xs
xsm
sm
md
lg

ภาคปชช.ชงคว่ำสัมปทานรอบ21หวั่นเสียค่าโง่กพช.เผยไต๋16มี.ค.เดินหน้าแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาคประชาชนยื่นหนังสือบี้ “ประยุทธ์” ทบทวนสัมปทานรอบ 21 อีกคำรบ แนบ 5 ข้อเสนอแก้ปัญหาพลังงาน “ปานเทพ” ขอบคุณภาครัฐชะลอเรื่องร้อน พร้อมร่วมเวทีกลาง 20 ก.พ.นี้ ด้าน “บิ๊กตู่” ยันขยายเวลาเปิดสัมปทานรอบ 21 ไม่ใช่ถอยเพราะกลัว หวังเวทีศุกร์นี้เป็นเวทีสุดท้ายก่อนได้คำตอบเดินหน้าอย่างไร ดักคออย่าเถียงเอาเป็นเอาตาย เข้มทุกฝ่ายต้องเข้าร่วม ไม่มาถือว่าไม่ให้เกียรติ “นายพลไก่อู” เผยร่อนหนังสือเชิญหลายฝ่าย กวักมือเรียก “มาร์ค - รสนา - ธีระชัย” ร่วมแจม ขณะที่ “ณรงค์ชัย” เผยมติ กพช.เคาะ 16 มี.ค.เดินหน้าสัมปทานรอบ 21

วานนี้ (16 ก.พ.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ และเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย นำโดย พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ผู้ประสานงานเครือข่าย ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค และนายศตวรรษ เศรษฐกร ดารานักแสดง พร้อมด้วยตัวแทนภาคประชาชนราว 400 คน ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเรียกร้องต่อแนวทางขยายเวลาการยื่นแสดงจำนงสำรวจและผลิตปิโตรเลียมและข้อเรียกร้องต่อแนวทางการจัดเวทีกลางถกสัมปทานรอบที่ 21 โดยมี นายสุขสวัสดิ์ สุวรรณวงศ์ ผู้อำนวยการประสานงานมวลชน เป็นผู้รับเรื่อง ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ รวมทั้งและตำรวจนครบาลกองอำนวยการควบคุมฝูงชน อยู่โดยรอบบริเวณประมาณ 60 นาย

ภาค ปชช.ยื่น 5 ข้อแก้ปัญหาพลังงาน

โดย พ.ท.พญ.กมลพรรณ กล่าวว่า การยื่นหนังสือในวันนี้เพื่อขอเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านพลังงานดังนี้ 1.ขอให้ยกเลิกประกาศ ฉบับวันที่ 30 ก.ย.57 โดยเปิดให้มีการสำรวจได้ภายใน 1 ปี แต่ห้ามผลิต โดยกระทรวงพลังงานต้องหยุดกระบวนการใดๆเกี่ยวการให้สัมปทาน และระหว่างนั้นขอให้มีคณะทำงานศึกษาแก้ไข กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและให้ประชาชนมีส่วนร่วม รวมถึงให้แก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และ พ.ร.บ.ภาษีปิโตรเลียม พ.ศ.2514 โดยตั้งคณะกรรมการปฏิรูปพลังงานงานไทย และตั้งคณะกรรมการรวบรวม ผลดี-ผลเสีย จากสัมปทานที่ผ่านมา และที่จะเกิดในอนาคตอันใกล้

2.เปิดพื้นที่เจรจาถกเถียงข้อมูล โดยให้เวลาเท่าเทียมกันทั้งตัวแทนภาครัฐ และประชาชน โดยถ่ายถอดทางสื่อฟรีทีวีรวมการเฉพาะกิจ หรือรัฐสภา และมีนายกรัฐมนตรีร่วมฟังปัญหา

3.ฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลจะต้องเปิดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลอย่างเสรี ไม่ว่าการจัดเสวนาวิชาการที่ไม่ได้มีความขัดแย้ง หรือเป็นปฏิปักษ์ หรือต่อต้านอำนาจ คสช.หรือความมั่นคงของชาติ รวมถึงให้ภาคประชาชนมีโอกาสนำเสนอข้อมูลด้านพลังงานผ่านสื่อมวลชน ฟรีทีวีของรัฐ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และห้ามภาครัฐให้ข้อมูลบิดเบือน เพราะเป็นเรื่องที่สร้างความขัดแย้ง หากพบการกระทำดังกล่าวขอให้นายกฯ ดำเนินการไต่สวนคดีและมีการลงโทษอย่างเด็ดขาดตามประมวลจริยธรรมของนักการเมืองและข้าราชการพลเรือน และมีการจัดเวทีสัญจรตามภูมิภาคเพื่อรับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนในพื้นที่ และให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล

ย้ำสัมปทานรอบ 21 ไทยเสียเปรียบ

4.ให้กระทรวงพลังงานเปิดเผยข้อมูล หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลทุกรอบที่ผ่านมา รวมทั้งรายชื่อบริษัทที่รับสัมปทานและผลประกอบการของบริษัทในการรับสัมปทานครั้งที่ 19-20 และให้เปิดเผยสัญญาสัมปทานทุกฉบับเพื่อให้กิดความโปร่งใส

5.สิ่งที่เคยเบียดเบียนประชาชน ต้องแก้ไขทันทีให้เสร็จใน 1 เดือน เช่น ธุรกิจปิโตรเคมี ท่อก๊าซ และราคาก๊าซไฟฟ้าต้องลดลง โดยตั้งคณะกรรมการศึกษาร่วม

“หากเปิดสัมปทานพลังงานครั้งที่ 21 นั้น ประเทศไทยจะเสียเปรียบมาก ทำให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมือง และผลประโยชน์จะตกอยู่ในมือของคนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เราไม่ได้คิดร้ายกับรัฐบาลแต่พวกเราสนับสนุน บริษัทที่เข้ามาทำสัมปทานต่างๆนั้น ไปจดทะเบียนที่เกาะเคย์แมนหรือเกาะฟอกเงิน แล้วไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครถือหุ้นบ้าง ซึ่งผลประโยชน์ดังกล่าวควรตกเป็นของประชาชนไม่ใช่กลุ่มทุนบางกลุ่มที่ผ่านมารัฐบาลบริหารผิดพลาด เนื่องจากเชื่อแต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ผ่านมาเราก็เสียค่าโง่ไปเป็นหมื่นล้านบาทกรณีทุจริตโครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่าน มันเป็นความเสียเปรียบของคนไทยทั้งชาติ เราต้องช่วยกันเฝ้าระวังเรื่องการบริหารของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็แล้วแต่” พท.ญ.กมลพรรณ กล่าว

“ปานเทพ” ขอบคุณ รบ.ชะลอสัมปทาน

ด้าน นายอิฐบูรณ์ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลจะเปิดเวทีกลางถกสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ในวันที่ 20 ก.พ. และจะขยายเวลาการยื่นแสดงความจำนงสำรวจและผลิตปิโตรเลียมหรือขยายเวลาการรับซองขอสัมปทานปิโตรเลียมออกไปก่อน โดยมิได้ประกาศยกเลิกการรับยื่นซองขอสัมปทานนั้น ทางเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทยขอขอบคุณรัฐบาลที่ได้มีความห่วงใยต่อข้อเรียกร้องของประชาชน และขอสนับสนุนนความตั้งใจจริงของรัฐบาลที่จะสร้างความมั่นคงทางพลังงานบนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้อง และมีความประสงค์ที่จะส่งตัวแทนเข้าร่วมเวทีกลางที่รัฐบาลจัดขึ้น แต่ไม่เห็นด้วยต่อแนวทางขยายเวลาการยื่นแสดงจำนงสำรวจและผลิตปิโตรเลียมออกไป เนื่องจากมีผลให้กระบวนการเปิดขอสัมปทานยังดำรงอยู่ และสร้างความเข้าใจผิดต่อประชาชน ว่ารัฐบาลไม่มีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหา รัฐบาลจึงควรพิจารณาดำเนินการ อาทิ ยกเลิกประกาศกระทรวงพลังงานเรื่อง การยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจบกและในทะเลอ่าวไทย เป็นต้น

“การจัดเวทีกลางถกสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เครือข่ายขอให้รัฐบาลดำเนินการจัดเวทีทุกสัปดาห์ๆละ 1 ครั้ง ภายในระยะเวลา 2 เดือน รวมทั้งควรจัดเวลาในการนำเสนอข้อมูลอย่างเท่าเทียมกันทุกๆฝ่ายในทุกเวที และการตอบคำถามของกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีเอกสารรองรับให้ประชาชรสามารถตรวจสอบได้” นายอิฐบูรณ์ ระบุ

