ถกสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 นัดแรก “ประสงค์” นำ 10 ภาคประชาชนมาครบ ด้านภาครัฐ “อธิบดีกรมเชื้อเพลิงฯ” ชิ่ง มอบรองฯประชุมแทน อ้างติดภารกิจ เผยประชุมนัดแรกกว่า 2 ชั่วโมง 2 ฝ่ายเห็นพ้องแก้ไขกฎหมาย 3 ฉบับ ส่วนการทบทวนการจัดสรรทรัพยากรปิโตรเลียม ทบทวนโครงสร้างและราคาก๊าซและนำมันสำเร็จรูป ทบทวนนโยบายเรื่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และแก้ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน รอสรุปครั้งหน้า ย้ำภาคประชาชนและภาครัฐ ต้องนั่งคุยกันเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด ส่วนภาคประชาชนเดินหน้าตั้งอนุกรรมการ 3 ฝ่าย
วันนี้ (6 มี.ค.) มีรายงานว่า เมื่อเวลา 14.00 น. หม่อมหลวง ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตร เป็นประธานในการประชุมหารือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการประชุมนัดแรก หลังจากมีการเปิดเวทีเสวนาเมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล
ขณะที่ตัวแทนจากภาคประชาชน ที่นำโดย น.ต.ประสงค์ สุ่นสิริ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นางรสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม. นายปานเทพ พัวพงศ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และภาครัฐ นำโดย นางบุญบันดาล ยุวนะศิริ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ นายจำเริญ ยุติธรรมสกุล รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิง ชี้แจงว่าตนมาแทนอธิบดีกรมเชื้อเพลิงเนื่องจากอธิบดีติดภารกิจที่ต่างประเทศ
ม.ล.ปนัดดา กล่าวเปิดการประชุมตอนหนึ่งว่า รัฐบาลต้องการให้การประชุมนี้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เพื่อร่วมกันเสนอนโยบายพลังงานที่ยั่งยืนของประเทศ อย่างไรก็ตาม ทราบว่า ทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีรายละเอียดเรื่องนี้เยอะ และมีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ และอนุกรรมการที่ดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งการหารือครั้งนี้จะมีการนำไปประมวลและมอบหมายให้กระทรวงพลังงานเป็นผู้พิจารณาเพื่อประกอบเป็นนโยบายด้านพลังงงานและเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งโอกาสนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณทุกฝ่ายที่ได้มีการจัดการหารือในวันนี้ และขอให้การทำงานวันนี้นำไปสู่บ้านเมืองที่เป็นสุข
ด้าน น.ต.ประสงค์ สุ่นสิริ ในฐานะหัวคณะภาคประชาชน ได้กล่าวขอบคุณ ม.ล.ปนัดดา ที่เป็นประธาน พร้อมระบุว่าเรื่องพลังงานเป็นเรื่องใหญ่ และจากประสบการณ์ที่ทำงานของตนนั้นการจัดการพลังงานปัจจุบันต่างจากอดีต และเรื่องพลังงานทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 ที่การจัดการไม่เคยเปลี่ยนแปลง จึงต้องหารือร่วมกันว่าจะแก้ไขอย่างไรเพื่อให้ทรัพยากรเป็นประโยชน์ต่อคนไทยอย่างแท้จริง
ส่วนตัวเห็นว่าควรมีการแก้ไขกฎหมายที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 ที่รัฐบาลไม่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายพลังงานโดยตรง จึงหวังว่าข้าราชการจะรู้ว่าอะไรเป็นประโยชน์ของชาติ จึงจำเป็นต้องปรับเพื่อให้นำไปสู่ประโยชน์เพื่อส่วนรวมให้ได้ พร้อมขอให้กระทรวงพลังงานช่วยอดทนเพราะเราไม่ได้พับกันมานาน
รายงานระบุว่า ภายหลังหารือประมาณ 2 ชั่วโมง ที่ประชุมมีการสรุปประเด็นการหารือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็นข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับนโยบายการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 และการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
