xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

กลลวงสยบแรงต้าน มหัศจรรย์สัมปทานไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เล่ห์กลของกระทรวงพลังงานที่หวังสยบกระแสคัดค้านการเปิดให้สัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ด้วยการออกประกาศเพิ่มเติมจะใช้สิทธิของรัฐเจรจากับผู้ได้รับสัมปทานแปลงสำรวจ 3 แปลงในอ่าวไทยมาใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตนั้น เป็นเรื่องที่กระทรวงพลังงาน รู้ทั้งรู้ว่าไม่สามารถทำได้และรังแต่จะมีปัญหาตามมา และนี่อาจเป็นภาพสะท้อนความอับจนปัญญา ตอบคำถามต่อสังคมให้กระจ่างแจ้งไม่ได้ จึงได้แต่แถแบบข้างๆ คูๆ ไปเรื่อยๆ

เรื่องของเรื่องที่กระทรวงพลังงานกำลังสร้างเงื่อนไขมัดคอตัวเองในขณะนี้ เป็นผลมาจากการดันทุรังประกาศเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ท่ามกลางเสียงคัดค้านของภาคประชาชนที่ต้องการให้ทบทวนการให้สัมปทานเสียใหม่ โดยเสนอให้ศึกษาวิธีการใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของทั้งสองระบบก่อนตัดสินใจจะเลือกใช้วิธีไหนดีกว่ากัน แต่กระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) กลับยืนยันใช้ระบบสัมปทานเช่นเดิม กระทั่งที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติไม่เห็นด้วยกับการเปิดสัมปทานรอบใหม่ แต่ทางพล.อ.ประยุทธ์ และกระทรวงพลังงาน ก็ยังยืนกรานจะเดินหน้าต่อไป

กระทั่งเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2558 ที่ผ่านมานายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.กระทรวงพลังงาน ได้ลงนามประกาศเชิญชวนให้มีการยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (เพิ่มเติม) จากที่ประกาศเชิญชวนให้เอกชนยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 ตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค. 57 สิ้นสุดการยื่น 18 ก.พ.58 ภายใต้ระบบสัมปทานไทยแลนด์ทรีพลัส โดยประกาศเพิ่มเติมได้กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขใหม่ 2 ข้อ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของ สปช. และนโยบายรัฐบาล

เงื่อนไขที่เพิ่มเติมในประกาศ มีดังนี้ ข้อ 2.4 (2) วรรคสอง “ผู้ยื่นขอทุกรายจะยินยอมให้กระทรวงพลังงานเปิดเผยคำขอ พร้อมทั้งโครงการและข้อผูกพันด้านปริมาณเงินและปริมาณงานที่ยื่นประกอบคำขอเมื่อสิ้นสุดการพิจารณา” ข้อ4.8 “ในกรณีที่รัฐมีนโยบายให้นำระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต(PSC) หรือระบบบริหารจัดการอื่นใดมาใช้สำหรับแปลงสำรวจในอ่าวไทยหมายเลข G3/57 G5/57 และ G6/57 ซึ่งเป็นแปลงในทะเลรัฐบาลอาจใช้สิทธิแจ้งให้ผู้ได้รับสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมดังกล่าวมาเจรจรจาเพื่อตกลงยินยอมเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์โดยการใช้สิทธิ์แจ้งของรัฐบาลจะดำเนินการภายใน 4 ปีแรกของระยะเวลาสำรวจ”

นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ชี้แจงถึงเหตุผลในการออกประกาศเพิ่มเติมว่า เป็นการปรับให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลและสปช. โดยปรับเพียง 3 แปลง เหตุที่ไม่ปรับทั้ง 29 แปลง ให้เป็นระบบแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract - PSC) อ้างว่าเพราะระบบสัมปทานนั้นมีความเหมาะสมกับศักยภาพแหล่งปิโตรเลียมของไทยที่เป็นแหล่งเล็กๆ และที่สำคัญระบบPSC ยังไม่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลต้องออกกฎหมายมารองรับการใช้สิทธิรัฐเจรจาต่อรองกับเอกชนโดยมีกำหนดเวลา 4 ปี หากรัฐออกกฎหมายไม่ทันหรือเจรจาตกลงไม่ได้เงื่อนไขนี้ก็จะต้องตกไป

