xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” อัดรัฐบาลตุ๋น ปชช.โขกกองทุนน้ำมันอำพรางอุ้มทุนนิยมพลังงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน
“รสนา” ฉะพลังงานทดแทนแพงกว่าน้ำมันจากฟอสซิล กังขา รบ. อุ้มแต่ E85 เอื้อผลประโยชน์ธุรกิจน้ำตาลหรือไม่? ซัดขูดรีดราคาพลังงานโหดกว่า รบ. ที่แล้ว ติงจะคืนความสุขให้ประชาชนได้อย่างไร ถ้ายังไม่หยุดนโยบายอุ้มทุนนิยมพลังงาน ยันกองทุนน้ำมันอาจไม่จำเป็นต้องมีหาก รบ. ให้ปิโตรเคมีนำเข้าแอลพีจีและรับผิดชอบราคาตลาดโลกเองเหมือนภาคอุตสาหกรรมอื่น

วันนี้ (30 พ.ย.) เมื่อเวลาประมาณ 02.00 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว รสนา โตสิตระกูล หัวข้อ “กองทุนน้ำมันกับนโยบายล้วงกระเป๋าประชาชนเพื่ออุ้มทุนนิยมพลังงาน” ตามข้อความดังนี้

“ในอดีตกองทุนน้ำมันเก็บจากคนใช้น้ำมันเพื่อเอาไว้ชดเชยราคาน้ำมันขายปลีกในช่วงที่น้ำมันดิบในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้น ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ราคาน้ำมันขายปลีกมีราคาสูงเกินไป จนกระทบค่าครองชีพของประชาชน แต่ปัจจุบันกองทุนน้ำมัน ไม่เคยถูกนำมาชดเชยน้ำมันชนิดไหนเลย ยกเว้นน้ำมัน E85 ชนิดเดียว

ทั้งที่ E85 เป็นน้ำมันที่มีเบนซินเพียง 15% และมีเอทานอลที่เป็นน้ำมันที่มาจากกากน้ำตาล มันสัมปะหลังถึง 85% แต่กลับมีราคาแพงกว่าเบนซิน 100% ดูในตารางโครงสร้างราคาน้ำมัน จะเห็นได้ว่าเนื้อน้ำมันเบนซิน95 เนื้อน้ำมันมีราคา 19.1859 บาทต่อลิตร แต่เอทานอลมีราคาอ้างอิง 28.36 บาทต่อลิตร มีราคาสูงกว่าน้ำมันจากฟอสซิลถึงลิตรละ 9.1741 บาท ทั้งที่ค่าความร้อนน้อยกว่า ทำให้ขับเคลื่อนระยะทางน้อยกว่าเบนซิน 30% ซึ่งไม่มีเหตุผลที่ราคาเอทานอลจะแพงกว่าน้ำมันเบนซิน กลับกลายเป็นว่ายิ่งมีการเติมเอทานอลมากเท่าไหร่ ราคาน้ำมันชนิดนั้นจะยิ่งมีราคาสูงขึ้น ลองเปรียบเทียบเนื้อน้ำมัน E85 มีราคา 26.9844/ลิตร ในขณะที่เบนซิน 95 เนื้อน้ำมันราคา 19.1895 บาท/ลิตร ราคา E85 ถูกทำให้มีราคาถูกแค่ลิตรละ 22.88 บาท เพราะเอากองทุนน้ำมันมาชดเชยลิตรละ 8.23 บาท

พลังงานทดแทนควรมีราคาถูกกว่าน้ำมันจากฟอสซิลจึงจะถูกต้อง แต่ข้ออ้างของข้าราชการในกระทรวงพลังงาน และคนในแวดวงธุรกิจพลังงานกลับใช้เหตุผลว่า ต้องอุดหนุนเอทานอลในราคาสูงเพื่ออุดหนุนชาวไร่มันสำปะหลัง พลังงานทดแทนกลายเป็นพลังงานที่ไม่ยั่งยืน เพราะต้องมีราคาแพงเพราะเหตุผลอื่น การเอาการช่วยเหลือชาวไร่มันสัมปะหลังมาอ้าง เพื่ออำพรางการหากำไรของธุรกิจน้ำตาลหรือไม่? เพราะเอทานอลผลิตจากกากน้ำตาลเป็นหลักมากกว่า การรับซื้อเอทานอลในราคาสูงเกินราคาตลาดโลก จะเป็นผลประโยชน์ของใครกันแน่ ระหว่างธุรกิจน้ำตาล กับชาวไร่มันสัมปะหลัง?