ขณะที่ นายปานเทพ กล่าวว่า เราขอขอบคุณที่รัฐบาลจะตัดสินใจชะลอการเปิดสัมปทานครั้งนี้ และกำลังจะเปิดเสวนา ซึ่งต้องควรจะเปิดอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะสิ้นกระแสสงสัย และต้องให้เวลาเท่าเทียมกัน และมีการถ่ายทอดสด ต้องไม่ใช่เวทีที่รัฐบาลชี้แจงฝ่ายเดียว และต้องใจกว้างการรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน ทั้งนี้การแก้ปัญหาไม่ใช่การชะลอสัมปทานแต่ต้องยกเลิกประกาศของกรมเชื้อเพลิงฯ เพราะยังไม่สามารถหาข้อยุติที่จะเกิดประโยชน์กับชาติ

“บิ๊กตู่” พร้อมรับฟังทุกความเห็น

อีกด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับเวทีรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนในวันที่ 20 ก.พ.นี้ รัฐบาลจะส่งตัวแทนเข้าร่วมรับฟัง และตนก็พร้อมรับฟังความคิดเห็นอยู่แล้ว โดยการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ในวันที่ 18 ก.พ.นี้ จะต้องเลื่อนออกไปก่อน ซึ่งต้องดูว่า ผลการพูดคุยในวันที่ 20 ก.พ.จะออกมาอย่างไร หากตกลงกันได้ เราก็มีเวลาในการอนุมัติสัมปทาน ซึ่งสาเหตุการเลื่อนการเปิดสัมปทานออกไปนั้น ตนได้หารือกับกระทรวงพลังงานมานานแล้ว แต่ไม่ได้ถอยเพราะกลัว แต่เหตุผลคือ อยากให้ทุกคนเข้าใจว่า เราเตรียมการไว้แล้วว่า อยากให้มีการทำความเข้าใจอีกหน่อย ไม่ใช่เพราะมี 4-5 คนออกมาคัดค้าน แต่เขาต้องรับผิดชอบ ถ้าดำเนินการต่อไปไม่ได้

"เราเป็นห่วงว่า ในระยะยาว 5-10 ปี จะทำอย่างไร เมื่อแปลงสัมปทานปิโตรเลียมที่มีอยู่นี้หมดแล้ว ไม่มีแปลงอื่นมาทดแทน จะทำอย่างไร เพราะหากลงทุนใหม่ จะต้องใช้เวลาในการเตรียมการ 4-5 ปี" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

เล็งตั้ง กก.ร่วมเคลียร์ข้อสงสัย

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะช้าเกินไปหรือไม่ หากรอให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มาดำเนินการเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ช้าไป เพราะทั้งหมดตอนนี้ถือว่าช้าหมด วันนี้ประเทศต่างๆ เตรียมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ประเทศเพื่อนบ้านก็มีการใช้พลังงานในประเทศมากขึ้น ซึ่งระยะเวลาในการรับฟังความเห็นต้องมีการกำหนดไว้ด้วย ทั้งนี้ ต้องรอฟังการพูดคุยในวันที่ 20 ก.พ.นี้ก่อน แต่อยากเรียนว่า ทุกอย่างมี พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ที่ระบุถึงเรื่องการจัดหาแหล่งพลังงาน ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงพลังงาน ไม่ใช่หน้าที่ของตน ตนเป็นผู้รับทราบในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งที่จริงแล้วกระทรวงพลังงานสามารถดำเนินการตามกฎหมายได้เลย และหากไม่ทำ จะมีความผิดหรือไม่ก็ต้องไปพูดคุยกันต่อ

เมื่อถามว่า หากมีความขัดแย้งอยู่ จะยังไม่สามารถเปิดสัมปทานได้ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อย่าไปพูดอะไรที่ยังมาไม่ถึง ส่วนการตั้งคณะกรรมการร่วม เพื่อหาทางออกนั้น ก็ต้องไปคุยกัน โดยเอาเหตุผลมาว่ากันก่อน แต่อย่าทะเลาะกัน เพราะที่ผ่านมาทะเลาะกันตลอด แล้วไปได้ไม่ถึงไหน ดังนั้น ตอนนี้ต้องสงบเงียบทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อให้ได้ชี้แจงกัน คำถามไหนเข้าใจ ก็คือเข้าใจ ส่วนคำถามไหนที่ไม่เข้าใจ ให้เหลือไว้แล้ว ตั้งคณะกรรมการมาคุยกัน แล้วจะดำเนินการอย่างไรก็ว่าไป

