ASTVผู้จัดการรายวัน- "ประยุทธ์" เผยตัดสินใจแก้กม.ให้เสร็จก่อน เดินหน้าสัมปทานปิโตรเลียม เลื่อนวันเปิดสำรวจ จาก วันที่ 16 มี.ค.ไปก่อน จี้ฝ่ายคัดค้านรับผิดชอบหากประเทศถูกลดความเชื่อมั่น-เกิดปัญหาพลังงาน “รสนา” พบข้อมูลเก่าปี 55 ปลัด ก.พลังงาน ระบุก๊าซในอ่าวไทยจะหมดใน 18 ปี ขณะที่ ก.พลังงานปัจจุบันอ้างจะหมดในอีก 7 ปี งงใครมั่วข้อมูล เหน็บหรือวิธีคิดเรื่องความมั่นคงทางพลังงานขึ้นอยู่กับการให้สัมปทานเอกชน ฉะรีบร้อนเปิดสัมปทานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ หรือเพื่อประโยชน์ของใครกันแน่? เปิดชื่อ 12 กก.ร่วมคลายปมสัมปทานปิโตรเลียม คาดประชุมนัดแรก 26 ก.พ.นี้
วานนี้ (24 ก.พ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมร่วมระหว่างครม. และคสช. ถึงกรณีความเห็นต่างในเรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ว่า ในที่ประชุมได้มีการหารือกันแล้ว ตนจึงตัดสินใจว่า สิ่งสำคัญที่อยากให้ทุกคนรู้ คือขณะนี้มีสิ่งชี้ชัดว่า สถานการณ์ที่ดีขึ้น คือมีการพูดคุยกันโดยสงบเรียบร้อย เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นการพูดคุยที่ดีมาก และมีข้อยุติว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการมาศึกษารายละเอียด โดยตนตัดสินใจไปว่า ให้แก้กฎหมายให้เรียบร้อยก่อน ที่จะเดินหน้าต่อไป
ทั้งนี้ต้องมีการพูดคุยกันต่อ ไม่ใช่การแก้กฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีขั้นตอนของการดำเนินการ อะไรที่จะทำให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ ซึ่งทั้งสองฝ่ายนั้นมีความมุ่งหมายที่ดีมาตลอด ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี
ส่วนในวันที่ 16 มี.ค. ก็จะยังไม่มีการเปิดให้ยื่นสัมปทาน แต่จะมีการหารือว่า จะทำอย่างไร ก็สรุปว่า แก้กฎหมายก่อน ถึงจะทำอะไรได้ โดยการแก้กฎหมายนั้น ต้องไปดูว่า มีข้อขัดข้องตรงไหน ทำได้หรือไม่ วิธีนี้ วิธีโน้น สองสามวิธี ทำได้หรือไม่ อย่างไร อะไรดีกว่ากัน ต้องเป็นเรื่องที่ต้องหารือกันอีก ตนถึงได้บอกว่า ต้องมาคุยกันอีก ที่ผ่านมาเพียงแต่พูดในหลักการเฉยๆ ต้องลงรายละเอียดกันอีกที คุยกันแล้วเดี๋ยวไปแก้กฎหมายเข้า สนช. จบเมื่อไหร่ ก็ว่ากันในขั้นตอนของการเปิดสำรวจสัมปทาน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ได้มีกรอบเวลา กฎหมายเสร็จเมื่อไร ก็ทำเมื่อนั้น
เมื่อถามว่า ในระหว่างที่ดำเนินการแก้กฎหมาย จะสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชนอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ต้องไปถามฝ่ายที่คัดค้าน อย่ามาถามตน เพราะตนไม่ได้เป็นคนไปทำให้ช้าเสียเวลา ต้องไปถามเขาว่าอย่างไร ถ้ามาถามตนแล้วทำ ก็บอกว่าไม่รับฟังความคิดเห็น พอตนบอกให้ชะลอตามที่ท่านต้องการ ก็มาบอกเขาจะเชื่อมั่นเราหรือเปล่า มาถามทั้งสองทางตนจะไปตอบอะไรได้
"ต้องไปถามฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยว่า ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว เขาจะรับผิดชอบยังไงได้ เพราะรัฐบาลก็มีหน้าที่ในการจัดหาพลังงาน แต่เมื่อเราฟังความคิดเห็นท่านแล้วก็เข้าใจว่า ท่านต้องการให้เกิดความชัดเจนขึ้น เราก็น้อมรับในคำแนะนำเหล่านั้น และหาทางออกกันต่อไป แต่แน่นอนมันต้องเสียเวลา เมื่อการเสียเวลาเกิดขึ้น ถ้ามีความผิดพลาด ความเสียประโยชน์ เขาต้องเป็นคนรับผิดชอบ ก็รู้อยู่แล้วว่ามีใครบ้าง ทุกคนต้องยอมรับกันบ้างนะ ไม่ใช่ว่าไม่รับอะไรกันเลย ผมก็สั่งให้ลงบันทึกไว้หมดแล้วว่าใคร อะไร ยังไง ความคิดเห็นอย่างไร ผมถือว่าทุกคนต้องรับผิดชอบด้วยกัน ถ้ารัฐฟัง ท่านก็ต้องรับผิดชอบกับรัฐด้วย แค่นั้นเอง" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