ในสมัยแรกประเทศไทยอ้างอิงราคาเอทานอลจากบราซิล เหมือนอ้างอิงราคาน้ำมันจากสิงคโปร์ มีการบวกค่าขนส่งจากบราซิลมาเมืองไทย แต่มาภายหลังการอ้างอิงราคาบราซิลกับบวกค่าขนส่งแล้ว ก็ยังมีราคาต่ำเกินไปกระมัง ก็เลยยกเลิกการอ้างอิงราคากลับมาใช้สูตรภายในประเทศเอง จนได้ราคาสูงกว่ามาตราฐานตลาดโลก

จากกราฟราคาเอทานอล จะเห็นได้ว่าปัจจุบันราคาเอทานอลบราซิลราคาลิตรละ 15.09 - 17.38 บาท ส่วนสหรัฐอเมริการาคาลิตรละ 18.37 บาท ต่อให้อ้างอิงราคาบราซิล บวกค่าขนส่ง ก็คงไม่ถึงราคา 28.36 บาทต่อลิตรแน่ หากดูกราฟราคาเอทานอลของไทยเปรียบเทียบกับบราซิลและสหรัฐอเมริกา จะเห็นได้ว่าราคาเอทานอลของไทยมีราคาสูงกว่าทั้งสองประเทศมาตลอด และในปี 2557 ราคาเอทานอลของสองประเทศมีเส้นกราฟโค้งลง แสดงว่าราคาลดลงจากเดิม แต่ราคาเอทานอลของไทยกลับผงกหัวสูงขึ้นสวนทางคนอื่นอย่างเย้ยฟ้าท้าดิน มีข่าวว่าธุรกิจน้ำตาลลดการส่งออกน้ำตาล เปลี่ยนมาผลิตเอทานอลแทนเพราะราคาดีกว่าส่งออกน้ำตาล


เพื่อนมิตรลองดูตารางราคาน้ำมันล่าสุดวันที่ 28 พ.ย. 2557 พิจารณาดูการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันจากน้ำมันแต่ละชนิดดู ดิฉันจะขอใช้ยอดการใช้น้ำมันแต่ละชนิดต่อวันจากข้อมูลเดือนมิถุนายน 2557 มาคำนวณประมาณการจำนวนเงินที่มีการเก็บเข้ากองทุนน้ำมันต่อวัน และต่อปี


1) เบนซิน 95 ใช้วันละ 3,446,000 ลิตร/วัน เก็บเงินเข้ากองทุนลิตรละ 9.65 บาท ได้เงินวันละ 32,253,900 บาท หรือปีละ 12,137,673,500 บาท

2) แก๊สโซฮอลล์ 95 ใช้วันละ 7,510,000 ลิตร/วัน เก็บเงินเข้ากองทุนลิตรละ 4.15 บาท ได้เงินวันละ 31,166,500 บาท หรือปีละ 11,375,772,500 บาท

3) แก๊สโซฮอลล์ 91 ใช้วันละ 9,647,000 ลิตร เก็บเงินเข้ากองทุนลิตรละ 2.45 บาท ได้เงินวันละ 23,635,150 บาท หรือปีละ 8,626,829,750 บาท

4) E20 ใช้วันละ 3,446,000 ลิตร เก็บเงินเข้ากองทุนลิตรละ .70 บาท ได้เงินวันละ 2,412,200 บาท หรือปีละ 880,453,000 บาท

5) ดีเซล ใช้วันละ 59,206,000 ลิตร เก็บเงินเข้ากองทุนลิตรละ 4.30 บาท ได้เงินวันละ 254, 585,800 บาท หรือปีละ 92,923,817,000 บาท

6) E85 ใช้วันละ 731,000 ลิตร ชดเชยเงินจากกองทุนน้ำมันลิตรละ 8.23 บาท ชดเชยเป็นเงินวันละ 6,016,130 บาท หรือปีละ 2,195,887,450 บาท

