ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ไม่เฉพาะแค่เปิดไฟเขียวให้สัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เดินหน้าไปได้เท่านั้น เวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) และประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำลังจะมอบของขวัญชิ้นใหญ่และสร้างความประทับใจแบบสุดๆ ให้กับกลุ่มทุนพลังงานและนอมินี ด้วยการเดินทางไปเจรจาผลประโยชน์ด้านพลังงานในขุมทรัพย์เขตทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา กับ สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในการเยือนราชอาณาจักรกัมพูชาอย่างเป็นทางการวันที่ 30-31 ต.ค. 2557
การยกเรื่องนี้มาพูดคุยในระดับผู้นำประเทศระหว่างพล.อ.ประยุทธ์ กับสมเด็จฯ ฮุน เซน เพื่อเห็นชอบร่วมกัน ก็เท่ากับเป็นการปูทางให้นำไปสู่การเจรจาเพื่อทำข้อตกลงในการแบ่งปันผลประโยชน์ด้านพลังงานในเขตทับซ้อนฯ ระหว่างไทย - กัมพูชา ที่ยืดเยื้อมานมนานหลายปี อาจเป็นการ “ปิดดีล” ปฏิรูปพลังงานเพื่อกลุ่มทุนที่สวยสดและสมบูรณ์แบบ ซึ่งมีแต่รัฐบาลทหารที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเท่านั้นที่จะสามารถทำได้ และไม่ทำให้ผิดหวังอย่างเด็ดขาด
“เรื่องพลังงาน จะพูดถึงพื้นที่ทับซ้อน จะทำกันอย่างไร แต่ต้องคุยกันในรูปแบบของคณะกรรมการ แต่ที่ไปครั้งนี้ เป็นการพูดคุยกันระดับผู้นำว่าเห็นชอบร่วมกันหรือไม่ ถ้าจะคุยกันต่อ ก็ไปคุยกัน” พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ก่อนวันเดินทางเมื่อวันที่ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา
หากย้อนกลับไปในช่วงเวลา 5 เดือนแห่งการเถลิงอำนาจของ คสช.ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้าคณะนั้น สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมหรืออาจใช้คำว่า “มีธง” มาตั้งแต่เริ่มแรกจนชวนให้เกิดความเข้าใจว่า ภารกิจของ คสช. นอกจากฉากหน้าเรื่องปรองดองสมานฉันท์แล้ว ฉากหลังของภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ การปฏิรูปพลังงานเพื่อกิจการของกลุ่มทุนและนอมินี ให้สำเร็จสมประสงค์ดังใจหมาย ขจัดปัดเป่าปัญหาที่คาราคาซังให้หมดสิ้นไปนั่นเอง
เหตุไฉนจึงมีความโน้มเอียงให้เข้าใจไปเช่นนั้น นั่นเป็นเพราะว่า หนึ่ง การแต่งตั้งคณะกรรมการบอร์ดปตท.ชุดใหม่ที่มีนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ขึ้นแท่นเป็นประธานบอร์ด พร้อมด้วยข้าราชการระดับสูงนอมินีกลุ่มทุนพลังงาน โดยไม่ฟังเสียงทักท้วงจากภาคประชาชนเลย เป็นคำตอบแรก
ตามมาด้วย การอนุมัติแปรรูปกิจการท่อก๊าซธรรมชาติ โดยจะแยกออกไปจากปตท. แล้วตั้งบริษัทใหม่ที่มีปตท.ถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นการฮุบสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่ยังมีปัญหาค้างคาไปครอบครองโดยชอบธรรมแบบเนียนๆ นั่นเป็นประการที่สอง และแม้ว่าเมื่อเกิดเสียงค้านดังขึ้น “บิ๊กตู่” จะทำทีขอให้ชะลอเรื่องนี้ออกไปก่อน แต่นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.กระทรวงพลังงาน ก็บอกชัดว่าต้องทำให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมิ.ย. 2558 นั่นหมายความว่า หากไม่มีไฟเขียวจากผู้มีอำนาจมีหรือที่นายณรงค์ชัย จะกล้าขัดคำสั่งหัวหน้า คสช.
