xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่าย ปชช.ชงผู้ตรวจฯ สอบจริยธรรม 3 บิ๊ก ก.พลังงาน บิดเบือนข้อมูล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เครือข่าย ปชช. สภาปฏิรูปพลังงาน ยื่นผู้ตรวจฯ สอบจริยธรรม 3 บิ๊ก ก.พลังงานให้สัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 ขึ้นราคาก๊าซ ฉะผิดขั้นตอนตาม รธน. เอื้อประโยชน์บางกลุ่ม บิดเบือนข้อมูลอ้างก๊าซส่อหมด งัดรายงานเชฟรอน-กรมเชื้อเพลิง สวน เหลือที่ขุดเจาะเพียบ จี้แบ่งปันกรรมสิทธิ แบบทั่วโลกทำ ซัดบิดเบือนต้นทุนขึ้นราคาก๊าซ แถมเอาเงิน ปชช.อุ้ม ปตท.

วันนี้ (29 ต.ค.) เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ สภาธรรมาภิบาล สภาปฏิรูปพลังงานไทย นำโดย พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี พร้อมคณะเข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายสงัด ปัถวี รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบจริยธรรมและการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน และ นายคุรุจิต นาครทรรพ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรณีประกาศให้สัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 โดยอ้างว่าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะหมดไป พร้อมประกาศขึ้นราคาก๊าซโดยอ้างต้นทุนก๊าซหุงต้มที่มีราคาสูงขึ้น ถือเป็นการกระทำที่ผิดขั้นตอนและลัดขั้นตอนไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เอื้อประโยชน์แก่คนบางกลุ่มบางพวก ขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 27 จัดกฎหมายอาญามาตรา 152 และมาตรา 157 รวมถึงจริยธรรมเจ้าหน้าที่รัฐในการบิดเบือนข้อมูลเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง

พญ.กมลพรรณกล่าวว่า จากรายงานของบริษัท เชฟรอน พบว่า การขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐอเมริกา และจากรายงานกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติพบว่า ยังมีพื้นที่ที่ยังไม่ขุดเจาะอีก 84% ซึ่งตรงข้ามกับการให้ข้อมูลของบุคคลทั้งสาม นอกจากนี้ยังพบว่าเอกสารผลประกอบการของบริษัทผู้รับสัมปทานระบุว่าลงทุนไป 2 แสนล้าน แต่มีกำไรเฉพาะปีแรกถึงแสนกว่าล้านบาท อีกทั้งเห็นว่าการให้สัมปทานครั้งนี้ถือเป็นกรรมสิทธิของบริษัทผู้รับสัมปทานที่จะรายงานข้อเท็จจริงของเชื้อเพลิงว่ามีปริมาณเท่าใดก็ได้ โดยรัฐไม่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งรัฐควรจะใช้วิธีการแบ่งปันกรรมสิทธิเพื่อที่จะสามารถตรวจสอบได้ เพราะทั่วโลกก็ใช้วิธีการดังกล่าว

ส่วนในเรื่องของการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม พบว่ามีการให้ข้อมูลที่บิดเบือนโดยระบุว่าต้นทุนสูงถึง 20 บาทต่อกิโลกรัม แต่จากรายงานกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติพบว่ามีการแจ้งราคาต้นทุนอยู่ที่ 9.5 บาทต่อกิโลกรัม และพบว่าภายในประเทศผลิตได้ 79% นำเข้าเพียง 21% อีกทั้งยังให้บริษัทลูกของ ปตท.ซื้อได้ในราคาที่ถูกกว่าที่ประชาชนซื้อถือเป็นการหมกเม็ดในการใช้แอลพีจี เอาเงินของประชาชนไปอุ้มธุรกิจปิโตรเคมี ซึ่งไม่ถูกต้อง

ด้านนายสงัดกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ผู้ตรวจฯได้ตั้งคณะทำงานด้านพลังงานขึ้นมาตรวจสอบโดยเฉพาะตั้งแต่รัฐบาลที่ผ่านมา โดยได้มีการข้อเสนอในเรื่องของการกองทุนน้ำมันไปแล้ว อย่างไรก็ตาม หากคำร้องนี้ตรวจสอบแล้วพบว่าขัดรัฐธรรมนูญจริง ก็จะพิจารณาว่าจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไปหรือไม่





กำลังโหลดความคิดเห็น