อธิบายความระหว่างบรรทัดก็เห็นชัดเจนแล้ว หนึ่ง ประกาศเพิ่มเติมที่จะใช้ระบบPSC ที่ว่านั้น ออกมาเพื่อกลบกระแสค้านว่าได้ทำตามข้อเรียกร้องของสังคมและมติของสปช.แล้ว สอง กระทรวงพลังงาน ยอมรับว่า ระบบ PSC ยังไม่มีกฎหมายรองรับ ดังนั้นแปลความหมายได้ว่า ประกาศนี้จึงเป็นแต่เพียงแค่คำประกาศลอยๆ ไม่มีสภาพบังคับตามกฎหมาย สาม กระทรวงพลังงาน จะใช้วิธีเจรจากับเอกชน หากตกลงกันไม่ได้ก็เลิก และ สี่ เงื่อนไขเวลาที่กำหนดคือ 4 ปี ถ้าออกกฎหมายมารองรับไม่ได้ เจรจาไม่ได้ เงื่อนไขที่จะใช้ระบบPSC ก็ตกไป

สรุปรวมความก็คือ คำประกาศนี้เป็นเพียงแค่ประกาศโคมลอย ไม่มีอะไรมารองรับ ไม่มีสภาพบังคับ และทำนายได้ล่วงหน้าว่าสุดท้ายก็ต้องตกไปตามคาด

น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิก สปช. สายพลังงาน ตั้งข้อสังเกตว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ประกาศจะสงวนสิทธิแปลงสัมปทาน 3 แปลงใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตในอนาคตเมื่อมีการแก้ไขกฎหมาย โดยจะให้สัมปทานไปก่อนในการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 นั้น น่าจะเป็นคำลวงเพื่อลดกระแสการต่อต้านจากประชาชนทั่วสารทิศหรือไม่ เพราะ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 บัญญัติไว้ชัดเจนว่าเอกชนที่จะมาสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศต้องได้สัมปทานจากรัฐเท่านั้น การเขียนข้อสงวนสิทธิเพื่อขอเปลี่ยนแปลงจากระบบสัมปทานไปเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต จะเกิดขึ้นภายใต้กฎหมายที่ระบุว่าต้องใช้ระบบสัมปทานเท่านั้นได้อย่างไร?

“ไหนๆ คิดจะขอสงวนสิทธิแล้ว ก็แสดงว่ามีเจตนาจะแก้ไขกฎหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต เหตุใดไม่แก้ไขกฎหมายเสียให้เสร็จก่อน ค่อยดำเนินการเปิดให้เอกชนมาขอสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

“สิ่งที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติแถลงเรื่องการสงวนสิทธิแปลงสัมปทาน 3 แปลงไว้เพื่อเปลี่ยนแปลงไปใช้ระบบอื่นจึงเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือกฎหมายปิโตรเลียมบัญญัติไว้ ถ้าไม่ใช่สิ่งที่กรมเชื้อเพลิงคิดมโนไปเองโดยไม่มีหลักกฎหมายรองรับ ก็น่าจะเป็นเพียงคำลวงเพื่อลดกระแสต่อต้านการเปิดสัมปทานรอบ21เท่านั้นกระมัง!?!” น.ส.รสนา ตั้งคำถาม

ประกาศเพิ่มเติมของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ดังกล่าว นอกจากจะไม่มีกฎหมายรองรับแล้ว การไปเจรจาเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหลังการได้สัมปทานไปแล้วของเอกชน ยังจะก่อให้เกิดปัญหาสืบเนื่องตามมาอีก ดังที่น.ส.รสนา ตั้งประเด็นว่า พ.ร.บ ปิโตรเลียม 2514 มีจุดอ่อนที่ต้องแก้ไขจำนวนมาก

โดยเฉพาะเรื่องที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง คือ เรื่องการจัดการกับข้อพิพาทที่รัฐจะเพิกถอนสัมปทานเอกชน ปรากฏว่าในกฎหมายปิโตรเลียมที่ถูกออกแบบและเขียนโดยที่ปรึกษาฝรั่งอเมริกัน ทำให้รัฐสูญเสียอำนาจความได้เปรียบเหนือเอกชนในการบริหารจัดการทรัพยากรของประเทศ ในกฎหมายปิโตรเลียมกำหนดว่าหากมีข้อพิพาทที่รัฐจะเพิกถอนสัมปทานด้วยเหตุใดก็ตาม ต้องใช้ระบบอนุญาโตตุลาการ