สาม การปรับราคาพลังงานทั้งก๊าซฯและน้ำมัน โดยปรับราคาตามตลาดโลก ตามที่กลุ่มทุนพลังงานเรียกร้อง แต่เรื่องนี้มีสองมาตฐาน เพราะไม่มีการไปแตะเครือปตท. ที่ยกเว้นให้บริษัทลูกยืนราคาต่ำกว่าตลาดโลกและขอซื้อก๊าซในราคาต่ำกว่าผู้ใช้กลุ่มอื่นๆ ไว้เหมือนเดิม
สี่ การอนุมัติเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 โดย “กพช.บิ๊กตู่” เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2557 ที่เพิ่งผ่านมาหมาดๆ โดยไม่ฟังเสียงภาคประชาชนเช่นเคย และไม่รั้งรอฟังความเห็นจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน เสียก่อน ทั้งที่ สปช. ด้านพลังงานนั้นจะว่าไปแล้วก็คือนอมินีกลุ่มทุนพลังงานยกแผง เว้นแต่น.ส.รสนา โตสิตระกูล คนเดียว อยู่แล้ว จะใจเย็นรอเพื่อให้ผ่านพิธีกรรมก่อนก็ยังรอไม่ได้ ทำเหมือนหวั่นว่าอนาคตของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จะสั้นเกินคาดถึงได้รีบร้อนกันนัก แต่เมื่อเสียงค้านสัมปทานรอบใหม่ดังขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็โยนเข้าสปช.ไปทำพิธีตามคาด
และสุดท้าย ก็คือ การเจรจาผลประโยชน์ด้านพลังงานในเขตทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ในเที่ยวล่าสุดนี้
การเดินหน้าปฏิหลอก “ปฏิรูปพลังงานเพื่อกลุ่มทุน” คราวนี้จึงเรียกได้ว่าครบเครื่อง ถึงใจพระเดชพระคุณกันเลยทีเดียว
แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้แลดูน่าเกลียดเกินไป ในระหว่างทางเดินสู่เป้าหมาย “ปฏิรูปพลังงานเพื่อกลุ่มทุน” ทางคณะผู้มีอำนาจกับกลุ่มทุนพลังงานและนอมินี ได้จัดฉาก สับขาหลอก ลวงสังคมให้เชื่อว่าจะมีการปฏิรูปพลังงานเพื่อประชาชนและฟังเสียงทุกฝ่าย โดยมีการเสกเป่า ทำพิธีกรรม ถึงขั้นดึงเอาพระสงฆ์องค์เจ้าเข้ามาร่วมสังฆกรรม จนเกิดการเบี่ยงเบนประเด็น สร้างความพิศวงงงงวย ลดความน่าเชื่อถือของภาคประชาชน กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็มีการปรับราคาพลังงานตามราคาตลาดโลก อนุมัติเปิดสัมปทานปิโตรเลียม และแปรรูปกิจการท่อก๊าซฯ ไปเรียบวุธ
จะไม่ให้เข้าใจว่าเป็นเพียงพิธีกรรมสร้างความชอบธรรมได้อย่างไร ก็ในเมื่อเวทีเสวนาปฏิรูปพลังงาน ที่จัดขึ้นถึงสองครั้ง ไม่มีข้อเสนอของภาคประชาชนเข้าไปประกอบในการพิจารณาตัดสินใจของ “กพช.บิ๊กตู่” แม้แต่น้อย ไม่ว่าการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ที่ขอให้ดูสูตรการกำหนดราคาน้ำมันที่มีต้นทุนเทียมแฝงอยู่และให้ถอดออกไปเสีย ขอให้ดูรายละเอียดแต่ละกลุ่มผู้ใช้ที่มีความเหลื่อมล้ำกันในเรื่องราคา และขอให้ดูการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันที่ไม่ เท่าเทียมกัน รวมทั้งการขอให้ชะลอการแปรรูปท่อก๊าซฯ และชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ออกไปก่อน
เสียงของภาคประชาชนหายไปกับสายลม
มิหนำซ้ำ การเล่นกลตั้ง สปช. สายพลังงาน ที่มีแต่นอมินีกลุ่มทุนพลังงานล้วนๆ ยกเว้นเพียงคนเดียว คือ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ นั้น ยังเป็นการสร้างความขลังขั้นเทพให้กับการปฏิรูปพลังงานเพื่อกลุ่มทุน ชนิดที่เรียกว่าผ่านพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์กันเลยทีเดียว ใครจะมาคัดค้านทีหลังไม่ได้อย่างเด็ดขาด