เมื่อถามถึงระยะเวลาในการแก้กฎหมาย โดยนายกฯ เคยระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า จะใช้เวลา 3 เดือน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เขาบอกว่าเร็วที่สุดน่าจะได้ ก็ลองดูสิ การแก้กฎหมายนั้นแก้อย่างไร แก้ด้วยใคร ซึ่งเรื่องนี้ ครม.ได้ปรึกษากับคสช. แล้ว
เมื่อถามว่า คณะกรรมการร่วม จะต้องหารือร่วมกันให้ได้ข้อสรุปภายในวันที่ 16 มี.ค. ตามเดินหรือไม่ นากยกฯ กล่าวว่า ไม่ใช่ อย่าเอามาพันกัน ถ้าวันที่ 16 มี.ค. ไม่สามารถยื่นสำรวจสัมปทานได้ ก็จบ ชะลอไปก่อน คือเลื่อนไป ระหว่างนี้ก็พูดคุยทำกฎหมาย ซึ่งก็คงไม่ได้ในวันที่ 16 มี.ค.อยู่แล้ว ส่วนคณะกรรมการร่วมที่ตั้งมาก็คุยกันต่อ โดยเมื่อขั้นตอนกฎหมายอยู่ในขั้นกรรมาธิการ แปรญัติ ก็ไปทำงานร่วมกันสิ ส่วนวันนี้ที่มาถามว่าเขาจะเชื่อถือหรือไม่ ถ้าเขาไม่เชื่อถือก็ไม่ใช่ความผิดตนแล้ว
เมื่อถามว่าคณะกรรมการร่วมจะมีใครเป็นประธาน นายกฯ กล่าวว่า เขามีคณะกันอยู่แล้ว และตนก็ให้ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบอยู่ ซึ่งมีฝ่ายกระทรวงพลังงาน กับกลุ่มที่จะเข้าร่วมหารือ ซึ่งทุกคนมีความหวังดีต่อชาติ ซึ่งรัฐมีปัญหาอย่างเดียวคือเรามีหน้าที่ในการแสวงหาพลังงาน แต่ตนไม่อยากให้มีความขัดแย้ง ส่วนตรงนี้ถ้าเดี๋ยวพลังงานมันขาด จัดหาไม่ได้ หรือไม่เกิดความน่าเชื่อถือขึ้นก็ต้องรับผิดชอบกันบ้าง ใครทำให้มันเกิดขั้น ตนก็ไม่ได้ไปขัดแย้งอะไรกับท่านอยู่แล้ว
**"อรรถวิชช์"ย้ำปชช.ไม่ใช่คู่ปรปักษ์
นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะที่เคลื่อนไหวเรื่องขอให้รัฐบาลชะลอการสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 กล่าว ขอบคุณที่รับฟังเสียงประชาชน เพราะที่ผ่านมาเป็นความขัดแย้งระหว่างภาคประชาชน กับข้าราชการกระทรวงพลังงาน ที่ไม่ไว้ใจกัน การเปิดโอกาสให้แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียมทั้งหมด เป็นก้าวแรกสู่การปฏิรูปพลังงานที่แท้จริง และขอให้ข้าราชการอย่าติดยึด คิดว่าประชาชนเป็นคู่ปรปักษ์
***“รสนา”ตั้งแง่ใครมั่ว? ก.พลังงานบอกก๊าซจะหมดใน 7 ปี
เมื่อวันที่ 24 ก.พ. เวลาประมาณ 02.00 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว รสนา โตสิตระกูล ตั้งประเด็นสงสัย “กระทรวงพลังงานมั่วตัวเลขเรื่องก๊าซหมดใน7ปี หรือไม่?” ตามข้อความดังนี้
“กระทรวงพลังงานอ้างว่าก๊าซจะหมดในอีก 7 ปี เพื่อบีบให้รีบเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 โดยไม่ต้องแก้ไข พ.ร.บ ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ทั้งที่เป็นกฎหมายที่ใช้มาแล้ว 44 ปี และมีมาตราจำนวนมากที่ล้าหลัง ล้าสมัยทำให้ประเทศและประชาชนเสียเปรียบเอกชนต่างชาติ
ในการคุย 2 ฝ่ายเมื่อบ่ายวันที่ 20 ก.พ. 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาลระหว่างกระทรวงพลังงานฝ่ายเชียร์ให้เดินหน้าสัมปทานรอบ 21 กับฝ่ายประชาชนที่เห็นว่าควรแก้ไขกฎหมายก่อนให้สิทธิเอกชนสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ในการคุยนั้นกระทรวงพลังงานยอมรับว่าแหล่งก๊าซ 2 แหล่งใหญ่คือบงกชและเอราวัณ ที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 2565, 2566 คืออีก 7 - 8 ปีนั้น “ทั้งสองแหล่งยังมีปริมาณก๊าซสำรองเหลืออยู่” จึงต้องแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมเพื่อให้สามารถใช้ระบบอื่นนอกจากระบบสัมปทาน
