xs
xsm
sm
md
lg

ปชช.นัดแสดงตน16มี.ค. หากรัฐยังเดินหน้า เปิดสัมปทานรอบ21

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาคประชาชนย้ำ 5 จุดยืน เรื่องสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ยันต้องหยุดรอรื้อกม.ก่อน ชี้ช่องให้รัฐสำรวจเอง 3 แปลงในทะเล แก้วิกฤตพลังงาน ลั่นพร้อมออกมาแสดงตนในวันที่ 16 มี.ค. หรือก่อนหน้านั้น หากรัฐยังคงเดินหน้าเปิดสัมปทาน "ปานเทพ" โพสต์เฟซบุ๊ก 6 ตรรกะขัดแย้งกันเอง ของกระทรวงพลังงาน ที่อ้างแต่เรื่องวิกฤตพลังงาน

เมื่อเวลา 14.00 น. วานนี้ (22ก.พ.) ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ผู้แทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) แถลงภายหลังการหารือร่วมกับแกนนำ และแนวร่วมคปพ. โดยตัวแทนเครือข่ายฯ ที่ทำหน้าที่ร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้ ประกอบด้วยนายนพ สัตยาสัย น.ส.บุญยืน ศิริธรรม และ นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา เป็นต้น ว่า จากผลการรับฟังความเห็นบนเวทีกลาง ที่รัฐบาลจัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล ผลสรุปว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า ควรให้มีการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ให้เป็นธรรมและมั่นคง เพื่อแก้ไขความรู้สึกที่ประชาชนเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งเป็นเหตุให้ประชาชนขาดความไว้วางใจในภาครัฐ ซึ่งในวันนั้นตัวแทนภาครัฐ เป็นผู้แถลงข่าวผลการประชุม แต่ทางภาคประชาชนเห็นว่า มีบางประเด็นที่ยังไม่ได้มีการกล่าวถึงในวันนั้น จึงเกรงว่าเนื้อหาที่ขาดหายไป จะไม่ไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

นายปานเทพ กล่าวว่า ประการแรกภาคประชาชน ได้เสนอให้ฝ่ายนโยบายพิจารณาแก้ไขราคาพลังงานให้เกิดความเป็นธรรม โดยในที่ประชุมภาคประชาชนได้ระบุความไม่เป็นธรรม ในเรื่องราคาก๊าซแอลพีจี ของครัวเรือน กับราคาก๊าซแอลพีจีของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ว่า จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเสีย ก่อนที่จะมีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เพื่อให้รู้ว่า การเปิดใช้ทรัพยากรเป็นประโยชน์ต่อใครสูงสุด

ประการที่ 2 ภาคประชาชน เสนอให้รัฐบาลมีพันธะสัญญาในเรื่องการแก้ไข พ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 รวมไปถึงกฎหมายอื่นๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อรัฐ สร้างความเป็นธรรมและสร้างบรรยากาศการแข่งขัน ตลอดจนปกป้องสิทธิชุมชนให้เสร็จสิ้นภายในอายุของรัฐบาลชุดนี้ เพื่อให้มีทางเลือกอื่นๆ ในการเข้ามาสำรวจปิโตรเลียมของเอกชนในรูปแบบอื่นๆ เช่น การจ้างผลิต หรือแบ่งปันผลผลิต เป็นต้น

ประการที่ 3 ในกรณีที่มีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ภาครัฐ และภาคประชาชนเห็นไม่ตรงกัน โดยกระทรวงพลังงานเห็นว่า ต้องเดินหน้าต่อไป แต่ภาคประชาชนเห็นว่า ไม่ควรเดินหน้าภายใต้เงื่อนไขปัจจุบัน ฝ่ายภาครัฐ จึงเสนอให้นายกฯ ตั้งคณะกรรมการร่วม 2 ฝ่ายขึ้นมาเพื่อทำข้อเสนอเรื่องที่ต้องแก้ไขภายในวันที่ 16 มี.ค.นี้ หากยังไม่ได้ข้อยุติ จึงจะให้นายกฯ ขยายเวลาต่อไป

