xs
xsm
sm
md
lg

ซัดกบง.2มาตรฐานเงินกองทุน รีดปชช.เว้นปิโตร ส.อ.ท.ค้านขึ้นค่าก๊าซฉุดศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ธีระชัย-รสนา" ร่วมชำแหละพลังงาน ระบุเชื่อใจรัฐเหมือนก่อนไม่ได้ แนะเลิกการบริหารจัดการปิโตรเลียมระบบ "คุณพ่อรู้ดี" ต้องเปิดให้ประชาชนได้รับข้อมูลด้วย ซัด กบง.ไร้ธรรมาภิบาล เป็นเจ้าหน้าที่รัฐนั่งรับผลประโยชน์จากบริษัทที่ตนกำกับ ชี้อุตสาหกรรมปิโตรแบ่งก๊าซจากอ่าวไทยไปใช้ครึ่งต่อครึ่ง กลับไม่เก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน สวนทางกับประชาชนที่ต้องจ่าย ส.อ.ท.วอนรัฐชะลอปรับขึ้นราคาก๊าซ เหตุที่ผ่านมาขึ้นเร็วหวั่นกระทบค่าครองชีพ-ฉุดกำลังซื้อซ้ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (11 ม.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 02.30 น. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thirachai Phuvanatnaranubala แนะนำเกี่ยวกับการบริหารพลังงานปิโตรเลียมของไทย หัวข้อ ต้องเลิกวิธีบริหารปิโตรเลียมแบบ“คุณพ่อรู้ดี”ตามข้อความดังนี้

“ปิโตรเลียมเป็นทรัพยากรของส่วนรวม การบริหารจัดการ จึงควรให้ประชาชนรับรู้ มั่นใจ และติดตามได้ เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่แน่ใจว่า ประเทศชาติ และประชาชน ได้ประโยชน์สูงสุด เท่าที่จะพึงได้

แนวการบริหารจัดการในอดีตนั้น เป็นลักษณะ“คุณพ่อรู้ดี”คือ ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นรัฐบาล และเชื่อข้าราชการไว้เถิด เพราะเขารู้ดี ระบบนี้อาจจะเหมาะในอดีต ในสมัยของพล.อ.เปรม ในยุคที่การเมืองมีการถ่วงดุลสูง และในยุคที่ข้าราชการไม่มีประโยชน์ทับซ้อน

แต่มาวันนี้ นักการเมืองมีประวัติว่า เน้นประโยชน์ส่วนตัวหรือพวกพ้อง ข้าราชการระดับสูงหลายกระทรวง เข้าไปเป็นกรรมการในบริษัทพลังงาน จึงมีผลประโยชน์ทับซ้อน และเมื่อมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ทำให้ผลประโยชน์ของรัฐ กับของเอกชน กับของนักลงทุนต่างชาติ เป็นคนละกลุ่มกัน

มาวันนี้ แนวการบริหารจัดการในลักษณะ “คุณพ่อรู้ดี”จึงไม่เหมาะสมแล้วครับ

รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลให้แก่ประชาชน รัฐต้องแสดงให้ประชาชนมั่นใจด้วยหลักฐาน ควรให้ข้อมูลเป็นทางการ แบบใช้หลักวิชาการ เปิดให้ประชาชนถกเถียงและสอบถาม ควรเปิดใจกว้าง รับฟังข้อเสนอปรับปรุงการบริหารจัดการ เพื่อผลดีโดยรวมแก่ประเทศ และผู้ที่ควรทำหน้าที่ให้ข้อมูลแก่ประชาชน ควรเป็นระดับปลัดกระทรวง หรือ อธิบดี ไม่ใช่อาศัยลูกมือกลุ่มเดิมๆมาแสดงความเห็นส่วนตัว”

**ซัดกบง.มี ผลประโยชน์ทับซ้อน

ขณะที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านปฏิรูปพลังงาน ก็โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว รสนา โตสิตระกูล ในหัวข้อ นโยบายพลังงานที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน เกิดจากการมีผลประโยชน์ทับซ้อนของ กบง. ?? !! ตามข้อความดังนี้
"คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) อนุมัติขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี โรงแยกก๊าซจาก 333 เหรียญสหรัฐ ต่อตัน (10.99บาท/กก.) เป็น 488 เหรียญสหรัฐ/ตัน (16.10 บาท/กก.) เมื่อ 7 ม.ค.58 เป็นการเพิ่มกำไรให้ปตท. สวนทางราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดลงแบบหัวทิ่ม อีกทั้งกบง. ยังมีมติ ยกเลิกการเก็บเงินจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เข้ากองทุนน้ำมันกิโลกรัมละ 1 บาทอีกด้วย แต่ยังคงเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมัน และก๊าซแอลพีจี เป็นเชื้อเพลิงเข้ากองทุนน้ำมันต่อไป

