xs
xsm
sm
md
lg

"ณรงค์ชัย"กระสัน ลั่นแก้กม.เสร็จเปิดสัมปทานทันที คปพ.ชงพ.ร.ก.จ้างหาแหล่งพลังงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - "พลังงาน" รับลูก "บิ๊กตู่" เตรียมยกเลิกประกาศสัมปทานรอบที่ 21 "ณรงค์ชัย"ลั่นแก้กฎหมายเสร็จ เปิดต่อทันที คาดทำได้ช่วง 1ก.ย.-ต.ค.นี้ "วิษณุ" แย้มแก้แค่บางมาตรา แต่มีหลายสูตรในการให้สัมปทาน คปพ. ยื่นแก้ กม.ปิโตรเลียม 2 ฉบับรวด พร้อมชงตั้ง กก.ร่วมรัฐ-เอกชนดูแล ชี้ทางออกหาแหล่งสำรองพลังงาน ให้ตรา พ.ร.ก.จ้างสำรวจแปลงสัมปทานเดิมไปก่อน หากพบค่อยมาคิดว่าจะจ้างผลิตหรือแบ่งปันผลผลิต

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่ากระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้เตรียมออกประกาศยกเลิกประกาศการเปิดให้เอกชนยื่นสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 16 มี.ค.2558 ออกไปก่อน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้เลื่อนการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เพื่อให้มีการแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียมพ.ศ.2514 ให้เสร็จภายใน 3 เดือน

ทั้งนี้ หลักการแก้ไขพ.ร.บ. เบื้องต้นจะปรับปรุงเงื่อนไขระบบการแบ่งปันผลผลิต (PSC) เพิ่มเติม ซึ่งหลังจากการแก้ไขพรบ.เสร็จสิ้น จะมีการออกประกาศให้เอกชนสามารถเข้าร่วมยื่นสำรวจและผลิตตามกรอบเวลาเดิมที่ 120 วัน จึงคาดว่าจะสามารถเริ่มพิจารณาเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ได้ไม่เกินช่วงเดือนก.ย.-ต.ค.2558

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการเลื่อนเปิดสัมปทานครั้งนี้ออกไป จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนระดับหนึ่ง แต่คงจะไม่มาก เพราะจะมีกรอบเวลาที่ชัดเจน

“เชื่อว่านักลงทุนที่ยื่นซองประมูลเข้ามาแล้ว 1 ราย คาดว่าจะไม่มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐ เนื่องจากเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มีข้อพิพาทระหว่างภาครัฐและประชาชน ที่ภาคประชาชนต้องการให้แก้ไข และเพื่อให้เป็นไปตามข้อเสนอของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน (คปพ.) โดยวันนี้ (26 ก.พ.) จะมีการหารือตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนมาพิจารณาแก้ไขพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว" นายณรงค์ชัยกล่าว

***นักลงทุนแห่สอบถามรายละเอียด

นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ขณะนี้นักลงทุนสอบถามเข้ามาจำนวนมากหลังจากที่ทราบข่าวถึงการให้ชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ออกไปก่อน เพื่อรอการแก้ไขปรับปรุงกฏหมาย เนื่องจากผู้ที่จะยื่นสิทธิ์สัมปทานได้เตรียมเอกสารต่างๆ ไว้แล้ว ซึ่งตามประกาศจะมีระยะเวลาของเอกสารหลักประกันคำขอสัมปทาน ซึ่งกำหนดระยะเวลาชัดเจนแน่นอน

"มีเอกชน1ราย ได้ยื่นขอสัมปทานแล้ว และมีอีกหลายรายเตรียมจะยื่นภายในวันที่ 16มี.ค.นี้ แต่เมื่อนายกรัฐมนตรีมีดำริชะลอ ก็ต้องรอความชัดเจน แต่เอกสารประกอบคำขอมีอายุครบกำหนดเวลา เช่น หนังสือบรคณฑ์สนธิขอคัดไว้ไม่เกิน3 เดือน หนังสือค้ำประกันจากธนาคารมีระยะเวลาค้ำประกันไม่น้อยกว่า1 ปี"นางพวงทิพย์กล่าว

