ม.รังสิตจัดสัมมนาพลังงาน เพื่อเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะ แนะเปิดช่องประชาชนร่วมดูแล “ธีระชัย” ยืนยันไม่ควรรีบ แบ่งปันผลผลิตดีกว่า หากเดินหน้าต้องไม่ให้เจ้าเดิม ด้าน "วัชระ" ร้องศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉิน เพิกถอนมติ กบง. ขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี หน้าโรงแยกก๊าซ ตันละ 488 เหรียญ สวนทางราคาตลาดโลก แฉล้วงเงินคนไทยเข้ากระเป๋าเอกชนฟันกำไรกว่า 2 หมื่นล้านต่อปี
เมื่อวานนี้ (1 ก.พ.) ศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต จัดการสัมมนาวิชาการด้านนโยบายพลังงานประจำปี 2558 ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยรังสิต ปาฐกถาพิเศษโดยนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมการเสวนาในหัวข้อ เรื่อง “สืบสานพระราชปณิธานการจัดการทรัพยากรเพื่อประเทศไทย” มีนายณรงค์ โชควัฒนา นักธุรกิจนายกมล กมลตระกูล อนุกรรมการสิทธิมนุษยชน นพ.สัตยาศัย ประธานชมรมจามจุรีและเพื่อนปฏิรูปประเทศไทย และ มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต ดำเนินรายการโดย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
การสัมมนาครั้งนี้ได้ศึกษาข้อมูลงานวิจัยทั้งไทยและต่างประเทศทำให้มองเห็นถึงปัญหาและข้อห่วงใยต่อนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรของประเทศในหลายประเภท ทั้งด้านพลังงานปิโตรเลียมและแร่ธาตุ ซึ่งรัฐบาลต้องคำนึกถึงความสำคัญในการรักษากรรมสิทธิ์เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินเป็นอันดับแรก เพราะความมั่นคงทางพลังงานที่แท้จริงของของประเทศ ต้องเริ่มจากหลักการ ”ปิโตรเลียมที่ขุดได้ต้องเป็นของรัฐ” รัฐจึงมีอำนาจและมีอิสระในการบริหารทรัพยากรเพื่อความมั่นคงอย่างสมบูรณ์ ซึ่งเป็นไปตามหลักสากลที่นานาประเทศใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน
นายธีระชัยกล่าวยืนยันว่า การเปิดสำรวจสัมปทานปิโตรเลียมแปลงที่ 21 ไม่ควรเร่งรีบ หากทางรัฐบาลและกระทรวงพลังงานต้องการที่จะเดินหน้าเปิดสัมปทานก็ต้องการให้บริษัทใหม่ได้เข้ามาสัมปทาน ไม่ใช่บริษัทเดิม ขณะที่กระทรวงการคลังจำเป็นต้องพิจารณาเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 อย่างรอบคอบ
“จะต้องไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ และไม่ผูกขาดให้บริษัทใดบริษัทหนึ่ง รวมทั้งต้องเปิดช่องให้มีตัวแทนประชาชนเข้าไปร่วมกำกับดูแล เพราะหากเดินหน้าแล้วทำให้การคลังของประเทศเสียหาย ประชาชนก็อาจยื่นร้อง ให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบได้” นายธีระชัยกล่าวและย้ำว่า เป็นเรื่องที่รอการศึกษาข้อมูลก่อนได้ ควรที่จะศึกษาระบบสัมปทานและแบบแบ่งปันผลผลิต เพื่อเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย ซึ่งเห็นว่าระบบแบ่งปันผลผลิตดีกว่า
นายธีระชัยยังให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่า จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวนสูงและฟื้นตัวช้า ขณะที่เงินทุนไหลเข้ามีความผันผวนและไหลเข้ามาจำนวนมาก อีกทั้งจะต้องระมัดระวังการบริหารจัดการกระแสเงินสด ขณะเดียวกันภาครัฐจะต้องเร่งเดินหน้าการลงทุนให้มีความต่อเนื่อง เพื่อให้ภาคเอกชนกล้าตัดสินใจเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ โดยการลงทุนจะต้องอยู่บนพื้นฐานการเมืองที่นิ่ง อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ในปีนี้จะเติบโตตามที่หลายฝ่ายคาดที่ร้อยละ 4-4.5
นายธีระชัยกล่าวด้วยว่า ความยุติธรรมไม่ได้อยู่ภายใต้กฎอัยการศึก หากมีการประกาศยกเลิก ตนเชื่อว่าประชาชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในเรื่องดังกล่าว จะต้องออกมาเรียกร้องความยุติธรรม
ทางด้าน ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร ระบุว่า สิ่งที่รัฐต้องตระหนักคือ รักษากรรมสิทธิ์ของแผ่นดิน โดยเฉพาะพลังงานที่ขุดได้ต้องเป็นของรัฐ เพราะไทยค้นพบแหล่งน้ำมันดิบเป็นครั้งแรก ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จึงอยากให้รัฐบาลน้อมนำพระบรมราโชบายการจัดการทรัพยากรของกษัตริย์ในอดีตมาใช้ในปัจจุบัน เพื่อความมั่นคงทางพลังงานที่แท้จริง
