xs
xsm
sm
md
lg

ไร้วี่แวว! เวที 2 ฝ่ายถกสัมปทานรอบ 21 “ปนัดดา" อ้างรอกำหนดเวลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไร้วี่แวว! เวทีถก 2 ฝ่ายพิจารณาสัมปทานปิโตรเลียม รอบ 21 "ปนัดดา" ยันต้องรอกำหนดเวลาที่แน่นอนอีกครั้งหนึ่ง เผยเพิ่งได้รายชื่อ 2 คณะทำงานร่วมเป็นไปตามที่สื่อคาดกการณ์ คาดหนังสือเชิญประชุมติดขัดด้านธุรการ ด้านภาคประชาชน ออกแถลงการณ์ รอชง“บิ๊กตู่”ตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคประชาชน 3 ชุด กำหนดเป็นนโยบายด้านพลังงาน

วันนี้(26 ก.พ.) ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าวันนี้ (26 ก.พ.) จะมีการประชุมคณะทำงานร่วมทั้ง 2 ฝ่าย ระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน เพื่อเสนอข้อมูลในด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ว่า ยังไม่ได้มีการนัดประชุมเป็นอย่างใด จะต้องรอกำหนดเวลาที่แน่นอนอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตามมีความคืบหน้าในเรื่องของรายชื่อคณะทำงานร่วมทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งขณะนี้ได้เสนอรายชื่อเข้ามายัง สปน.แล้ว โดยส่วนใหญ่มีรายชื่อตรงกับที่มีการคาดการณ์มาก่อนหน้านี้และสื่อมวลชนได้นำเสนอไป

“ในเบื้องต้นสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้เป็นฝ่ายประสานงานและดำเนินการเรื่องดังกล่าวได้ส่งหนังสือเชิญประชุมให้แก่ผู้ที่มีรายชื่อในคณะทำงานแล้ว”ม.ล.ปนัดดากล่าว

รายงานระบุว่า สปน.ได้ส่งหนังสือเชิญประชุมให้แก่ผู้ที่มีรายชื่อในคณะทำงาน ในวันที่ 25 ก.พ.แล้ว แต่อาจจะติดขัดในเรื่องปัญหาเรื่องธุรการการจัดส่ง

โดยทั้ง 2 ฝ่าย ยืนยันแล้วว่า กระทรวงพลังงานประกอบไปด้วย นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน, นายมนูญ ศิริวรรณ สมาชิกสภาปฏิรูป (สปช.)และผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน, นายพล ธีรคุปต์ ผู้เชี่ยวชาญสํานักกฎหมายกรมสรรพากร, นายประภาส คงเอียด ที่ปรึกษากฎหมาย กระทรวงการคลัง, นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อดีตอธิบดีกรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พ.พ.), นายบุญบันดาล ยุวนะศิริ เชี่ยวชาญด้านสัมปทานปิโตรเลียม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ, นายรักไทย บูรพ์ภาค อาจารย์พิเศษวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี สถาบันเอ็มไอที

ฝ่ายที่เห็นต่างประกอบไปด้วย นต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, ม.ล.กรกสิวัฒณ์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระ, น.ส.รสนา โตสิตระกูล สปช.ด้านพลังงาน, นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ นายวิวัฒน์ชัย อัตถากร อาจารย์ประจำสถาบันพัฒนบัณฑิตและบริหารศาสตร์ หรือ นายนพ สัตยาศัย อดีตอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รายงานข่าวระบุว่า อีกด้าน เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2/2558
เรื่องจุดยืนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทยต่อกรณีการชะลอการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 จนกว่าจะมีการแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

จากกรณีผลการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แจ้งว่า ที่ประชุมได้มีมติให้ชะลอเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ออกไปก่อน จนกว่าจะแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเสร็จนั้น เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทยขอแสดงจุดยืน ดังนี้

1. เราขอขอบคุณต่อท่าทีของท่านนายกรัฐมนตรีดังกล่าวนี้ ซึ่งจะนำมาซึ่งบรรยากาศที่จริงใจ และความไว้วางใจเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทยพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการปฏิรูปพลังงานไทยเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง

2. กรณีการเจรจาระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทยเห็นควรเสนอต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ให้สานต่อผลการประชุมในประเด็นที่เป็นข้อยุติที่เห็นพ้องต้องกันทั้งสองฝ่ายระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนให้ครอบคลุมเนื้อหา 3 ประเด็น เพื่อให้การดำเนินการต่อไปเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ โดยเสนอให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคประชาชน 3 ชุด เพื่อนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณากำหนดเป็นนโยบายด้านพลังงานดังต่อไปนี้