นอกจากนี้ กรมฯ ต้องรอความชัดเจนว่าที่สุดแล้ว การแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียมพ.ศ. 2514 จะเป็นการแก้ไขพ.ร.บ.ในบางมาตราเพิ่มเติมหรือจะเป็นการยกร่างกฏหมายใหม่ให้เป็นระบบแบ่งปันผลผลิต ซึ่งหากแก้ไขบางมาตรา ก็จะใช้เวลาไม่มากนัก แต่หากเป็นPSC จะต้องยกร่างกฏหมายใหม่ ซึ่งกรมฯ เองมองว่าน่าจะใช้เวลาเกิน 3 เดือน

***แย้มแก้กฎหมายแค่บางมาตรา

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการแก้ไขกฎหมายก่อนที่จะเดินหน้าดำเนินการด้านพลังงานว่า จากการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พอใจการจัดเวทีแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องพลังงานเมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่เป็นไปอย่างสงบ เรียบร้อย โดยข้อเสนอเบื้องต้นได้มีการตั้งคณะกรรมการติดตามเรื่องดังกล่าวขึ้น และยังเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อกำหนดมาตรการที่ชัดเจนก่อนที่จะมีการเดินหน้าต่อไป โดยเป็นการแก้ไขในบางมาตราเท่านั้น โดยได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานเป็นผู้ดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานต้องรับฟังข้อคิดเห็นจากคณะกรรมการร่วมที่ตั้งขึ้นแล้วจึงนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. จากนั้นจะมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นผู้ดูรายละเอียดในข้อกฎหมายก่อนจะส่งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกเป็นกฎหมาย

ทั้งนี้ จะประสานไปยัง สนช.ว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน เพราะทุกคนรอให้มีกติกาที่ชัดเจนออกมา แต่เนื้อหาจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่คณะกรรมการร่วมที่ตั้งขึ้นว่าอยากได้คำตอบอะไรก่อนที่จะเปิดการประมูล เพราะในวันที่ 20 ก.พ. มีการพูดถึงข้อดีข้อเสียของการเปิดสัมปทานหรือการแบ่งผลประโยชน์ ซึ่งตนก็ได้ยินผู้ที่รู้พูดว่าในกฎหมายดังกล่าวอาจจะเขียนไว้หลายสูตร แล้วถึงเวลาจึงจะเลือกใช้ อย่าคิดว่าใช้เพียงการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 แต่อาจจะเผื่อไว้สำหรับรอบอื่นๆ ด้วย

เมื่อถามว่า จำเป็นต้องมีคนกลางเข้ามามีส่วนร่วมในคณะกรรมการชุดดังกล่าวหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ขณะนี้ต้องให้คณะกรรมการร่วมชุดดังกล่าวทำงานไปก่อน และอาจจะมีคนกลางเข้ามาร่วมดู แต่ถึงอย่างไรร่างกฎหมายดังกล่าวก็ต้องเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบก่อนอยู่แล้ว และหวังว่ากฎหมายดังกล่าวจะเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว ส่วนจะเป็นไปตามความคาดหมายที่ตั้งไว้หรือไม่นั้น ตนไม่สามารถตอบได้

***เครือข่ายฯ ยื่นแก้กฎหมายปิโตรเลียม

ที่สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย อาคารซอฟต์แวร์ปาร์ก ถ.แจ้งวัฒนะ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อ ศ.ดร.คณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เพื่อขอให้พิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 โดยขอให้ พ.ร.บ.ฉบับใหม่กำหนดให้รัฐบาลสามารถให้สิทธิอื่นๆ นอกเหนือจากการให้สัมปทาน เช่น การจ้างผลิต การแบ่งปันผลผลิต ซึ่งเป็นระบบที่ทั่วโลกใช้กัน และขอให้มีบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียมและสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมถึงการเก็บรักษาไม่ว่าจะบนบกหรือทะเล ให้เป็นของบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ โดยมีบทบัญญัติให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่เป็นของรัฐ 100% ซึ่งมีหน้าที่ในการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมด้วยวิธีการประมูล มีอำนาจควบคุมการประกอบกิจการปิโตรเลียมของเอกชนคู่สัญญา และให้มีการจัดตั้งบริษัทย่อยของบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่ในการเข้าร่วมลงทุนกับเอกชนคู่สัญญาในลักษณะสัญญาร่วมดำเนินการ