เงินที่เก็บเข้ากองทุนวันละ 344,053,550 บาท เอาไปชดเชยE85 วันละ 6,016,130 บาท หักชดเชยแล้วยังคงเหลือเงินวันละ 338,037,420 บาท ถ้าเก็บอย่างนี้ทั้งปี จะมีเงินเหลือในกองทุนน้ำมันถึงปีละ 123,383 ล้านบาท

ดิฉันเคยคำนวณอัตราการเก็บเงินกองทุนเมื่อเดือนมิถุนายน2557 ซึ่งตอนนั้นมีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันน้อยกว่านี้ โดยเฉพาะดีเซลเก็บเพียงลิตรละ 25สตางค์ แต่ขณะนี้เก็บเงินจากดีเซลเข้ากองทุนน้ำมันสูงถึง 4.30 บาทต่อลิตร ทำให้มีการเก็บเงินจากคนใช้น้ำมันเข้ากองทุนน้ำมันเพิ่มจากเดิมปีละ 3 หมื่นล้านบาท เป็นปีละ 1.23 แสนล้านบาท ซึ่งมากกว่าเดิมถึง 4 เท่าตัว

รัฐบาลขณะนี้กลายเป็นผู้สนับสนุนการล้วงกระเป๋าประชาชนไปให้บริษัทพลังงานร่ำรวยอย่างไร้ธรรมาภิบาลอย่างยิ่ง ขัดแย้งกับเจตนารมณ์ที่จะคืนความสุขให้ประชาชน เพราะเงินที่เก็บจากประชาชนอย่างมากมาย โดยเฉพาะในช่วงราคาน้ำมันดิบตลาดโลกลดลง แต่กลับไม่ยอมไม่ลดราคาให้ประชาชน ตามกลไกตลาดโลกอย่างที่รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานเคยอ้างไว้ ถ้าไม่ลดราคาน้ำมันให้ประชาชน ก็ควรเอากำไรส่วนเกินเข้าเป็นภาษีรัฐ ก็ยังพอรับได้ แต่นี่กลับเอากำไรส่วนเกินไปกระจายอยู่ในค่าการกลั่น ในค่าการตลาด ในเนื้อน้ำมัน และปล่อยให้มีการเอากำไรส่วนเกินไปไว้ในกองทุนน้ำมันเพิ่มขึ้นถึง4เท่าตัว ทั้งที่ในรัฐบาลก่อนหน้านี้ เคยประกาศว่าต้องขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม เพื่อลดภาระกองทุนน้ำมันที่เก็บจากคนใช้น้ำมันเบนซิน แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า รัฐบาลจากการยึดอำนาจ ทำยิ่งกว่ารัฐบาลเลือกตั้งที่ถูกประชาชนขับไล่ คือขึ้นทั้งราคาก๊าซหุงต้ม ก๊าซรถยนต์ และเพิ่มการเก็บเงินจากคนใช้น้ำมันเข้ากองทุนมากกว่าเดิมอย่างมากมายมหาศาล

กองทุนน้ำมันแท้ที่จริงเป็นกองทุนอำพรางกำไรให้กลุ่มธุรกิจพลังงาน เพื่อเอาไว้หลอกสังคมว่าต้องมีไว้ เพื่อเอามาช่วยเหลืออุ้มราคาก๊าซให้คนจน ให้ภาคครัวเรือน แต่แท้ที่จริงแล้ว เป็นการทำเรื่องให้ซับซ้อน เพื่ออำพรางไม่ให้ประชาชนเห็นโดยง่ายว่า เป็นการเอาเงินกองทุนน้ำมันไปอุ้มราคาแอลพีจีให้ธุรกิจปิโตรเคมีได้ใช้ในราคาถูกกว่าราคาตลาดโลกต่างหาก และผลักประชาชนทุกกลุ่มที่ใช้ก๊าซหุงต้มเป็นเชื้อเพลิงไปใช้ราคาตลาดโลกแทน ทั้งที่ก๊าซธรรมชาติ 80% มาจากอ่าวไทยเป็นทรัพยากรของประชาชนทุกคน แต่รัฐบาลกลับปล่อยให้มีการนำก๊าซแอลพีจีให้ปิโตรเคมีใช้ในราคาถูกกว่าภาคอื่น จนแอลพีจีในประเทศไม่เพียงพอให้คนไทยใช้ ต้องนำเข้าและเอากองทุนน้ำมันไปชดเชย เพียงแต่รัฐบาลปรับเปลี่ยนนโยบายให้ปิโตรเคมีใช้แอลพีจีจากการนำเข้าแทน และรับผิดชอบราคาตลาดโลกเหมือนภาคอุตสาหกรรมอื่น เพียงเท่านี้ ความซับซ้อนก็จะหมดไป กองทุนน้ำมันจะลดความจำเป็นลงไปจนไม่จำเป็นต้องมีเลยก็ยังได้

