xs
xsm
sm
md
lg

เวที ค.1 ภาคประชาชนฟันธงกลุ่มทุนพลังงานย้ายฐานปิโตรเคมีลงภาคใต้ ตั้งเครือข่ายจับตาอุตสาหกรรมหนัก จ.สงขลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เวที ค.1 ภาคประชาชน มีนักวิชาการ สื่อมวลชน และตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วมชำแหละแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 2,200 เมกะวัตต์ ใน อ.เทพา จ.สงขลา ชี้โรงไฟฟ้าถ่านหินมีแต่ผลเสียต่อชุมชนภาคใต้โดยรวมทั้งหมด ซึ่งอาศัยฐานทรัพยากรร่วมกันในการดำรงชีวิต ขณะเดียวกัน ได้ตั้งเครือข่ายติดตามแผนการพัฒนาพื้นที่ จ.สงขลา เป็นเขตอุตสาหกรรมหนัก คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจนถึงที่สุด

 
วันนี้ (1 พ.ย.) ที่อาคารศูนย์ทรัพยากรการเรียนรู้ สถาบันจัดการระบบสุขภาพภาคใต้ (สจรส.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีการจัดเวที ค.1 ภาคประชาชน “โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา สิ่งที่คนสงขลาควรรับรู้” กล่าวเปิดการประชุมโดย ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ ผอ.สจรส.ม.อ.หาดใหญ่ โดยมีวิทยากรร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผศ.ดร.สมพร ช่วยอารีย์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.รพ.จะนะ นายประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน นายปิยะโชติ อินทรนิวาส ตัวแทนสื่อมวลชน ส.ต.ต.สุขเกษม ประสิทธิ์หิมะ ตัวแทนประชาชนในพื้นที่ อ.เทพา

 
โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ กล่าวว่า โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพามีสิ่งที่น่าสนใจคือถ่านหินที่จะมาใช้นั้น กฟผ.บอกว่า มีสารซัลเฟอร์ และสารโลหะหนักน้อย แต่เมื่อคำนวณกลับมาคิดที่ปริมาณการใช้ถ่านหินวันละ 3 ล้านกิโลกรัม จะพบว่า ในปีหนึ่งจะมีสารหนู แคดเมียม และปรอท ปริมาณมหาศาลสะสมในแต่ละปี

“นอกจากนี้ มีการใช้น้ำเข้าไปบำบัดสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และเชื่อว่าจะดักจับโลหะหนักด้วย ปัญหาคือ เมื่อน้ำเหล่านั้นถูกระบายออกไปจะทำให้มีสารโลหะหนักปนเปื้อนในแหล่งน้ำและกระจายไปสู่พืช สัตว์ และคนในที่สุด” นพ.สุภัทร กล่าว

 
ผศ.ดร.สมพร ช่วยอารีย์ คณะวิทยาศาสตร์ อาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า พิจารณาจากแผนที่แล้วพบว่า มีชุมชนอยู่ใกล้จุดที่ตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินและพบว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าวมีสารโลหะหนักผสมอยู่ 30.5 กรัมต่อกิโลกรัม คูณด้วยปริมาณการใช้ 23,000 ตันต่อวัน จะพบว่าแต่ละวันมีการปล่อยมลพิษออกมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในปริมาณมหาศาล

“นอกจากนี้ พบว่าที่ปล่องระบายควันของโรงไฟฟ้าหากมีการคลุกเคล้าที่บริเวณชายขอบของปริมาตรอากาศที่ระบายออกมา เมื่อไปปะทะกับเมฆฝนจะเกิดการปนเปื้อนต่อไปในดิน และน้ำได้นอกจากนี้ รัศมีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมทำในรัศมีเพียง 5 กิโลเมตร แต่มลพิษสามารถไปได้ไกลกว่านั้น ควันไฟป่าอินโดฯ มาถึงหาดใหญ่ ฉะนั้น ควันจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมาถึงหาดใหญ่แน่นอน ประกอบกับแถบนี้มีลมพายุพัดผ่านบ่อยครั้ง การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ทำในรัศมีแค่ 5 กิโลเมตรนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าขำ แต่จริงๆ แล้วขำไม่ออก” ผศ.ดร.สมพร กล่าว

 
ด้าน ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า โจทย์ที่ต้องถามวันนี้คือ ถ่านหินสะอาดจริงหรือไม่ มันสะอาดขึ้นจริงแต่ยังไม่สะอาดพอที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศได้