นอกจากนี้ ยังขอให้มีบทบัญญัติจัดตั้งสภาพลังงานประชาชนและกองทุนเพื่อพัฒนาปิโตรเลียม และบทบัญญัติเปิดเผยข้อมูลของสัญญาและการประกอบกิจการปิโตรเลียม เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบของประชาชน และกำหนดพื้นที่ประกอบกิจการปิโตรเลียมที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยของประชาชน พื้นที่เกษตรกรรม ประมง และการท่องเที่ยว

โดยตัวแทนเครือข่ายที่ประกอบด้วย นายวีระ สมความคิด, น.ส.บุญยืน ศิริธรรม, พ.ท.รัฐเขต แจ้งจำรัส, นายรุ่งชัย จันทสิงห์ พร้อมด้วยภาคประชาชน ได้ถือป้ายพร้อมข้อความ อาทิ ระบบแบ่งปันผลผลิต คืนความเป็นธรรมทางทรัพยากรให้ชาติและประชาชน, พลังงานไทย พลังงานของใคร ของประชาชน ปตท. กระทรวงพลังงาน รัฐบาล หรือเชฟรอน

น.ส.บุญยืนกล่าวระหว่างยิ่นหนังสือว่า หากมีการแก้ไข พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ รัฐบาลยังจะใช้วิธีการสัมปทานก็ต้องตอบให้ได้ว่าใช้เพราะอะไร ข้อดีมีอะไร การมายื่นหนังสือในครั้งนี้ ไม่ได้มองว่ารัฐบาลไม่จริงใจต่อการแก้ไขปัญหา แต่ภาคประชาชนมองว่า สำนักงานปฏิรูปกฎหมายเป็นองค์กรอิสระ น่าจะแก้ไข พ.ร.บ.ได้ดีกว่า ส.ป.ช. และยังเป็นหนทางเพิ่มความมั่นใจให้กับประชาชน พร้อมสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาล

"ขอให้รัฐบาลแบ่งปันทรัพยากรอย่างเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลแบ่งปันปิโตรเลียมให้กับภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีร้อยละ 50 ภาคประชาชนร้อยละ 50 เท่ากับว่ารัฐบาลอุ้มภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมากเกินไป แล้วให้ภาคประชาชนแบกรับภาระราคาพลังงาน วอนรัฐบาลอย่ามองแต่มูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่ขอให้มองถึงปากท้องของประชาชนด้วย ที่สำคัญ ทุกวันนี้ประชาชนเดือดร้อน เพราะรัฐบาลให้อำนาจคนกลุ่มเดียวตัดสินในเรื่องราคาพลังงานของประเทศ"

ทั้งนี้ ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้รับหนังสือ พร้อมกล่าวว่าจะใช้ความรู้ในการพิจารณากฎหมายอย่างรอบคอบ และเน้นการมีส่วนร่วม ยืนยังเปิดรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน

*** “วีระ”เชื่อระบบเเบ่งปันผลผลิตเหมาะสมกับไทย

นายวีระ สมความคิด ตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าวว่า ระบบแบ่งปันผลผลิตน่าจะมีความเหมาะสมกับประเทศไทยมากกว่าระบบสัมปทาน โดยตนมีความเห็นว่าคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายควรพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมาย โดยต้องกำหนดให้ใช้ระบบการให้สิทธิอื่นๆ นอกจากระบบแบ่งปันผลผลิตได้ด้วย ให้มีบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียม และสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ทั้งบนบกและในทะเล ให้เป็นของรัฐ โดยบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ และบรรษัทต้องเป็นของรัฐร้อยเปอร์เซ็นต์ ให้จัดตั้งสภาพลังงานประชาชนและกองทุนเพื่อพัฒนาปิโตรเลียม ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลของสัญญาและการประกอบกิจการปิโตรเลียม เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ ต้องกำหนดพื้นที่ประกอบกิจการปิโตรเลียม โดยจะต้องไม่กระทบต่อพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชน พื้นที่เกษตร การประมง และการท่องเที่ยว และต้องแก้ไขกฎหมายที่ว่าด้วยภาษีปิโตรเลียม

