xs
xsm
sm
md
lg

‘ณรงค์ชัย’โชว์เซ็นยกเลิกสัมปทาน21แก้กม.เสร็จเปิดใหม่-ปนัดดาเผยกก.ร่วมครบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ณรงค์ชัย” โชว์เซ็นลงนามยกเลิกประกาศให้เอกชนยื่นสิทธิ สำรวจฯปิโตรเลียมรอบที่ 21 ที่จะสิ้นสุด 16 มี.ค.นี้แล้วท่ามกลางผู้สื่อข่าว ลั่นเป็นเรื่องปกติมาก เพราะเมื่อต้องแก้ไขกฏหมายก็ต้องยกเลิกและหลังจากนั้นก็สามารถประกาศใหม่ได้อีก มั่นใจ3เดือนสรุปเพราะนายกฯสั่ง ด้านมล.ปนัดดา เดินหน้าตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐและภาคเอกชนโดยส่งหนังสือเชิญเป็นที่เรียบร้อย ขณะที่"คุรุจิต" ชี้การแก้ไขกฎหมายนี้เป็นเรื่องสนช. ไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการร่วมฯ "ดุสิตโพล"สำรวจความเห็นประชาชนพบส่วนใหญ่เป็นห่วงเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานในประเทศ และอยากเห็นความร่วมมือภาครัฐและเอกชนเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (26 ก.พ. )นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เข้าตรวจเยี่ยมการดำเนินงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หลังจากนั้นได้เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนช่วงเวลาประมาณ 12.30 น. ซึ่งระหว่างนั้นผู้สื่อข่าวได้สอบถามความคืบหน้าการยกเลิกประกาศการเปิดให้เอกชนเข้ายื่นสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 นายณรงค์ชัย ระบุว่าได้นำประกาศมาด้วยว่าแล้วจึงขอเอกสารจากเจ้าหน้าที่และได้เซ็นลงนามยกเลิกประกาศโชว์ให้ผู้สื่อข่าวได้เห็นกันในขณะนั้นทันที

นายณรงค์ชัย กล่าวว่า การลงนามยกเลิกประกาศฯดังกล่าว ที่กำหนดให้เอกชนเข้ายื่นสิทธิ์ฯภายใน 16 มี.ค. ก็เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้ชะลอออกไปก่อน 3 เดือนเพื่อให้มีการแก้ไขกฏหมาย ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จะดำเนินการพิจารณาต่อไป

“การยกเลิกประกาศก็ถือเป็นเรื่องปกติมากเพราะเราไม่รู้ว่าที่สุดเงื่อนไขจะเป็นเปลี่ยนอย่างไรภายใต้การแก้ไขกฏหมายใหม่ แต่หากครบ 3 เดือนหลังจากนั้นมีการแก้ไขกฏหมายก็สามารถประกาศใหม่ได้อีกเพราะนายกรัฐมนตรีกำหนดว่าให้เสร็จใน 3 เดือน ส่วนกฏหมายจะมีการปรับแก้หรือจะยกร่างขึ้นมาใหม่อันนี้เราก็ตอบไม่ได้ว่าที่สุดจะเป็นอย่างไร เพราะเป็นเรื่องของสนช.จะพิจารณา ส่วนการให้ข้อมูลเราเองก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอ”นายณรงค์ชัยกล่าว

สำหรับกรณีที่มีบางฝ่ายระบุว่าถ้าไม่สำรวจฯก๊าซธรรมชาติยังไงก็ไม่หมด แต่ที่หมดเป็นการหมดอายุสัมปทานของแหล่งเอราวัณและบงกชในอ่าวไทย ข้อเท็จจริงคือหากไม่สำรวจฯเพิ่มก๊าซในอ่าวไทยก็จะทยอยลดลงแน่นอน และปริมาณก็จะอยู่ในอัตราที่ต่ำ เมื่อการบริโภคขยายตัวจากปัจจุบันที่การบริโภคเฉลี่ยที่ 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก็จะต้องหันไปพึ่งพิงการนำเข้ามากขึ้นในรูปของก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)ที่มีราคาแพง

ด้าน ม.ล. ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ กระทรวงพลังงาน ได้ประกาศยกเลิกสัมปทานรอบที่ 21 แล้ว เนื่องจากเห็นว่าควรมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้รัฐบาลมีทางเลือกในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมให้ครอบคลุมทุกแนวทาง ทั้งนี้เมื่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเสร็จเรียบร้อย จึงจะประกาศเชิญชวนให้มีการสำรวจและผลิตรอบใหม่อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้คงจัดตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วยตัวแทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนภาคประชาชนในจำนวนเท่าๆกันอยู่ในคณะกรรมการร่วมชุดนี้ และให้ความสำคัญในประเด็นการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมชุดนี้เป็นลำดับแรก ขณะนี้ภาพรวมค่อนข้างชัดเจน ส่งหนังสือเชิญร่วมเป็นคณะกรรมการส่งให้ครบแล้ว รายชื่อส่วนใหญ่เป็นไปตามที่สื่อเสนอข่าว ส่วนประชุมนัดแรกได้เมื่อใดนั้นจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง ต้องรอฝ่ายรัฐและภาคประชาชนเห็นตรงกัน ส่วนสถานที่ประชุมจะเป็นที่ทำเนียบรัฐบาล

นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การลงนามยกเลิกประกาศฯไปแล้วการแก้ไขกฏหมาย ทั้งหมดอยู่ที่สนช.ไม่จำเป็นต้องมีการตั้งกรรมการร่วมภาครัฐและประชาชนตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีดำเนินการ ซึ่งรวมถึงการนัดประชุมร่วมกันวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ทางกระทรวงพลังงานก็ไม่มีความจำเป็นต้องร่วมประชุมเช่นกัน

โพลแนะภาครัฐ-เอกชนร่วมมือกัน

จากสถานการณ์ด้านพลังงานของประเทศไทยในปัจจุบัน มีแนวโน้มการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน ที่จะช่วยกันทำให้ประเทศชาติเกิดความมั่นคงด้านพลังงาน อีกทั้งยังช่วยผลักดันประเทศชาติให้มีศักยภาพแบบยั่งยืน และเป็นฐานข้อมูลสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “สวนดุสิตโพล”มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,737 คน ระหว่างวันที่ 21-23 ก.พ.58 ผลสำรวจประชาชนคิดอย่างไรกับสถานการณ์พลังงานของประเทศ ณ วันนี้ พบว่าประชาชนค่อนข้างน่าเป็นห่วง 55.44% เป็นห่วงอย่างมาก 27.81 % ยังไม่ค่อยเป็นห่วง 11.69 % ไม่ห่วงเลย 1.66 % ไม่แสดงความคิดเห็น 3.40 %

ส่วนประชาชนรับรู้สถานการณ์พลังงานของประเทศ ณ วันนี้หรือไม่ ประเด็นใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้ามากที่สุด รู้ 68.11% ไม่รู้ 31.89% ประเด็น ประเทศไทยไม่ได้มีปิโตรเลียมเพียงพอ ทำให้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ รู้ 68.51% ไม่รู้ 31.49% ประเด็นรายได้ในการพัฒนาปิโตรเลียม ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ ไม่เกี่ยวกับระบบสัมปทาน (PSC)รู้ 33.56% ไม่รู้ 66.44% การเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 เป็นการหาแหล่งพลังงานภายในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ รู้ 39.78% ไม่รู้ 60.22% และประเทศไทยมีแหล่งพลังงานใหญ่พอๆ กับซาอุดีอาระเบีย รู้ 29.88% ไม่รู้ 70.12%

เมื่อถามว่า ถ้าไม่มีพลังงานใช้ หรือขาดพลังงาน ประชาชนคิดว่า จะเป็นอย่างไร ผลสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า ต้องหาพลังงานอื่นมาทดแทน 33.36% ต้องซื้อในราคาแพงขึ้น 24.42% ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ 23.43% ไม่มีความสุข /ปัญหาทุกอย่างจะตามมา 10.98% และไฟฟ้าดับ/ไฟตก 7.81% และถ้าจะทำให้ประเทศเกิดความมั่นคงด้านพลังงาน ประชาชนมีความคิดเห็นอย่างไร ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกัน 88.20% พัฒนาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติให้มีความอุดมสมบูรณ์ 87.80% ปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้ได้มาตรฐาน 86.60% สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับภูมิภาค 85.60% เร่งเปิดสัมปทานรอบที่ 21 เนื่องจากการผลิตในประเทศไม่พอ ต้องนำเข้า ค่าไฟฟ้าจะแพงขึ้น 75.60%

สำหรับสิ่งที่ประชาชนอยากฝากถึงกระทรวงพลังงาน ผลสำรวจพบว่า อยากให้ลดราคาค่าพลังงานให้ถูกกว่านี้ ขอให้นึกถึงประชาชนที่มีรายได้น้อยเป็นสำคัญ 30.54% เร่งพัฒนา หาแหล่งพลังงานทดแทนโดยเร็ว และหันมาใช้ทรัพยากรหรือวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรที่มีอยู่ในประเทศ 24.55% ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมมือกัน เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน 17.96% เร่งรณรงค์ ประชาสัมพันธ์เรื่องการประหยัดพลังงาน ควบคุมการใช้พลังงานให้ถูกวิธี 13.77% การบริหารจัดการ ขั้นตอนการดำเนินงานเป็นไปด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม ตรวจสอบได้ 13.18%
กำลังโหลดความคิดเห็น