กระทรวงพลังงานลดแรงต้านเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ยอมปรับเงื่อนไขนำระบบแบ่งปันผลผลิตหรือ PSC มาใช้กับ 3 แปลงสำรวจในทะเล ได้แก่ G3/57 G5/57 และ G6/57
นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน ได้ลงนามประกาศเชิญชวนให้มีการยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (เพิ่มเติม) จากที่ประกาศเชิญชวนให้เอกชนยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 ตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค. 57 สิ้นสุดการยื่น 18 ก.พ. 58 ภายใต้ระบบสัมปทานไทยแลนด์ทรีพลัส โดยประกาศเพิ่มเติมได้กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขใหม่ 2 ข้อเพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
สำหรับเงื่อนไขที่เพิ่มเติมในประกาศมีดังนี้ ข้อ 2.4 (2) วรรคสอง “ผู้ยื่นขอทุกรายจะยินยอมให้กระทรวงพลังงานเปิดเผยคำขอ พร้อมทั้งโครงการและข้อผูกพันด้านปริมาณเงินและปริมาณงานที่ยื่นประกอบคำขอเมื่อสิ้นสุดการพิจารณา” ข้อ 4.8 “ในกรณีที่รัฐมีนโยบายให้นำระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) หรือระบบบริหารจัดการอื่นใดมาใช้สำหรับแปลงสำรวจในอ่าวไทยหมายเลข G3/57 G5/57 และ G6/57 ซึ่งเป็นแปลงในทะเล รัฐบาลอาจใช้สิทธิแจ้งให้ผู้ได้รับสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมดังกล่าวมาเจรจาเพื่อตกลงยินยอมเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ โดยการใช้สิทธิ์แจ้งของรัฐบาลจะดำเนินการภายใน 4 ปีแรกของระยะเวลาสำรวจ
“เรายังคงให้เอกชนมายื่นฯ สำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21 สิ้นสุด 18 ก.พ.เหมือนเดิมแต่ปรับเงื่อนไขให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาล โดยแปลงที่เปิดให้ยื่น 29 แปลงในนี้จะมี 3 แปลงดังกล่าวที่อยู่ในทะเลเราก็จะขอใช้สิทธิ์เมื่อผู้ที่ได้รับสัมปทานแล้วเราก็จะปรับไปเป็นระบบ PSC ระหว่างนี้ก็จะต้องไปเร่งดำเนินการออกกฎหมายรองรับ สาเหตุที่เราไม่ปรับทั้ง 29 แปลงเป็นระบบ PSC เพราะระบบสัมปทานนั้นมีความเหมาะสมกับศักยภาพแหล่งปิโตรเลียมของไทยที่เป็นแหล่งเล็กๆ ขณะที่ระบบ PSC ที่เลือก 3 แปลงเพราะเป็นแปลงที่มีศักยภาพเพราะมีการสำรวจแล้วแต่คืนมาเพราะขณะนั้นยังไม่คุ้มค่าเชิงพาณิชย์ ขณะเดียวกันหากใช้ PSC ก็จะต้องรอให้มีกฎหมายซึ่งจะต้องใช้เวลาหลายปี ขณะที่สำรองปิโตรเลียมของไทยลดลงต่อเนื่อง” นางพวงทิพย์กล่าว
สำหรับกรณีแปลงสัมปทานของแหล่งเอราวัณและบงกชที่จะหมดอายุลงในช่วงระหว่างปี 2565-2666 นั้นมีคณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการดำเนินงานดังกล่าวอยู่ โดยหลักการจะต้องให้มีการผลิตก๊าซธรรมชาติต่อเนื่องและจะไม่ใช้ระบบไทยแลนด์วันที่เป็นของเดิมแน่นอน แต่จะเป็นระบบใดคณะอนุกรรมการฯ จะมีการสรุปแนวทางที่แน่ชัดภายในกลางปีนี้ และต้องดำเนินการตกลงกับเอกชนให้จบภายในปี 2560 เพื่อให้การผลิตต่อเนื่อง