การกล่าวอ้างว่าก๊าซจะหมดใน 7 ปี ที่ถูกต้องคือสัมปทานหมดอายุ แต่ปริมาณก๊าซสำรองยังเหลืออยู่ แหล่งปิโตรเลียม 2แหล่งใหญ่ จะกลับมาเป็นของประเทศอีกครั้ง ซึ่งสมควรยินดี มากกว่าสร้างความตกอกตกใจว่าก๊าซจะหมดเพื่อบีบให้รัฐบาลรีบตัดสินใจเดินหน้าเปิดสัมปทานรอบ 21
ที่ตั้งคำถามว่ากระทรวงพลังงานมั่วข้อมูลหรือไม่? เรื่องก๊าซจะหมดในอีก 7 ปีนั้น เพราะไปอ่านพบข่าวเก่าเมื่อ3ปีที่แล้ว (26 ก.ค 2555) ที่ปลัดกระทรวงพลังงานในขณะนั้นคือ นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ให้ข้อมูลในงานสัมนาของสถาบันวิทยาการพลังงานว่าก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะหมดใน 18 ปี และประเทศไทยต้องนำเข้าก๊าซ LNG มาใช้มากขึ้น
***เปิดชื่อ 12 กก.ร่วมคลายปมสัมปทาน
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายภาคประชาชนเพื่อพิจารณาแนวทางการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความคาดหวังว่าคณะกรรมการชุดนี้จะสามารถทำงานร่วมกันและหาข้อสรุปที่สังคมและนักลงทุนสามารถที่จะยอมรับได้ การดำเนินการดังกล่าวหากต้องมีการแก้ไขกฎหมาย หรือมีการตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมารองรับการแก้ไขกฎหมาย กรณีที่อาจมีการใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตแล้วทำให้การดำเนินการมีความล่าช้า สังคมก็ต้องเข้าใจข้อจำกัดในส่วนนี้ที่จะมีผลต่ออนาคตโดยไม่สามารถกล่าวโทษฝ่ายรัฐบาลฝ่ายเดียวได้
“การจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อเสนอข้อมูลความมั่นคงทางพลังงานอย่างยั่งยืน หรือคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงพลังงานและกลุ่มผู้เห็นต่าง ได้มีการส่งรายชื่อเบื้องต้นของทั้งสองฝ่ายเข้ามาแล้วฝ่ายละ 6 คน โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.)ได้ออกจดหมายเชิญอย่างเป็นทางการแล้ว” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อผู้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการฯฝ่ายกระทรวงพลังงาน จะประกอบไปด้วย นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน นายมนูญ ศิริวรรณ สมาชิกสภาปฏิรูป (สปช.) นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อดีตอธิบดีกรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พ.พ.) นายพล ธีรคุปต์ ผู้เชี่ยวชาญสํานักกฎหมายกรมสรรพากร นายบุญบันดาล ยุวนะศิริ เชี่ยวชาญด้านสัมปทานปิโตรเลียมกรมเชื้อเพลิงธรรมชาตินายประภาส คงเอียด ที่ปรึกษากฎหมาย กระทรวงการคลัง และนายรักไทย บูรพ์ภาค อาจารย์พิเศษวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี สถาบันเอ็มไอที
ขณะที่ฝ่ายภาคประชาชนเสนอ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีต รมว.ต่างประเทศ ม.ล.กรกสิวัฒณ์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระ และแกนนำเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิก สปช.ด้านพลังงาน นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ผู้แทน คปพ. และ นายวิวัฒน์ชัย อัตถากร อาจารย์ประจำสถาบันพัฒนบัณฑิตและบริหารศาสตร์ (นิด้า) และ นายนพ สัตยาศัย อดีตอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคาดว่าการประชุมนัดแรกของคณะกรรมการร่วมฯในวันที่ 26 ก.พ.ที่จะถึงนี้