ASTVผู้จัดการรายวัน-พลังงานไม่สน สปช. เบรก เดินหน้าเปิดให้ยื่นสิทธิ์สำรวจสัมปทานรอบที่ 21 ตามเดิมภายในวันที่ 18 ก.พ.นี้ ยันไม่ได้รีบ เหตุแผนงานได้วางไว้ตั้งแต่ปี 53 หลังสำรองก๊าซในไทยเริ่มถดถอย ย้ำผลประโยชน์จากระบบสัมปทานไม่ต่างจากระบบแบ่งปัน "คำนูณ"จี้นายกฯ ฟังเสียงประชาชน เปิด 79 รายชื่อ สปช. หนุนเปิดสัมปทาน คนดังเพียบ ทั้ง "เจิมศักดิ์-พ่อตั๊นกปปส.-ปราโมทย์-เกริกไกร-ประมนต์-ดำรงค์" ด้านขาหุ้นเสนอรัฐบาลสั่งยกเลิกการให้สัมปทานทันที
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงงาน เปิดเผยว่า จากกรณีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ลงมติไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานในการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ตามแผนงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน และเตรียมส่งรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการเรื่อง การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 และความเห็นประกอบอื่นๆ มาให้รัฐบาลเพื่อประกอบการพิจารณานั้น กระทรวงพลังงานขอยืนยันว่า ระบบบริหารจัดการปิโตรเลียมของไทยในปัจจุบัน ที่ใช้ระบบ Thailand 3+ นั้น สามารถที่จะรองรับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ได้อย่างมีความโปร่งใส เป็นไปตามกฎหมาย ที่สามารถตรวจสอบความถูกต้องภายใต้หลักเกณฑ์การแบ่งผลประโยชน์ ระหว่างรัฐและผู้รับสัมปทาน และสร้างผลประโยชน์ให้แก่รัฐสูงสุด
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการเปิดให้ผู้สนใจยื่นคำขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแปลงสำรวจต่างๆ เขตพื้นที่บนบกและในทะเลอ่าวไทย รวม 29 แปลง ประกอบด้วย แปลงบนบก 23 แปลง และแปลงในทะเลอ่าวไทย 6 แปลง
"มั่นใจว่าภายใต้ระบบสัมปทานปัจจุบัน ซึ่งเป็นระบบที่ประเทศไทยมีประสบการณ์มายาวนานจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ทั้งในด้านความมั่นคงพลังงานและการเก็บรายได้เข้ารัฐ โดยเป็นระบบที่มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ โดยเฉพาะเรื่องการตรวจสอบค่าใช้จ่ายเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ในการสำรวจปิโตรเลียมต้องผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มข้น โดยหากมีข้อกังวลกระทรวงพลังงานก็พร้อมจะทำการศึกษาระบบอื่นคู่ขนานไปด้วย โดยเฉพาะระบบ PSC ซึ่งเป็นอีกระบบหนึ่งที่มีข้อดีข้อเสียที่อาจแตกต่างกันบ้าง ซึ่งที่ผ่านมาจากประสบการณ์ในพื้นที่ไทย - มาเลเซีย ที่ใช้ระบบ PSC อยู่ แต่พบว่าหากนำระบบสัมปทานแบบ Thailand 3 มาปรับใช้ก็จะมีการแบ่งปันผลประโยชน์ให้แก่รัฐที่ดีกว่าระบบ PSC โดยจะมีการศึกษาต่อไปว่าในการเปิดสัมปทานรอบ 21 นี้ ระบบใดจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ได้คุ้มค่ากว่า กระทรวงพลังงานก็พร้อมจะปรับระบบเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดเช่นกัน"นายอารีพงศ์กล่าว
นายอารีพงศ์ กล่าวเพิ่มว่า ในส่วนพื้นที่ซึ่งมีการเปิดสัมปทานในรอบ 21 ล้วนแต่เป็นพื้นที่เดิมที่ผู้ที่เคยได้สิทธิในครั้งที่ผ่านมาได้คืนให้กับรัฐ โดยกระทรวงพลังงานเห็นว่ายังเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและควรเปิดโอกาสให้กับประเทศได้มีกิจกรรมในการสำรวจเพิ่มเติม โดยกระทรวงพลังงานอยากใช้โอกาสนี้เผยแพร่ข้อมูลเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ลูกหลาน และคิดว่าประเทศไม่ควรจะเสียโอกาสอีกแล้ว เพราะหากล่าช้าอาจจะเกิดความเสี่ยงด้านพลังงานที่มีผลกระทบต่อภาพรวมการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาจต้องเจอกับวิกฤตพลังงานในอนาคต หากจำเป็นจะต้องมีการชะลอหรือยุติการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมในครั้งนี้
***ยันเดินหน้าเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ต่อ
นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน ยังไม่มีนโยบายเปลี่ยนแปลงใด กระทรวงพลังงาน จึงพร้อมที่จะเดินหน้าตามกรอบเดิม
นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า กรรมาธิการได้ทำการศึกษาตามที่รัฐบาลให้ดำเนินการเมื่อศึกษาเสร็จ ก็ส่งให้รัฐบาลว่าจะตัดสินใจอย่างไรเรื่องนี้ แต่ ณ ขณะนี้ การเปิดสัมปทานรอบ 21 ยังไม่เปลี่ยนแปลง ยังคงเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยจะปิดรับข้อเสนอในวันที่ 18 ก.พ.2558 เช่นเดิม โดยมีผู้สนใจมาขอดูข้อมูลทั้งรายเก่าและรายใหม่นับสิบราย ซึ่งจะมีการยื่นขอมากน้อยแค่ไหน คงจะต้องรอดูช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนปิดรับข้อเสนอ
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การดำเนินการทั้งหมด ไม่ได้เป็นการเร่งรีบ เพราะได้เตรียมการเปิดมาตั้งแต่ปี 2553 ด้วยเหตุที่ไทยต้องการก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น แต่การจัดหาในประเทศเริ่มน้อยลง ดังนั้น การเปิดสัมปทานฯ ครั้งนี้ จึงเป็นการเพิ่มปริมาณสำรองก๊าซฯ ภายในประเทศ เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศที่ปัจจุบันไทยต้องพึ่งพิงการนำเข้าพลังงานกว่า 50% ของความต้องการใช้ภาพรวมหรือคิดเป็นมูลค่าปีละกว่า 1.44 ล้านล้านบาท
นอกจากนี้ ระบบสัมปทานรอบ 21 ผลประโยชน์ของรัฐ ไม่น้อยกว่าพีเอสซี โดยแบ่งปันผลประโยชน์ของรัฐและเอกชนในสัดส่วน 72%ต่อ 28% หลังหักจากค่าใช้จ่ายไปแล้ว และการดำเนินการไม่ซ้ำซ้อน โปร่งใสกว่า เพราะทุกอย่างเป็นไปตามที่รัฐประกาศ แต่พีเอสซีต้องแก้กฏหมายตั้งองค์กรใหม่มาเจรจารายสัญญากับเอกชน หลังอนุมัติโครงการแล้ว ทุกสัญญาของเอกชนที่จะไปว่าจ้างต่อ ต้องขอความเห็นชอบจากองค์กรใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น ซึ่งทำให้การทำงานล่าช้าและอาจเป็นช่องโหว่ของการแสวงหาผลประโยชน์ได้
***สปช.ส่งมติขวางสัมปทานรอบ21 ให้"บิ๊กตู่"
นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า หลังจากที่ประชุม สปช. ได้มีมติ130 ต่อ 79 เสียงไม่เห็นด้วยกับรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน ที่มีมติเห็นควรให้มีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 แบบไทยแลนด์ทรี พลัส พร้อมให้กระทรวงพลังงานศึกษาเตรีมการให้มีระบบแบ่งปันผลผลิตที่เหมาะสมกับศักยภาพการปิโตรเลียมที่เหมาะสมให้พร้อมไว้ว่า ขั้นตอนต่อไปสปช. จะส่งมติดังกล่าวไปให้กับพล.องประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมถึงข้อมูลต่างๆ คือ รายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน รายงานผลการรับฟังความคิดเห็นของอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมขององค์กรที่สำคัญ ที่ได้รายงานผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและเครือข่ายต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 รวมถึงจุดยืนของสมาชิกที่ไม่เห็นด้วยให้มีการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ไปพร้อมๆ กัน ทั้งจุดยืนของ สปช. เสียงข้างมากที่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดสัมปทาน
ทั้งนี้ การมีมติในเรื่องดังกล่าว เป็นไปตามที่รัฐบาลได้มีการขอหารือมายัง สปช. ว่าอยากให้สมาชิกมีความคิดเห็นในเรื่องนี้ โดยนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ได้มอบหมายให้คณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานไปดำเนินการศึกษา โดยมีการเชิญนักวิชาการและประชาชน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ความคิดเห็น เมื่อที่ประชุม สปช. มีความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวแล้ว หลังจากนี้ ก็ขึ้นอยู่กับนายกฯ และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติจะพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปว่าจะเดินหน้าเปิดสัมปทานหรือจะมีการทบทวน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กรมเชื้อเพลิงพลังงาน ได้ประกาศเชิญชวนให้ยื่นประกวดเพื่อเข้าสำรวจขุดเจาะ โดยเปิดระหว่างวันที่ 27 ต.ค. และสิ้นสุดวันที่ 18 ก.พ. โดยจะมีการให้สัมปทานรอบที่ 21 จะมีการเปิดสำรวจใน29 แปลง ซึ่งในข้อประกาศเชิญชวนได้กำหนดให้รัฐบาลมีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลงหรือขยายระยะเวลาตามความเหมาะสม เท่ากับว่าไม่ผูกพันกับการที่รัฐต้องเร่งเปิดสัมปทานดังกล่าว
