xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สัมปทานปิโตรเลียม แถต่อไม่ไหว ใส่เกียร์ถอยดีกว่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ในที่สุด คณะรัฐมนตรีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็มีมติเมื่อวันที่ 24 ก.พ.2558 ให้ชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ออกไปก่อน และเป็นสัญญาณที่ดีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มองการจัดเวทีแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องพลังงาน เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2558 ว่าเป็นการพูดคุยที่ดีมาก ทั้งสองฝ่ายมีความมุ่งหมายที่ดี ผิดจากท่าทีที่ผ่านมาซึ่งมักมองว่าภาคประชาชนตีรวนคุยกันไปก็ไม่รู้เรื่อง

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอย่างชัดเจนว่า มีข้อยุติที่จะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมมาศึกษารายละเอียด และตัดสินใจว่าให้ไปแก้กฎหมายให้เรียบร้อยก่อนที่จะเดินหน้าต่อไป จะยังไม่มีการเปิดให้ยื่นสัมปทาน และไม่ใช่แต่แก้กฎหมายอย่างเดียวเท่านั้นยังมีขั้นตอนของการดำเนินการต่างๆ ที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศที่ต้องทำ

“.... จะมีการหารือว่าจะทำอย่างไร ก็สรุปว่าแก้กฎหมายก่อน ถึงจะทำอะไรได้ โดยการแก้กฎหมายนั้น ต้องไปดูว่ามีข้อขัดข้องตรงไหน ทำได้หรือไม่ วิธีนี้ วิธีโน้น สองสามวิธี ทำได้หรือไม่ อย่างไร อะไรดีกว่าอะไร ต้องเป็นเรื่องที่ต้องหารือกันอีก ถึงได้บอกว่าต้องมาคุยกันอีกสิ ที่ผ่านมาเพียงแต่พูดในหลักการเฉยๆ ต้องลงรายละเอียดกันอีกที คุยกันแล้วเดี๋ยวไปแก้กฎหมายเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จบเมื่อไหร่ก็ว่ากันในขั้นตอนของการเปิดสำรวจสัมปทาน เรื่องนี้ไม่ได้มีกรอบเวลา กฎหมายเสร็จเมื่อไหร่ ก็ทำเมื่อนั้น” พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมครม.ในวันดังกล่าว

ในวันต่อมา นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่ากระทรวงพลังงาน ก็ออกมารับลูก โดยกระทรวงพลังงาน เตรียมออกประกาศยกเลิกประกาศการเปิดให้เอกชนยื่นสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 16 มี.ค. 2558 นี้ เพื่อเข้าสู่กระบวนการแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ครั้งที่ 6 ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน หลังจากนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้เลื่อนการเปิดสัมปทานรอบนี้ เพื่อให้เป็นไปตามข้อเสนอของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน (คปพ.) ซึ่งจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างรัฐและภาคประชาชนต่อไป

น่าสังเกตว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ขีดเส้นเวลา แต่นายณรงค์ชัย ตั้งธงให้เสร็จภายใน 3 เดือน

สำหรับการแก้ไขกฎหมายนั้น รมว.กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า โดยหลักการแก้ไข พ.ร.บ.เบื้องต้นจะปรับปรุงเงื่อนไขระบบการแบ่งปันผลผลิต (PSC) เพิ่มเติม ซึ่งหลังจากการแก้ไข พ.ร.บ.เสร็จสิ้น จะมีการออกประกาศให้เอกชนสามารถเข้าร่วมยื่นสำรวจและผลิตตามกรอบเวลาเดิมที่ 120 วัน ดังนั้น จึงคาดว่าจะสามารถเริ่มพิจารณาเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ได้ไม่เกินช่วงเดือน ก.ย. - ต.ค.ส่วนจะมีนักลงทุนสนใจเข้ามายื่นสิทธิสำรวจสัมปทานในรอบนี้มากน้อยเพียงใด จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการลงทุนที่กำหนดไว้ในการแก้ไข พ.ร.บ.ครั้งนี้ ว่าจะสามารถจูงใจนักลงทุนได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในการเลื่อนเปิดสัมปทานรอบนี้ออกไป นายณรงค์ชัย คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในระดับหนึ่ง แต่เชื่อว่านักลงทุนที่ยื่นซองประมูลเข้ามาแล้ว 1 ราย คาดว่าจะไม่มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐ เนื่องจากเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มีข้อพิพาทระหว่างภาครัฐและประชาชนในขณะนี้ โดยระหว่างนี้ กระทรวงพลังงานได้เตรียมแผนรับมือ โดยการเร่งก่อสร้างคลังสำรองก๊าซธรรมชาติเหลว LNG ระยะที่ 2 เพื่อรองรับปริมาณการนำเข้า LNG จากต่างประเทศ 10 ล้านตัน ซึ่งจะต้องใช้เวลาประมาณ 3 - 5 ปี กว่าจะแล้วเสร็จ รวมทั้งล่าสุดได้เร่งสั่งซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินของ สปป.ลาว จำนวน 1,400 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าและเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน

สำหรับความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนภายหลังจากรัฐบาลสั่งชะลอการเปิดสัมปทานออกไป ทางเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้แถลงจุดยืนต่อกรณีการชะลอการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 จนกว่าจะมีการแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยขอเสนอให้นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคประชาชน 3 ชุด เพื่อนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณากำหนดเป็นนโยบายด้านพลังงาน ดังนี้

หนึ่ง คณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคประชาชนว่าด้วยการจัดสรรทรัพยากรปิโตรเลียมแก่ประชาชน รวมถึงการกำหนดโครงสร้างราคาปิโตรเลียมใหม่ให้มีความเป็นธรรม เพื่อลดผลกระทบและความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน

สอง คณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคประชาชนว่าด้วยการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียม เช่น พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ประมวลรัษฎากร และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดจน กฎกระทรวง ประกาศ คำสั่ง และกฎระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่รัฐและประชาชน ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ข้อยุติในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนเสร็จสิ้นเสียก่อน แล้วจึงนำข้อเสนอดังกล่าวไปยังส่วนงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อแก้ไขกฎหมายต่อไป โดยมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดต่างๆ ที่จะตั้งขึ้น ขอให้มีสัดส่วนตัวแทนภาครัฐและภาคประชาชนในจำนวนที่เท่ากันโดยไม่มีการลงมติใดๆ แต่ใช้วิธีนำเสนอข้อมูลให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องที่เห็นพ้องต้องกันเพื่อกำหนดเป็นนโยบาย รวมถึงเป็นเวทีซึ่งนำข้อเสนอและเหตุผลที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชนให้นายกรัฐมนตรีได้พิจารณาตัดสินใจต่อไป

สาม คณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคประชาชนว่าด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม ซึ่งรวมถึงแปลงสัมปทานเดิมที่เอกชนส่งคืนกลับให้แก่รัฐ แปลงสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุ แปลงปิโตรเลียมข้างเคียงแปลงสัมปทานเดิม หรือแปลงสัมปทานปิโตรเลียมใหม่ ฯลฯ เพื่อร่วมกันหาทางออกให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่รัฐและประชาชน และเพื่อให้มีความโปร่งใส ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน และมีประสิทธิภาพสูงสุด

ส่วนประเด็นที่นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยในวิกฤตพลังงานในวันข้างหน้าและขอให้ภาคประชาชนร่วมรับผิดชอบด้วยนั้น เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย ขอเสนอให้นายกรัฐมนตรี ตราพระราชกำหนดในการจ้างสำรวจปิโตรเลียมในแปลงปิโตรเลียมที่มีศักยภาพสูงซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับแปลงสัมปทานเดิม ตามคำชี้แจงของกระทรวงพลังงาน และเป็นไปตามประกาศของกระทรวงพลังงานในวันที่ 4 ก.พ. 2558

แปลงสัมปทานดังกล่าวนั้นได้แก่ แปลงสัมปทานในอ่าวไทยหมายเลข G3/57 G5/57 และ G6/57 ตลอดจนอาจรวมถึงแปลงปิโตรเลียมอื่นๆ อีกหลายแปลงที่อยู่ติดกับแปลงสัมปทานเดิมที่มีศักยภาพ เช่น แปลงบนบก 7 แปลง และในอ่าวไทย 3 แปลง รวมเป็นทั้งสิ้น 13 แปลง ควบคู่กันไปในระหว่างที่การรอการปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ และเมื่อพบปริมาณปิโตรเลียมแล้วจึงค่อยมากำหนดอีกครั้งว่าจะใช้วิธีการจ้างผลิต หรือแบ่งปันผลผลิต เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อรัฐ ซึ่งเชื่อว่าการปฏิรูปกฎหมายปิโตรเลียมจะเสร็จสิ้นก่อนการรู้ผลการสำรวจอย่างแน่นอน

หากการตั้งคณะกรรมการร่วมฯ ดังกล่าวข้างต้นไม่มีการสอดใส้ ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม แต่เป็นการร่วมมือเพื่อประโยชน์ชาติ นี่คงเป็นการเปิดโฉมหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของการปฏิรูปโครงสร้างระบบพลังงานของประเทศที่แท้จริง และนาทีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ควรได้รับการจารึกชื่อว่าเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่


กำลังโหลดความคิดเห็น