“ประเด็นที่ว่าเราใช้ถ่านหินสะอาดกันมันจะไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ตอนนี้ใช้บิทูมินัส ไม่ใช้ลิกไนต์ ซึ่งแน่นอนถ่านหินบิทูมินัสสะอาดกว่าลิกไนต์ นั่นคือความจริง แต่สิ่งที่ไม่จริงคือ มันไม่ได้สะอาดทั้งหมด เพราะยังมีสารโลหะหนักสะสม และเมื่อเทียบปริมาณการใช้ ความจริงเรื่องนี้จึงถูกครึ่งหนึ่ง และไม่ถูกครึ่งหนึ่ง เพราะถ่านหินทุกชนิดมีสารโลหะหนักสะสมเป็นธรรมชาติตามกระบวนการเกิดของตัวมันเอง” ดร.ธนพล กล่าวและว่า

 
นิยามเรื่องถ่านหินสะอาด กฎหมายกำหนดมาว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินจะต้องไม่ปล่อยมลพิษในระดับตามที่กฎหมายกำหนด แต่ในถ่านหินมีสารโลหะหนักอีกหลายตัว เช่น ปรอท สารหนู แคดเมียม ประเทศไทยยังไม่กำหนดสิ่งเหล่านี้เข้ามาอยู่ในมาตรฐานการควบคุมตามกฎหมาย

“สิ่งที่น่ากลัวในถ่านหินคือ ปรอท เนื่องจากมันระบายออกมาในรูปของไอปรอท แม้จะมีเครื่องดักจับที่ทันสมัยแต่ยังควบคุมได้น้อย และปรอทคือ สารพิษที่ไม่มีการระบุให้มีการควบคุมในกฎหมายประเทศไทย” ดร.ธนพล กล่าว

 
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.รพ.จะนะ กล่าวเสริมว่า พิษของปรอท สารหนู แคดเมียม สารพัดโลหะหนัก ล้วนเป็นพิษต่อร่างกายไม่แตกต่างจากยาฆ่าแมลง ทำให้อวัยวะทุกส่วนในร่างกายเสื่อมลง และเป็นปัจจัยหลักในการป่วยเป็นโรคมะเร็ง ซึ่งปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยโรคนี้เพิ่มขึ้นสูงมากในประเทศไทย

นายประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน กล่าวว่า นักการเมืองอเมริกันคนหนึ่งเคยพูดว่า การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ยังไม่สามารถกระทำได้นั้น เพราะว่าพวกอุตสาหกรรมน้ำมันยังไม่ได้เป็นเจ้าของดวงอาทิตย์ จึงมีการตั้งคำถามว่า ทำไมภาคใต้จึงต้องเป็นที่รับมลพิษจากโรงไฟฟ้า และทำไมต้องเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน เราจึงเสนอใหม่ว่าเอาโรงไฟฟ้าถ่านหินไปตั้งในกรุงเทพฯ และขนถ่านหินผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามา ทดสอบดูว่ามันปลอดภัยจริงหรือไม่ เพราะคนกรุงเทพฯ หลายคนชอบพูดว่าคนใต้ต่อต้านการพัฒนา ฉะนั้นต้องทดสอบให้เห็นก่อนแล้วจะไม่มีการคัดค้านอีกต่อไป

“ตอนนี้หลายประเทศประกาศหันหลังให้แก่โรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ทำไมประเทศไทยกลับอ้าแขนรับ มันเป็นความต้องการของทุนกลุ่มพลังงานที่ต้องการระบายถ่านหินซึ่งตัวเองไปสัมปทานไว้แล้วในต่างประเทศ ใช่หรือไม่” นายประสิทธิชัย กล่าวและว่า

ในสหรัฐอเมริกา มีเด็กเป็นโรคปัญญาอ่อนตั้งแต่อยู่ในครรภ์ปีละกว่า 300,000 คน รัฐบาลปัจจุบันจึงประกาศปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน 150 โรง เพราะประเทศเขามีโรงเรียนสอนเด็กปัญญาอ่อนมากเกินจะยอมรับได้อีกต่อไป สาเหตุก็มาจากการมีโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่มากนั่นเอง

