นครปฐม - มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม แถลงความสำเร็จผลงานการวิจัยประสิทธิภาพของน้ำหมักชีวภาพและจุลินทรีย์ธรรมชาติ เพื่อการเกษตร เผยผลวิจัยคัดสรรน้ำหมักชีวภาพ 15 สูตรที่ดีที่สุดนำเข้าห้องวิจัยและทำการทดสอบจนมั่นใจว่า ได้น้ำหมักชีวภาพสูตรที่ดีที่สุดในประเทศที่เคยมีมา พร้อมเตรียมเผยแพร่ฟรี หวังช่วยชาวนาลดสารเคมี ต้นทุนสูง นำไปพัฒนาผลผลิตช่วงราคาข้าวตกต่ำ สร้างคุณภาพชีวิตทั้งชาวนา และผู้บริโภค
วันนี้ (3 พ.ย.) ที่คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ เรืองพาณิช นายกสมามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วย ดร.อนามัย ดำเนตร คณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ รศ.ดร.จุรีรัตน์ ลีสมิทธิ์ หัวหน้าโครงการจัดตั้ง สายวิชาจุลชีววิทยา รศ.จิตราภรณ์ ธวัชพันธุ์ และนายมิ่งขวัญ นิ่มอนันต์ ร่วมกันแถลงข่าวความสำเร็จผลงานการวิจัย ประสิทธิภาพของน้ำหมักชีวภาพและจุลินทรีย์ธรรมชาติ เพื่อการเกษตร โดยเป็นการวิจัยทั้งในห้องทดลอง และนำลงสู่แปลงทดลองใช้ระยะเวลากว่า 2 ปี
โดยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ เรืองพาณิช นายกสมามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ที่มาของการวิจัยครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายเกษตร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มาจากการที่ได้ทราบปัญหาจากเกษตรกรเกี่ยวกับประสิทธิภาพที่แท้จริง และความเชื่อถือได้ของน้ำสกัดชีวภาพสูตรต่างๆ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านของไทย เพราะบางครั้งเมื่อเกษตรกรนำสูตรมาทำเอง กลับไม่มีประสิทธิภาพเหมือนที่รับทราบมา
ดังนั้น จึงควรที่จะมีการศึกษาวิจัยถึงประสิทธิภาพที่แท้จริงของน้ำหมักชีวภาพเพื่อการเกษตรสูตรต่างๆ เพื่อเป็นเกษตรทางเลือกอีกทางหนึ่งของเกษตรอินทรีย์ ซึ่งฝ่ายเกษตร สกว.เห็นว่าเป็นงานวิจัยที่มีความน่าสนใจ และเป็นประโยชน์มาก จึงได้ร่วมมือกับคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ในการทำวิจัยครั้งนี้ และผลงานการวิจัยครั้งนี้ได้เริ่มมีการเผยแพร่สู่เกษตรกรแล้วแต่ก็ยังได้รับความสนใจจากเกษตรกรมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดร.อนามัย ดำเนตร คณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เปิดเผยว่า นโยบายการทำงานวิจัยของคณะฯ จะเน้นการทำวิจัยที่มีการใช้ประโยชน์ได้จริง มีประโยชน์ต่อประเทศ และยึดตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอพียง โครงการวิจัยเรื่องการศึกษาประสิทธิภาพของน้ำหมักชีวภาพสูตรต่างๆ เพื่อการเกษตรนี้ มีทีมงานในคณะร่วมกันทำงานโดยเป็นส่วนหนึ่งของผลงานการทำวิทยานิพนธ์ ของนายขวัญชัย นิ่มอนันต์ เป้าหมายคือ การลดการใช้สารเคมีในการปลูกพืชซึ่งส่งผลมีการตกค้างในพืช และผัก เมื่อประชาชนบริโภคเข้าไปเป็นระยะเวลาต่อเนื่องจึงทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่างๆ ทำให้เกิดความสูญเสียคุณภาพชีวิตที่ดี ในส่วนเกษตรกรก็สามารถลดต้นทุนการผลิตได้มากอีกด้วย และยังจะมีการพัฒนาสูตรต่อไป เพื่อให้เกิดการต่อยอดทางการวิจัยซึ่ง มีความเห็นว่า การวิจัยต่างๆ นั้นต้องสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติโดยส่วนรวมเป็นหลัก
