ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -พลันกระทรวงคมนาคมไฟเขียว ปรับอัตราค่าโดยสารแท็กซี่มิเตอร์ในกทม.มีผลบังคับใช้วันที่ 13 ธ.ค. 2557 ที่ผ่านมา โดยคำนวณจากค่าครองชีพและราคาก๊าซภาคขนส่งที่ปรับสูงขึ้น ก่อให้เกิดวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลตามมาเพราะต้องควักกระเป๋าจ่ายมากกว่าเดิม ขณะที่เรื่องของบริการที่ปฏิเสธผู้โดยสาร การโกงค่ามิเตอร์ มารยาทการให้บริการ ยังเป็นอีกปัญหาที่แก้ไม่ตก
มิพักต้องพูดถึงว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีตรรกะการบริหารพลังงานแบบเพี้ยนๆ เพราะราคาน้ำมันตลาดโลกลดลงกว่า 40% ราคาก๊าซฯ ก็ต้องลดลงด้วย ไม่ใช่ปรับขึ้นราคา แล้วมาขึ้นค่าแท็กซี่อย่างนี้ ถึงแม้เหตุผลที่ต้องปรับขึ้นส่วนหนึ่งเพราะราคาแท็กซี่ถูกแช่แข็งมาเกือบ 20 ปีจะพอรับฟังได้ก็ตาม แต่จังหวะการปรับขึ้นราคาก็ไม่น่าจะเป็นช่วงนี้เพราะมันสวนทางกันกับราคาเชื้อเพลิงทั่วโลกที่ต่ำลง
สำหรับอัตราค่าโดยสารแท็กซี่ใหม่ที่ประกาศเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 57ตามราชกิจจานุเบกษา เรื่อง กำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารสำหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน (TAXI-METER) ที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานครซึ่งกำหนดให้อัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร ระยะทาง1กม.แรกเริ่มที่ 35 บาท และถ้าเกิน 1- 10กม. คิด กม.ละ5.50 บาท ส่วนที่เกิน 10-20 กม.คิดที่กม.ละ6.50 บาท ระยะทางเกินกว่า 20-40 กม. คิดที่ กม.ละ 7.50 บาท ระยะทางเกิน 40-60 กม.คิด กม.ละ 8บาท ระยะทางเกิน 60-80 คิดกม.ละ 9บาท เกินกว่า 80 กม.ขึ้นไปคิดกม.ละ 10.50 บาท สำหรับกรณีรถไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อไปได้เกินกว่า 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คิดนาทีละ 2บาท
ส่วนการจะปรับขึ้นได้ตามมาตรฐานนั้น ผู้ขับแท็กซี่จะต้องนำรถไปตรวจสอบสภาพ ปรับจูนมิเตอร์ขึ้นใหม่ และซีลตะกั่ว ซึ่งขณะนี้มีรถเข้ามาตรวจสภาพแล้ว 30,000 คัน จากทั้งหมดราว 70,000-80,000 คัน คาดว่าอัตราใหม่จะปรับพร้อมกันทั่วประเทศ ได้ในอีก 40 วัน หลังจากนี้ โดยจะมีสติ๊กเกอร์จากกรมขนส่งทางบกติดหน้ารถ เป็นการรับรองมาตรฐานที่ถูกต้อง
ที่มาที่ไปของปรับขึ้นราคาค่าโดยสารแท็กซี่ นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ความเห็นว่าหากขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีหรือเอ็นจีวี จำเป็นต้องขึ้นราคาค่าโดยสารและค่าใช้จ่ายบริการตามระยะทาง
“หากราคาแก๊สแอลพีจีหรือเอ็นจีวี ปรับขึ้น 1 บาท ต้นทุนราคาค่าบริการที่จะต้องปรับขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 5 แต่หากปรับขึ้น 2-3บาท ต้นทุนราคาค่าบริการที่จะต้องปรับขึ้นจะอยู่ที่ร้อยละ 10 ซึ่งต้นทุนในส่วนนี้จะต้องนำไปรวมกับต้นทุนการให้บริการที่ทางสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ และขอยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม ขอขึ้นค่าโดยสารอีกร้อยละ 10 ราคาที่ขึ้นนี้ไม่รวมกับข้อเรียกร้องก่อนหน้าที่ขอปรับราคาค่ามิเตอร์และค่าใช้บริการตามระยะทาง”
กระทั่งเมื่อวันที่ 15ธ.ค. 57 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธาน มีมติปรับโครงสร้างราคาน้ำมันให้ลดลง แต่ส่วนราคาก๊าซกลับปรับให้ราคาสูงขึ้น
จากข้อมูลในเว็บไซต์ www.thaipublica.orgที่เผยแพร่บทความเรื่อง “รัฐบาลประยุทธ์ ขึ้นราคาแก๊ส-ลดราคาน้ำมัน สู่โหมดปฏิรูปพลังงานรองรับ AEC รื้อโครงสร้างบิดเบี้ยว รัฐบาลใครอุ้มแบบไหน” ระบุข้อมูลการยกเลิกอุดหนุนราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีทั้งภาคครัวเรือนและภาคขนส่งในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ภายหลังจากเข้ามาบริหารประเทศ 3 เดือน มีการปรับราคาก๊าซแอลพีจี 4 ครั้ง ขึ้นไปทั้งสิ้น 2.78 บาท ต่อกก. ทำให้ราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีทั้งภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง และอุตสาหกรรม มีราคาเท่ากัน คือ 24.16 บาทต่อกก.