***วัชระร้องศาล ปค. เบรก กบง.ขึ้นราคาLPG
วันเดียวกัน นายวัชระ เพชทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกับประชาชนในนาม กลุ่มเครือข่ายประชาชนผู้เดือดร้อนจากแก๊สแพง แถลงว่า ได้ยื่นคำร้อง เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา ขอให้ศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉิน กำหนดวิธีการชั่วคราวเพื่อระงับการประกาศใช้ มติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง. ที่ให้ขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี ที่โรงแยกก๊าซจากราคา 333 เหรียญต่อตัน เป็น 488 เหรียญต่อตัน โดยให้มีผลบังคับใช้ใน วันที่ 2 กุ.พ.58 เนื่องจากมติดังกล่าว ทำให้ประชาชนเดือดร้อนทั่วประเทศ ต้องซื้อก๊าซแพงขึ้น 6 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิม 10 บาท เป็น 16 บาท ในขณะที่เอกชนรายใหญ่ มีกำไรเพิ่มขึ้นวันละ 52 ล้านบาท หรือปีละ 18,980 ล้านบาท
นายวัชระ กล่าวว่า มติ กบง. เป็นการบังคับให้ประชาชนต้องจ่ายค่าแก๊สแพงอย่างไม่เป็นธรรม ก่อให้เกิดความเสียหาย เดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไปทั้งเศรษฐกิจและสังคมอย่างร้ายแรง หากปล่อยให้มติดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จะเกิดความเสียหายที่ยากจะแก้ไขเยียวยาได้ จึงขอให้ศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉินกำหนดวิธีการชั่วคราวระงับการบังคับใช้มติ กบง.ดังกล่าวเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีคำพิพากษา ซึ่งตนได้ยื่นคำขอให้ศาลเพิกถอนมติ กบง. ด้วย
นายวัชระ กล่าวว่า ตนได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานทั้งชุด โดยยึดตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่55/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ซึ่งมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช. หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นประธาน และมีปลัดกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้อำนวยการเศรษฐกิจการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายพลังงานและแผนพลังงาน เป็นกรรมการ
" ผมยังรู้สึกแปลกใจที่ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน อ้างว่าเป็นประธาน กบง. ทั้ง ๆ ที่ตามโครงสร้างดังกล่าว ไม่มีชื่อนายณรงค์ชัย เกี่ยวข้อง และคำสั่งคสช.นี้ ก็ไม่เคยยกเลิก และเป็นที่น่าสังเกตว่า มติดังกล่าวไม่มีการเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต มีแต่การรายงานข่าวทางสื่อมวลชน จึงถือว่าเป็นการบริหารที่ไร้ธรรมาภิบาล ไม่เป็นธรรม ส่งผลให้ราคาสินค้าแพงขึ้น ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ทั้งที่ ก๊าซ ณ โรงแยกก๊าซเป็นทรัพยากรของประเทศ ประชาชนต้องซื้อในราคาที่เป็นธรรม ประกอบกับต้นทุนไม่ได้สูงขึ้น ทำให้ผลประโยชน์ตกอยู่ในมือเอกชนรายใหญ่ แต่ความเดือดร้อนอยู่กับประชาชน" นายวัชระ กล่าว
นายวัชระ ระบุด้วยว่า จากการตรวจสอบพบว่า ราคาแอลพีจี ในตลาดโลกไม่เกิน 400 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน โดยสามารถซื้อในราคาคงที่ทั้งปี การกำหนดราคาหน้าโรงแยกก๊าซที่ 488 เหรียญต่อตัน จึงเป็นมติที่ขัดต่อคำสั่ง คสช. เรื่องการควบคุมอำนาจการปกครองที่ว่าเพื่อการปฏิรูปให้เป็นธรรมกับทุกพวกทุกฝ่าย และขัดต่อคำแถลงนโยบายของ ครม. ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงต่อ สนช.ว่า การปฏิรูปโครงสร้างราคาเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับต้นทุน และการส่งเสริมการบริหารตามหลักธรรมาภิบาล ทั้งนี้ ตนยืนยันว่าการฟ้องดังกล่าว ไม่ได้มีอคติโดยยังสนับสนุนการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ไม่สนับสนุนการขึ้นราคาแก๊สแอลพีจี จึงต้องขอพึ่งบารมีให้ศาลปกครอง คืนความสุขให้คนไทย.