***เล็งเสนอรัฐไม่ต่อสัมปทานเชฟรอน-ปตท.
นายอลงกรณ์กล่าวว่า ในที่ประชุม สปช. เสียงข้างมาก มีความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวสองแนวทาง โดย 1.เห็นควรให้มีการชะลอการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 แล้วนำระบบการแบ่งปันผลผลิต มาใช้แทนระบบสัมปทาน 2.ให้รัฐใช้ระบบผสม โดยในแปลงที่มีศักยภาพด้านพลังงานสูง ให้รัฐใช้ระบบการแบ่งปันผลผลิต ส่วนในแปลงที่มีศักยภาพพลังงานต่ำ ก็ให้รัฐใช้ระบบสัมปทาน ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าในแหล่งที่คาดว่ามีศักยภาพอย่าง4 แปลงในทะเลที่อยู่ติดกับแหล่งเดิม คือ แหล่งเอราวัณ และแหล่งบงกชนั้น รัฐสามารถใช้ระบบการแบ่งปันผลผลิตเข้ามาจัดการได้ ซึ่งในสองแหล่งดังกล่าวในสัมปทานรอบที่ 20 รัฐให้กับบริษัทเชฟรอน ซึ่งจะหมดเวลาสัมปทานใน7-8 ปีข้างหน้า หมายความว่าอุปกรณ์ขุดเจาะทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐ ซึ่งตนเห็นว่าหลังจากหมดสัมปทานรัฐควรเข้าไปดำเนินกิจการเอง สามารถรถต้นทุนในด้านอุปกรณ์ได้ระดับหนึ่ง โดยตนจะผลักดันเป็นเรื่องต่อไปว่าจะไม่ให้รัฐต่อสัญญากับเซฟรอน และปตท.
**"คำนูณ"จี้นายกฯฟังเสียงประชาชน
นายคำนูณ สิทธิสมาน สปช. กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานเร่งรีบมีมติออกมาเลยว่าสนับสนุนให้มีการเปิดสัมปทานรอบ21 แทนที่จะเปิดทางเลือกให้สมาชิกได้เสนอความเห็นหรือลงมติในแนวทางใดแนวทางหนึ่ง เมื่อที่ประชุมเสียงข้างมากมีมติไม่เห็นด้วยเช่นนี้ ก็ต้องถือว่า ไม่เห็นด้วยกับการให้เปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ไปเลย แต่จะให้ทำอย่างไรนั้น เนื่องจากว่า คณะกรรมาธิการฯ ไม่ได้เสนอทางเลือกอื่นไว้ สปช.ไม่สามารถทำอะไรได้ จึงขึ้นกับดุลยพินิจของนายกรัฐมนตรีว่าจะทำอย่างไรต่อไป แต่แม้จะมีอำนาจหน้าที่ แต่อย่าลืมว่า สปช. ถือกำเนิดขึ้นจากสถานการณ์ความเรียกร้องต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศ และความเห็นของ คสช. เองต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศในทุกด้าน รวมถึงพลังงานด้วย แต่เมื่อมติ สปช.ออกมาว่าไม่ให้เปิดสัมปทานรอบ 21 ทันที โดยมีความเห็นแตกออกเป็นหลายประเด็น ทางที่เป็นไปได้ สปช.ควรศึกษาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน แต่หากรัฐบาลจะเร่งจะตัดสินใจโดยเร่งด่วนก็ต้องถือเป็นการตัดสินใจเองของรัฐบาล
นอกจากนี้ ยังมีการเสนอผลการรับฟังความคิดของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยให้เปิดสัมปทานรอบที่ 21 หากดูในรายละเอียดจะพบว่า สปช. ที่มาจากต่างจังหวัดก็ลงมติไม่เห็นด้วย แปลว่าก็มีการรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่กังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น รัฐบาลต้องฟังเสียงของประชาชน และเสียงของ สปช. ที่เกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งเป็นเสียงที่มีน้ำหนัก โดยตนยังเชื่อว่ารัฐบาลจะยอมรับฟัง เฉพาะอย่างยิ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ระบุก่อนหน้านี้ว่า อยากฟังเสียงสปช.ในเรื่องนี้