มติ กบง. ในครั้งนี้ เป็นธรรมต่อประชาชนแล้วหรือ ? เพราะก๊าซแอลพีจีจากโรงแยกก๊าซ ซึ่งเป็นทรัพยากรจากอ่าวไทย ถูกแบ่งส่วนครึ่งหนึ่งให้ปิโตรเคมีใช้เป็นวัตถุดิบ และยังเป็นครึ่งที่มากกว่าส่วนที่ให้ภาคครัวเรือนของประชาชน 65 ล้านคนใช้อีกด้วย ทำให้ก๊าซแอลพีจี สำหรับครัวเรือนไม่พอใช้ ต้องนำเข้าแอลพีจีมาให้ครัวเรือนใช้ และเอาเงินจากกองทุนน้ำมันมาชดเชย

ที่ผ่านมา มีการกล่าวหาว่า ครัวเรือนเป็นต้นเหตุที่ทำให้คนใช้น้ำมันเบนซินต้องมาแบกภาระด้วยการซื้อน้ำมันแพง เพราะต้องถูกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันในอัตราสูง เพื่อเอามาชดเชยให้กับครัวเรือน เป็นความไม่เป็นธรรมสำหรับคนใช้น้ำมัน ทั้งที่ในความเป็นจริง ปิโตรเคมี เป็นต้นเหตุของปัญหาที่ทำให้แอลพีจี ไม่พอใช้ ถ้าไม่มีปิโตรเคมีมาแย่งใช้แอลพีจีในราคาถูกกว่าราคาแอลพีจีตลาดโลก แอลพีจี ในประเทศ จะมีเหลือเกินพอสำหรับครัวเรือน

ปิโตรเคมีอ้างว่า ตัวเองไม่ได้ใช้ก๊าซแอลพีจีนำเข้า จึงไม่ควรต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ก็เพราะปิโตรเคมี ได้ใช้ก๊าซจากอ่าวไทย ซึ่งเป็นทรัพยากรในประเทศก่อนคนอื่นในราคาถูกกว่าปิโตรเคมีของบริษัทอื่น เพราะเป็นบริษัทลูก ในเครือเดียวกัน จึงสามารถซื้อก๊าซแอลพีจี ในราคาต่ำกว่าราคาแอลพีจีตลาดโลก ถึง 40% โดยให้ผู้ใช้น้ำมัน เป็นผู้แบกรับภาระส่วนต่างที่เกิดจากการใช้แอลพีจี ราคาถูกของปิโตรเคมีแทน

โรงแยกก๊าซ ก็เหมือนหม้อข้าวในบ้าน เมื่อปิโตรเคมีกินข้าวหมดไปกว่าครึ่งหม้อคนเดียว ทำให้สมาชิกที่เหลือมีข้าวไม่พอกิน ต้องไปซื้อข้าวนอกบ้านมากิน โดยเอาเงินจากทุกคนที่ใช้น้ำมัน และก๊าซแอลพีจีที่ ได้หยอดกระปุกไว้ในกองทุนน้ำมันมาจ่ายค่าข้าวที่ต้้องซื้อจากนอกบ้านมาใช้ แต่ปิโตรเคมีอ้างว่าตัวเองไม่ได้กินข้าวนอกบ้าน เลยไม่ควรต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมัน

แต่ปิโตรเคมีกินข้าวในหม้อส่วนกลางเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นสาเหตุหลักที่ยกเลิกกองทุนน้ำมันไม่ได้ แม้ว่าในขณะนี้กองทุนน้ำมันมีเงินสะสมกว่า 20,000 ล้านบาทแล้ว และกองทุนน้ำมันทุกวันนี้ รับเงินเข้าทุกวันๆ ละกว่า 300 ล้านบาท โดยมีภาระการชดเชยน้ำมันชนิดเดียวคือ E85 วันละไม่เกิน 10 ล้านบาท