ประสบการณ์จากการทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA เป็นกระบวนการที่มีไว้เพื่อให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าให้ผ่านหมดทุกโครงการ ไม่ใช่เป็นกระบวนการที่เปิดให้ประชาชนเลือกว่าต้องการหรือไม่ต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ตั้งแต่ติดตามเรื่องโรงไฟฟ้ามา ที่ อ.เทพา ถือว่าโหดที่สุด เพราะมีกระแสข่าวออกมาว่าห้ามคนโน้นคนนี้เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น จึงอดไม่ได้ที่จะต้องถามถึงธรรมาภิบาลของ กฟผ.ที่มีรูปแบบการดำเนินการอย่างนี้ เรื่องนี้จะเป็นจริงหรือไม่อยู่ที่การพิสูจน์กันในเวที ค.1 วันที่ 2 พ.ย.นี้

 
ด้าน ส.ต.ต.สุขเกษม ประสิทธิ์หิมะ ตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ อ.เทพา จ.สงขลา กล่าวว่า ในฐานะคนในพื้นที่ และได้ร่วมก่อตั้งกลุ่มรักษ์เทพาขึ้นมา โดยร่วมกับพ่อ ตั้งเพจรักษ์เทพา มีสมาชิก 300 กว่าคน หลายคนมาคุยถึงบ้านเพราะกังวลว่าบ้านเรือนของพวกเขา ถิ่นที่อยู่อาศัยจะกระทบอย่างไรบ้าง เช่น กลุ่มอาชีพทำกะปิที่ทำมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย ปีหนึ่งมีรายได้หลายแสนบาทเลี้ยงครอบครัวได้ กะปิเทพาได้รับมาตรฐานจากกระทรวงวัฒนธรรมในระดับ 5 ดาว

“หากมีท่าเรือเกิดขึ้นเพื่อขนถ่ายถ่านหินก็จะทำให้กุ้งฝอยที่ชาวเทพาใช้ทำกะปิจะต้องลดลงอย่างแน่นอน นี่คือสิ่งที่ชาวบ้านเป็นห่วง นอกจากนี้ จะมีการสูบน้ำเข้าไปหล่อเย็นในโรงไฟฟ้าก็จะทำให้สัตว์ตัวเล็กๆ เช่น กุ้งฝอย ที่ชาวบ้านใช้ทำกะปิได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ในการตากกะปิ ชาวบ้านก็ยังกังวลถึงผลกระทบจากฝุ่นถ่านหิน หากผู้บริโภครู้ว่ากะปิที่ผลิตมาจากพื้นที่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้วผู้บริโภคจะยังกล้าซื้อกะปิจากที่นี่ไปบริโภคหรือไม่” ส.ต.ต.สุขเกษม กล่าวและว่า

ทราบมาว่าจะมีการนำขี้เถ้าไปทิ้งในป่าชายเลน บริเวณนั้นก็เป็นจุดที่ชาวบ้านใช้เป็นแหล่งทำการประมง ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน นอกจากนี้ ยังมีอาชีพการปลูกพืชผัก รวมทั้งสวนปาล์มน้ำมัน และสวนยางพารา บางคนย้ายบ้านหนีโรงแยกก๊าซจะนะไปอยู่เทพา แต่สุดท้ายก็มีโรงไฟฟ้าถ่านหินตามมาอีก นี่คือเรื่องทุกข์ใจของชาวบ้าน

“ชาวบ้านในพื้นที่มองว่าการได้เงินมาจากค่าเวนคืนที่ดินไม่คุ้มค่าต่อการต้องย้ายออกจากถิ่นฐานของตนเอง ตอนนี้มีการข่มขู่ไล่ที่ ชาวบ้านบางคนอาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณประโยชน์ที่ชาวบ้านได้รับการจัดสรรจากภาครัฐมาก่อน มีการมาข่มขู่ชาวบ้านกลุ่มนี้ว่าหากต่อต้านโรงไฟฟ้าจากถูกยึดที่ดินคืน หรือไม่ก้อาจไม่ได้รับความปลอดภัย”

 
ส.ต.ต.สุขเกษม ยังกล่าวอีกว่า ปัญหาน้ำท่วม ทางระบายน้ำจากชุมชนเทพาเดิมมีอยู่ 3 คูระบายน้ำ แต่ปัจจุบันคูระบายน้ำถูกนายทุนรีสอร์ตที่พักสร้างอาคารขวางทางทำให้มีปัญหาน้ำท่วมชุมชนมาโดยตลอด หากจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าซึ่งมีขนาดใหญ่ก็จะยิ่งส่งผลกระทบทำให้ปัญหาการระบายน้ำขาดประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบต่อชุมชนในระยะยาวอย่างแน่นอน