ที่ผ่านมา มักมีการกล่าวอ้างว่า การทำประชานิยมพลังงานจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศยิ่งกว่าการจำนำข้าว ดิฉันอยากให้มีการทำความเข้าใจเสียใหม่ว่า รัฐบาลไม่ว่ายุคไหนก็ไม่เคยทำประชานิยมพลังงานให้กับประชาชนแต่อย่างใด เป็นเรื่องที่ประชาชนช่วยเหลือกันเอง ด้วยเงินที่ถูกเก็บเข้ากองทุนน้ำมัน กองทุนน้ำมันยังถูกลักลอบเอาไปอุ้มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี แบบเอาเนื้อหนูไปปะเนื้อช้างมาตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ที่ผ่านมา น่าจะเรียกว่ารัฐใช้ “นโยบายอุ้มทุนนิยมพลังงาน” มากกว่าที่จะเป็น “ประชานิยมพลังงาน” ที่พยายามกล่าวหากันผิดๆ มาโดยตลอด

ทั้งนี้ ยังไม่รวมการเอาเงินกองทุนน้ำมันไปอุ้มอุตสาหกรรมเอทานอลของกลุ่มธุรกิจน้ำตาล โดยยอมให้ส้มหล่นใส่คนใช้รถที่เติมน้ำมัน E85 ซึ่งมีทั้งรถราคาแพงเป็นล้าน แต่กลับได้รับการชดเชย E85 ถึงลิตรละ 8.23 บาท ต่อกรณีนี้กลับเห็นว่าเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล ที่ต้องอุดหนุนคนรวยได้ใช้ E85 ในราคาถูก เพราะต้องการช่วยชาวไร่มันสำปะหลัง แต่ความจริงน่าจะเป็นว่าถ้าไม่ชดเชยให้ E85 มากขนาดนี้ จะไม่สามารถล้วงเงินออกจากกองทุนน้ำมันมากกว่า ลองเปรียบเทียบเหตุผลที่ใช้อ้างใน 2 กรณี ระหว่าง E85 กับดีเซลดู

กรณีรถดีเซล ถึงกับยอมเล่นงานคนรวยที่ใช้น้ำมันดีเซลกับรถหรูไม่กี่คัน ว่าต้องดัดหลังคนรวยด้วยการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล ทั้งที่รถดีเซลส่วนใหญ่ใช้เป็นรถเพื่อกิจการสาธารณูปโภค การขนส่ง ธุรกิจ SME และการเกษตร ข้ออ้างดัดหลังคนรวยเพื่อขึ้นราคาดีเซล จึงฟังไม่ขึ้น ประเด็นสำคัญเพราะปริมาณดีเซลที่ใช้วันละเกือบ 60 ล้านลิตรต่างหากที่คนพวกนี้มองเห็นว่า แค่เอาเงินเข้ากองทุนน้ำมันเปลี่ยนจาก 25 สตางค์ต่อลิตร เป็น 4.30 บาทต่อลิตร ก็ได้เงินเป็นกอบเป็นกำถึงปีละ 8 - 9 หมื่นล้านบาทแล้ว ในขณะที่เก็บเงินจากดีเซลเข้าภาษีสรรพสามิตแค่ 75 สตางค์เท่านั้น

รัฐบาลจะคืนความสุขให้ประชาชนได้อย่างไร ถ้ายังไม่หยุดนโยบายอุ้มทุนนิยมพลังงานเสียที”


กำลังโหลดความคิดเห็น