"แม้ที่ประชุมจะไม่ได้มีมติให้ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตแทนระบบสัมปทาน แต่โดยนัยยะก็เห็นชัดว่าอยากให้มีการปฏิรูป หากยังใช้ระบบสัมปทานแล้วจะปฏิรูปอย่างไร แม้จะเปิดทางให้มีการศึกษาระบบแบ่งปันผลประโยชน์ เพื่อใช้ในการพิจารณาให้สัมปทานรอบต่อไป แต่อย่าลืมว่า สัมปทานรอบ 21 จะกินเวลาถึง 29 ปี เป็นอย่างน้อย และพื้นที่สัมปทานก็แทบจะครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศอยู่แล้ว ฉะนั้นก็จะไม่เหมือนได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย และถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่ใช่หน้าที่ สปช. แต่เป็นของฝ่ายบริหาร การที่รัฐบาลเสนอมาย่อมหมายว่าเขาต้องการให้สปช.มีข้อเสนอในเชิงปฏิรูปอย่างใดอย่างหนึ่ง และกรรมาธิการเสียงข้างน้อยก็ไมได้ปฏิเสธการสัมปทานทั้งหมด แต่เมื่อมติออกมาไม่รับเลยมันก็ลำบาก อย่างไรก็ตามส่วนตัวก็คิดว่า กรรมาธิการเสียงข้างมากก็ควรมีการทบทวนอีกครั้งหนึ่งว่าเมื่อที่ประชุมมีมติอย่างนี้จะทบทวนโดยการนำเรื่องกลับเข้าที่ประชุมอีกครั้งเพื่อหาแนวทางที่เป็นรูปธรรม หรือจะยืนตามเดิม แล้วอ้างความจำเป็นอย่างเดียว"
เมื่อถามว่า หากรัฐบาลจะดึงดันเปิดสัมปทานรอบ 21 จะเกิดความขัดแย้งในกลุ่มที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปพลังงานหรือไม่ นายคำนูณ กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้ยังอยู่ในกฎอัยการศึก ตนคิดว่าคงไม่มีเหตุความขัดแย้งเกิดขึ้น แต่ไม่ว่าเป็นรัฐบาลใดควรรับฟังเสียงประชาชน น่าจะเป็นประโยชน์ที่สุด เพราะที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าประชาชนตื่นตัวเรื่องนี้มาก อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อมั่นในสติปัญญา วิสัยทัศน์ของพล.อประยุทธ์ ที่แม้จะเป็นการปกครองในระบบพิเศษ แต่ก็ต้องยึดหลักการพื้นฐานคือรับฟังความเห็นของทุกภาคส่วนที่ เมื่อมีความเห็นออกมาเช่นนี้ รัฐบาลก็ต้องรับฟัง
**เปิดชื่อ 79 สปช.หนุนเปิดสัมปทานรอบ 21
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ79 เสียง ผู้ลงมติเห็นด้วยกับกรรมาธิการฯได้แก่ 1.นายกาศพล แก้วประพาฬ 2.นายกิตติ โกสินสกุล 3.นายกงกฤช หิรัญกิจ 4.นายกมล รอดคล้าย 5.นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ 6.นายกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ 7.นางกูไซหม๊ะวันซาฟีหน๊ะ มนูญทวี 8. นายเกริกไกร จีระแพทย์ 9.นายเกษมสันต์ จิณณวาโส 10.นายไกรฤทธิ์ บุณยเกียรติ 11.นายขจัดภัยบุรุษพัฒน์ 12.พลตํารวจตรี ขจรสัยวัตร 13.นายเข็มชัย ชุติวงศ์ 14.พลอากาศเอก คณิต สุวรรณเนตร 15.นายคุรุจิต นาครทรรพ 16.พันตํารวจโทจิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ 17.นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี 18.นายเจน นําชัยศิริ 19.นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง 20.นางชัชนาถ เทพธรานนท์ 21.นายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ 22.นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ 23.นายชิงชัย หาญเจนลักษณ์ 24.นายฐิติ วุฑฒโกวิทย์ 25.พลโท ฐิติวัจน์ กําลังเอก 26.นายดํารงค์ พิเดช 27.นายดุสิต ลีลาภัทรพันธุ์ 28.นางเตือนใจ สินธุวณิก 29.นายทองฉัตร หงศ์ลดารมภ 30.นายธรรมรักษ์ การพิศิษฎ์