แต่ก็อย่างว่า คิดจะยึดอำนาจเข้ามาบริหารประเทศ แล้วจะปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ ห้ามโต้แย้งนั้นก็คงยากอยู่เพราะโลกพัฒนาไปไกลมากแล้ว ดังนั้น ภาคประชาชนที่ติดตามเรื่องพลังงานไม่ว่าจะเป็นกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานฯ เครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน ฯลฯ จึงนำเสนอข้อมูลอีกด้านมาตอบโต้วาทกรรมของฝ่ายกลุ่มผู้มีอำนาจและทุนพลังงาน ชนิดที่เรียกว่าเจอสวนกลับทุกเม็ด และข้อมูลที่ใช้แย้งกลับก็ไม่ได้มาจากไหนแต่มาจากหน่วยงานด้านพลังงานทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ, เครือปตท., เชฟรอน ฯลฯ และข้อมูลเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ
เปรียบเสมือนหนามยอกเอาหนามบ่ง ให้เห็นกันชัดๆ ไปเลยว่าใครกันแน่ที่บิดเบือนข้อมูล
ยกตัวอย่างเช่น การให้สัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ออกมาแก้ต่างตามโพยของกระทรวงพลังงานที่ว่า “ไม่มีเปิดสัมปทาน ไม่มีเลย เวลานี้อยู่ในขั้นการสำรวจเท่านั้นเอง เพราะยังไม่รู้ว่าสำรวจจะเจอ หรือไม่เจอ จะไปเรื่องรับสัมปทานได้อย่างไรครับ”
ม.ล.กรณ์กสิวัฒน์ เกษมศรี ก็ได้โพสขึ้นเฟซบุ๊ก ตอบกลับนิ่มๆ ว่า “ด้วยความเคารพท่านรองนายกฯ สัมปทานรอบที่ 21 ที่รัฐเปิดให้เอกชนมาขอรับสัมปทาน ตาม พ.ร.บ. ปิโตรเลียม จะมีความหมายครอบคลุมทั้ง 1. การสำรวจ 2. การผลิต และ 3. สิทธิในการขายปิโตรเลียมที่ขุดได้ ประเทศไทยไม่เคยมีนโยบายแยกให้เอกชนสำรวจเพียงอย่างเดียว ข้อมูลในข่าวจึงไม่ถูกต้องครับเพราะเอกชนผู้ที่สำรวจสามารถผลิตได้ตามมาตร 41 ของพ.ร.บ.ครับ”
พ.ร.บ.ที่ว่านั้นคือ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 มาตรา 41 ที่ระบุว่า “ในระหว่างระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียม ผู้รับสัมปทานจะผลิตปิโตรเลียมก็ได้”
นี่ก็เห็นแล้วว่า พล.อ.ประวิตร ต้องสูญเสียความน่าเชื่อถือจากสังคมแค่ไหนที่ดันไปเชื่อแต่ข้อมูลจากฝั่งกระทรวงพลังงาน
อีกประเด็นหนึ่งที่เห็นชัดก็คือเรื่องที่นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.กระทรวงพลังงาน นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ดาหน้าออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ต้องเร่งเปิดสัมปทานปิโตรเลียมเพราะปิโตรเลียม น้ำมัน ก๊าซฯ จะ หมดในอีก 8 ปีข้างหน้าหากไม่เปิดสัมปทานใหม่ ทั้งที่ความจริงคือแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมเดิมคือ แหล่งเอราวัณและแหล่งบงกชจะหมดอายุสัมปทานลง
เรื่องนี้ กลุ่มเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย นำโดย พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี จึงยื่นหนังสือร้องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบจริยธรรม และการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี, นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม และนายคุรุจิต นาครทรรพ กรณีประกาศให้สัมปทานปิโตรเลียม ครั้งที่ 21 โดยอ้างว่าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะหมดไป พร้อมประกาศขึ้นราคาก๊าซโดยอ้างต้นทุนก๊าซหุงต้มที่มีราคาสูงขึ้น ถือเป็นการกระทำที่ผิดขั้นตอนและลัดขั้นตอน ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เอื้อประโยชน์แก่คนบางกลุ่มบางพวก ขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 4 มาตรา 5 และ มาตรา 27 จัดกฎหมายอาญามาตรา 152 และมาตรา 157 รวมถึงจริยธรรมเจ้าหน้าที่รัฐในการบิดเบือนข้อมูลเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง
อีกทั้งจากรายงานของบริษัทเชฟรอน ยังพบว่า การขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย เป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ และจากรายงานกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ พบว่า ยังมีพื้นที่ที่ยังไม่ขุดเจาะอีก 84% ซึ่งตรงกันข้ามกับการให้ข้อมูลของบุคคลทั้งสามข้างต้น
นี่เป็นเพียงตัวอย่างสงครามข้อมูลที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้
แต่ที่ลืมไม่ได้ก็คือ คู่สามี-ภรรยา “ขาประจำ” ที่ทำหน้าที่อย่างแข็งขันในการผลิตวาทกรรมเพื่อกลุ่มทุนพลังงานมาตลอดก็ออกโรงช่วยสนับสนุนเต็มที่ โดยทันทีที่นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานบอร์ด ปตท. ออกมาชักแม่น้ำทั้งห้าให้รีบปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบซึ่งหมายถึงการขึ้นราคาก๊าซฯ น้ำมัน ให้เท่ากับราคาตลาดโลก ลดละเลิกการอุดหนุนราคาพลังงานเพื่อให้เครือปตท.ฟันกำไรอย่างสุขเกษมเปรมปรีดิ์
ทางด้านนางอาณิก อัมระนันทน์ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการของม็อบ “หลวงลุงกำนัน” ก็รีบรับไม้ต่อ ชูรักแร้หนุนการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ และขอให้ คสช. อย่าไปฟังเสียงพวกคัดค้าน ต้องกล้าเดินหน้าไม่เช่นนั้นต้องนำเข้าก๊าซฯ มาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจะทำให้ต้นทุนค่าไฟแพง ประเทศชาติจะไม่มีความมั่นคงด้านพลังงาน
เรียกว่าข่มขู่กันชนิดให้ชาวประชาขี้หดตดหายไม่กล้าหือ ซึ่งเป็นลูกไม้ที่เคยใช้ได้ผลมาก่อน แต่ถึงตอนนี้อาจไม่ใช่เสียแล้ว
อย่างที่ว่า การจะคิดปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ การบิดข้อมูลเพื่อประโยชน์ของกลุ่มทุนพลังงานและนอมินีเวลานี้คงทำได้ยากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการออกมาแฉของภาคประชาชนที่ว่า ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคแถบนี้ต่างเปลี่ยนไปใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตแทนระบบสัมปทาน หรือการออกมาแฉตัวเลขกำไรของปตท.ปีละแสนล้าน และการแฉว่าการเจรจาเขตทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา มีวาระซ่อนเร้นเรื่องผลประโยชน์พลังงานซุกซ่อนอยู่ การออกมาแฉว่าค่าไฟฟ้าแพงก็เพราะปตท.ขายก๊าซฯ ในราคาบวกสารพัดให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และไอพีพี ฯลฯ แต่ละเรื่องที่ถูกตอบโต้กลับจึงสร้างความขุ่นเคืองให้กับผู้มีอำนาจและกลุ่มทุนพลังงานไม่น้อย
อาจจะเป็นดัวยเหตุฉะนี้ จึงเกิดเหตุการณ์ที่มีคณะทหารไปดูแลความสงบเรียบร้อยเป็นกรณีพิเศษมากๆ จนเหมือนข่มขู่คุกคามนางบุญยืน ศิริธรรม หนึ่งในหัวหอกกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงาน และนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งสื่อเครือเอเอสทีวีผู้จัดการ
การส่งทหารเข้ามาดูแลเป็นกรณีพิเศษ ตรวจสอบบ้านช่องอย่างใกล้ชิด คล้ายๆ จะบอกว่า ถ้ายังไม่เลิกติดตามรายงานข้อมูลข่าวสารด้านพลังงานอีกด้านหนึ่งให้ประชาชนได้รับรู้ระวังมีปัญหาตามมาแน่
แต่เมื่อคณะผู้มีอำนาจและกลุ่มทุนคิดจะรวบหัวรวบหาง “ปิดดีล” ปฏิรูปพลังงานเพื่อกลุ่มทุน ให้เสร็จสมอารมณ์หมาย ก็อย่าคิดว่าจะสามารถปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ เช่นกัน