ส่วนกรณี พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่าหากมีการแก้กฎหมายแล้ว พลังงานไม่เพียงพอต่อการใช้งานในอนาคต ภาคประชาชนจะรับผิดชอบอย่างไร นายวีระกล่าวว่า รัฐบาลไม่ควรถามว่าประชาชนจะรับผิดชอบอย่างไร ถ้าภาคประชาชนต้องถามกลับว่าทุกวันนี้ประชาชนทั้งประเทศต้องแบกรับภาระราคาเชื้อเพลิง รัฐบาลเคยรับผิดชอบอะไรบ้างไหม ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาไม่เคยริเริ่มแก้ไขปัญหา ทั้งเรื่องความโปร่งใสและการทุจริตคอรัปชั่น

***เสนอตั้งกรรมการร่วม 3 ชุดดูแลพลังงาน

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ พร้อมด้วยเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย ได้ออกแถลงการณ์จุดยืนของประชาชนต่อการชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 โดยได้ขอบคุณท่าทีของนายกรัฐมนตรี ที่ให้ชะลอการเปิดสัมปทานออกไปจนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะนำมาซึ่งความไว้วางใจ และเครือข่ายฯ ก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการปฏิรูปพลังงานต่อไป

โดยเครือข่ายฯ ได้เสนอนายกฯ ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและประชาชน 3 ชุด โดยมีสัดส่วนภาครัฐและประชาชนในจำนวนที่เท่ากัน ได้แก่ 1.คณะกรรมการร่วมภาครัฐและประชาชนว่าด้วยการจัดสรรทรัพยากรปิโตรเลียมแก่ประชาชน รวมถึงการปรับโครงสร้างราคาปิโตรเลียมใหม่ให้มีความเป็นธรรม 2.คณะกรรมการร่วมภาครัฐและประชาชนว่าด้วยการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียม เช่น พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 พ.ร.บ.เงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ประมวลรัษฎากรและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนกฎกระทรวง ประกาศ คำสั่ง ที่เกี่ยวกับ 3.คณะกรรมการร่วมภาครัฐและประชาชนว่าด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม ซึ่งรวมถึงแปลงสัมปทานเดิมที่เอกชนส่งคืนกลับให้รัฐ แปลงสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุ แปลงปิโตรเลียมข้างเคียงแปลงสัมปทานเดิม หรือแปลงสัมปทานปิโตรเลียใหม่ ทั้งนี้ การพิจารณาจะไม่มีการลงมติใดๆ แต่ใช้วิธีการนำเสนอข้อมูลให้นายกฯ พิจารณา เพื่อกำหนดเป็นนโยบาย

อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าหรือเสียเวลาในการหาแหล่งสำรองพลังงาน ได้เสนอให้นายกฯ ตราพระราชกำหนดในการจ้างสำรวจปิโตรเลียมในแปลงปิโตรเลียมที่มีศักยภาพ ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับแปลงสัมปทานเดิมที่มีอยู่จำนวน 13 แปลง ควบคู่กันไปในระหว่างที่รอการปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ และเมื่อพบปริมาณปิโตรเลียมแล้ว จึงค่อยมากำหนดว่าจะใช้วิธีจ้างผลิตหรือแบ่งปันผลผลิต เพื่อให้เกิดประโยชน์กับรัฐสูงสุด

***"มาร์ค"ขอบคุณยอมแก้กฎหมายก่อน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่สั่งให้ชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ออกไปก่อนจนกว่าจะมีการแก้ไขกฏหมาย ว่า ต้องขอขอบคุณ เพราะเป็นการยอมรับฟังความเห็นประชาชน และหาทางออกที่ตอบโจทย์ทุกด้าน คือ แก้จุดอ่อนของกฎหมาย เพื่อไม่ให้กระทบต่อความมั่นคง ต่อจากนี้เป็นเรื่องที่รัฐจะทำงานร่วมกับภาคประชาชน เพื่อผลักดันให้การแก้กฎหมายให้ออกมาดีและเร็ว โดยหวังว่าจะสามารถรักษาบรรยากาศที่ดีต่อกันได้ ซึ่งจะทำให้ก้าวพ้นความขัดแย้งในเรื่องนี้ไปได้ และเป็นก้าวสำคัญไปสู่การปฏิรูปด้วย