2.1 คณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคประชาชนว่าด้วยการจัดสรรทรัพยากรปิโตรเลียมแก่ประชาชนรวมถึงการกำหนดโครงสร้างราคาปิโตรเลียมใหม่ให้มีความเป็นธรรม เพื่อลดผลกระทบและความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน

2.2 คณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคประชาชนว่าด้วยการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียม เช่น พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ประมวลรัษฎากร และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดจน กฎกระทรวง ประกาศ คำสั่ง และกฎระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่รัฐและประชาชน ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ข้อยุติในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนเสร็จสิ้นเสียก่อน แล้วจึงนำข้อเสนอดังกล่าวไปยังส่วนงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อแก้ไขกฎหมายต่อไป โดยมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดต่างๆ ที่จะตั้งขึ้น ขอให้มีสัดส่วนตัวแทนภาครัฐและภาคประชาชนในจำนวนที่เท่ากันโดยไม่มีการลงมติใดๆ แต่ใช้วิธีนำเสนอข้อมูลให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องที่เห็นพ้องต้องกันเพื่อกำหนดเป็นนโยบาย รวมถึงเป็นเวทีซึ่งนำข้อเสนอและเหตุผลที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชนให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้พิจารณาตัดสินใจต่อไป

2.3 คณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคประชาชนว่าด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม ซึ่งรวมถึง แปลงสัมปทานเดิมที่เอกชนส่งคืนกลับให้แก่รัฐ แปลงสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุ แปลงปิโตรเลียมข้างเคียงแปลงสัมปทานเดิม หรือแปลงสัมปทานปิโตรเลียมใหม่ ฯลฯ เพื่อร่วมกันหาทางออกให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่รัฐและประชาชน และเพื่อให้มีความโปร่งใส ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน และมีประสิทธิภาพสูงสุด

3. กรณีที่ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี.ได้ขอเชิญบุคคลและนักวิชาการ เข้าร่วมแสดงความเห็นต่อนโยบายการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 แล้วนั้น เราขอขอบคุณในไมตรีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการตั้งคณะกรรมการร่วมในข้อ 2 เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย จึงขอเสนอทางเลือกเพื่อโปรดพิจารณาทางใดทางหนึ่งดังต่อไปนี้

ทางเลือกที่ 1 ยกเลิกจดหมายเชิญขอเข้าร่วมคณะกรรมการดังกล่าว แล้วแต่งตั้งคณะกรรมการใหม่ 3 ชุด ตามข้อ 2

ทางเลือกที่ 2 คณะกรรมการดังกล่าวให้เพิ่มจำนวนบุคลากรให้ครอบคลุมทั้ง 3 ประเด็น

ทางเลือกที่ 3 ให้คณะกรรมการแต่งตั้งอนุกรรมการให้ครอบคลุมทั้ง 3 ประเด็น

4. อย่างไรก็ตามเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทยขอนำเสนอว่า เพื่อมิให้เกิดความล่าช้าหรือเสียเวลาตามที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยในวิกฤติพลังงานในวันข้างหน้าและขอให้ภาคประชาชนร่วมรับผิดชอบด้วยนั้น เราขอนำเรียนเสนอให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ตราพระราชกำหนดในการจ้างสำรวจปิโตรเลียมในแปลงปิโตรเลียมที่มีศักยภาพสูงซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับแปลงสัมปทานเดิม ตามคำชี้แจงของกระทรวงพลังงาน และเป็นไปตามประกาศของกระทรวงพลังงานในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 อันได้แก่ แปลงสัมปทานในอ่าวไทยหมายเลข G3/57 G5/57 และ G6/57 ตลอดจนอาจรวมถึงแปลงปิโตรเลียมอื่นๆ อีกหลายแปลงที่อยู่ติดกับแปลงสัมปทานเดิมที่มีศักยภาพ เช่น แปลงบนบก 7 แปลง และในอ่าวไทย 3 แปลง รวมเป็นทั้งสิ้น 13 แปลงควบคู่กันไปในระหว่างที่การรอการปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ และเมื่อพบปริมาณปิโตรเลียมแล้วจึงค่อยมากำหนดอีกครั้งว่าจะใช้วิธีการจ้างผลิต หรือแบ่งปันผลผลิต เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อรัฐ ซึ่งเชื่อว่าการปฏิรูปกฎหมายปิโตรเลียมจะเสร็จสิ้นก่อนการรู้ผลการสำรวจอย่างแน่นอน จึงแถลงการณ์มาให้ทราบโดยทั่วกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น