ทั้งนี้ ในสัญญาสัมปทานปิโตรเลียม 20 รอบที่ผ่านมา ในระยะแรกระบุไว้เพียงให้รัฐกับเอกชนตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายของตนฝ่ายละคน และให้อนุญาโตตุลาการทั้ง 2 ฝ่าย ไปตกลงเลือกอนุญาโตตุลาการคนที่ 3 กันเอง แต่ในการเปิดสัมปทานรอบหลังๆ ได้ระบุว่า อนุญาโตตุลาการคนที่ 3 ที่เป็นเสียงชี้ขาดนั้นให้ "ประธานธนาคารโลก" หรือ "ประธานศาลแห่งสมาพันธรัฐสวิส" เป็นผู้แต่งตั้ง

การกำหนดเช่นนี้ย่อมทำให้เอกชนต่างชาติมีอำนาจเหนือรัฐบาลเพราะ 2 เสียงในอนุญาโตตุลาการย่อมเป็นฝ่ายของเอกชนต่างชาติ ดังที่เห็นอยู่เสมอว่ากรณีพิพาทที่รัฐบาลไทยมีกับบริษัทต่างชาติในระบบอนุญาโตตุลาการ รัฐบาลไทยเป็นฝ่ายแพ้และเสียค่าโง่มาโดยตลอด ตามปกติแล้วระบบอนุญาโตตุลาการเป็นเรื่องที่ใช้กับทางธุรกิจ ถ้ารัฐบาลไทยไปกู้เงินต่างชาติ เขาก็มักจะบังคับให้รัฐบาลต้องใช้ระบบอนุญาโตตุลาการเพื่อคงความได้เปรียบของเขา ส่วนการให้สัมปทานปิโตรเลียม เป็นการที่ต่างชาติมาขุดสมบัติในบ้านเรา ควรแล้วหรือจะให้เขามามีอำนาจกำหนดเงื่อนไขกับเงิน และทรัพย์สินในกระเป๋าของเรา??

ความหมายของสปช.สายพลังงาน คนนี้ ก็คือ ไทยกำลังเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้กับต่างชาติอีกครั้ง

“ในอดีตที่ประเทศไทยเคยเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้กับต่างชาติมาเป็นเวลานาน เป็นความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับประเทศ และบุรพกษัตริย์ไทยตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมาได้พยายามต่อสู้เพื่อปลดปล่อยบ้านเมืองให้ปลอดพ้นจากพันธนาการของต่างชาติในทางศาล จนมาประสบความสำเร็จหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงงานแรกของรัฐสภาไทย ที่สามารถยกเลิกการเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตทางศาลได้สำเร็จ

“มาวันนี้เรากลับสละอำนาจศาลไทยในการดูแลคุ้มครองประโยชน์บ้านเมือง ยังไม่ถึงเวลาอีกหรือที่รัฐบาลไทยจะรีบแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมที่ล้าหลัง ที่ทำลายประโยชน์บ้านเมือง เพื่อปลดล็อกพันธนาการ ที่ต่างชาติวางกลไก เงื่อนไขมาจัดการกับทรัพย์สินในกระเป๋าของเรา"

ในมุมมองของ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผอ.ศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต ถึงกับบอกว่าประกาศเพิ่มเติมของกรมเชื้อเพลิงนี้ เป็น “มหัศจรรย์สัมปทานไทย” ที่ชักไปกันใหญ่เสียแล้ว “งงกับประกาศกระทรวงฯฉบับใหม่ที่ให้แยกสัมปทาน 3 แปลงจาก 29 แปลง มาสร้างเงื่อนไขแปลกๆ ว่า ให้สัมปทานไปก่อนแล้วเรียกเอกชนมาเจรจาแบ่งปันผลผลิตทีหลัง หากเจรจาไม่ได้ การเปลี่ยนเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตเป็นอันตกไป อ้อยเข้าปากช้างแล้ว ใครเขาจะยอมครับ ....

“ที่สำคัญ คือการให้สัมปทานไปก่อนแล้วเจรจาทีหลัง โดยเอกชนเป็นเจ้าของข้อมูลการสำรวจ งานนี้ถ้ารัฐได้ประโยชน์สูงที่สุดก็คงเป็นเรื่องมหัศจรรย์จริงมั้ยครับ”

ใช่ ไม่ใช่ คำถามนี้ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วยตอบที

อย่าลืมว่า เวลานี้ บรรดาขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน กำลังผนึกพลังประสานกับทุกภาคส่วนในสังคม เคลื่อนไหวให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ชะลอและทบทวนการเปิดสัมปทานฯ รอบที่ 21 อีกครั้ง และคงไม่มีอำนาจใดที่จะมาปิดปาก ปิดหู ปิดตาประชาชน และยินยอมให้รัฐบาลสู้เพื่อทุนพลังงานอีกต่อไป
 

กำลังโหลดความคิดเห็น