“วัชระ” เผยยื่นศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉินระงับและเพิกถอนมติ กบง. ขึ้นก๊าซแอลพีจี ชี้ทำชาวบ้านเดือดร้อนซื้อแพงขึ้น 6 บาทต่อกิโล ส่วนเอกชนมีกำไรเพิ่มปีละ 1.8 หมื่นล้าน ซัดก่อความเสียหายเศรษฐกิจ สังคมร้ายแรง พร้อมฟ้อง “ประจิน” และฝ่ายเศรษฐกิจ - พลังงาน
วันนี้ (1 ก.พ.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกับประชาชนในนามกลุ่มเครือข่ายประชาชนผู้เดือดร้อนจากแก๊สแพง แถลงว่า ได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2558 ขอให้ศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉิน กำหนดวิธีการชั่วคราว เพื่อระงับการประกาศใช้ มติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง. ที่ให้ขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีที่โรงแยกก๊าซจากราคา 333 เหรียญต่อตัน เป็น 488 เหรียญต่อตัน โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558เนื่องจากมติดังกล่าวทำให้ประชาชนเดือดร้อนทั่วประเทศต้องซื้อก๊าซแพงขึ้น 6 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิม 10 บาท เป็น16 บาท ในขณะที่เอกชนรายใหญ่มีกำไรเพิ่มขึ้นวันละ 52 ล้านบาท หรือปีละ 18,980 ล้านบาท
นายวัชระ ระบุว่า มติ กบง. เป็นการบังคับให้ประชาชนต้องจ่ายค่าแก๊สแพงอย่างไม่เป็นธรรม ก่อให้เกิดความเสียหาย เดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไปทั้งเศรษฐกิจและสังคมอย่างร้ายแรง หากปล่อยให้มติดังกล่าวมีผลบังคับใช้จะเกิดความเสียหายที่ยากจะแก้ไขเยียวยาได้ จึงขอให้ศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉินกำหนดวิธีการชั่วคราวระงับการบังคับใช้มติ กบง.ดังกล่าวเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีคำพิพากษา ซึ่งตนได้ยื่นคำขอให้ศาลเพิกถอนมติ กบง.ด้วย
นายวัชระ กล่าวว่า ตนได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานทั้งชุด โดยยึดตามคำสั่ง คสช.ฉบับที่55/2557 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ซึ่งมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช. หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นประธาน และมี ปลัดกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้อำนวยการเศรษฐกิจการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายพลังงานและแผนพลังงาน เป็นกรรมการ
“ผมยังรู้สึกแปลกใจที่นายณรงค์ชัย (อัครเศรณี รมว.พลังงาน) อ้างว่าเป็นประธาน กบง. ทั้งๆ ที่ตามโครงสร้างดังกล่าวไม่มีชื่อนายณรงค์ชัย เกี่ยวข้อง และคำสั่งคสช.นี้ก็ไม่เคยยกเลิก และเป็นที่น่าสังเกตว่ามติดังกล่าวไม่มีการเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต มีแต่การรายงานข่าวทางสื่อมวลชนจึงถือว่าเป็นการบริหารที่ไร้ธรรมาภิบาล ไม่เป็นธรรม ส่งผลให้ราคาสินค้าแพงขึ้น ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ทั้งที่ก๊าซ ณ โรงแยกก๊าซเป็นทรัพยากรของประเทศประชาชนต้องซื้อในราคาที่เป็นธรรม ประกอบกับต้นทุนไม่ได้สูงขึ้น ทำให้ผลประโยชน์ตกอยู่ในมือเอกชนรายใหญ่แต่ความเดือดร้อนอยู่กับประชาชน” นายวัชระ กล่าว
นายวัชระ ระบุด้วยว่า จากการตรวจสอบพบว่า ราคาแอลพีจีในตลาดโลกไม่เกิน 400 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน โดยสามารถซื้อในราคาคงที่ทั้งปี การกำหนดราคาหน้าโรงแยกก๊าซที่ 488 เหรียญต่อตัน จึงเป็นมติที่ขัดต่อคำสั่ง คสช.เรื่องการควบคุมอำนาจการปกครองที่ว่าเพื่อการปฏิรูปให้เป็นธรรมกับทุกพวกทุกฝ่าย และขัดต่อคำแถลงนโยบายของครม.ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงต่อ สนช. ว่า การปฏิรูปโครงสร้างราคาเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับต้นทุน และการส่งเสริมการบริหารตามหลักธรรมาภิบาล ทั้งนี้ ตนยืนยันว่า การฟ้องดังกล่าวไม่ได้มีอคติโดยยังสนับสนุนการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ไม่สนับสนุนการขึ้นราคาแก๊สแอลพีจี จึงต้องขอพึ่งบารมีให้ศาลปกครองคืนความสุขให้คนไทย