โดยข้อเสนอของภาคประชาชนที่สานต่อจากมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558
ในเรื่องประเด็นการทบทวนการจัดสรรทรัพยากรปิโตรเลียม ทบทวนโครงสร้างและราคาก๊าซ และน้ำมันสำเร็จรูป ทบทวนนโยบายเรื่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และแก้ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน
“โดยโครงสร้างราคาในการจัดสรรทรัพยากรปิโตรเลียมจะต้องให้ประชาชนได้ประโยชน์ก่อน เพราะภาคอุตสาหกรรรมปิโตรเคมีได้ใช้ก่อน โดยที่ประชาชนใช้ แอลพีจี ในราคานำเข้า ทำให้ประชาชนใช้ราคาแพง และไม่เป็นธรรม รวมถึงการกำหนดราคาซื้อก๊าซธรรมชาติที่ปากหลุมราคาแพงกว่าตลาดโลกส่งผลให้ต้นทุนการผลิต แอลพีจี ในประเทศแพงกว่าตลาดโลกไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง”
“ดังนั้น หากมีการแก้ไขให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมในเรื่องของราคาโครงสร้างใหม่ จะเป็นผลทำให้ประชาชนเกิดความไว้วางใจในการใช้ปิโตรเลียม”
มีรายงานว่า ในส่วนการแก้ไขกฎหมาย ทั้งสองฝ่ายเห็นว่า จำเป็นต้องแก้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514, พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514, กฎหมายเกี่ยวกับพลังงานและผลประโยชน์ทับซ้อน
ส่วนการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และสุขภาวะอนามัยชุมชน
ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าจำเป็นต้องให้ภาคประชาชนและภาครัฐ นั่งคุยกันเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด โดยภาคประชาชนเสนอให้มีการพูดคุยในประเด็นดังนี้
1. เรื่องการจ้างสำรวจ จ้างผลิต และแบ่งปันผลิตเพิ่มเติมจากเงื่อนไขเดิมจาก พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514
2. ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และสิทธิของชุมชน
3. การบริหารจัดการแปลงสัมปทานที่จะหมดอายุในปี พ.ศ. 2565 แปลงสัมปทานข้างเคียงแปลงสัมปทานเดิม และแปลงสัมปทานที่มีการคืนให้ภาครัฐแล้ว
4. สุดท้ายพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทย ระหว่างไทยและกัมพูชา
ทั้งนี้ ขอให้มีการแต่งตั้งคณะทำงาน จำนวน 3 คณะ โดยมีองค์ประกอบฝ่ายละไม่เกิน 10 คนของแต่ละคณะทำงาน
รายงานระบุว่า ตัวแทน เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) 10 คน มีความเห็นว่า จะทำหน้าที่เป็นคณะผู้ประสานงาน ที่มาจากตัวแทนของอนุกรรมการที่ขอจัดตั้งขึ้น ทั้ง 3 ฝ่าย เพื่อเข้าหารือถึงการตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ ที่ปรึกษา คณะทำงาน ร่วม ภาครัฐและประชาชน ในการเดินหน้าปฏิรูปพลังงานไทยเพื่อคนไทย
โดยจุดมุ่งหมายของ คปพ. คือ ความสำเร็จในภาระหน้าที่ของอนุกรรมการทั้ง 3 ชุด โดยมีพื้นที่ให้ภาคส่วนประชาชนและเครือข่ายมีส่วนร่วมด้วย
ด้าน น.ต.ประสงค์ ระบุการประชุมวันนี้บรรยากาศถือว่าผิดคาด ซึ่งเต็มไปด้วยความเรียบร้อย ทุกฝ่ายพยายามช่วยกันหาข้อสรุปและทางออกร่วมกันและ และเชื่อมั่นว่า ข้อสรุปที่ได้ จะนำเสนอรายงานถึงนายกรัฐมนตรีโดยเร็ว ซึ่งหากนายกรัฐมนตรีมีความเห็นอย่างไรนั้นจะมีการแจ้งกลับมายังภาคประชาชนอีกครั้งและเชื่อว่าจะได้รับการแก้ไขเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง
ขณะที่ นางบุญบันดาล ยุวนะศิริ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงพลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ตนจะรับข้อสรุปไปเสนอ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน และนยอารีพงษ์ ภู่ชดุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ให้รับทราบว่าจะต้องดำเนินการต่อไปอย่างไรบ้าง