ประการที่ 4 สิ่งที่ภาคประชาชนเสนอ แต่ยังไม่ปรากฏต่อสื่อ ภายหลังการประชุม เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา และเกรงว่าข้อเสนอจะไม่ถูกนำเสนอถึงนายกฯ คือ ภาคประชาชนเชื่อว่า เรามีเวลาเพียงพอที่จะแกัไขกฎหมายให้เสร็จสิ้นเสียก่อน และยืนยันว่า สมควรที่จะยกเลิกประกาศของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในการเปิดสำรวจและสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 เพื่อยุติปัญหาทั้งหมด รวมไปถึงมีการเสนอทางออก หากภาครัฐยังยืนยันว่า อัตราปิโตรเลียม และพลังงาน อยู่ในขั้นวิกฤติ จึงเสนอให้แบ่งทรัพยากรปิโตรเลียมออกเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่ที่กระทรวงพลังงานระบุว่า เป็นพื้นที่ที่มีศักยาภาพสูงในการพบปิโตรเลียม คือ พื้นที่ในทะเลจำนวน 3 แปลง ที่ติดกับแปลงสัมปทานเดิม โดยใหัภาครัฐตราเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อความมั่นคงทางพลังงานเปิดการจ้างเอกชนสำรวจพื้นที่ 3 แปลงดังกล่าว เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว จึงค่อยพิจารณาแนวการดำเนินการต่อไป ว่าจะเกิดสูงสุดแก่รัฐอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการจ้างผลิต หรือแบ่งปันผลผลิต ซึ่งสามารถดำเนินการคู่ขนานไปกับการแกัไขกฎหมายได้ ส่วนที่ 2 พื้นที่ที่กระทรวงพลังงานระบุว่า มีจำนวนปิโตรเลียมน้อย หรืออาจไม่พบเลย คือ แปลงสัมปทานทางบกจำนวน 26 แปลง การเร่งรีบดำเนินการใดๆ ก็ไม่สามารถตอบโจทย์การขาดแคลนพลังงานของภาครัฐได้ จึงเห็นสมควรว่า ให้รอการแก้ไขกฎหมายต่างๆ รวมถึงสิทธิ และการเยียวยาชุมชนให้เสร็จสิ้นเสียก่อน

ประการที่ 5 สำหรับข้อเสนอในการตั้งคณะกรรมการ หรือคณะทำงานร่วมกัน ภาคประชาชน ขอยืนยันว่า เราพร้อมที่จะให้ขัอมูลและข้อเท็จจริงต่อจุดยืนของเรา แต่ขอพิจารณาโครงสร้าง บุคลากร และเป้าหมาย ของคณะทำงานที่เกิดขึ้นเสียก่อน หากคณะทำงานดังกล่าวเป็นเพียงกระบวนการถ่วงเวลา โดยไม่คิดจะทบทวนการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เราจะไม่ขอเข้าร่วม และถอนตัวจากการพูดคุยทันที

"คาดหวังว่า หากรัฐบาลทำการทบทวน และไม่เปิดสัมปทานรอบที่ 21 ในวันที่ 16 มี.ค. ตามที่ รมว.พลังงาน ได้ขีดเส้นไว้ การเเสดงตัวของภาคประชาชนก็จะไม่เกิดขึ้น" นายปานเทพ กล่าว และว่าหากรัฐบาลไม่มีท่าทีทบทวนข้อเสนอของภาคประชาชน และพยายามเดินหน้าเปิดสัมปทานในวะนที่ 16 มี.ค. ภาคประชาชนก็พร้อมจะออกมาร่วมแสดงตน ในวันที่ 16มี.ค. หรือก่อนหน้านั้น ซึ่งเชื่อว่าจะไม่ขัดกฎอัยการศึก เนื่องจากไม่ใช่การชุมนุม