31.นายธวัชชัย ยงกิตติกุล 32.นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ 33.นายนิคม มากรุ่งแจ้ง 34.นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ 35.นายบุญถิ่น มั่นเกษวิทย์ 36.นางเบญจวรรณ สร่างนิทร 37.นางประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด 38.นางประภาศรี สุฉันทบุตร 39.นายประมนต์ สุธีวงศ์ 40.พลเอก ประสูตร รัศมีแพทย์ 41.นายปราโมทย์ ไม้กลัด 42.นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ 43.นางสาวพจนีย์ ธนวรานิช 44.นางพรรณวีรินทร์ รัตนวานิช 45.นายพรายพล คุ้มทรัพย์ 46.พลเอก พอพล มณีรินทร์ 47.นายไพบูลย์ นลินทรางกูร 48.นายไพโรจน์ พรหมสาส์น 49.นางภัทรียา สุมะโน 50.พลเอก ภูดิศ ทัตติยโชติ 51.นายมนู เลียวไพโรจน์ 52.นายมนูญ ศิริวรรณ 53.พันตํารวจตรี ยงยุทธ สาระสมบัติ 54. พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช 55.นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา 56.พลเอกวัฒนา สรรพานิช
57.พลเอกวิชิต ยาทิพย์ 58.นายวิบูลย์ คูหิรัญ 59.นายไวกูณฑ์ ทองอร่าม 60.นายศานิตย์ นาคสุขศรี 61.นายศักรินทร์ ภูมิรัตน 62.นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ 63.พลเรือเอกศุภกร บูรณดิลก 64.นายสมเดช นิลพันธุ์ 65.นายสายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ 66.นางสีลาภรณ์ บัวสาย 67.นางสุกัญญา สุดบรรทัด 68.นายสุทัศน์ เศรษฐ์บุญสร้าง69.นายสุธรรม ลิ้มสุวรรณเกษม 70.นายสุพร สุวรรณโชติ 71.นายอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ 72.นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ 73.นายอนันตชัย คุณานันทกุล 74.นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล 75.พลเรือเอก อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ 76.นายอมรวิชช์ นาครทรรพ 77.นางสาวอ่อนอุษา ลําเลียงพล 78.นางอัญชลี ชวนิชย์ และ79. พลเอก เอกชัย ศรีวิลาศ
***เลิกสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ไม่เสียหาย
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย และ อดีตรมว.พลังงาน กล่าวถึงกรณีที่สปช. มีมติเสียงข้างมากไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สปช. ในการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ว่า การยกเลิกให้สัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ในขณะนี้ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะยังมีเวลาให้พิจารณาได้ เนื่องจากปัจจุบันราคาน้ำมัน และก๊าซในโลกมีราคาลดลงอย่างมาก โดยหลักคิดเดิมเห็นว่า การให้สัมปทานครั้งที่ 21 นี้ ก็เพื่อทดแทนปริมาณก๊าซที่ขุดได้ในประเทศที่จะหมดลง แต่ในปัจจุบันราคาน้ำมันและก๊าซในตลาดโลก มีราคาต่ำมาก และมีแนวโน้มที่จะราคาต่ำอีกเป็นระยะเวลานานพอสมควร ดังนั้น ประเทศไทยยังสามารถนำเข้าน้ำมัน และก๊าซได้ในราคาต่ำไปอีกพักใหญ่ แต่ขณะเดียวกัน ก็คาดหวังให้บริษัทที่ได้สัมปทานเสนอให้ผลประโยชน์แก่รัฐเพิ่มขึ้นคงเป็นไปได้ยาก
“ตอนนี้ราคาพลังงานโลกมีราคาลดลงมาก บริษัทที่เข้ามารับสัมปทานคงไม่สามารถให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเดิมได้ ขนาดผลตอบแทนเดิมก็อาจจะไม่คุ้มด้วยซ้ำ เนื่องจากแหล่งพลังงานของไทยเป็นแหล่งเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วไป ไม่ได้เป็นแหล่งใหญ่ที่มีปริมาณพลังงานมากๆ ดังนั้นต้นทุนในการนำพลังงานขึ้นมาจะมีราคาสูง เมื่อราคาพลังงานถูกลง ก็อาจจะไม่คุ้มกับการนำขึ้นมาใช้ ซึ่งหากให้สัมปทานไปได้ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยก็จะได้ประโยชน์ไปมากแล้ว ดังนั้นจึงอยากฝากให้เป็นข้อคิดว่าปัจจุบันสิ่งต่างๆในโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก หากประเทศไทยไม่ปรับตัวให้ทันก็อาจจะล้าหลังได้”นายพิชัยกล่าว