สำหรับประเด็นที่ควรแก้ไขในกฎหมาย เห็นว่า มีหลายประเด็นที่ภาคราชการไม่ปฏิเสธ และบางเรื่องระบุชัดว่าเป็นนโยบายของรัฐบาล โดยสิ่งที่ควรทำ คือ 1.ปิดจุดอ่อนของระบบปัจจุบัน ด้วยการเพิ่มอำนาจร่อรองภาครัฐ ทำให้การจัดการพลังงาน รัฐได้ประโยชน์สูงสุด 2.ประโยชน์ที่ได้มา ต้องจัดสรรให้เป็นธรรมต่อประชาชน 3.ดูแลคุ้มครองสิทธิประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 4.เพิ่มทางเลือกให้รัฐ สามารถใช้ระบบอื่น นอกจากสัมปทานได้ อย่างน้อยในปี 2565 ที่จะต้องมีการเปิดสัมปทานอีก ก็จะทำให้ประเทศมีทางเลือกเพิ่มขึ้น โดยไม่ใช่ตั้งต้นให้สัมปทานอย่างเดียว

"ผมยืนยันว่า ทุกคนที่ทักท้วงเรื่องนี้ มีเจตนาดี บนสมมุติฐานที่เป็นเหตุเป็นผล จึงมั่นใจว่า ถ้านายกฯ แก้ไขกฏหมายได้ในเวลาไม่กี่เดือน จะไม่กระทบต่อความมั่นคงทางพลังงาน แต่ต้องบริหารจัดการและกำกับดูแลเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางพลังงานที่แท้จริง ด้วยการให้ข้อเท็จจริงกับประชาชนด้วยว่าแปลงที่จะเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ไม่ได้มีปริมาณมาก และปัจจุบันมีการนำเข้าพลังงานอยู่แล้ว การเปิดสัมปทานรอบนี้ แม้แต่ราชการก็คาดการณ์ว่าจะได้ปริมาณไม่มาก เพราะในรอบ 19-20 ได้ค่อนข้างน้อย อีกทั้งแปลงที่จะทำในรอบที่ 21 คือ แปลงที่เอกชนเคยสำรวจแล้ว และคืนกลับมา เพราะเห็นว่าไม่คุ้ม หรือไม่พบแหล่งปิโตรเลียม แต่วันนี้อาจมีเทคโนโลยีใหม่ และต้นทุนที่เปลี่ยน จึงต้องการสำรวจซึ่งก็เป็นข้อเท็จจริงที่ชัดเจนว่าแปลงนี้จะไม่ได้พลังงานที่มากอยู่แล้ว หลังจากนี้อยากให้ราชการร่วมกับขับเคลื่อนร่วมกับประชาชน โดยผมพร้อมให้ข้อมูลกับสังคม และให้คำปรึกษากับทุกฝ่าย"นายอภิสิทธิ์กล่าว

***แนะใช้ยานยนต์ไฟฟ้าลดนำเข้าน้ำมัน

นายธรณ์ ธำรงนาสวัสดิ์ และนายเจน นำชัยศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปพลังงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ร่วมกันแถลงว่า กมธ.ปฏิรูปพลังงานได้เสนอให้มีการปฏิรูปในด้านยานยนต์ โดยใช้พลังงานจากไฟฟ้า เพื่อเป็นการลดการนำเช้าเชื้อเพลิงอย่างน้ำมันจากต่างประเทศ เพิ่มทางเลือกการใช้พลังงาน เพราะไฟฟ้าสามารถผลิตได้จากหลายปัจจัย รวมทั้งยังส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม หลายประเทศใหญ่ๆ ทั่วโลกได้หันมาใช้ยานยนต์ระบบไฟฟ้า ซึ่งเป็นการช่วยลดมลภาวะได้อย่างดี จึงเชื่อว่าหากมีการปฏิรูปตามแนวทางดังกล่าวจะทำให้วิศวกรรมยานยนต์มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอนี้ได้รับความเห็นชอบจาก กมธ.วิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ และเตรียมที่จะเข้าที่ประชุมสปช.ในวันที่ 3 มี.ค.นี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น