ส่วนแอลพีจี ไม่ต้องใช้กองทุนน้ำมันชดเชยแล้ว เพราะทุกภาคส่วนที่ใช้แอลพีจีเป็นเชื้อเพลิงจ่ายในราคาตลาดโลกทั้งหมดแล้ว แต่ กบง. ก็ยังไม่ยุติการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน จึงไม่เป็นธรรมสำหรับประชาชน ที่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพื่ออุ้มปิโตรเคมีให้ได้ใช้แอลพีจี ในราคาลด 40% จากราคาตลาดโลกต่อไป โดยปิโตรเคมีไม่ต้องรับผิดชอบตัวเองโดย กบง. มีมติให้ยกเลิกการเก็บเงินจากปิโตรเคมีเข้ากองทุนฯเพียงกลุ่มเดียว แต่ยังเก็บเงินเข้ากองทุนฯจากคนใช้น้ำมัน และคนที่ใช้ก๊าซแอลพีจี เป็นเชื้อเพลิงต่อไป

เหตุใดบริษัทปิโตรเคมีของเอกชน จึงมีสิทธิได้ใช้ทรัพยากรของประเทศในราคาถูกกว่าประชาชน ผู้ใช้ก๊าซแอลพีจีเพียงเพื่อการดำรงชีพ ? บริษัทเอกชนไม่มีสิทธิใช้ทรัพยากรของประเทศในราคาถูกกว่าราคาตลาด ผู้ที่มีสิทธิได้ใช้ในราคาต่ำกว่าตลาด คือ ประชาชน ไม่ใช่บริษัทเอกชน

บริษัทปิโตรเคมี มาชี้แจงในอนุกรรมาธิการปิโตรเลียมในกรรมาธิการพลังงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่า ควรยกเลิกการเก็บเงินจากปิโตรเคมี เข้ากองทุนน้ำมัน 1 บาท/กก. เพื่อความเป็นธรรมต่อปิโตรเคมี เพราะปิโตรเคมี ไม่ได้ใช้ก๊าซนำเข้า จึงไม่สมควรต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนฯอีก

คนในธุรกิจปิโตรเคมีคิดเช่นนั้นไม่แปลก เพราะคนส่วนใหญ่มักเห็นแก่ตัว และคิดเข้าข้างตัวเอง แต่ควรแล้วหรือที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน จะคิดในทางเดียวกันกับบริษัทเอกชนปิโตรเคมี อีกทั้งตอบสนองข้อเสนอนี้อย่างรวดเร็ว แต่กับข้อเรียกร้องเพื่อให้ดูแลค่าครองชีพของประชาชน กบง. กลับไม่เคยตอบสนองอย่างรวดเร็วทันทีเช่นนี้

สิ่งที่ กบง.กระทำนั้น อาจจะถูกครหาได้ว่าเป็นการเอาอำนาจรัฐมารับใช้บริษัทเอกชน เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับธุรกิจพลังงาน เพราะนั่งอยู่ในบอร์ดของบริษัทพลังงาน ทั้งบริษัทแม่ และบริษัทลูก และคนเหล่านี้ได้รับผลประโยชน์จากการกำหนดนโยบายให้บริษัทพลังงานได้กำไรเพิ่มขึ้น และตนเองก็ได้รับผลตอบแทนในรูปของโบนัส ที่เชื่อมโยงกับผลกำไรของบริษัทที่เพิ่มขึ้นด้วย

ในสากลประเทศที่คำนึงถึงหลักธรรมาภิบาลในการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ไม่มีใครปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีอำนาจหน้าที่กำกับนโยบาย ไปนั่งรับผลประโยชน์จากบริษัท ที่ตนเป็นผู้มีหน้าที่กำกับ ผลประโยชน์ทับซ้อนในลักษณะเช่นนี้ แสดงถึงความไร้ธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง ในกระบวนการกำกับนโยบายด้านพลังงานของประเทศนี้"

***ส.อ.ท.วอนรัฐชะลอขึ้นค่าก๊าซฯ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ต้องการเสนอให้กระทรวงพลังงาน ชะลอการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม(LPG )และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV) เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้มีการปรับขึ้นราคาตามโครงสร้างราคาพลังใหม่อย่างรวดเร็ว อาจส่งผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนซึ่งขณะนี้แรงซื้อของคนไทยก็ต่ำอยู่แล้ว ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจไทยเองก็ยังไม่แข็งแกร่งเพราะมีปัจจัยภายนอกกระทบส่งออก จึงต้องพึ่งเศรษฐกิจภายในประเทศและการค้าชายแดนเข้าช่วย

" เราเห็นด้วยกับการปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้สะท้อนกลไกตลาดโลก แต่อยากให้ค่อยๆ ทยอยปรับขึ้นขึ้นราคา เพราะตอนนี้ก็มีการปรับขึ้นราคามาพอสมควรแล้ว แต่ถ้าจะให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงโดยเร็ว จะยิ่งส่งผลกระทบกับกำลังซื้อของประชาชน เพราะไทย มีการอุดหนุนราคามานาน อยากให้ค่อยๆ