รศ.ดร.จุรีรัตน์ ลีสมิทธิ์ หัวหน้าโครงการจัดตั้ง สายวิชาจุลชีววิทยา กล่าวว่า ทั้งนี้ การสำรวจพบว่า ปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่มีแนวโน้มทำการเกษตรผสมผสาน และปลอดสารเคมี ดังนั้น น้ำหมักชีวภาพสูตรต่างๆ ตามภูมิปัญญาท้องถิ่นจึงเป็นทางเลือกหนึ่งซึ่งนอกจากจะลดต้นทุนของการใช้ปุ๋ยเคมีแล้ว ยังนำไปสู่การเกษตรที่ไร้สาร มีความปลอดภัยต่อตัวเกษตรกรเองซึ่งเป็นผู้ใช้โดยตรง และยังปลอดภัยไปยังผู้บริโภค
แม้ว่าการตรวจสอบคุณภาพในด้านต่างๆ ของน้ำหมักชีวภาพ จากหน่วยงานราชการและเอกชนหลายแห่ง แต่ยังไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบน้ำหมักชีวิภาพจากสูตรต่างๆ ที่จัดสรรอย่างเป็นระบบ งานวิจัยนี้จะทำการเปรียบเทียบการใช้น้ำหมัดชีวภาพสูตรต่างๆ ตามภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดนครปฐม ในด้านต่างๆ คือ คุณสมบัติทางกายภาพ
ได้แก่ ความเป็นกรดเป็นด่าง ค่าการนำไฟฟ้า เปอร์เซ็นต์ธาตุหลัก เปอร์เซ็นต์อินทรีย์คาร์บอน อัตราส่วนคาร์บอนไนโตรเจน คุณสมบัติทางชีวภาพ ได้แก่ จำนวนจุลินทรีย์ในน้ำหมักชีวภาพ ผลต่อการงอกของเมล็ดพืช ผลต่อการเจริญเติบโตของพืช ความสามารถในการต่อต้านโรคพืช ในแปลงปลูกเลียนแบบเกษตรกร และผลงานของน้ำหมักชีวภาพต่อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ ซึ่งเกษตรกรมักเลือกใช้แปลงต้นหอม ผักชี และพริก
ผลงานวิจัยนี้จะทำให้เกษตรกรมีข้อมูลเบื้องต้น และใช้เป็นแนวทางในการเลือกน้ำหมักชีวภาพสูตรต่างๆ ให้เหมาะสมต่อการเพาะปลูกพืชของตนเองต่อไป โดยเริ่มจากการหาสูตรทั้งหมด จาก 45 สูตรที่ดีที่สุด ทั่วประเทศ และนำมาคัดสรรให้เหลือ 15 สูตร โดยทำแปลงทดลองในระยะทั้งหมด 15 แปลง จึงได้สูตรที่ดีที่สุดออกมา
โดยผลการทดสอบน้ำหมักชีวภาพสูตรต่างๆ ที่ได้รับความนิยมจากเกษตรกรทั่วประเทศ เมื่อนำมาทดสอบประสิทธิภาพ โดใช้สภาวะการทดลองควบคุม พบน้ำหมักชีวภาพ 2 สูตรที่มีคุณสมบัติเด่น คือ สูตรเร่งโต และกำลังจะเผยแพร่ สูตรต้านโรค เหมาะแก่เกษตรกร ซึ่งจะมีหลายสูตรแต่ในการแถลงครั้งนี้จะใช้สูตรในการเร่งโต ประกอบด้วย
ส่วนประกอบ ปริมาตร 100 ลิตร
ฝรั่ง 64 กิโลกรัม
มะละกอ 8 กิโลกรัม
แตงไทย 8 กิโลกรัม
กากน้ำตาล 20 กิโลกรัม
สารเร่ง (พด.2) 2 ซอง (แจกฟรี)
วิธีทำ
1.หั่นฝรั่ง 64 กิโลกรัม มะละกอ 8 กิโลกรัม แตงไทย 8 กิโลกรัม
2.เทใส่ถังหมักขนาด 120 ลิตร
3.ละลายกากน้ำตาล 20 กิโลกรัม ในน้ำสะอาด 20 ลิตร ใส่สารเร่ง (พด.2) จำนวน 2 ซอง คนให้เข้ากัน
4.เทส่วนผสมดังกล่าวใส่ถังหมัก ปิดฝาให้แน่น เปิดฝาคนทุกๆ 3 วัน
5.เมื่อครบ 45 วัน นำมากรองด้วยมุ้งสีฟ้า เอาเฉพาะน้ำ
6.นำน้ำหมักชีวภาพจากผลไม้ที่กรองแล้วบรรจุเก็บ
โดยคุณสมบัติน้ำหมักชีวภาพสูตรเร่งโต
