เครือข่ายพลังงานบุกทำเนียบตามนัด ยื่นหนังสือค้านสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 จี้หยุดกระบวนการแล้วตั้ง กก.ปฏิรูปพลังงานงานไทย รวมผลดีและเสียสัมปทาน ให้ถ่ายสดเวทีถกเถียงข้อมูล พร้อมกระทรวงเปิดข้อมูลทุกด้าน เชื่อให้ขุดจริงเสียเปรียบแน่ ยันพร้อมร่วมเวทีศุกร์นี้ “ปานเทพ” ขอบคุณรัฐชะลอเปิดสัมปทาน แต่ลั่นต้องให้คุยต่อเนื่องจนสิ้นข้อสงสัย
วันนี้ (16 ก.พ.) ที่ศูนย์บริการประชาชน เมื่อเวลา 10.00 น. เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศนำโดย พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี นายชูชัย ทิพยมงคลอุดม นางสมนึก คำผ่อง และเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย นำโดย ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต พร้อมด้วยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค และนายศตวรรษ เศรษฐกร ดารานักแสดง ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเรียกร้องต่อแนวทางขยายเวลาการยื่นแสดงจำนงสำรวจและผลิตปิโตรเลียมและข้อเรียกร้องต่อแนวทางการจัดเวทีกลางถกสัมปทานรอบที่ 21 โดยมีนายสุขสวัสดิ์ สุวรรณวงศ์ ผู้อำนวยการประสานงานมวลชนเป็นผู้รับเรื่อง
โดย พ.ท.พญ.กมลพรรณกล่าวว่า ที่ตนและพี่น้องประชาชนมาในวันนี้เพื่อขอเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านพลังงาน ดังนี้ 1. ขอให้ยกเลิกประกาศฉบับวันที่ 30 ก.ย. 2557 โดยเปิดให้มีการสำรวจได้ภายในหนึ่งปี แต่ห้ามผลิต โดยกระทรวงพลังงานต้องหยุดกระบวนการใดๆ เกี่ยวการให้สัมปทาน และระหว่างนั้นขอให้มีคณะทำงานศึกษาแก้ไข กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและให้ประชาชนมีส่วนร่วม รวมถึงให้แก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีปิโตรเลียม โดยตั้งคณะกรรมการปฏิรูปพลังงานงานไทย และตั้งคณะกรรมการรวบรวมผลดี-ผลเสียจากสัมปทานที่ผ่านมา และที่จะเกิดในอนาคตอันใกล้ 2. เปิดพื้นที่เจรจาถกเถียงข้อมูล โดยให้เวลาเท่าเทียมกันทั้งตัวแทนภาครัฐ และประชาชน โดยถ่ายทอดทางสื่อฟรีทีวีรวมการเฉพาะกิจ หรือรัฐสภา และมีนายกรัฐมนตรีร่วมฟังปัญหา
3. ฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลจะต้องเปิดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลอย่างเสรี ไม่ว่าการจัดเสวนาวิชาการที่ไม่ได้มีความขัดแย้ง หรือเป็นปฏิปักษ์ หรือต่อต้านอำนาจ คสช. หรือความมั่นคงของชาติ รวมถึงให้ภาคประชาชนมีโอกาสนำเสนอข้อมูลด้านพลังงานผ่านสื่อมวลชน ฟรีทีวีของรัฐอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และห้ามภาครัฐให้ข้อมูลบิดเบือน เพราะเป็นเรื่องที่สร้างความขัดแย้ง หากพบการกระทำดังกล่าวขอให้นายกฯ ดำเนินการไต่สวนคดีและมีการลงโทษอย่างเด็ดขาด ตามประมวลจริยธรรมของนักการเมือง และข้าราชการพลเรือน และมีการจัดเวทีสัญจรตามภูมิภาคเพื่อรับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนในพื้นที่ และให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล
4. ให้กระทรวงพลังงานเปิดเผยข้อมูล หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการประมูลทุกรอบที่ผ่านมา รวมทั้งรายชื่อบริษัทที่รับสัมปทานและผลประกอบการของบริษัทในการรับสัมปทานครั้งที่ 19-20 และให้เปิดเผยสัญญาสัมปทานทุกฉบับเพื่อให้กิดความโปร่งใส 5. สิ่งที่เคยเบียดเบียนประชาชนต้องแก้ไขทันทีให้เสร็จใน 1 เดือน เช่น ธุรกิจปิโตรเคมี ท่อก๊าซ และราคาก๊าซไฟฟ้าต้องลดลง โดยตั้งคณะกรรมการศึกษาร่วม
“จากข้อมูลที่เราได้รับมาจากหลายฝ่าย หากเปิดสัมปทานพลังงานครั้งที่ 21 นั้น ประเทศไทยจะเสียเปรียบมาก ทำให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมือง และผลประโยชน์จะตกอยู่ในมือของคนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เราไม่ได้คิดร้ายกับรัฐบาลแต่พวกเราสนับสนุน บริษัทที่เข้ามาทำสัมปทานต่างๆ นั้น ไปจดทะเบียนที่เกาะเคย์แมนหรือเกาะฟอกเงิน แล้วไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครถือหุ้นบ้าง ซึ่งผลประโยชน์ดังกล่าวควรตกเป็นของประชาชนไม่ใช่กลุ่มทุนบางกลุ่มที่ผ่านมารัฐบาลบริหารผิดพลาดเนื่องจากเชื่อแต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ เรื่องพลังงานนั้นมีปัญหาหลายด้าน ที่ต่างประเทศราคาน้ำมันลดกว่าครึ่ง แต่แก๊สกลับขึ้นราคา ราคาอาหารก็ขึ้นอีก แล้วหากอนาคตราคาน้ำมันขึ้น ราคาอาหารจะไม่ยิ่งสูงไปกว่าตอนนี้อีกหรือ ในช่วงหนึ่งปีนี้ของให้ตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ท่านก็ทราบว่าในเรื่องของข้อกฎหมายหากมีข้อพิพาทนั้นต้องใช้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ตัดสิน ที่ผ่านมาเราก็เสียค่าโง่ไปเป็นหมื่นล้านบาทกรณีทุจริตโครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่าน มันเป็นความเสียเปรียบของคนไทยทั้งชาติ เราต้องช่วยกันเฝ้าระวังเรื่องการบริหารของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็แล้วแต่” พท.พญ.กมลพรรณกล่าว