ด้านน.ส.บุญยืน กล่าวเสริมว่า เมื่อมีการเสนอให้ภาครัฐทำการสำรวจทรัพยากรด้วยตัวเอง โดยอาจจะว่าจ้างเอกชน ก็มักมีข้ออ้างว่า ไม่มีงบประมาณ จึงขอแนะนำให้รัฐนำเงินจากกองทุนน้ำมัน ที่วันนี้มีมากกว่า 2.9 หมื่นล้านบาท มาทำการสำรวจในครั้งนี้ โดยงบประมาณอาจจะสูงถึง 5 พันล้านบาท อย่างที่คนในรัฐบาลชอบกล่าวอ้าง ก็สามารถทำได้ เพราะถือว่าประชาชนเป็นผู้จ่ายค่า
สำรวจ ในฐานะที่เสียเงินเข้ากองทุนจากการเติมน้ำมัน ขณะเดียวกัน ทุกฝ่ายแม้แต่ภาครัฐยอมรับว่า กฎหมายปิโตรเลียม มีปัญหาต้องแก้ไข ดังนั้นภาคประชาชนจะไม่รอแล้ว จะทำเรื่องเสนอคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ในวันที่ 25 ก.พ. ให้เป็นเจ้าภาพแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ อย่างมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และเป็นธรรมต่อส่วนรวม ส่วนการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ภาคประชาชน จะไปยื่นหนังสือเพื่อติดตามทวงถามเรื่องที่ร้องเรียนไปก่อนหน้านี้ ต่อนายกรัฐมนตรีอีกครั้งที่ ทำเนียบรัฐบาล โดยอยู่ภายใต้กรอบของรัฐบาล และกฎอัยการศึก

**6 ตรรกะขัดแย้งกันเองของก.พลังงาน

ทั้งนี้ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โพสต์เฟซบุ๊ก 6 ตรรกะ ที่ขัดแย้งกันเองของกระทรวงพลังงาน ในความเร่งรีบเปิดสัมปทานรอบที่ 21 จากการประชุมช่วงบ่าย ระหว่างภาคประชาชนกับกระทรวงพลังงาน ในช่วงบ่ายของวันศุกร์ที่ 20 ก.พ.58 ว่า
1. กระทรวงพลังงานอ้างว่าที่ต้องรีบเปิดสัมปทานรอบที่ 21 เพราะเราเข้าสู่การขาดแคลนพลังงานแล้ว และจะเสียหายหนัก จากการนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศในอีก 6 - 7 ปีข้างหน้า

คำถามและตรรกะจากภาคประชาชน : ถ้ารอแก้ไขกฎหมายก่อนสิ้นสุดรัฐบาลชุดนี้ กับเร่งกระบวนการปิดรับข้อเสนอสัมปทานวันที่ 16 มี.ค.58 ประเทศชาติจะเสียหายต่างกันมากน้อยแค่ไหน

กระทรวงพลังงานยืนยันว่าเสียหายทุกวัน (แต่ยังไม่สามารถระบุตัวเลขได้) จึงถามข้อ 2 ต่อมาว่า ถ้าอย่างนั้น ทำไมถึงไม่จ้างสำรวจเองก่อน (ซึ่งสามารถทำได้เลย)

2. กระทรวงพลังงานบอกกว่า ไม่ควรเสียเวลาสำรวจ เพราะแปลงสัมปทานเหล่านี้เป็นแปลงที่มีโอกาสจะเจอน้อยมาก เพราะแปลงสัมปทานเหล่านี้ทั้งหมด 29 แปลง ล้วนแล้วแต่เป็นแปลงที่เคยให้สัมปทานเดิม แต่ไม่พบ จึงคืนกลับมาทั้งหมด ถ้าสำรวจแล้วไม่พบ ความเสียหายที่เกิดขึ้นใครจะรับผิดชอบ