ส่วนก๊าซ NGV ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติปรับขึ้นราคาขายปลีก NGV ที่ใช้ในรถยนต์ส่วนบุคคลขึ้นไปอีกกิโลกรัมละ 1 บาท ทำให้ราคาขายปลีกก๊าซเอ็นจีวีเพิ่มขึ้นจากราคา 11.50 บาทต่อกก. เป็น12.50 บาท ต่อกก. ส่วน NGV ที่ใช้ในรถยนต์โดยสารสาธารณะให้ปรับราคาจาก 8.50 บาทต่อกก. เป็น 9.50 บาทต่อกก. มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค. 2557 เป็นต้นไป
.
การปรับขึ้นราคาแท็กซี่ จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า มีผลพวงมาจากการประกาศลอยตัวราคาก๊าซที่รัฐบาลผลักให้ประชาชนไปใช้ก๊าซในราคาตลาดโลก
น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน เปิดเผยกับ "ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์" ถึงกรณีการปรับขึ้นราคามิเตอร์ครั้งนี้ โดยวิเคราะห์ถึงต้นทุนพลังงานโดยเฉพาะเรื่องราคาก๊าซที่เป็นนโยบายของกพช.ที่ลดราคาน้ำมัน แต่กลับขึ้นราคาก๊าซ ทำนองว่าเป็นการผลักประชาชนให้ไปใช้ก๊าซในราคาตลาดโลก
“ส่วนของแท็กซี่เราก็เห็นใจ เพราะเขาได้มีโอกาสปรับราคามาแค่ครั้งเดียว ทีนี้ปัญหาการที่เขาต้องการจะดันราคาก๊าซ เนื่องจากว่าราคาก๊าซเมื่อมันถูกกว่าน้ำมันเชื้อเพลิงตัวอื่นก็จะโดนเปรียบเทียบ สิ่งที่เขาต้องการคือ ผลักให้ประชาชนที่ใช้ก๊าซแอลพีจีสามกลุ่ม คือ ภาคครัวเรือน ยานยนต์ และอุตสาหกรรมทั่วไปให้ไปใช้ราคาตลาดโลก ซึ่งถ้าดันทุกคนไปใช้ราคาตลาดโลกหมดก็จะทำให้ก๊าซในประเทศที่เขาต้องการจะนำก๊าซตรงนี้ส่งออกทำกำไรได้ราคาเพิ่มมากขึ้น
ในขณะที่ก่อนหน้านี้ เขายังไม่สามารถทำกำไรเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากตอนนั้นรัฐบาลยังไม่ลอยตัวด้านราคา อ้างว่าประเทศเรามีก๊าซไม่พอใช้ ต้องมีการนำเข้า แล้วเขาก็หากำไร หาเงินชดเชยส่วนต่างจากเงินกองทุนน้ำมัน ซึ่งเวลานี้เขาถือโอกาสที่ราคาน้ำมันโลกลดลง ไปลดราคาน้ำมันเบนซิน ดีเซล และไปขึ้นราคาก๊าซแทน”
จากนโยบายปรับขึ้นราคาแท็กซี่ของกระทรวงคมนาคม มาฟังเสียงสะท้อนจากนิสิต นักศึกษา และพนักงาน ที่ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพต่อกรณีดังกล่าว
นายชนสักก์ เจนมานะ นักศึกษา ปี 3 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นต่อกรณีเพิ่มราคามิเตอร์แท็กซี่ว่า ค่าครองชีพไม่ได้สูงจนเศรษฐกิจต้องมาขึ้นราคาแท็กซี่ตอนนี้ โดยเฉพาะรัฐบาลประกาศปรับโครงสร้างจะลดราคาน้ำมันด้วยแล้ว ยิ่งไม่สอดคล้องกัน