**ขาหุ้นจี้"บิ๊กตู่-รัฐบาล"สั่งเลิกเปิดสัมปทานทันที
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้ประสานงานเครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน กล่าวว่า เป็นข่าวที่น่ายินดีกับมติที่เหนือความคาดหมาย ที่สปช.มีมติเสียงข้างมาก 130 ต่อ 79 เสียงไม่เห็นด้วยกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 และเสนอให้ใช้การจัดสรรผลประโยชน์ด้วยระบบแบ่งปันผลผลิตแทน แต่ตอนนี้ประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ การตัดสินใจของรัฐบาล ซึ่งหวังว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลจะเคารพเสียงของประชาชนและมติของสปช. ซึ่งสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน
ขณะนี้แม้จะมีความหวัง แต่ขาหุ้นปฏิรูปพลังงานภาคใต้ วิเคราะห์แล้วมีความเห็นตรงกันว่า ไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะกล้าตัดสินใจยกเลิกการเปิดสัมปทานรอบที่ 21ตามที่สปช.มีมติอย่างท่วมท้น แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ขอให้สปช.ให้ความเห็นเองก็ตาม เพราะไม่คิดว่ารัฐบาลจะสามารถสลัดอิทธิพลของกลุ่มทุนพลังงาน ทั้งในประเทศและทุนข้ามชาติที่เกาะแน่น และฝังลึกในระบบราชการ และโครงสร้างอำนาจของรัฐไทยไปได้ เนื่องจากกระทรวงพลังงานได้ประกาศให้ภาคเอกชนที่สนใจในการขอสัมปทานรอบที่ 21 ยื่นขอสิทธิภายในวันที่ 18 ก.พ.ต่อไปตามปกติ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงจุดยืนเดียวกับประชาชนและสปช. ด้วยยกเลิกการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ทันที
นพ.สุภัทร กล่าวว่า ขอให้ประชาชนและเครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงานทุกจังหวัด ที่ต้องการปลดปล่อยประเทศไทยจากการเป็นเมืองขึ้นของทุนพลังงาน ต้องการให้พลังงานมีราคาที่เหมาะสมเพื่อคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่เพื่อกำไรของบริษัท ต้องร่วมกันแสดงออกอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้รัฐบาลยกเลิกการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ให้ได้ เพราะทุนพลังงานอันทรงอิทธิพล จะไม่ยอมเสียผลประโยชน์มหาศาลอย่างแน่นอน
**แฉค่าตอบแทนคนปตท.มากกว่าค่าภาคหลวง
ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊คขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน เปิดเผยรายงานแบบ 56-1 ของบมจ.ปตท. ปี 2556 พบข้อมูลปี 2554 ปตท.จ่ายค่าตอบแทนให้พนักงาน 3,770 คน เป็นเงิน 6,879,906,629 บาท ส่วนปี 2556 มีพนักงาน 4,113 คน จ่ายค่าตอบแทน 8,086,010,681 บาท แต่เมื่อเปรียบเทียบกับค่าภาคหลวงปิโตรเลียมปี 2556 ที่ได้จัดสรรให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7,879 แห่ง ซึ่งเกือบถึงมือประชาชนโดยตรงที่สุดแล้วยังได้แค่ 5,354.61 ล้านบาท
ทำให้มีผู้เข้ามาแสดงความเห็นในทำนองเสียดสี อาทิ "โอ้โห ค่าตอบแทนรวมบริษัทเดียวปีนึง 8,000 ล้าน มากกว่าค่าภาคหลวงปีนึงแค่ 5,300 ล้าน มิน่าถึงต้องปรับราคาสะท้อนต้นทุนกันไม่หยุด"