คำถามและตรรกะจากภาคประชาชน : ถ้าคิดว่าเจอน้อยมาก แล้วจะเร่งรีบเปิดสัมปทานเพื่อแก้ไขการขาดแคลนพลังงานได้อย่างไร จะสร้างความมั่นคงทางพลังงานได้อย่างไร ดังนั้นเมื่อไม่ตอบโจทย์ที่จะแก้ไขวิกฤติร้ายแรงตามข้อ 1 จึงไม่มีความเร่งรีบตามที่กล่าวอ้างตามข้อที่ 1 แต่ประการใด และแปลว่าเราสามารถแก้ไขกฎหมายให้มีความโปร่งใส สร้างโอกาสในการแข่งขัน และเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติได้ดีกว่าเดิมก่อนการตัดสินใจเปิดใช้ทรัพยากรปิโตรเลียมรอบใหม่

3. กระทรวงพลังงานจึงตอบตรรกะในข้อ 2 ว่า เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไป แปลงสัมปทานที่เคยให้สัมปทานไปแล้วไม่พบปิโตรเลียมในเวลาหนึ่ง ในวันนี้อาจจะพบมากขึ้นก็ได้ ดังเช่นตัวอย่างในทะเล 3 แปลง ซึ่งเป็นแปลงสัมปทานที่อยู่ติดกับแปลงสัมปทานเดิม เมื่อก่อนไม่พบปิโตรเลียมและเคยส่งคืนกลับมา ปัจจุบันถือว่าเป็น 3 แปลง ที่มีศักยภาพ

คำถามและตรรกะจากภาคประชาชน : ถ้าคิดว่าจากสิ่งที่เราเคยรู้ว่ามีปิโตรเลียมน้อย อาจจะมีมากก็ได้ ด้วยเทคโนโลยีใหม่ในยุคปัจจุบันที่มีประสิทธิภาพ แปลว่าตรรกะข้อที่ 2 ของกระทรวงพลังงานที่ว่า กระเปาะเล็ก ไร้ศักยภาพ ต้นทุนแพง ไม่น่าสนใจ ไม่อาจสรุปได้ว่า เป็นความจริงอีกต่อไป ดังนั้นข้ออ้างที่ว่า อย่าเสียเวลาสำรวจก่อน เพราะจะพบปิโตรเลียมน้อยมากตามตรรกะข้อที่ 2 จึงฟังไม่ขึ้น

ยิ่งถ้ากระทรวงพลังงาน ยอมรับว่า เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไป เรามีโอกาสจะพบมากขึ้น ยิ่งต้องแปลว่าเราควรจะสำรวจใหม่เพื่อให้รู้ศักยภาพและคุณค่าที่แท้จริงของทรัพยากร ที่จะผูกพันในการยกสัมปทานให้กับเอกชนไปอีก 39 ปี การแก้ไขกฎหมายในภายหลังจากให้สัมปทานไปแล้วย่อมเสียโอกาสในการรักษาประโยชน์ประเทศมากกว่า

4. กระทรวงพลังงาน จึงชี้แจงต่อว่าถึงอย่างไรก็จะต้องเร่งรีบ ไม่ควรเสียเวลาสำรวจ เพราะเราจะเข้าสู่วิกฤติขาดแคลนพลังงานแล้ว
คำถามและตรรกะจากภาคประชาชน : “ถ้ารีบขนาดนั้น เพราะเชื่อว่าจะเกิดวิกฤติร้ายแรงขนาดนั้น” เหตุใดไม่เริ่มต้นจากแปลงที่กระทรวงพลังงาน บอกเองว่ามีศักยภาพสูง คือ 3 แปลงในทะเล ( เพราะกระทรวงพลังงานแจ้งว่า บนบกมีโอกาสพบปิโตรเลียมน้อยกว่า หรือไม่พบเลย จึงไม่ควรเสียเวลาและเสียเงินกับแปลงที่ไม่แน่ใจในภาวะวิกฤต)