จะส่งเสริมการงอกของเมล็ดพืช ได้แก่ ข้าว ผักกาดหอม ต้นหอม ผักชี และพริก โดยการนำเมล็ดพืชแช่ในน้ำสกัดชีวภาพที่เจือจางในน้ำสะอาด อัตราส่วน 1 : 500 พบว่า น้ำสกัดชีวภาพสุตรเร่งโตสามารถส่งเสริมการงอกของเมล็ดข้าวดังกล่าว โดยพิจารณาจากเปอร์เซ็นต์ของการงอกเมล็ด ความยาวราก ความยาวของลำต้น สาเหตุที่น้ำสกัดน้ำชีวภาพสามารถทำให้เปอร์เซ็นต์การงอกของเมล็ดพันธุ์สูงขึ้นได้ อาจเกิดจากจุลินทรีย์บางชนิดในน้ำสกัดชีวภาพ สร้างสารที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช เช่น จิบเบอร์เรลลิน ออกซิเจน และไซโตไคนิน
ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช และเพิ่มพืชผลทางการเกษตร ได้แก่ ผักกาดหอม ต้นหอม ผักชี และพริก โดยการนำน้ำสกัดชีวภาพที่เจือในน้ำสะอาด อัตราส่วน 1 : 500 รดพืชดังกล่าวทุกสัปดาห์ จนกระทั่งเก็บเกี่ยวผลผลิต พบว่า พืชที่รดด้วยน้ำสกัดชีวภาพสูตรเร่งโต ให้ผลผลิตสูงสุด เมื่อเปรียบเทียบปริมาณน้ำหนักเฉลี่ยของผลผลิตในพืชแต่ละชนิด ทั้งนี้ อาจเนื่องจากการทำงานของกลุ่มจุลินทรีย์ออกเป็น 7 กลุ่ม
1.ย่อยสลายสารอินทรีย์ให้มีขนาดโมเลกุลเล็กลง (Organic decomposition)
2.มีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงรูปของธาตุอาหารพืช เช่น การเปลี่ยนรูปที่เป็นสารอินทรีย์ไปเป็นสารอนินทรีย์ เพื่อความเป็นประโยชน์ของอาหารพืช
3.สร้างสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช เช่น ออกซิเจน จิบเบอเรลลิน และไซโตไคนิน
4.การตรึงไนโตรเจนในอากาศให้อยู่ในรูปแบบของสารประกอบที่พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้
5.จุลินทรีย์หลายชนิดมีบทบาทในการสร้างกรดอินทรีย์ บางชนิดสามารถสร้างกรดอนินทรีย์ในปริมาณที่พอเหมาะที่จะละลายแร่ธาตุทางพืช และเป็นประโยชน์ต่อพืชต่อไป
6.ทำหน้าที่กำจัด และยับยั้งการเจริญเติบโตจุลินทรีย์ขนิดอื่นๆ รวมทั้งจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคพืช จึงมีผลทำให้ลดการระบาดของโรคบางชนิดลงได้
7.จุลินทรีย์บางชนิดในดินสามารถผลิต และปลดปล่อยสารเคมีปฏิชีวนะได้
ทั้งนี้ รศ.ดร.จุรีรัตน์ ลีสมิทธิ์ หัวหน้าโครงการจัดตั้ง สายวิชาจุลชีววิทยา กล่าวปิดท้ายว่า การเผยแพร่ข้อมูลนี้ มีเกษตรกร โดยเฉพาะชาวนาที่กำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับผลผลิต และราคาข้าวได้เข้ามาปรึกษาถึงกระบวนการทำน้ำหมักชีวภาพที่วิจัยเสร็จสิ้นเป็นจำนวนมาก โดยหลายรายได้ขอให้ทีมงานลงพื้นที่ไปสำรวจ และสาธิตการทำน้ำหมัดชีวภาพให้ เพื่อหวังจะทำให้เกิดคุณภาพทางผลผลิต และการป้องกันโรค ซึ่งทีมงานยินดีที่จะลงไปให้ความรู้แก่เกษตรกร เพราะเข้าใจถึงปัญหา และการวิจัยโครงการก็ต้องการตอบสนองเกษตรกรไทยอย่างแท้จริง โดยเฉพาะชาวนาที่ต้องการหาทางออก และพัฒนาผลผลิตในช่วงราคาตกต่ำอีกด้วย
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อมาได้ที่ รศ.ดร.จุรีรัตน์ ลีสมิทธิ์ หัวหน้าโครงการจัดตั้ง สายวิชาจุลชีววิทยา คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน นครปฐม 73140 โทร.0-3428-1105-6 หรือ 08-3559-8448 อีเมล microeku@gmail.com ได้ในวันเวลาราชการ