“ผมเรียนทางด้านสิ่งแวดล้อมมา 4 ปี ไม่มีอาจารย์คนไหนสอนว่าถ่านหินคือพลังงานที่สะอาด แต่กลับมีผู้นำชุมชนบางคนไปดูงานกับ กฟผ.มาแค่ 3 วัน แต่กลับมาบอกว่าถ่านหินสะอาด มันจะเป็นไปได้อย่างไร จากประสบการณ์เคยไปตรวจโรงงาน 200 กว่าแห่งในช่วงที่ทำงานด้านนี้หลังจากเรียนจบ พบว่า โรงงานกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ มีการลักลอบปล่อยมลพิษออกจากโรงงานเพราะวันที่เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจ โรงงานจะเดินเครื่องเพียง 40 เปอร์เซ็นต์ จาก 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้การตรวจมลพิษผ่านทุกขั้นตอน นี่คือประสบการณ์ที่พบบริเวณลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา ผมสามารถชี้ได้หมดว่าโรงงานไหนที่ลักลอบปล่อยมลพิษ การประปาเคยรู้หรือไม่ว่าน้ำที่ชาวหาดใหญ่ใช้ดื่มกินอยู่นั้นปนเปื้อนสารเคมี เช่น สารฟีนอล ซึ่งคนดื่มกินเข้าไปทุกวัน ”

 
นายปิยะโชติ อินทรนิวาส หัวหน้าศูนย์ข่าวหาดใหญ่ และบรรณาธิการ “ASTVผู้จัดการศูนย์ข่าวภาคใต้” กล่าวว่า เมื่อ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา เพิ่งมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.เทพา และทำเวที ค.1 ในวันที่ 2 พ.ย.นี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีการเร่งรีบมาก และก่อนหน้านี้ก็มีการพยายามผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งที่กระบี่ หัวไทร ท่าศาลา และที่ จ.ตรัง นอกจากนี้ ยังจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลอีกประมาณ 5 โรง และอาจจะรื้อฟื้นโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ซึ่งอยู่ติดกับ อ.เทพา จ.สงขลา ด้วย ทั้งหมดนี้คือโครงสร้างพื้นฐานรองรับการย้ายฐานปิโตรเคมีจากภาคตะวันออกสู่ภาคใต้ เชื่อมกับแผนการขนส่งน้ำมันจากทะเลอันดามันมาอ่าวไทย

ส่วน น.ส.ณัติกาญจน์ สูติพันธ์วิหกร นักวิชาการอิสระ เคยไปดูโรงฟ้าถ่านหินมาทั้งที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง และที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อยากจะบอกว่าฝุ่นที่ออกมาจากโรงไฟฟ้าถ่านมีขนาดเล็กกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผม ประเทศสหรัฐอเมริกาเสียงบประมาณไปกับการรักษาโรคประชาชนที่ป่วยจากการสูดฝุ่นควันถ่านหินปีละกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ใช้ถ่านหินกว่า 84 ล้านตันต่อปี ซึ่งเยอะมาก และส่งผลต่อสุขภาพคนในพื้นที่แน่นอน

นายแสงธรรมดา กิตติเสถียรพร ตัวแทนศิลปินเพื่อชีวิตที่เข้าร่วมเวทีระบุว่า การเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้สะท้อนให้เห็นว่า ขณะนี้ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้กำลังต้องต่อสู้อยู่กับกลุ่มทุนใหญ่ ที่เป็นกลุ่มทุนพลังงานครอบโลก โดยในส่วนของศิลปินจะใช้ผลงานทางศิลปะรับใช้การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเพื่อให้มีการพัฒนาโดยไม่ทำลายสภาพแวดล้อมที่เป็นฐานทางการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่

ส่วนนายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า การขับเคลื่อนของภาคประชาชนต่อจากนี้ ในวันนี้ได้มีประชาชนกว่า 50 คน มาลงชื่อเป็นคณะทำงานเครือข่ายติดตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก จ.สงขลา ติดตามตรวจสอบความเคลื่อนไหว และเผยแพร่ข้อมูลตามแผนการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเล จ.สงขลา เป็นเขตอุตสาหกรรมหนัก โดยในวันที่ 2 พ.ย.จะส่งตัวแทนเข้าร่วมเวที ค.1 โรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือขนถ่านหินที่ห้องประชุม อบต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา ด้วย
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น