เพราะ 3 แปลงสัมปทานในทะเล มีศักยภาพสูง จึงย่อมมีความเสี่ยงต่ำ ควรให้กระทรวงพลังงาน “จ้างเอกชนสำรวจเอง”ซึ่งสามารถทำได้ทันทีเฉพาะ 3 แปลง ถ้าสำรวจแล้วพบปิโตรเลียมจริง ก็ค่อยมาพิจารณว่า รัฐบาลจะจ้างผลิตเองให้ปิโตรเลียมเป็นของรัฐทั้งหมดก็ได้ หรือ เปิดการแข่งขันราคาประมูลในระบบแบ่งปันผลผลิต โดยให้ประโยชน์สูงสุดแก่รัฐก็ได้ และยังสามารถแก้ไขโจทย์ ที่กระทรวงพลังงานบอกว่าต้องรีบเพราะจะเกิดวิกฤตได้อีกด้วย

ส่วน 26 แปลงที่เหลือ ที่กระทรวงพลังงานบอกว่ามีศักยภาพน้อย จึงไม่ต้องรีบ เพราะไม่ตอบโจทย์การแก้วิฤตด้านพลังงาน และสามารถรอการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีปิโตรเลียมฯลฯ ให้เสร็จสิ้นก่อนได้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่รัฐได้จริงเสียก่อน

ถ้าทำเช่นนี้ก็จะตอบโจทย์ของกระทรวงพลังงานทั้งข้อ 1 และ 4 เรื่องข้อจำกัดของเวลาและความเร่งรีบได้

5. กระทรวงพลังงาน แย้งว่าตามที่ภาคประชาชนเสนอ ข้อ 4 ทำไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายฉบับปัจจุบันรองรับ และการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับปิโตรเลียม ต้องมีความรอบคอบ รัดกุม จึงไม่ควรเร่งรีบ แต่ในขณะเดียวกัน การเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ต้องเร่งรีบเพราะเป็นวิกฤต

คำถามและตรรกะจากภาคประชาชน : เมื่อกฎหมายฉบับเก่าใช้ไม่ได้ตามข้อเสนอในข้อ 4 แต่ถ้าเร่งรีบถึงขนาดนั้น แปลว่า กระทรวงพลังงาน กำลังบอกว่า เป็นวิกฤตของความมั่นคงทางพลังงานของชาติที่ร้ายแรง รัฐบาลสามารถตราพระราชกำหนดในการจ้างสำรวจ 3 แปลงในทะเลได้ทันที ด้วยเหตุผลเพื่อรักษาความมั่นคงทางพลังงานของชาติได้ในเวลาวิกฤต

6. กระทรวงพลังงาน แย้งว่าตามที่ภาคประชาชน เสนอ ข้อ 5 ทำไม่ได้ เพราะการตราพระราชกำหนดเช่นนี้จะทำให้ผู้ลงทุนสูญเสียความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล

คำถามและตรรกะจากภาคประชาชน: ตกลงต้องเลือกเอาในเวลาที่รัฐบาลอ้างว่าเป็นวิกฤติพลังงาน ว่าต้องการความมั่นคงทางพลังงานของชาติและผลประโยชน์สูงสุดของชาติ หรือยึดประโยชน์ความเชื่อมั่นจากผู้ลงทุนเป็นหลักสำคัญกว่ากันแน่?

ในเวลาตอนนี้ยังไม่มีการลงทุนสำรวจหรือขุดเจาะจากเอกชนในการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 รัฐบาลจึงมีสิทธิ์กำหนด เปลี่ยนแปลง แก้ไขได้ จะเสียความเชื่อมั่นได้อย่างไร และบทพิสูจน์ได้ปรากฏว่า การเลื่อนสัมปทานรอบที่ 21 ก็เลื่อนมาหลายครั้งในรอบ 2 - 3 ปีที่ผ่านมาแล้ว ผู้ยื่นข้อเสนอก็ยังกลับเข้ามาทุกครั้ง ตามผลประโยชน์ที่เขาคาดหวัง จึงไม่สูญเสียความเชื่อมั่นอย่างที่กล่าวอ้าง แต่ถ้ารัฐบาลไม่ยืนอยู่บนฐานของผลประโยชน์สูงสุดแก่รัฐจริง จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้อย่างไร ?.
กำลังโหลดความคิดเห็น