ลั่นเวทีกลาง 20 ก.พ.เวทีสุดท้าย

นายกฯกล่าวด้วยว่า หวังว่าเวทีในวันที่ 20 ก.พ.นี้ จะทำให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน ความจริงตนก็ไม่เดือดร้อนอะไร ซึ่งหากทำไม่ได้ประเทศก็เดือดร้อน ก็ต้องลงชื่อแล้วว่ามันทำไม่ได้แล้ววันหน้าจะมีปัญหา แต่ตนอยากให้ทำได้ แต่จะทำอย่างไรไม่รู้ อะไรมันคุ้มค่ากว่ากัน อย่างไรก็ตามตนอยากให้เวทีในวันที่ 20 ก.พ.นี้เป็นเวทีสุดท้าย ส่วนผลจะออกมาอย่างไรก็อย่าเพิ่งพูดให้เสียหาย ยังไม่ได้คุยกันก็มาบอกไม่ได้เสียแล้ว เราต้องให้กำลังใจทุกคนให้ทำได้ อยากให้ทำไม่ได้หรือ ทั้งนี้ตนอยากให้ทุกฝ่ายต้องมาเข้าร่วม จะมาพูดกันข้างนอกได้อย่างไร ถ้าบอกว่าเป็นประชาธิปไตย ก็ต้องมาฟังกัน ตนยังฟังเลย ถ้าไม่มา ถือว่าไม่ให้เกียรติเรา ไม่ฟังเรา แล้วจะไปประท้วงนั้นใช้ไม่ได้

เมื่อถามว่า ดูจากกลุ่มผู้ที่เข้าร่วมคัดค้านจะมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "พวกนี้เขาก็กลุ่มเรา หมายความว่า กลุ่มเขายืนหยัดในจุดนี้มาตลอด ทำให้ถอยหลังไม่ได้ แต่ต้องไปหาจุดให้ได้ว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ควรเอาตัวเลขมาชี้แจง และตอบคำถามกันให้ได้ ส่วนฝ่ายรัฐบาล ก็ติดขัดเรื่อง พ.ร.บ. ทำให้ถอยไม่ได้ ก็ต้องไปดูว่า จะถอยหรือจะแก้อย่างไร โดยปัญหามีอยู่ 2 อย่าง คือ 1.กฎหมายว่าอย่างไร 2. อีก 5-10 ปี พลังงานหายไปแล้วจัดหาทดแทนไม่ทันแล้ว ใครจะรับผิดชอบต้องตอบมา"

ร่อนหนังสือเชิญ “มาร์ค-รสนา-ธีระชัย”

ขณะที่ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกฯ มอบหมายให้ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหนังสือเชิญตัวแทนทุกฝ่ายมาเข้าร่วม อาทิ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง และคนอื่นๆ ส่วนรูปแบบเวที จะมีการส่งคำถามให้กับทั้งสองฝ่ายก่อน คือ กระทรวงพลังงาน และผู้ที่มีความเห็นต่างภายในวันที่ 19 ก.พ. เพื่อให้มีการเตรียมการบ้านมาตอบ

กพช.ขีดเส้น 16 มี.ค.เดินหน้าสัมปทาน

วันเดียวกัน เมื่อเวลา 16.15 น. นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานว่า ที่ประชุม กพช.มีความเห็นว่า ความสงสัยทั้งหลายนั้น น่าจะมีการพูดจากันอีกสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องและข้อสงสัยของประชาชนเพื่อให้ความรู้เพิ่มเติม เพราะฉะนั้นคณะกรรมการจึงได้กำหนดให้มีแก้ข้อสังสัยดังกล่าวจากผู้ที่สงสัยในวันที่ 20 ก.พ.นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งจะมีการถ่ายทอดสดด้วย ดังนั้นเมื่อเลยวันกำหนดสุดท้ายของการยื่นเปิดรับสมัครคำขอสัมปทานในวันที่ 18 ก.พ. กพช.จึงมีมติให้ยืดเวลารับสมัครออกไปอีก 4 สัปดาห์ ซึ่งตรงกับวันที่ 16 มี.ค.เป็นวันสุดท้าย

“จะเปิดให้มีการอภิปรายกันอย่างเต็มที่ไม่ปิดกั้นใดๆ ในวันที่ 20 ก.พ. อย่างไรก็ตามถึงแม้จะไม่ได้ข้อสรุปในวันที่ 16 มี.ค. รัฐบาลจะไม่เลื่อนสัมปทานฯ ออกไปอีกแล้ว” นายณรงค์ชัยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น