ด้านนายอิฐบูรณ์กล่าาว่า ตามที่รัฐบาลได้แถลงข่าวในวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมาว่าจะเปิดเวทีกลางถกสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ในวันที่ 20 ก.พ. และจะขยายเวลาการยื่นแสดงความจำนงสำรวจและผลิตปิโตรเลียมหรือขยายเวลาการรับซองขอสัมปทานปิโตรเลียมออกไปก่อน โดยมิได้ประกาศยกเลิกการรับยื่นซองขอสัมปทานนั้น ทางเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทยขอขอบคุณรัฐบาลที่ได้มีความห่วงใยต่อข้อเรียกร้องของประชาชน และขอสนับสนุนนความตั้งใจจริงของรัฐบาลที่จะสร้างความมั่นคงทางพลังงานบนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้อง และมีความประสงค์ที่จะส่งตัวแทนเข้าร่วมเวทีกลางที่รัฐบาลจัดขึ้น
นอกจากนี้ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทยได้มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการตามข้อเรียกร้องของประชาชน โดยทางเครือข่ายไม่เห็นด้วยต่อแนวทางขยายเวลาการยื่นแสดงจำนงสำรวจและผลิตปิโตเลียมออกไป เนื่องจากมีผลให้กระบวนการเปิดขอสัมปทานยังดำรงอยู่ และสร้างความเข้าใจผิดต่อประชาชนว่ารัฐบาลไม่มีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหา รัฐบาลจึงควรพิจารณาดำเนินการ อาทิ ยกเลิกประกาศกระทรวงพลังงานเรื่อง การยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตเลียมสำหรับแปลงสำรวจบกและในทะเลอ่าวไทย เป็นต้น
สำหรับข้อเสนอต่อแนวทางการจัดเวทีกลางถกสัมปทานปิโตเลียมรอบที่ 21 เครือข่ายขอให้รัฐบาลดำเนินการ โดยขอให้รัฐบาลให้เวลาในการจัดเวทีทุกสัปดาห์ๆ ละ 1 ครั้งภายในระยะเวลา 2 เดือน รวมทั้งควรจัดเวลาในการนำเสนอข้อมูลอย่างเท่าเทียมกันทุกๆ ฝ่ายในทุกเวที และการตอบคำถามของกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีเอกสารรองรับให้ประชาชรสามารถตรวจสอบได้
ทั้งนี้ ขอให้สื่อมวลชนร่วมสังเกตการณ์และถ่ายทอดสดผ่านทางโทรทัศน์ของรัฐบาล เช่น สถานีโทรทัศน์ช่อง 11, สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ตลอดการดำเนินเวทีทุกครั้ง และขอให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้ประชาชนส่งมารถจัดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ในด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างเต็มที่
ส่วนนายปานเทพกล่าวว่า กลุ่มที่มายื่นหนังสือถึงนายกฯ วันนี้มีทั้งกลุ่มอดีตนักการเมืองที่แถลงข่าวไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา และกลุ่มภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ เราขอบคุณที่รัฐบาลจะตัดสินใจชะลอการเปิดสัมปทานครั้งนี้ และกำลังจะเปิดเสวนา ซึ่งต้องควรจะเปิดอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะสิ้นกระแสสงสัย และต้องให้เวลาเท่าเทียมกัน และมีการถ่ายทอดสด ต้องไม่ใช่เวทีที่รัฐบาลชี้แจงฝ่ายเดียว และต้องใจกว้างการรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน ทั้งนี้การแก้ปัญหาไม่ใช่การชะลอสัมปทานแต่ต้องยกเลิกประกาศของกรมเชื้อเพลิงฯ เพราะยังไม่สามารถหาข้อยุติที่จะเกิดประโยชน์กับชาติ
ทั้งนี้ พท.พญ.กมลพรรณ นายปานเทพ ม.ล.กรกสิวัฒน์ นายศตวรรษ และแกนนำประชาชนจำนวนกว่า 400 คนที่ร่วมคัดค้านสัมปทานปิโตรเลียม รอบ 21 ได้มารวมตัวกันที่ศูนย์บริการประชาชนตั้งแต่เวลา 09.00 น. โดยเมื่อยื่นข้อร้องเรียนแล้วทางเครือข่ายก็ยังปักหลักอยู่ที่เดิม เพราะจะขอรอคำตอบจากนายกรัมนตรี เนื่องจากวันนี้นายกฯ จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ สำหรับการรักษาความปลอดภัยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลทั้งในและนอกเครื่องแบบและตำรวจนครบาลกองอำนวยการควบคุมฝูงชน อยู่โดยรอบบริเวณประมาณ 60 นาย