เลือก 3 แปลงเพราะเป็นแปลงที่มีศักยภาพเพราะมีการสำรวจแล้วแต่คืนมา ”นางพวงทิพย์กล่าว

***เปิดช่องกม.ไม่เสร็จ4ปี-เจรจาไม่ยุติเป็นอันตกไป

ทั้งนี้ขั้นตอนการทำงานหลังครบกำหนดยื่นสิทธิ์สำรวจ 18 ก.พ. ก็จะพิจารณาคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาคำขอ คณะกรรมการปิโตรเลียม รมว.พลังงานนำเสนอครม.เห็นชอบ หลังจากที่กระทรวงพลังงานออกสัมปทานโดยครม.อนุมัติก็จะเริ่มเวลานับ 4 ปี หน่วยงานที่รับผิดชอบออกกฏหมายซึ่งจะต้องประมวลจากความเห็นทุกๆฝ่ายก่อนนำเสนอนโยบายให้รัฐบาลนำยกร่างเป็นกฏหมายหลังกฏหมายบังคับใช้รัฐบาลก็จะขอใช้สิทธิ์ใน 3 สัมปทานดังกล่าวมาเจรจาต่อรอง แต่หากรัฐออกกฏหมายไม่ทันใน 4 ปีหรือเจรจาตกลงไม่ได้เงื่อนไขนี้ก็จะต้องเป็นอันตกไป

“ การอนุมัติและมีการลงนามโดยคาดว่าจะใช้เวลา 4-5 เดือน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นระบบใดจะต้องจ่ายโบนัสลงนาม โดย 3 แปลงดังกล่าวต้องจ่ายแปลงละ 100 ล้านบาท ขณะที่แปลงอื่นๆ จ่าย 10 ล้านบาท และแปลงขนาดเล็กจ่ายเพียง 3 ล้านบาท โดยกรมฯมั่นใจว่าแปลงในทะเลอ่าวไทยมี 6 แปลงซึ่งรวม 3 แปลงที่ปรับเงื่อนไขจะมีผู้สนใจมายื่นเพราะนักลงทุนมองที่ศักยภาพของแหล่งปิโตรเลียมเป็นหลัก โดยหากมีผู้มายื่นครบทั้ง 29 แปลงคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท โดยกรมฯคาดหวังว่าจะมีผู้มายื่นไม่ต่ำกว่า 10 ราย โดยแปลงสำรวจทั้งหมดมีปริมาณทรัพยากร 1-5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต แยกเป็นก๊าซฯ 1.5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต น้ำมัน 20-25 ล้านบาร์เรล”

สำหรับกรณีแปลงสัมปทานของแหล่งเอราวัณและบงกช ที่จะหมดอายุลงในช่วงระหว่างปี 2565-2666 นั้นมีคณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการดำเนินงานดังกล่าวอยู่โดยหลักการจะต้องให้มีการผลิตก๊าซธรรมชาติต่อเนื่องและจะไม่ใช้ระบบไทยแลนด์วันที่เป็นของเดิมแน่นอน แต่จะเป็นระบบใด คณะอนุกรรมการฯจะมีการสรุปแนวทางที่แน่ชัดภายในกลางปีนี้และต้องดำเนินการตกลงกับเอกชนให้จบภายในปี 2560 เพื่อให้การผลิตต่อเนื่อง.
กำลังโหลดความคิดเห็น