ทยอยปรับขึ้นราคาโดยจะต้องมองเศรษฐกิจเป็นตัวประกอบซึ่งเวลานี้เศรษฐกิจเราไม่ค่อยแข็งแกร่งนัก”นายสุพันธุ์กล่าว
นอกจากนี้ต้องการให้ภาครัฐ พิจารณาการปรับลดค่าไฟในงวดหน้า (เม.ย. - มิ.ย.) ให้มากกว่างวดม.ค. - มี.ค. ที่ปรับลด10.04 สตางค์ต่อหน่วย เนื่องจากราคาน้ำมันปรับลดลงมาก และค่าก๊าซธรรมชาติ ที่ใช้ผลิตไฟฟ้าก็ปรับลดลงเช่นกัน เพราะการปรับลดค่าไฟฟ้าที่ผ่านมา เห็นว่า น้อยเกินไป เมื่อเทียบกับค่าน้ำมันที่ลดลง

เนื่องจากหากมีการปรับลดค่าไฟซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการผลิตสินค้ามากกว่านี้ จะช่วยลดต้นทุนการผลิตของภาคเอกชน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันมากกว่านี้

สำหรับการส่งออกปีนี้ ยังไม่สามารถพึ่งพาได้มากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจคู่ค้ายังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควรจะเป็น มีเพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ที่เริ่มฟื้น ขณะที่ญี่ปุ่น สหหภาพยุโรป (อียู) จีนเศรษฐกิจภาพรวมยังคงชะลอตัว จึงต้องพึ่งพาการค้าชายแดน และประเทศกลุ่มซีแอลเอ็มวี รวมทั้งประเทศกลุ่มบลิคส์ ได้แก่ ประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาซึ่งเป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งมีอิทธิมากขึ้นต่อเนื่อง

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานส.อ.ท.กล่าวว่า กรณีที่กระทรวงพาณิชย์ต้องการขอความร่วมมือกับเอกชนในการลดราคาสินค้าเพื่อบรรเทาค่าครองชีพประชาชนหลังจากที่ระดับราคาน้ำมันลดลงเพื่อให้สะท้อนต้นทุนดังกล่าวนั้นเห็นว่าเรื่องนี้คงจะต้องพิจารณาเป็นรายสินค้าไปและเมื่อต้นทุนพลังงานขึ้นรัฐต้องชัดเจนว่าราคาสินค้าจะสามารถปรับขึ้นได้เช่นเดียวกัน

“แต่ละสินค้ามีต้นทุนวัตถุดิบและค่าพลังงานต่างกันซึ่งการลดลงได้แต่ละรายอาจไม่เท่ากันและต้องเข้าใจว่าผู้ประกอบการเองในอดีตที่ผ่านมามีต้นทุนเพิ่มขึ้นหลายๆด้านแต่ราคาสินค้าต้องตรึงไว้เพราะมีการแข่งขันในตลาดที่สูงเนื่องจากแรงซื้อที่ผ่านมาโดยเฉพาะปี 2557 นั้นได้ชะลอตัวอย่างมากทำให้เอกชนเองก็ไม่สามารถจะขึ้นราคาได้เช่นกัน ดังนั้นแนวโน้มการลดราคาสินค้าอาจได้ไม่มากนัก”นายวัลลภกล่าว

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า การที่ระดับราคาสินค้าจะลดลงให้สะท้อนต้นทุนน้ำมันนั้นสิ่งแรกที่รัฐบาลควรจะดำเนินการก่อคือการปรับลดค่าโดยสารระบบสาธารณะของภาครัฐบาลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น รถเมล์ รถไฟ รถไฟฟ้า ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา เป็นต้นให้เป็นตัวอย่างนำร่องก่อน

“ผมคิดว่าถ้ารัฐลดค่าบริการเหล่านี้ได้ก็จะทำให้ทุกภาคส่วนลดต้นทุนได้เพิ่มขึ้นอีกด้วยราคาสินค้าและรายได้ของประชาชนจะเพิ่มขึ้นทันทีก็ล้วนแต่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ และที่ผ่านมาหลายธุรกิจไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต การขนส่ง ช่วงน้ำมันแพง ค่าแรงขึ้นก็ไม่สามารถจะปรับขึ้นได้ครอบคลุมต้นทุนทั้งหมดซึ่งที่สุดมันเป็นเรื่องของการแข่งขันในตลาด”นายธนิตกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น