“ผมคิดว่า เขาลดตรงนั้น เพื่อจะมาเพิ่มราคาแก๊ส แล้วแท็กซี่ก็ใช้แก๊สเป็นส่วนใหญ่ และที่รัฐบาลประกาศว่า ปรับเพื่อให้เข้ากับสภาวการณ์ปัจุบัน ผมมองว่ามันไม่เหมาะ เพราะรายจ่ายก็ไม่ได้น้อยในปัจจุบัน และยิ่งน้ำมันถูกลง ผมว่าไม่ควรที่จะขึ้นราคาแท็กซี่ ไปแก้ปัญหาเรื่องคมนาคมโดยรวมจะดีกว่าไหม อย่างการปรับปรุงรถเมล์ เอาเงินไปใช้ตรงนั้นน่าจะดีกว่า
การปรับขึ้นราคาแท็กซี่ ผมว่ามันเป็นเรื่องของผลประโยชน์อยู่เบื้องหลังด้วย การที่จะปรับโครงสร้างลดราคาน้ำมัน แก๊สก็จะต้องลดลง ไม่ต้องปรับราคามิเตอร์เลย เพราะคนขับแท็กซี่ก็ไม่เดือดร้อน ประชาชนที่นั่งแท็กซี่ก็ไม่เดือดร้อน ผมเห็นด้วยตรงนั้น”
เช่นเดียวกับ น.ส.พรรณรัตน์ รีพรหม นักศึกษา ปี 3 คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความเห็นกรณีปรับขึ้นราคามิเตอร์ ว่าทุกวันนี้ราคาก็สูงอยู่แล้ว
“พูดตรงๆนะ ปกติค่าแท็กซี่มันก็ไม่ได้ถูกอยู่แล้ว แล้วอีกอย่างเป็นคนที่ใช้แท็กซี่บ่อยมาก ใช้แทบทุกวัน คิดว่าถ้าคุณภาพมันดี อย่างที่ควรจะเป็นมันก็โอเค ไม่มีปัญหา ถ้าเกิดว่าเขารับผู้โดยสารโดยไม่ปฏิเสธ และก็ไม่มีโกงมิเตอร์ จะดีมาก แต่ถามว่าที่รัฐบาลไฟเขียวขึ้นราแท็กซี่ เยอะไปมั้ย คิดว่า ขึ้นเยอะไปแล้ว การเข้ามาแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ในการปรับราคาแท็กซี่ ถามว่าเศรษฐกิจดีขึ้นบ้างมั้ย ในฐานะที่เป็นนักศึกษา ยังใช้เงินพ่อแม่อยู่ ถึงไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่เราก็มองเห็นชัด ว่ามันไม่ได้ดีขึ้น”
กรบงกช หออัมพวันวงศ์ พนักงานบริษัทแห่งหนึ่งย่านฝั่งธน ให้ความเห็นว่าการปรับราคาแท็กซี่ขึ้นในเวลานี้ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูงขึ้นไปอีก
“ คนวัยคนทำงาน มีภาวะที่ต้องใช้แท็กซี่บ้าง ถ้าเกิดค่าแท็กซี่เพิ่มมากขึ้น ยิ่งตอนรถติดค่าใช้จ่ายในการเดินทางก็ต้องสูงมากขึ้นไปอีก ในขณะที่น้ำมันลดลง แท็กซี่ที่ใช้แก็สก็ต้องลดลงตามไปด้วย ถึงจะถูกต้อง แต่ว่าค่าแท็กซี่ดันเพิ่ม มันสวนทางกัน”
ไม่ว่ากระทรวงคมนาคมหรือรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จะอ้างเหตุผลต่างๆ นาๆ ในการปรับขึ้นราคามิเตอร์แท็กซี่ครั้งนี้อย่างไร ผลสุดท้ายประชาชนอีกตามเคยที่ต้องก้มหน้าแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่มีแต่สูงขึ้น